‘คนชังชาติ’ ข้อกล่าวหา วาทกรรม หรือภัยคุกคามที่ต้องตามสกัด

นับเป็นอีกหนึ่งคำยอดฮิตในวิกฤตการเมืองไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานยังไม่พบ แต่ถูกใช้แพร่หลายอย่างยิ่ง สำหรับ “ชังชาติ” วาทกรรม 2 พยางค์ที่ยังหานิยามชัดเจนแบบเซ็นเอ็มโอยูร่วมกันไม่ได้ นักวิชาการหลายรายเขียนบทความวิพากษ์อย่างจริงจังถึง “ข้อกล่าวหา” นี้ วันดีคืนดีนักคิดนักเขียนนักกิจกรรมทางการเมืองโดยเฉพาะฝ่าย “ไม่เอาเผด็จการ” ก็ถูกแปะป้ายชังชาติบนหน้าผากให้เสร็จสรรพ ซ้ำโดนตะเพิดให้ออกไปไกลๆ จากไทยแลนด์

หลังต่างฝ่ายค่ายความคิดฉะกันไปมานานนับปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีอัญเชิญกลุ่มบุคคลผู้มีความเห็นต่าง รวมถึงผู้ย้ำชัดว่า “เป็นกลาง” ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมาร่วมถกกันสักตั้ง ในเสวนา “คนชังชาติ ควรออกไปจากประเทศหรือไม่” ทว่า ยังไม่ทันไร ฝ่ายที่ใช้บริการวาทกรรมชังชาติพากันถอนตัวระนาว โดย “สนธิญาณ หนูแก้ว” หรือนามสกุลใหม่ “ชื่นฤทัยในธรรม” ถึงขั้นออกถ้อยแถลงแจ้งเหตุผลว่า อยากไปนิพพานมากกว่าขึ้นเวทีดังกล่าว สุดท้ายได้มือทะลวงฟันอย่าง “ผู้กองปูเค็ม” “ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล” มาร่วมวงกับ “โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา” และ “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ บก.ลายจุด ผู้ซึ่งโดนข้อหานี้เต็มๆ กันทั้งคู่ ร่วมด้วย “ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล” นักวิชาการอิสระซึ่งประกาศตัวไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ห้องคอมมอนรูม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ร้อนเป็นไฟ ด้วยความคิดความเห็นเผ็ดซาบซ่าหม่าล่า 100 เม็ด

 

Advertisement

เกลียดเผ่าพันธุ์ ‘ความเป็นไทย’ แล้วจะอยู่ทำไมในประเทศนี้

“คนที่ไม่เคารพกติกาหรืออัตลักษณ์ของเผ่าแล้วมาอยู่ในเผ่าเราทำไม มีเผ่าข้างๆ เผ่าพม่า เผ่าเขมร เผ่าเวียดนาม เหตุใดไม่ไปอยู่ มีสิทธิอยู่หรือ ไม่ไม่รู้ แต่มีสิทธิตั้งคำถามว่า ถ้าเกลียดเผ่าพันธุ์ความเป็นไทย อยู่ด้วยความยากลำบาก เจ็บแค้น ชังชาติขนาดนี้ จะอยู่ทำไม ผมไม่มีสิทธิไล่ แต่จะตั้งคำถามเช่นนี้” ผู้กองปูเค็มจัดหนัก ถ้าไม่รักแล้วอยู่ทำไม ?

“ร.อ.ทรงกลด” หรือผู้กองปูเค็ม การ์ดชาตินิยม Thai Wisdom บอกว่า แนวคิดชังชาติทำให้เกิดการเอาแบบอย่างแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่อง เท่ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ประเทศตัวเองให้ชาวต่างประเทศรับรู้ ชักชวนให้คนต่างประเทศมาช่วยจัดระเบียบประเทศ อาจเพราะอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว หรือมีความรู้ไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าหากมีการจัดระเบียบโดยมหาอำนาจของโลก จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นในตะวันออกกลาง และอีกหลายประเทศซึ่งเกิดจากการที่คนในประเทศกวักมือเรียก

ผู้กองปูเค็ม ซึ่งมีวีรกรรมหาญกล้า เคยชูป้าย “ชักศึกเข้าบ้าน” ต่อหน้า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาแล้ว สารภาพกลางงานว่า เหตุที่ตนติดตามธนาธรไปทุกหนแห่งเพราะต้องการ “บล็อก” บุคคลผู้นี้ที่มีแนวคิด “ชังชาติ”

