หยุดเสียดสี เลิกบูลลี่ หนทางความหวังในสังคมเปราะบาง

ปัจจุบันปัญหาการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นทุกช่วงวัยด้วยสาเหตุที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะด้วยความรัก การงาน ความสัมพันธ์ โรคซึมเศร้า น้อยใจคนใกล้ชิด ถูกกระทำหรือก่นด่า

ที่น่าตกใจคือเยาวชนของชาติกำลังกลายเป็นเปอร์เซ็นต์ของกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น

สถิติปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า เด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน ไทยอยู่อันดับ 2 ของโลก และทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเข้าถึงเนื้อหาความรุนแรง และง่ายต่อการเลียนแบบ

ไม่นานมานี้ ดาราสาวชาวเกาหลีใต้ ชเว จิน-รี หรือ ซอลลี่ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปมถูกเสียดสีบนโลกโซเชียลอย่างหนักหน่วง กระทั่ง ขวัญ พิมพ์อัปสร เทียมเศวต ผู้จัดละครโทรทัศน์ชื่อดังออกมาโพสต์ภาพของซอลลี่บนอินสตาแกรมส่วนตัว ก่อนจะวอนว่า “เสียดสีกันบนโลกโซเชียลควรยุติได้แล้ว ไม่มีใครมีสิทธิทำร้ายใครแบบนี้”

Advertisement

พร้อมแฮชแท็กห้อยท้าย #ชมคนด้วยวาจาล้ำค่ากว่าให้ไข่มุกเป็นของขวัญ ทำร้ายคนด้วยวาจา สาหัสยิ่งกว่าทิ่มแทงด้วยหอกดาบ – ซุนวู

#อย่าให้คำพูดคนอื่นทำร้ายเราและอย่าให้คำพูดเราไปทำร้ายคนอื่น

ซอลลี่จบชีวิตตัวเองด้วยวัยเพียง 25 ปี (ภาพจากอินสตาแกรม)

11 มีนาคม 2562 นักเรียน ม.3 เครียดติด ร หลายวิชา กลัวถูกซ้ำชั้นจบไม่พร้อมเพื่อน เขียนจดหมายลาตายก่อนโดดน้ำกลางดึก

Advertisement

20 พฤษภาคม กรณีต่างประเทศ หนุ่มจบใหม่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ในวันรับปริญญา กระโดดลงหลังคาโรงจอดรถของมหาวิทยาลัย หลังถูกแฟนสาวที่ไว้ใจทารุณด้วยคำพูด ด้วยข้อความท้าฆ่าตัวตาย ถ้อยคำรุนแรง ที่ว่า

“ครอบครัวของนาย และคนบนโลกนี้อาจจะมีความสุขมากกว่านี้ ถ้าหากไม่มีนาย”

เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนใจให้เห็นว่า คำพูดส่งผลต่อสุขภาพจิตกว่าที่คิด

สื่อนอกรายงานว่า Alexander Urtula กระโดดจากหลังคาโรงจอดรถของ Boston College เพื่อฆ่าตัวตายหลังถูกแฟนสาวส่งข้อความทำร้ายจิตใจนับพันครั้ง

“การถูกทำร้ายจากคำพูดแย่ๆ ซ้ำๆ ก็คงยากที่จะเติบโตมาเป็นคนที่แข็งแกร่งและมีคุณภาพได้ ยิ่งปัจจุบันมีเรื่องของโซเชียลมีเดียเข้ามา เราไม่ได้ถูกทำร้ายแค่เพียงพูดต่อหน้า แต่เราทำร้ายกันด้วยปลายนิ้วสัมผัส จากการขาดความยับยั้งชั่งใจจนอาจทำร้ายคนที่ไม่เคยเห็นหน้า” คือคำกล่าวของ รศ.อัจจิมา เศรษฐบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ฝ่ายกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ในงานเสวนา Dek Talk by BDMS ในหัวข้อ “Shared Kindness – คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่” เมื่อ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อสร้างการตระหนักรับรู้สู่สังคมและรณรงค์การทำร้ายกันผ่านคำพูด อันเกิดจากแรงบันดาลใจจากเด็กๆ ในชุมชนแออัด นำไปสู่กิจกรรมกับตัวแทนเด็กชุมชนคลองเตย อ่อนนุช 88 เสือใหญ่ประชาอุทิศ และชุมชนสามัคคีพัฒนา ผ่านกิจกรรมดึงศักยภาพในตัวเด็ก

