กะเทาะแผน เปิดนโยบาย เมื่อ ‘ไลฟ์สไตล์’ คือเหยื่อล่อของการนิยาม ‘เมือง’?

ในขณะที่ก้มหน้าหาเงินแลกข้าว ในขวบปีที่ผู้คนในเมืองดำรงอยู่อย่างหงอยเหงา หากเราหยุดมองบ้างก็อาจพบเห็นย่างก้าวการพัฒนาที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม?

Urban Jam, สำนักข่าวประชาไท และอีกหลายภาคส่วน จัดเวทีสาธารณะให้ได้เห็นมุมมองของนักวิชาการ ไปจนถึงชาวบ้านอันข้องเกี่ยวกับการพัฒนา ในหัวข้อ เมืองเถียงได้ ในประเด็น กะเทาะแผน เปิดนโยบาย พัฒนาร่วม ร่วมพัฒนา เมื่อปลายตุลาฯที่ผ่านมา

สะท้อนที่มาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสู่นิยามความเป็นเมือง ที่ชุมชนเดิมเลือนหายด้วยแผนพัฒนา ด้วยอำนาจการจัดการพื้นที่

การพัฒนาเมืองที่ถอดคราบจากเผด็จการจ๋า สู่อีกรูปแบบการพัฒนาที่บีบเค้นคนออกจากพื้นที่ กลืนสู่ความเป็นทุนนิยมโดยใช้โฆษณาชวนเชื่อเป็นเหยื่อล่อ

Advertisement

ชาตรี ประกิตนนทการ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มองเรื่องการพัฒนาย่านเมืองเก่าผ่านแผนแม่บทกรุงฯ ผ่านสองแกนที่ไขว้ตัด

“มาตรวัดแกนนอนคือ การออกแบบ ซ้าย-โดยไม่ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ เป็นไปตามธรรมชาติ ขวา-โดยผู้เชี่ยวชาญ สถาปนิก และนักออกแบบ

ส่วนแกนแนวตั้งให้ชื่อว่า การมีส่วนร่วมในการวางแผน ล่าง-คือการวางแผนแบบ ‘ท็อปดาวน์’ จากบนลงล่างสั่งการลงมา บน- ‘จากล่างขึ้นบน’ จากส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

Advertisement

2 แกนตัดกัน เกิด 4 พื้นที่ สามารถจับโครงการที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยัดใส่ไปได้ เริ่มจาก ‘ซ้ายล่าง’ คือ การพัฒนาแบบเผด็จการ ดีไซน์จาก ‘ท็อปดาวน์’ (Dictatorship Urban Development)

“ภาษาบ้านๆ ดีไซน์ก็แย่ แถมยังท็อปดาวน์ เห็นได้ชัด เช่น สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ การจัดระเบียบคลอง สะพานเหล็ก ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา”

อ.ชาตรีเล่าต่อไปว่า ส่วนด้าน ขวาล่าง น่ากลัวมาก (State-led Gentrification) คือกระบวนการที่รัฐเอื้อมมือเข้ามา ทำให้เกิดขึ้น

ซ้ายบน (Urban Vernacular) คือการเติบโตของเมืองผ่านชาวบ้าน ไม่ได้รับการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นไปเองโดยธรรมชาติ แต่มีลักษณะขึ้นจากคนข้างล่าง สร้างกันเองแต่ทับที่สาธารณะ เช่น สตรีทฟู้ด คลองถม-สะพานเหล็กก่อนถูกรื้อ หรือชุมชนแออัด อันเป็นไปตามความต้องการทางสินค้าและบริการของคนในเมือง

ขวาบน (Community-based Urban) เป็นกระบวนการพัฒนาโดยชุมชนอย่างแท้จริง เป็นอุดมคติที่เราทุกคนต้องการ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีอยู่จริง

“เรามักพูดกันถึงย่านเมืองเก่า เกียวโต โกเบ เป็นการพัฒนาจากล่างขึ้นบนโดยได้รับการออกแบบและดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในกรุงเทพฯไม่ค่อยมีให้เห็น ที่ใกล้เคียงสุดเห็นจะเป็นย่านกุฎีจีน คลองสาน” ชาตรีระบุ ก่อนบอกว่าที่มาวันนี้ อยากเน้นที่ “ขวาล่าง”

