2563 เศรษฐกิจไทยยังไม่ ‘เผาจริง’ ? ปากท้อง-การเมือง เรื่อง (แก้) รัฐธรรมนูญ

ท่ามกลางความหวั่นวิตกของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทยถึงสัญญาณดำดิ่งทางเศรษฐกิจที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์หลายรายมองเห็นตรงกันว่าเข้าข่ายภาวะ ‘กบต้ม’ ซึ่งค่อยๆ ตายอย่างช้าๆ ซ้ำยังมีข้อมูลล่าสุดถูกเปิดเผยออกมาว่า ‘หนี้ครัวเรือน’ คนไทยพุ่งแตะ 340,053 บาท และเป็นหนี้นอกระบบสุดสุดรอบ 4 ปี ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในโลก ยังไม่นับบรรยากาศซึมเซาในย่านการค้าที่เคยคึกคัก การทยอยปิดโรงงานอุตสาหกรรม ลอยแพแรงงานมหาศาล ไหนจะข่าวฆ่าตัวตายรายวันของผู้ที่แบกรับความตึงเครียดไม่ไหว กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

เสวนา หัวข้อ “ประเทศไทย วิกฤต ความหวัง อนาคต?” อันเป็นส่วนหนึ่งของการแถลงงานรางวัลสันติประชาธรรม ปี 2562 สำหรับบุคคลที่ทรงคุณค่า ดำเนินงานตามแนวทางของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ห้องประชุมหุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตรองอธิการบดี และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นน่าสนใจยิ่งต่อประเด็นดังกล่าว โดยเทียบเคียงข้อมูลและแนวโน้มสถานการณ์จากวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง กับสถานการณ์ในช่วงเวลานี้ แล้วยืนยันว่าในปีหน้าฟ้าใหม่ 2563 จะไม่เกิดวิกฤตในแบบเดียวกับเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้วซึ่งมีปรากฏการณ์ ‘ฟองสบู่แตก’

กระทบแน่ แต่ไม่เท่า 40
ผลพวงสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

“เศรษฐกิจไทยไม่ได้เกิดวิกฤตสาหัสขนาดปี 2540 เพียงแต่เราต้องดูข้อเท็จจริงว่าจะเกิดอะไรขึ้น ปัญหาไม่ใช่แค่ 1-2 ปี แต่คือระยะยาวซึ่งสิ่งที่กระทบแน่ คือ ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่มีตัวสอดแทรกคือประเด็นปัญหาการชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง ดีที่ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งในฮ่องกง ซึ่งจะทำให้ความรุนแรงเบาลง เพราะการแกัปัญหาเรื่องชุมนุมประท้วงจะไปอยู่ในสภามากขึ้น มีช่องทางในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดสันติประชาธรรม ถ้าโลกมีสันติประชาธรรมความขัดแย้งบางอย่างไม่เกิด เพราะผลประโยชน์ของทุนขนาดใหญ่ เป็นปัญหาที่เป็นผลสืบเนื่องจากโลกาภิวัตน์ ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ในที่สุดเกิดกระแสการเมืองแบบขวาจัด คนแบบโดนัลด์ ทรัมป์ จึงขึ้นมาเป็นผู้นำได้ และยังเกิดกระแสขวาจัดในยุโรป แต่ส่วนมากถ้า ‘ขวาจัด’ มักจะไม่ชนะเลือกตั้งเพราะส่วนใหญ่ยุโรปเป็นเสรีนิยม เป็นพวกก้าวหน้ามากกว่า” ผศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวถึงภาพกว้าง

จากนั้น ลงรายละเอียดพร้อมเชื่อมโยงถึง ‘การเมือง’ ที่ไม่อาจแยกจากกันได้ โดยความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้มองว่า เราก็ไม่ได้ต่างจากสังคมอื่น ทุกสังคมมีความขัดแย้งทั้งสิ้น แต่ต้องทำให้กระแสความคิดที่ยึดถือแนวทางสันติวิธี หรือสันติประชาธรรมเป็นกระแสหลักให้ได้ ทำให้แนวคิดภราดรภาพนิยมของ ปรีดี พนมยงค์ เป็นกระแสหลัก ซึ่งจะเลี่ยงความรุนแรงได้ในอนาคต หากทำไม่ได้ แล้วประเทศพัฒนาไปสู่ระบอบอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จ จะอันตรายมากสำหรับสังคมโดยรวมและประชาชนทั้งหลาย เพราะจะมีคนไม่ยอมและต่อสู้ ดังนั้น อนาคตที่สดใสที่สุดของประเทศไทยคือการเดินหน้าไปสู่แนวทางประชาธิปไตยทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งก็คือแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ กปปส.