จากการสำรวจพฤติกรรม สัมภาษณ์ เสียงสะท้อนของปัญหาจากปากเด็ก คือการพูดจาทำร้าย รังแกด้วยคำพูดหรือการกระทำเป็นปัญหาใหญ่ หวังให้สังคมไทยพูดกันอย่างสร้างสรรค์ ให้กำลังใจกัน นำไปสู่การสนับสนุนให้คนไทยสร้างความสุขผ่านคำพูดที่ดีต่อกัน

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผอ.ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยความรู้สึกหลังร่วมกิจกรรมกับเด็กๆ ว่า เมื่อได้เข้าไปเจอกับน้องๆ คุณครู เรารักเขาทันที อย่าคิดว่าการที่เขาอาจจะไม่มีโอกาสมากนักในชีวิตแล้วจะไม่มีความสุขสดใส ตรงกันข้าม เขามีความสดใสน่ารัก กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เราฝึกทำคุกกี้ช็อกโกแลตชิพ เราชวนเด็กๆ ม้วนซูชิมากิ เราใช้กิจกรรมต่างๆ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องแทรกทักษะการเรียนรู้ เขามีความปรารถนาที่จะมีความสุข อยากสามารถควบคุมให้สังคมที่อยู่และบุคคลรอบข้างเป็นไปในแนวทางที่ทำให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ

บรรยากาศงานเสวนา

“หลายคนมักตั้งสมมุติฐานว่าบูลลี่อยู่เฉพาะในชุมชนบางชุมชน หรือโรงเรียนวัด แต่ความจริงเกิดทุกชุมชน ทุกสังคม แม้กระทั่งรัฐสภา กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเราเจอหน้ากันแล้วทัก ‘แกเป็นอะไรอ้วนไปแล้วนะเดี๋ยวนี้’ ‘ทำผมอะไรมายับเยิน สภาพดูไม่ได้เลยนะ ‘ซึ่งบางครั้งผู้พูดที่ไม่ได้คิดอะไรแต่เคยตัวที่พูดแบบนี้ เราไม่ได้ตระหนักว่าเฮิร์ตความรู้สึกคนฟัง และยอมรับแทบจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรม (Culture) อ้างว่าแซวเล่นๆ อย่าคิดมาก กระทั่งนักศึกษาเล่าให้ฟังว่าอาจารย์พูดกับเขาว่า ‘ก็เข้าใจนะว่าเธอขยัน เธอพยายาม แต่ถ้าเกิดว่าสติปัญญาไม่ได้ พยายามอย่างไรก็คงไม่ประสบความสำเร็จหรอกนะ’ แล้วพวกเราก็พากันเงียบเฉย อีกแง่ เป็นการส่งสัญญาณยอมรับว่าเรารับได้”

พญ.อภิสมัยบอกว่า คอนเซ็ปต์ของความรุนแรงคือคำพูด แต่ที่เฮิร์ตได้มากคือสีหน้า ท่าทาง ความเงียบ silence เป็น high expression emotion การเมินชา ห่างเหิน ต่างคนต่างอยู่ อยู่แบบไม่มีตัวตน ทางจิตวิทยาถือว่ามีความรุนแรง และทำให้คนนั้นรู้สึกได้ว่าเขาถูกกระทำ

“เงียบอาจแปลว่าไม่อยากยุ่ง แต่ในทางจิตวิทยา เงียบหมายความว่า ฉันอนุญาตให้เธอทำแบบนั้นได้” พญ.อภิสมัยย้ำ ก่อนจะกล่าวต่อว่า