“ขวาล่าง (Gentrification) เป็นกระบวนการที่รัฐเอื้อมมือเข้ามา แต่ได้รับการร่วมมือจากสถาปนิก สถาบันทางวิชาการ ทำให้โครงการมีความสวยงามและหล่อหลอมให้คิดว่าดี แต่ไม่ได้ตอบสนองไลฟ์สไตล์อย่างแท้จริง

ชาตรีอธิบายว่า ขวาล่างน่ากลัวเพราะ Gentrification พูดถึงการไล่รื้อชุมชนโดยไม่ได้ใช้อำนาจดิบหยาบแบบเผด็จการที่เอาทหารมาไล่รื้อ ยกคนออกไป แต่เป็นการปรับโครงสร้างเชิงนโยบาย เช่น ทำให้ค่าเช่าสูงขึ้น ซึ่งจะบีบคนโดยทางอ้อม เป็นการไล่รื้อที่ซับซ้อนแนบเนียน เป็นการทำลายพื้นที่ทำมาหากินของคนที่มีไลฟ์สไตล์แบบหนึ่งออกไป พื้นที่สาธารณะถูกออกแบบโดยไม่ได้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนทุกวัฒนธรรม ทำให้คนกลุ่มที่ไม่ได้มีไลฟ์สไตล์แบบเดียวกันอยู่ไม่ได้

“โลกสมัยใหม่พยายามใช้วิธีนี้เพราะซอฟต์และดูแนบเนียน ด้วยชื่อหลอกๆ ทั้ง Recital,Rehabilitation ฟื้นฟูเมือง ทำให้มีชีวิต เราต้องอย่าไปหลงคำเหล่านี้ อาจจะเป็นเรื่องจริงแต่ต้องมีมาตรวัดว่าโครงการแบบไหน เป็น Gentrification หรือเป็นการฟื้นฟูเมือง ซึ่งโดยส่วนใหญ่โครงการแบบ Gentrification จะรันโดยทุนนิยมในโลกเสรี เช่น ย่านเก่ามีที่ศักยภาพ นายทุน ศิลปิน สถาปนิกจะเข้ามาเช่าที่ ปรับเป็นอาร์ตแกลเลอรี่เท่ๆ ฮิปโฮเต็ลสวยๆ ร้านกาแฟชิคๆ ทำให้ย่านมีราคาแพงขึ้น ดึงดูดคนชั้นกลางมากขึ้น และบีบชุมชนออกไปเอง แต่ในรัฐค่อนข้างเผด็จการรอทุนนิยมไม่ได้ จึงลงทุนเพื่อให้กระบวนการนี้เกิดเร็วขึ้น” ชาตรีระบุ ก่อนจะเล่าต่อว่า

จะดูว่าอันไหนคือ Gentrification หรือ Rehabilitation ดูที่ เปอร์เซ็นต์การถูกบังคับย้ายออกทางอ้อม และ การเปลี่ยนรุ่นสถานะของประชากรที่รวดเร็ว น่าเสียดายที่ไทยไม่มีการจัดเก็บตัวเลขนี้ แต่ประมาณการได้ว่าคนอยู่เดิมถูกขับออกไปเกิน 40-50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าอันตราย เพราะคนเข้ามาอยู่ใหม่ก็เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเพียงด้านเดียว ทำให้เกิดความต่างทางวัฒนธรรมสูง ตัวอย่างเช่น จีน ย่านเก่า Shikumen เป็นที่อยู่ของคนรายได้น้อย เสื่อมโทรมในทรรศนะของภาครัฐ จึงออกหลายกระบวนการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนชั้นกลางเข้ามาเช่าพื้นที่ สุดท้ายย่านนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสถานที่ คลับบาร์ โฮเต็ล หรือ “Suzhou Creek” อีกย่านที่ถูกปรับโดยออกแบบให้เห็นวิวรอบทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งชนชั้นกลางชอบ