Advertisement

“ตอบแบบตรงๆ เพราะธนาธรมีแนวคิดชังชาติ มีการเชิญชวนมหาอำนาจของโลกมาจัดระเบียบประเทศ เรารู้ได้อย่างไรในความหวังดี การแบ่งแยกประเทศเป็นเผ่า ทั้งเผ่าจีน สหรัฐ รัสเซีย เกิดขึ้นแล้วทุกประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะหลอมรวมความเป็นชาติของเรา เช่น วัฒนธรรมศาสนา แนวคิด ระบอบการปกครอง กระทั่งกติกาในการอยู่ร่วมกันจะต้องมีคนตัดสิน ถ้าอีกฝ่ายถูกตัดสินว่าแพ้แต่ไม่ยอมแพ้ เผ่าไทยของเราจะอยู่ได้อย่างไร”

“ศาลคือกติกาของบ้านเมืองที่ทุกคนจะต้องยอมรับ แต่เมื่อหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นตัวอย่างคนฐาน 6 ล้านเสียงไม่ยอมรับกติกาบ้านเมือง จะอยู่ได้อย่างไร ธนาธรคือภัยคุกคามใหญ่หลวงที่ต้องบล็อกให้ได้ ไปที่ไหนผู้กองปูเค็มไปที่นั่น”

ประกาศกร้าวเตรียมติดตามทุกหนแห่ง ประหนึ่งแฟนพันธุ์แท้

เหมารวม แบ่งฝั่ง รัก-ชัง ยังไม่ชัด?

ก่อนเวทีจะเดือดปุดจนฉุดไม่อยู่ “ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล” ผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด จับไมค์ตั้งคำถามว่า หากมีคนชังชาติจริงต้องออกไป แต่มีข้อสงสัยที่ต้องถกในบริบทว่าคนชังชาติมีจริงหรือไม่ ? หรือเป็นคำกล่าวหาประเภทที่ว่า ใคร “ชิงซีน” ก่อนก็ชนะไป และพวกที่ต้องออกไปคือประเภท “ปากบอกรักชาติ” แต่คอร์รัปชั่นต่างหาก

“ต้องตีความก่อนว่า 1.คน คือประชากร 2.ชัง คือไม่รัก ส่วน 3.ชาติ ปัจจัย คือ 1.ความเป็นภูมิศาสตร์ที่แน่นอน 2.ประชากรหรือพลเมือง 3.วัฒนธรรม ศาสนา 4.การศึกษา เทคโนโลยี 5.เศรษฐกิจ 6.สังคม 7.การปกครองและกฎหมาย และปัจจัยอื่นๆ”

“ส่วนตัวสงสัยว่า ที่ตีความว่าชังชาตินั้นชังตรงไหน ชังประเทศ หรือชังคน แล้วคนแบบไหนที่้ต้องชัง เพราะชังกับไม่ชอบ ไม่เหมือนกัน เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ชอบที่เศรษฐกิจไม่ดี หรือลามไปถึงไม่ชอบวิธีการปกครองแบบนี้ เราชังคนที่ปกครอง หรือชังระบบการปกครอง เมื่อมีปัจจัยที่ทำให้สงสัยเสมอ ตกลงเราชังชาติ ชังคน หรือชังตรงไหน จึงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครชังชาติ ถึงจะตั้งทฤษฎีว่าใครคิดอย่างไรเป็นพวกชังชาติก็เร็วไป เขาอาจจะรักชาติมากกว่าเราก็ได้ แต่เขาอาจมีมุมมองอีกอย่าง”

“ส่วนเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีความรู้ แต่ความคิดแตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ การเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมที่บ่มเพาะหล่อหลอม เขาอาจจะรักชาติแบบของเขา เพราะวิธีรักชาติมีมาก บางคนปากบอกรักชาติแต่คอร์รัปชั่นแบบนี้ต้องออกไปเพราะเป็นความรักอีกแบบ แต่เวลาพูดเอาไปเหมารวมจึงเกิดการแบ่งฝั่ง ดังนั้น ชังชาติยังเป็นเพียงสมมุติฐาน ยังเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงและเฉียบแหลมเกินไป ที่อาจทำให้สังคมเกิดความแตกแยก จึงต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน ยึดหลักความดีและความถูกต้อง ไวไปที่จะสรุป ต้องให้โอกาสและพื้นที่คุยกัน” ดร.ชัยภัฏชำแหละแหวะกลางหัวใจพร้อมใช้แว่นขยายส่องทีละคำ

ประเทศชาติ เหมือนทีมฟุตบอล รักนะ แต่ ‘ด่าได้’ ใครว่าชัง?

