เมื่อ ‘กรุงเทพฯ’ เข้ามาแล้วจน ‘ปีละเดือน’ บนถนน ชีวิตผู้คนบนวิกฤตจราจร

“คนที่เข้ามาในเมืองเพราะมีโอกาสทำมาหากินได้ดีขึ้น แต่กลายเป็นว่า กทม.เข้ามาแล้วจน เพราะค่ารถ ค่าครองชีพสูง” คือประโยคเด็ดของสถาปนิกชื่อดังอย่าง ดวงฤทธิ์ บุนนาค ที่เคยเอื้อนเอ่ยไว้บนเวทีเสวนา “TALK : HAPPY CITY คิดเรื่องเมืองสุข” ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน และ broccoli book

เป็นประโยคสั้นๆ ที่โดนใจคนกรุงเทพฯและคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสภาพเศรษฐกิจซบเซาที่คนส่วนใหญ่สัมผัสได้แบบไม่ใช่แค่ “มโน”

ในงานเดียวกันนั้น ดวงฤทธิ์ไม่ใช่แค่บ่นออกมาดังๆ หากแต่ยังแนะแนวทางแก้ปัญหาโดยระบุว่า ต้องกระจายจราจร ต้องอนุญาตให้แต่ละส่วน ให้เมืองทุกเขตมีอำนาจการตัดสินใจในการปกครองอย่างค่อนข้างอิสระ มีการควบคุมความหนาแน่นของเมืองมากขึ้น จากนั้นเป็นเรื่องกระจายอำนาจการปกครอง ทำให้เกิดจุดศูนย์กลางเมืองใหม่ เช่น หนองจอก ถ้าให้หาเงินเอง คนจะพัฒนา จูงใจให้คนมาอยู่มากขึ้น เพื่อเก็บภาษีมากขึ้น ส่งส่วนกลางเล็กน้อย แต่เอามาพัฒนาในเมืองต่อไป

“ถ้าจะให้เมืองแฮปปี้ต้องแก้ไขสอดคล้องกันทั้ง 3 ส่วนคือ 1.ผังเมือง ว่าด้วยความหนาแน่น 2.ระบบสาธารณูปโภค 3.การปกครอง ลดอำนาจนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีให้เชื่อมโยงประชาชนกับผู้ปกครองได้มากขึ้น กระจายอำนาจได้ เมืองจะไหลลื่น ดีขึ้นโดยไม่ต้องออกแรงมาก แต่คนทำต้องแมนสุดสุด รับรองประเทศชาติจะเจริญขึ้นมาก” สถาปนิกคนดังจับไมค์ใส่เต็มเหนี่ยว

Advertisement
จากซ้าย นายวริทธิ์ธร สุขสบาย ผู้ก่อตั้งเพจ Mayday, พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และเจ้าของรางวัลเมืองเพื่อสันติภาพ จากยูเนสโก, ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง ในงานเสวนา “TALK : HAPPY CITY คิดเรื่องเมืองสุข” จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน และ broccoli book

ตัดฉากมาในต้นเดือนพฤศจิกายน ไม่ใช่แค่คน “แมนๆ” แต่เป็นอดีตรัฐมนตรีที่ได้วลีพ่วงท้ายว่า “แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” อย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยืนหน้าห้องบรรยายในตึกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามคำเชิญของภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ด้วยหัวข้อ “Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร”

เมืองกระจุก ทุกข์สาหัส 1 ปีอยู่บนรถ 1 เดือน

ในเนื้อหาหนักแน่นและมากมายด้วยข้อมูลอันเกี่ยวข้องกับการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร แน่นอนว่า “การจราจร” คือหนึ่งประเด็นสำคัญเพราะเกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตคนเมืองเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาด “คำขวัญ” ของเมืองหลวงของไทยแห่งนี้ยังเคยต้องมีเรื่อง “รถติด”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บรรยายหัวข้อ Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

“ช่วยชุมชนแออัด ขจัดมลพิษ แก้ปัญหารถติด ทุกชีวิตรื่นรมย์” คำขวัญกรุงเทพฯ ก่อนเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2555 ที่สะท้อนชีวิตจริงแบบเรียลิตี้

“เมืองเราไม่ได้หนาแน่น แต่กระจุกเป็นจุดๆ รถติด ถนนแน่น แต่เราต้องการเมืองที่ลดการใช้รถ เมืองที่มีสาธารณูปโภคดีขึ้น ผังเมืองของเราแออัดข้างใน แต่ผลักคนไปอยู่ข้างนอก

ถามว่ารถจะไม่ติดได้อย่างไร เพราะงานกับบ้านห่างไกลกันเหลือเกิน ใน 1 ปี เราอยู่บนรถ 1 เดือน เพราะเดินทางจากข้างนอกเข้าไปข้างใน รถไฟฟ้าก็แก้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ door to door

…ทุกวันนี้คนใช้รถเมล์ 1 ล้านสี่แสนคน รถติดเพราะระบบขนส่งสาธารณะยังไม่ดี การสร้างถนนเพื่อแก้ไขรถติดอาจไม่ถูก เมื่อสร้างถนน เมืองจะไปตามถนน” ชัชชาติระบุ