ความรุนแรงเกิดทุกที่ เราต้องเป็นหูเป็นตา ต้องเห็นและช่วยเป็นปากเสียงว่าไม่โอเค อาจบอกด้วยอายเมสเสจว่าเราเสียใจนะ การสื่อสารเพื่อหยุดพฤติกรรมอย่าใช้อารมณ์ อย่าเหวี่ยงกลับ เพราะเขาจะไม่ได้ยินหรือยิ่งแกล้งสนุก

ต้องมีการคอมมูนิเคต อย่าอนุญาตให้พฤติกรรมนั้นดำเนินต่อไป อย่าใช้อารมณ์ความโกรธเข้าไปปรับ เพราะเขาจะไม่ได้ยินสิ่งที่เราบอก

การนิ่งๆ คือทักษะอย่างหนึ่ง เก็บประจุความโกรธไว้ แต่ไม่ได้แปลว่ายอม เราสามารถบอกให้รับรู้ได้ โดยไม่ก้าวร้าว

ต้องไม่สร้างวัฒนธรรมนิ่งนอนใจ หรือสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เกื้อให้เกิดความรุนแรง อยากให้โรงเรียน องค์กร มีระบบ เช่น ประชุม เพิ่มเรื่อง well being คุณภาพของนักเรียนหรือพนักงาน มีช่องทางตรวจสอบ เช่น เขียนลงกล่องเพื่อพยายามพูด ควรสร้างระบบให้เขาแสดงออก ไม่ปล่อยให้เขาอยู่โดดเดี่ยว

“เรื่องเซลฟ์เอสตีมคือการทำลายประเทศชาติ จะมองว่าเป็นความรับผิดชอบของโรงเรียนหรือครอบครัวก็ไม่ใช่ เป็นหน้าที่ช่วยรณรงค์ทัศนคติที่ถูกต้อง”

พญ.อภิสมัยยังให้กำลังด้วยว่า เราไม่จำเป็นต้องชอกช้ำในชีวิต ขณะที่ถูกบูลลี่ก็เป็นคนที่เก่งฟุตบอล เป็นนักคณิตศาสตร์ของโรงเรียน อย่างเรามีเด็กกัดเล็บ เมื่อยังเปลี่ยนไม่ได้ ก็ใช้การดำเนินชีวิต เขาอยากทำอะไร สนับสนุนให้เติบโตไปในทิศทางที่มีความสุขกับชีวิต ปรากฏว่าชั่วโมงนั้นเด็กไม่กัดเล็บเลย พอพ่อแม่ถามว่ากัดเล็บหรือเปล่า เด็กก็กลับมากัดเล็บทันที

“ถ้าเกิดพฤติกรรมรุนแรงกับเรา ต้องตระหนักกว่านี่คือความรุนแรงและยอมรับไม่ได้ ถ้าเรามีอำนาจเข้าไปกำหนดนโยบายต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะคนตัวเล็กแล้วถูกกระทำไม่มีโอกาสส่งเสียง ผู้ใหญ่ต้องทำให้ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้”

ด้าน นพ.กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ ยกตัวอย่างการรังแกด้วยคำพูด

นักเรียนชั้น ป.2 ฟันน้ำนมหลุด เป็นประเด็นให้ล้อ เทคนิคการล้อคือเติมสรรพนามแสดงความเกลียดชัง คำว่า อี อย่างที่นักการเมืองหญิงใช้ จากฟันหลอ ก็เป็น อีฟันหลอ ชี้หน้า หัวเราะตาม จะเห็นว่ารุนแรงกว่ามาก

ตัวอย่างที่ 2 เด็กผู้หญิง เรียนเก่ง แต่เลือกภาษา โดนล้อว่าอยากมีผัวเป็นคนฝรั่งเศสใช่ไหม? จากล้อ 2-3 คน ก็กลายเป็นทั้งชั้น กลายเป็นระดับ ม.1 หรือเด็กผู้ชาย ม.3 โดนล้อชื่อพ่อแม่ แต่ตามมาด้วยภาวะซึมเศร้า