1.ทางจักรยาน ทางเดินริมแม่น้ำ Pocket park

2.ฮิปโฮเต็ล คาเฟ่ ในตึกโคโลเนียล

3.มิวเซียม อาร์ตแก็ลเลอรี่

4.ครีเอทีฟมาร์เกต Truck food

5.กราฟฟิตี้สำหรับเซลฟี่

“5 องค์ประกอบนี้ไปอยู่ที่ไหน นั่นคือพื้นที่ของชนชั้นกลาง มีได้ ส่วนตัวก็ชอบ แต่สังคมไทยขณะนี้แทบทุกโครงการสาธารณะ พื้นที่เมืองเก่าถูกทำให้มีลักษณะเชิงเดี่ยวและตอบสนองเฉพาะคนชั้นกลาง ซึ่งชนชั้นกลางก็แฮปปี้ แต่ไม่ได้นึกว่าจะไปเบียดพื้นที่ไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มอื่น”

เพราะคนชั้นกลางคือคนที่มีเสียงมากที่สุดในสังคม และสื่อก็ชอบฟังเสียงจากชนชั้นกลาง

“คุณเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้อย่างแน่นอน เมื่อคนชั้นกลางเห็นสอดคล้องไลฟ์สไตล์ มีสวนสวยๆ ทางเดินริมน้ำ ร้านกาแฟ โรงแรม ก็สนับสนุน ทำให้เกิดโครงการ Gentrification โดยที่รัฐไม่ต้องปฏิบัติการอย่างเผด็จการ ทหารไม่จำเป็นต้องขนคนมาไล่ เพียงแต่หยอดนโยบายลงไป นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสังคมไทยและน่ากลัวกว่าซ้ายล่าง”

“ท่ามหาราช พื้นที่ริมน้ำ วัฒนธรรมปั่นจักรยาน” ไม่ใช่ไม่ชอบ แต่จักรยานของไทย ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับไลฟ์สไตล์ ดูได้จากแอ๊กเซสซารี สังเกตที่จักรยานไม่มีตะกร้าหน้า ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่เป็นวิถีชีวิต ส่วนตัวมองว่าถ้าสนับสนุนจักรยานควรสนับสนุนวินมอเตอร์ไซค์มากกว่า

ส่วนกราฟฟิตี้ จุดเริ่มต้นมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านรัฐ เพราะต้องเข้าไปทำในจุดที่ไม่ได้รับอนุญาต แต่ของไทยตลก ขออนุญาตทุกตึก จะวาดแบบนี้ เป็นกราฟฟิตี้ที่เชื่องมาก

ครีเอทีฟ มาร์เก็ต ตระกูล “ครีเอทีฟ” ต้องระวัง เพราะเข้าสู่ชนชั้นกลางเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างที่มีแนวโน้มสูงกำลังก้าวเข้าสู่ Gentrification คือ Creative District แถวบางรัก เริ่มเห็นกระบวนการรวมตัวและชี้เป้าว่าตึกไหนราคาถูก เพื่อให้ศิลปินย้ายมาอยู่ร่วมกัน เป็นสัญญาณที่ไม่ดีของการถูกกำจัด (displacement)

“ภาครัฐจะหย่อนมาตรการบางอย่าง เช่น ควบคุมความสวยงามของตึก สี ความสูง และสไตล์ที่เอื้อแผนแม่บทเพื่อการพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

แบบเดิม คือ ซ้ายล่าง แต่ที่กำลังจะออกในทรรศนะ คือ ขวาล่าง ทุกคนอ่านแล้วจะรู้สึกดีขึ้น แต่พิษร้ายอาจยิ่งกว่า เน้นการท่องเที่ยว ย้ายกระทรวงเพื่อลดความแออัดของเมือง แต่เพิ่มพื้นที่จอดรถทัวร์จีน นี่คือการเปลี่ยนคน หรือ อีกกรณี ‘กรมธนารักษ์ ปัดฝุ่นตึกเขียวอยุธยา (สไตล์โคโลเนียล) เปิดประมูลเป็นบูติคโฮเต็ล’ การพัฒนาจะต้องมีความหลากหลาย ไม่ใช่เชิงเดี่ยวแบบนี้” อาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมเน้นย้ำ พร้อมยกตัวอย่างโครงการที่เกือบจะไปไม่รอด แต่กลับไปต่อได้ด้วยเหยื่อที่หยิบยื่นให้ชวนหลง

“ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอีกตัวอย่างที่เกิดจากการเห็นชอบร่วมกันของคนในสังคมและชนชั้นกลาง ว่าแย่ ถูกประท้วงจนตอนนี้ก็ยังสร้างไม่ได้ แต่ถ้ารัฐเปลี่ยนให้สวยขึ้น แนวร่วมจำนวนมาก ทั้งนักวิชาการ สถาปนิกจะถอยออก มีสวนเล็กๆ มีสตรีทฟู้ด แกลเลอรี่ ร้านกาแฟนโยบายทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยากำลังเคลื่อนจากซ้ายล่างมาสู่ขวาล่าง โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยปรับสไตล์”

เพราะประโยชน์และเปลือกนอกที่ลุ่มหลง อาจกระทบอีกหลายชุมชน

เพราะ 5 องค์ประกอบที่คิดว่าดีที่สุด อาจกำลังทำให้คนหลงลืมบางพื้นที่

“ณ เวลาหนึ่ง ป้อมมหากาฬเคยประกวดนกเขา เรามีตะกร้อลอดห่วง ตลาดนัดสนามหลวง ที่หายไป ทำไมเราเหลือแต่สวนเขียวๆ สะพานเหล็ก ที่ว่าน่าเกลียดเป็นการบุกรุกที่ ‘ใช่’ แต่สะพานเหล็กอยู่ได้หลาย 10 ปี เพราะเป็นความต้องการของคนเมืองจริงๆ ต้องการโปรดักต์แบบนี้ รื้อออกหมดเพราะมองแค่เปลือก เหตุใดไม่หาทางเลือกที่ 3” ชาตรีแนะ ก่อนจะเรียกร้องไปยังผู้มีส่วนร่วมว่าคนชั้นกลาง สถาปนิกและนักออกแบบต้องส่งเสียง อย่าเป็นเครื่องมือของรัฐ ขอให้เลิกจับมือกับซ้ายล่าง โดยหันมามองซ้ายบน เพื่อหาทางออกไปสู่ขวาบน

สิ่งที่รัฐต้องการ เรื่องการท่องเที่ยวไม่ควรปฏิเสธ แต่ไม่ใช่รื้อหมด หรือคงไว้ ยังมีทางเลือกที่ 3 เช่น ทัวร์คลองเตย อันมีต้นแบบมาจากทัวร์สลัมที่มุมไบ ถือเป็นทัวร์ที่ประสบความสำเร็จ เหตุใดไม่มองถึงศักยภาพ เหตุใดไม่มองพื้นที่ที่ 3 สลัมก็เที่ยวได้ เหตุใดต้องไปเที่ยวร้านกาแฟ หรือ สวนสาธารณะเพียงอย่างเดียว

“จะกินกาแฟตลอดเวลาไม่ได้ กินอย่างอื่นบ้าง และก็ต้องถูกบ้าง”

“ทุกคนยอมรับว่าสตรีทฟู้ดไทยกินพื้นที่ฟุตปาธ แทบจะเดินไม่ได้ แต่ทำไมเราต้องมีแค่ 2 ทางเลือก ทำไมไม่เพิ่มพื้นที่ทางเดินให้สตรีทฟู้ดอยู่ สุดท้ายสิงคโปร์กำลังจะไปขอขึ้นทะเบียนสตรีทฟู้ดกับยูเนสโก ทำไมเราต้องเสียวัฒนธรรมสตรีทฟู้ดไปจากการเคลียร์พื้นที่ให้โล่ง” ชาตรีทิ้งท้าย

ด้าน ผศ.ดร.ศักรินทร์ แซ่ภู่ ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่สามารถมองชุมชนโรแมนติกแบบเดิมได้ เพราะโลกรัดตัวเข้ามา ไม่สามารถอยู่พื้นล่างได้หมด เราต้องปรับ แต่จะปรับแบบไหน

“ตอนนี้คนจนเมือง คนชนชั้นกลาง เป็นเสียงที่ไม่เคยปรากฏก็โดนหมด เจ้าของร้านค้าผูกคอตายหลังโดนเส้นรถไฟสายสีแดงตัดผ่าน คือแรงกดดันที่ต้องเข้าใจร่วมกัน คือความล้มเหลวของสังคมนิยมอย่างหนึ่ง ซึ่งเรามี ทุนเศรษฐกิจ ทุนการเมือง แต่หลงลืมมิติข้างล่าง ขาดทุนสังคมวัฒนธรรม และ ทุนสิ่งแวดล้อม ผู้คนที่อยู่กันมา มีต้นไม้ มีรากแต่ถูกยึดโยงเอาทรัพยากรที่ดินในจังหวัดโดยใช้คำว่าพัฒนาเข้าไป” ศักรินทร์อธิบาย