สำหรับการแก้ปัญหาจราจร เจ้าตัวมองว่า กทม.ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่มีผู้รับผิดชอบถึง 37 หน่วยงาน ถนนสายหลัก ถนนสายย่อย และฟุตปาธ ดูแลแยกกัน รถไฟฟ้าก็มีไม่รู้กี่เจ้าของสถานีเดียวกันใช้คนละชื่อ เช่น จตุจักร-หมอชิต, อโศก-สุขุมวิท

“อย่าคิดว่า กทม.เป็นผู้วิเศษที่มีอำนาจเด็ดขาด แต่ต้องเล่นบทเจ้าบ้านที่เข้มแข็งขึ้น ต้องสู้เพื่อคนกรุงเทพฯ มากขึ้น ต้องเป็นตัวแทนคนกรุงเทพฯ ในการประสานงานกับหน่วยงานอื่น”

กว่าจะถึง’รถไฟฟ้า’

เส้นเลือดฝอยมีปัญหา ทำชีวิตติดขัด

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในมุมมองของชัชชาติ คือปัญหาการจัดการ “เส้นเลือดฝอย” โดยระบุว่า เรามี “เมกะโปรเจ็กต์” มากมาย แต่เส้นเลือดฝอยติดขัด ส่วนที่เกี่ยวกับการจราจรเห็นได้ชัดว่าแม้กรุงเทพฯมีรถไฟฟ้า แต่สุดท้ายรถก็ยังไม่หายติด เพราะก่อนจะมาถึงรถไฟฟ้าต้องฟันฝ่ามาถึงสถานีด้วยเส้นเลือดฝอย อาทิ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เดินทางออกจากตรอกซอกซอย ถ้าเส้นเลือดฝอยไหลไม่สะดวก ปัญหาก็ย่อมมีอยู่

นอกจากนี้ ยังเสนอแนวคิดที่ว่า รัฐบาลควรดูแลคนที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ โดยมีที่อยู่ราคาถูกให้ 5 ปี ไม่ใช่ดูแลแต่คนรายได้น้อยอย่างเดียว ทางที่ดีควรขยายเมืองไปอยู่รอบนอก เพื่อให้งานอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น ให้คนเดินทางน้อยลง เป็นเทรนด์ที่ช่วยเมืองให้กระจายมากขึ้น

แม้รัฐมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายด้านการจราจรและออกแบบเมืองให้เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทว่า อดีตรัฐมนตรีคมนาคม ก็สะกิดว่า อย่างไรก็ตาม เวลารถติดไม่ใช่ก่นด่า กทม.กับรัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องแชร์ความรับผิดชอบด้วย เมืองที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่เมืองที่คนจนมีรถ แต่เป็นเมืองที่คนรวยมานั่งรถสาธารณะ เมืองจะพัฒนาได้ ต้องเริ่มจากคนมีวินัยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอิสระในการใช้ชีวิต เราฝันอยากเป็นอย่างญี่ปุ่น แต่ไม่เคยรับผิดชอบเมืองร่วมกัน เราจะตกเป็นทาสของการอยากเป็น

และนอกจากประชาชนแล้ว ภาควิชาการก็สำคัญเช่นกัน เพราะเป็นมันสมอง ส่วนภาคธุรกิจนั้น งบประมาณของประเทศยังสู้ภาคธุรกิจไม่ได้ ตัวอย่างที่ดีคือ สกายวอล์กย่านปทุมวัน ซึ่งเอกชนร่วมกันสร้างเพราะเชื่อมเข้าอาคารของตัวเอง นี่คือสิ่งที่เอกชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงเมืองให้ดีขึ้น ทั้งยังเสนอว่าในอนาคตอาจปรับเปลี่ยนกฎหมายผังเมืองเรื่อง “ที่จอดรถ” กลางกรุงในห้างสรรพสินค้าว่า “ไม่ต้องมี”

“ผมถามแท็กซี่ว่า ห้างไหนจอดรถแท็กซี่ดีที่สุด เขาบอกมาบุญครอง เพราะไม่เบียดเบียนพื้นที่ถนน นี่เป็นจิตสำนึกที่เอกชนมาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในเมืองควรลดที่จอดรถ เพื่อบังคับให้คนนั่งรถไฟฟ้ามา ห้างบางแห่งอยู่ศูนย์กลางรถไฟฟ้า แต่ที่จอดรถมหาศาล คนขับรถมารถก็ติด กฎหมายผังเมืองอาจต้องเปลี่ยนว่าไม่ต้องมีที่จอดรถในห้างแล้ว”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บรรยายหัวข้อ Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รถเมล์ ผังเมือง

เรื่องต้องแก้ แต่ ‘ไม่มีซุปเปอร์ฮีโร่’

ส่วนประเด็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีข่าวตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ว่าชัชชาติจะลงชิงเก้าอี้ในนามอิสระ งานนี้เจ้าตัวกล่าวว่า คนมักบอกว่า กทม. ผู้ว่าฯต้องเก่ง ซึ่งส่วนตัวแล้วไม่เชื่อ