“โรงเรียนสำคัญมาก อยากให้โรงเรียนไทยทุกโรงมีนโยบายการต่อต้านการบูลลี่ ไม่ว่าเพศใด ถ้ามี ต้องมีคนแอ๊กชั่นทันที เหยื่อน่าสงสาร อัดอั้นตันใจ จะบอกใครก็ไม่ได้ จะขอความเห็นใจก็ถูกหัวเราะกลับมา อาจารย์ที่ไม่เข้าใจก็บอกอย่าไปฟังเขาสิ เดินหนีเขาสิ ทำอย่างไรให้เขาหาจุดเด่นของตัวเองเพื่อต่อสู้การบูลลี่” นพ.กมลกล่าว และทิ้งท้ายว่า

“เรื่องบูลลี่เป็นเรื่องเล็กของเรา แต่เป็นเรื่องใหญ่ของเขา (คนที่ถูกกระทำ) คำเดียวที่ล้อจะถูกรีพลีตซ้ำๆ ในสมอง อย่าปล่อยผ่าน อย่าทิ้งใครไว้ เป็นเรื่องใหญ่ของเขาและเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม”

เพราะเรามักจำไม่ได้ว่าเราพูดอะไรกับใคร แต่เรามักจำได้ว่าใครพูดอะไรกับเรา

ด้าน รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น ดารานักแสดง เปิดเผยว่า เรื่องที่ฝังใจที่สุดคือ เรื่องสีผิว วัยเด็กยังไม่เข้าใจ โดนว่าขวานฟ้าหน้าดำ ข้าวนอกนา

“เคยมีเด็กอายุ 5 ขวบ บูลลี่เรื่องสีผิวขณะออกรายการ พยายามประเมินผลว่าเราอยู่ในสังคมที่ว่าขาวสวย อดทน และทำงานต่อไป พยายามเข้าใจว่าค่านิยมเราขาวแล้วสวยเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบบียอนเซ่ หรือรีฮันน่า ฉะนั้นไม่ต้องคิดอะไร ทำความเข้าใจกับตัวเองก่อน มองกระจก บอกตัวเองว่า พ่อเราเป็นอเมริกัน พ่อเราสูง 190 เราโอเค แขเปลี่ยนอะไรตรงนี้ไม่ได้ ให้ทำความเข้าใจกับตัวเอง การที่เรามีสีผิวแทนไม่ผิด แทนก็สวยได้ ไม่จำเป็นต้องไปรักคนที่ชอบผิวสีขาว คนที่มีความคิดแตกต่างก็มี เพียงแต่ยังไม่อยู่ในจุดที่เราเจอเท่านั้น หาพื้นที่ หาคนที่ยอมรับในตัวเรา มีแน่นอน”

รัศมีแขยอมรับว่า ครอบครัวเป็นที่พึ่งที่ยากเช่นกัน สีผิวต่างกันถูกปฏิบัติอย่างแตกต่าง กระทั่งเรื่องเพศ ทุกวันนี้หาทาง ออกมา และทำทุกสิ่งทุกอย่าง ตอนนี้แขเป็นคนที่มีหน้าที่การงานที่ดีที่สุดในบรรดาญาติ เพราะเอาข้อนั้นมาพิสูจน์ตัวเอง

“เราทุกคนมีพรสวรรค์ในตัวเอง ครั้งหนึ่งคนที่เคยมองเราว่าข้าวนอกหน้า ขวานฟ้าหน้าดำ วันหนึ่งคนคนนั้นอาจจะเป็นที่รักของคนทั้งประเทศก็ได้ คนที่ถูกบูลลี่จงค้นหาว่าเราชอบอะไร ใช้สิ่งที่คนบูลลี่มาเป็นแรงผลักดัน เป็นอาวุธที่ดีมาก ต่อสู้ให้เขาเห็น ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นได้ เราทุกคนมีค่า คนสีผิวที่ประสบความสำเร็จระดับโลกมีมาก ศึกษา หาความรู้ และค้นหาตัวเองให้เจอ” รัศมีแขทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image