มาถึง “ณัฏฐา มหัทธนา” อดีตแกนนำคนอยากเลือกตั้ง ที่ลุกขึ้นมาใส่ไม่ยั้งว่า “คนชังชาติ” เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง เช่นเดียวกับยุค 6 ตุลาคม ที่มีการป้ายสีนักศึกษาประชาชนกลุ่มหนึ่งว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” เช่น เดียวกับที่ ผบ.ทบ.สร้างคำว่า “คนหนักแผ่นดิน” ขึ้นมา เช่นเดียวกับที่มีคำว่า “ซ้ายจัดดัดจริต” มาจนถึงคำว่า “คนชังชาติ”

คนที่ใช้คำนี้เป็นเหตุผลในการดำรงอยู่ของ เช่น คุณหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม อธิบายถึงคำนิยามลัทธิชังชาติไว้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า คนชังชาติหมายถึง การกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชาติ เช่น 1.คนที่ไม่ส่งเสริมศาสนา ทั้งที่ศาสนาอยู่กับสังคมไทยมาเป็น 100 ปี ในโลกนี้ ทุกประเทศมีคนที่เคร่งและไม่เคร่งศาสนา มีคนไม่เอาศาสนาเพราะเชื่อว่าตนเองมีคุณธรรมประจำใจจึงไม่สังกัดศาสนาใด หรือเขาอาจเป็นคนชังศาสนา แต่ก็ไม่ใช่คนชังชาติอยู่ดี

2.คนที่ดูแคลนวัฒธรรมประเพณีว่าเป็นของโบราณ ไม่เอาการยิ้ม ไหว้ครู การเรียกลุง ป้า น้า อา ซึ่งถือว่าเป็นรากของสังคมไทย ตลอดจนดูถูกดูแคลนประเทศไทย ส่วนตัวมองว่าคนที่ไม่ชอบไหว้ผู้ใหญ่ก็คือคนที่ไม่ชอบไหว้ผู้ใหญ่ จริงๆ เขาอาจแค่ไม่ชอบการไหว้ หรือไม่ชอบวัฒนธรรมบางอย่าง แต่ก็ไม่น่าใช่คนชังชาติอยู่ดี

3.เมื่อมีปัญหาชอบพาต่างชาติเข้ามาวุ่นวายเรื่องภายใน ตลอดจนประจานประเทศให้คนต่างช่าติมายุ่ง ข้อนี้น่าคิด เพราะโลกวันนี้ไม่ได้เแบ่งเส้นเพียงเส้นเขตแดน แต่มีบางเรื่องที่เป็นปัญหาร่วมกัน เช่น สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ที่ไม่ว่าจะเกิดในประเทศใด ทุกคนทั้งโลกมีส่วนร่วมได้ คนเหล่านี้ไม่ใช่คนชังชาติ ไม่ใช่คนชังโลก แต่อาจจะเป็นคนโลกสวยที่อยากให้โลกนี้ดีขึ้นก็ได้

4.มีพฤติกรรมทำลายความเชื่อมั่น และไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล ซึ่งเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความรักหรือชังชาติ” ณัฏฐากล่าว ทั้งยังยกตัวอย่างเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพว่า ประเทศชาติปเหมือนทีมฟุตบอล มีผู้จัดการทีม นักบอล โค้ช แฟนบอล และสมาคมฟุตบอล มีหลายองค์ประกอบ คนหนึ่งคนอาจเชียร์ทีมหนึ่ง แต่บางเวลาเขาก็วิจารณ์ทีม โค้ช หรือผู้จัดการทีมนั้น บางเวลาก็ด่ากองเชียร์ด้วยกัน แต่เขาก็ยังสังกัดทีมนั้น เป็นแฟนทีมนั้น เขาไม่ได้ชังทีม แต่บางช่วงเวลาเขาอาจจะไม่พอใจบางอย่างก็ได้