“ผมเชื่อว่า กทม.จะดีได้ต้องร่วมมือกัน 4 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ธุรกิจ และประชาชน ไม่มีทางที่จะฝากความหวังไว้กับผู้ว่าฯให้แก้ปัญหาคนเดียว ประชาชนก็ต้องปรับแนวคิด อย่าหวังว่าทุกอย่างต้องแก้โดยรัฐ เราคือเมือง เมืองสะท้อนเรา เราคือประชาชน ถ้าเราไม่เปลี่ยนอย่าหวังว่าเมืองจะเปลี่ยน อย่าคิดว่าทุกอย่างต้องให้รัฐทำ แต่ต้องมาจากเราทุกคน โดยรัฐช่วยกำหนดนโยบาย

ไม่มีซุปเปอร์ฮีโร่ ทุกคนต้องร่วมกัน ต้องเป็นทีม ร่วมกันทำให้เมืองดีขึ้น”

พูดเรื่องการจราจรในเมืองหลวงของไทย โดยเฉพาะ “รถเมล์” ในวันนี้ถ้าไม่มีความเห็นของ วริทธิ์ธร สุขสบาย ก็อาจดูเหมือนขาดอะไรไป

เขาคือหนุ่มผู้หลงใหลในการนั่งรถเมล์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ Mayday ที่มีบทบาทผลักดันการพัฒนาเมืองผ่าน “กราฟิกดีไซน์” เช่น ป้ายบอกเส้นทางรถโดยสาร

“รถเมล์คือสัญลักษณ์ของผู้มีรายได้น้อย เราจะไม่ค่อยเจอว่านางเอกมีเงินขึ้นรถเมล์ ไม่แน่ใจว่าเพราะสื่อหรือมายด์เซตกันแน่ที่ทำให้คนไม่ให้ค่าคนในเมืองเท่ากัน นั่นคือการมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำ” วริทธิ์ธรกล่าวบนเวทีเดียวกับดวงฤทธิ์ดังที่หยิบยกประโยคเด็ดมาเปิดไว้เมื่อตอนต้น

“ทุกวันนี้เราจะคิดแค่ว่าทำให้รถไม่ติดก็ยังยากมาก แต่ทำไมไม่ลองคิดว่า ทำอย่างไรให้คนไปได้พร้อมกัน ถึงที่หมายได้เร็ว ไม่ว่าจะทางรถ หรือ เรือที่เรามองข้ามมานาน คลองแสนแสบ อาจจะต้องออกแบบเรือให้ปลอดภัยขึ้น คนจะไม่โดนน้ำสาด ตอนนี้ยังไม่ถึงที่ทำงานก็ไม่แฮปปี้แล้ว ไม่ว่างานจะหนักแค่ไหน ถ้าเรากลับบ้านได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น เป็นภาพสำคัญที่จะทำให้คนแฮปปี้ได้ ขนส่งมวลชนดี พัฒนาคุณภาพชีวิตดีได้”

ในการเดินทางเช้าเย็นของทุกวันที่กลายเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสของคนกรุง กลายเป็น “แอดเวนเจอร์” ที่ต้องพบเจอทุกเมื่อเชื่อวัน วริทธิ์ธรบอกว่า ต้องมาพิจารณากันตั้งแต่ “ผังเมือง”

“ผังเมืองเราเป็นซุปเปอร์บล็อก ใหญ่มาก กว่าจะออกนอกชานเมือง เข้ามาต่อรถในเมือง ถ้าผังเมืองยังแก้ไม่ได้ ขนส่งสาธารณะก็ไม่ควรจะแขวนคนไว้อย่างนั้น เราทำรถไฟฟ้า แต่ไม่ได้คิดว่าจะพาคนมารถไฟฟ้าอย่างไร ต้องนั่งมอ’ไซค์ต่อรถไฟฟ้า ต่อมอ’ไซค์ 200 บาทต่อวัน เฉพาะค่าเดินทาง”

แม้จะอุดมไปด้วยปัญหาหลากหลายและซับซ้อน แต่วริทธิ์ธรเชื่อว่า การแก้ไขย่อมเป็นไปได้ แม้จะยากก็ตาม

“อย่างขนส่งสาธารณะ กลายเป็นว่าสิทธิการใช้พื้นที่บนถนนไม่เท่ากัน ถ้าเราจะต้องรถติดเหมือนกัน ทำไมต้องยืน หรือเราไม่ตระหนักว่าการมีบัสเลนดีอย่างไร คนคิดว่ารถติดมากขึ้น แต่ไม่ได้มองเรื่องเวลาและความเร็ว ถ้าเรามีบัสเลน รถจะโฟลว์ เหมือนรถไฟฟ้า แค่อยู่บนถนน ซึ่งในกรุงเทพฯมีแล้ว แต่เราไม่ได้บังคับใช้จริง”

เป็นข้อมูล บทวิเคราะห์ เสียงสะท้อน ที่แค่รับฟังอาจยังไม่เพียงพอ ทว่า ต้องเริ่มต้นแก้ไขจริงจังนับแต่นาทีนี้เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image