Advertisement

ประชาธิปไตยเข้มแข็ง คือทางออกประเทศ

“ปีหน้าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่เกิด ไม่สำคัญเท่าที่เราจะต้องสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งให้ได้ เพราะเป็นทางออกของประเทศ แม้เราจะเจอวิกฤตเศรษฐกิจก็จะสามารถรับมือได้ ถามว่าเราอยู่ในจุดที่จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจหรือยัง บางคนห่วงว่าจะเกิดเหมือนปี 2540 นี่ก็ผ่านมา 22 ปี ย่างเข้า 23 ปี ผมคิดว่าในปี 2563 จะยังไม่เกิด เพราะถ้าเอาตัวแปรทางเศรษฐกิจหรือข้อมูลทางเศรษฐกิจมาเทียบเคียงกัน จะพบว่าก่อนวิกฤต ปี 40 เรามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาก มีการลงทุนเกินตัว หนี้สินต่างประเทศมาก ทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เยอะเท่าไหร่ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลการค้า มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ผิดพลาดหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการเงิน การคลัง” คือบทวิเคราห์ของ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ก่อนระบุเพิ่มเติมอีกว่า อย่างไรก็ตามสาเหตุที่เกิดวิกฤต ไม่ใช่เพราะนโยบายอย่างเดียว แต่เป็นผลจากการรัฐประหารปี 2534 ด้วย

“เมื่อเกิดการต่อสู้ของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 35 มีการนองเลือด เศรษฐกิจที่เข้มแข็งอยู่ ถูกกระแทกทุกวันๆ หลังจากนั้นการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ ลองนับดูว่าหลังรัฐประหารปี 34 จนเกิดวิกฤตปี 40 เรามีรัฐบาลกี่ชุด เรามีรัฐบาลชาติชาย รัฐบาลอานันท์ 1 รัฐบาลสุจินดา รัฐบาลอานันท์ 2 รัฐบาลบรรหาร รัฐบาลชวลิต รัฐบาลชวน รวมแล้ว 7 รัฐบาล ในช่วงเวลาสั้นๆ จึงไม่สามารถดูแลหรือดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้ดีได้ เกิดปัญหาหลายอย่างสะสม ในที่สุดฟองสบู่ก็แตก เศรษฐกิจทรุดตัวอย่างรุนแรง ติดลบมากกว่า 10 เปอร์เซนต์ ในปี 41 ต่อมาในปี 42 ก็ยังไม่ฟื้น มาเริ่มฟื้นจริงๆ ตอนปี 43 เป็นต้นมา เพราะเรากลับมาเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญปี 40 เริ่มมีเสถียรภาพทางการเมืองแต่ก็กลับมามีปัญหาอีก 50 ปีที่แล้วเราก้าวหน้ากว่าเกาหลีใต้ แต่ถามว่าวันนี้ประเทศไทยเป็นอย่างไร ก็ไม่ถึงกับแย่มากเพราะตนมองโลกในแง่ดี แต่ควรจะดีกว่านี้ เราเป็นสังคมที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง แต่ว่าจริงๆ ต้องไปได้เร็วกว่านี้ ก้าวหน้ากว่านี้” ผศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

สำหรับคำกล่าวที่มักพูดกันหนาหูว่าปีหน้า ‘เผาจริง’ ผศ.ดร.อนุสรณ์บอกว่า นิยามคำว่าเศรษฐกิจเผาจริงไม่มีในทางการ เผาจริง คือการตายแล้วเอาไปเผา แต่เศรษฐกิจไทยไม่ถึงขั้นนั้น โดยเชื่อว่าไม่เกิดวิกฤตเหมือนปี 2540

Advertisement

“ทุนสำรองระหว่างประเทศเราสูง ยังไม่มีการลงทุนเกินตัว ยังไม่มีสัญญาณฟองสบู่ แต่คนส่วนใหญ่ลำบากแน่ เพราะมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการลงทุนน้อยเกินไป คนตกงาน ว่างงาน คนระดับฐานรากลำบากเศรษฐกิจจะเป็นแบบกบต้ม กล่าวคือค่อยๆ ทรุดลง ตกต่ำลง แต่ไม่ใช่ฟองสบู่แตก” เจ้าตัวกล่าวอย่างมั่นใจ และเน้นย้ำประเด็นสำคัญในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ

“ในประเทศมีปัญหาการผูกขาดอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจมาก ปัญหาเฉพาะหน้าคือต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นกติกาสูงสุดซึ่งออกแบบโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจ ถ้าไม่แก้ตรงนี้ เราก็จะแก้อย่างอื่นไม่ได้” ผศ.ดร.อนุสรณ์สรุป

วงเสวนา ประเทศไทย วิกฤต ความหวัง อนาคต จากซ้าย บรรจง นะแส, ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ และ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

‘ปีศาจใหม่’ ใครถูกหลอกหลอน หวั่นโมเดลพม่าผสมกัมพูชา

เมื่อการเมืองเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ร่วมวิเคราะห์ทางออกของประเทศโดยหยิบยกประวัติศาสตร์การเมืองมาส่องผ่านแว่นขยาย ก่อนตั้งคำถามว่าทำไมต้อง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ทุกครั้งไป?