‘ความเป็นคน’ และความเป็นไทย มิติหลากหลายที่ต้องคิดต่อ

ปิดท้ายที่แง่มุมชวน ‘คิดต่อ’ จาก บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่บอกว่า เวลาเราพูดถึงคนชังชาติ ไม่ได้พูดถึงคนต่างชาติ แต่พูดถึงคนไทยที่ชังชาติตัวเอง พูดถึงรากของคนไทย ส่วนตัวนอกจากเป็นคนไทยแล้วยังตระหนักเสมอว่า ‘เป็นคน’ และสนใจความเป็นคนอย่างมาก

“ความเป็นคนไทยของสำหรับผมเป็นเพียงซับเซตของความเป็นคน ความเป็นคนมีมิติที่หลากมากกว่าความเป็นคนไทยซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด

ถ้าเรายืนบนหลักคิดว่าเราเป็นคน ถ้ามีประเด็นเรื่องระหว่างความเป็นคนกับความเป็นคนไทย จะมีการปะทะกันและเกิดการให้คุณค่า เช่น ผมวิพากษ์วิจารณ์การใช้แรงงานไทยและต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมงเป็นแรงงานทาส ถูกหลอกไปอยู่บนเรือเป็นปีๆ ใช้กฎบนเรือ ไม่มีกฎหมาย เพราะอยู่นอกน่านน้ำ มีการใช้แรงงาน ละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีแบบนี้ถามว่าจะใช้หลักความเป็นไทยหรือหลักความเป็นคน ผมอยากเห็นคนไทยที่แฟร์ต่อมนุษย์ทุกคน”

บก.ลายจุดบอกว่า ‘ชังชาติ’ เป็น ‘คำประดิษฐ์’ ชาติถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมือง เพราะคำว่าชาติเป็นจุดเกาะเกี่ยวของผู้คนในสังคมนั้นๆ ดังนั้นใครที่ละเมิดความเป็นชาติ ควรได้รับสิทธิที่จะถูกทำลาย เช่นเดียวกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด

“รู้สึกว่าชาติใน พ.ศ.นี้เป็นเหมือนวัฒนธรรม ในอดีตอาจถูกตีด้วยกรอบของคนที่อยู่ในพื้นที่เข้ามาจับเป็นหลัก ความเป็นชาติเป็นวิถีและมีเรื่องของคุณค่าที่คนในสังคม ไม่ใช่แค่สังคมนั้นๆ ความเป็นชาติไทยไม่ได้หมายความแค่คนที่อยู่ในประเทศไทย ยังมีคนไทยที่อยู่ที่อื่นและเขามีความเป็นชนชาติไทย ในยุคที่เรามี โลว์คอส แอร์ไลน์ หรือแม้แต่ขี่ตุ๊กๆ ข้ามทวีปก็ยังได้ หากเราจะนิยามความเป็นชาติในเวลานี้จากกรอบทางภูมิศาสตร์ก็รู้สึกว่าแคบไป แต่จะต้องเป็นคุณค่าและวิถีของคนจำนวนหนึ่ง ที่ยึดถือสิ่งนั้นเป็นคุณค่า และมีจุดเชื่อมต่อ นั่นคือคำว่า ความเป็นไทย”

“เวลาใครยกคำว่าชาติมาเป็นประเด็นในการโต้เถียง ส่วนตัวมองว่าค่อนข้างแคบ เพราะใช้สามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ เหมือนโดนลูกหลงว่าเป็นคนไทยหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวยินดีพกบัตรประชาชนตลอดเวลาเผื่อใครมาถาม ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าเรารู้จักความเป็นคนไทยมากขนาดไหน เพราะความเป็นคนไทยที่เรารู้จักไม่ผ่านการอภิปราย ผ่านการเปิดกว้าง ดังนั้น เมื่อคนมาใช้คำว่าคนไทยกับผม ผมสงสัยในความเข้าใจของเขา และสงสัยในความมีพื้นที่อยู่ของความเป็นคน” บก.ลายจุดระบุ พร้อมแทรกมุขฮาแนววิชาการเป็นระยะๆ

อาจเป็นเสวนาที่ไม่ได้ฟันธงหรือให้คำตอบสำเร็จรูปแก่ฝ่ายใดๆ แต่สะกิดให้คิดต่อในนิยามความหมาย ชี้ประเด็น เปิดนัยยะซ่อนเร้นที่น่าสนใจยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image