สะท้อนให้เห็นภาพว่า สุดท้ายแล้ว โครงสร้างความเหลื่อมล้ำเกิดจากกลไกที่นำไปสู่การลิดรอนสิทธิ

จากซ้าย รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ, วริศ ลิขิตอนุสรณ์ (ผู้คำเนินรายการ), ผศ.ดร.ศักรินทร์ แซ่ภู่ ภาพจาก Cheewid

“แต่ก่อนเมืองเก่าเราจะมองไปที่วัตถุ สุโขทัย อยุธยา หลังๆ พูดถึงเรื่องกิจกรรม ผู้คน การถวิลหา ความทรงจำเมืองเก่า จะเรียกว่า สลัม ชุมชนเสื่อมโทรม หรือพื้นที่ความทรงจำก็ได้ อยู่ที่มุมมอง แต่จากประสบการณ์ที่เห็น เลวร้ายที่สุดคือเมืองเก่าที่ไม่ปล่อยให้คนตัวเล็กตัวน้อยเดินทางร่วมไปกับเมืองเก่าบะหมี่ป๊อกๆ หาบเร่ หรือเย็บรองเท้า อาชีพที่โดนดูถูก หากเปลี่ยนเป็น Shoes master หรือตั้งจักรเย็บผ้าเรียกเป็นงานหัตถกรรมในเมือง เอาเหล้าเก่ามาเปลี่ยนฉลากใหม่ เพราะยิ่งสังคมสะวิงไปหาข้างเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งโหยหาเรื่องพวกนี้มากขึ้น”

ศักรินทร์ระบุว่า เราอาจไม่เห็นตรงกันทั้งหมด แต่นั่นคือวุฒิภาวะทางสังคม การย้ายบ้านไม่ทำให้เสียชีวิต เพราะเราเป็นมนุษย์ เพียงแต่การปรับต้องอยู่ภายใต้การคุยแลกเปลี่ยน ถ้าอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้วควรจะอยู่แบบไหน

“อาการกดทับของทั้งประเทศจะทำให้ฝีแตกพร้อมกันหลายที่ เพียงรอเวลาที่จะขึ้นพร้อมกัน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงบางครั้งต้องสร้างแรงสะเทือน ตราบใดที่โดนกดอยู่อย่างทุกวันนี้”

 

“สังคมต้องเรียนรู้ร่วมกัน” ออกจากที่ตั้งของความคิดตัวเองก่อน เพราะเราดื้อเขาก็ดื้อ จากนั้น “ปรึกษาหารือ” “ทำงานร่วมกัน” “สร้างฉันทามติ” สำคัญคือการได้คุย และฟังอย่างมีคุณภาพ ศักรินทร์แนะ ก่อนจะกล่าวต่อว่า

“แปลก สังคมสร้างฉันทามติโดยโหวตทันที โดยไม่ได้ทำ 1 2 3 4 การสร้างฉันทามติที่เร็วจนเกินไปอาจให้การเรียนรู้ไม่เกิด

เขตเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เขตเศรษฐกิจในโลกนี้มีตั้งแต่ เขตวัฒนธรรมพิเศษ เขตท่องเที่ยวพิเศษ เขตเกษตรพิเศษ แต่เมืองไทยมีเขตอุตสาหกรรมล้วน อุตสาหกรรม คือ 1 ใน 3 ของประเทศ

แต่เราจะผลิตไปให้ใคร ประเทศเราพร้อมขนาดนั้นหรือ มหาวิทยาลัยเรามีองค์ความรู้ มีหุ่นยนต์ เอไอ เตรียมเรื่องเหล่านี้พร้อมแล้วหรือไม่

ท้ายที่สุด ถ้าเรียนรู้กันก่อน แม้จะคิดไม่เหมือนกัน นั่นคือความหลากหลาย แต่จะเคารพกันได้บ้างเพราะได้ยินได้เข้าใจกันหลายเรื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image