“ส่วนตัวเชื่อว่าทางออกของสังคมไทย ซึ่งตันมา 20 ปี ตั้งแต่รัฐประหารของ คมช. ปี 2549 และรัฐประหาร ปี 2557 ทางออกของเรายังมีอยู่ คือ ต้องใช้สันติประชาธรรม ใช้ประชาธิปไตย ใช้การเลือกตั้ง แต่ก็อดห่วงไม่ได้ว่าเราอาจจะมีกลียุค ถ้าเราไม่เลือกทางออกสันติประชาธรรม เราจะไปออกทางนั้น คือ ความรุนแรง และอาจขยายตัวเป็นการต่อสู้ของประชาชนได้ ประเด็นสำคัญคือ สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง พรรคการเมือง ผู้แทน ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าแสนจะเก่า ที่คนไทยรู้จักเป็นเวลายาวนาน แต่ทำไมจะต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง เหตุใดจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ เราต้องเข้าใจคนและสถาบันที่เข้ามามีบทบาทในสถาบันการเมืองระยะ 20 ปีที่ผ่านมา”

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ระบุว่า การต่อสู้ที่แบ่งเป็น 2 ขั้วนั้น ส่วนตัวไม่ได้มองเพียง ‘ขั้วเหลือง’ กับ ‘ขั้วแดง’ หรือแค่ฝ่ายรัฐประหารกับไม่เอารัฐประหาร

“คิดว่ามีรายละเอียดที่เอาเข้าจริงแล้วถึงเราไม่อยากมอง 2 ขั้ว แต่คงหนี 2 ขั้วนี้ไม่ได้ สู้กันมา 20 แล้วยังสู้กันต่อไป ณ วันนี้เรามาถึงจุดที่ต้องหาทางออกด้วยสันติประชาธรรม หรือไม่ก็ออกที่ความรุนแรง ตอนท้ายอาจจะจบลงด้วยการไม่มีชัยชนะ คือ ‘เจ๊า’ หมดแรงทุกฝ่าย หรือว่าฝ่ายอำนาจเดิมชนะก็ตาม ถ้าไม่รอมชอม เกี้ยเซียะ ซึ่งมากกว่าการประนีประนอม คือยอมแล้วก็จะวิน-วินทั้ง 2 ขั้ว หรือฝ่ายอำนาจเดิมชนะ ซึ่งก็ทำท่าจะชนะหากดูสถานการณ์บางอย่างในตอนนี้ แต่ก็ไม่แน่ ถามว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะหรือไม่ ก็ไม่แน่ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้

ปีศาจใหม่ที่กำลังหลอกหลอนคืออำนาจนิยมที่กำลังต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตย ทางออกอาจจะมี คือ การแก้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งซ้ำๆ จนออกมาแบบ โมเดลมาเลเซีย แต่ส่วนตัวยังหวั่นวิตกอยู่ว่าเราจะออกโมเดลพม่าบวกกัมพูชาแทน ซึ่งน่ากลัว แต่ยังพอมีความหวังอยู่”

ครั้ง ดร.ป๋วย เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ

ในขณะที่ บรรจง นะแส เอ็นจีโอรุ่นแรก ผู้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการประมง ย้อนมองถึงเมื่อครั้ง ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“หลังจาก อ.ป๋วยเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ท่านไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ความรุนแรง แต่เน้นแนวคิดเรื่องสันติวิธี ตั้งมูลนิธิบูรณะชนบท เมื่อปี 2512 เป้าหมายคือรับคนหนุ่มสาวที่จะทำงานพัฒนาชนบท โดยมีทฤษฎีชี้นำ ให้ไปฝึกตอนไก่ เพราะคนที่จะไปสอนชาวบ้านได้ ต้องทำเป็น ดังนั้น มูลนิธินี้จึงฝึกบัณฑิตให้ทำงานกับชาวบ้านเป็น ต่อมาปี 2519 อ.ป๋วยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ มูลนิธิก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นที่ซ่องสุม พอ อ.ป๋วยออกนอกประเทศ จึงถูกยุบ ปี 2523-2524 เกิดวิกฤตทางการต่อสู้ ศิษย์เก่า อ.ป๋วยที่เคยฝึกก็กลับมาแล้วไปเป็นครูบาอาจารย์ ไปเมืองนอก ไปเป็นผู้ว่าฯ แต่ส่วนหนึ่งยังยืนหยัดที่จะพัฒนาชนบทแต่ไม่ต้องมีทฤษฎีชี้นำหรือกองกำลัง สำหรับเอ็นจีโอในไทยเกิดใน พ.ศ.2523 โดยเน้นการพัฒนา”

เอ็นจีโอคนดัง ยังบอกว่าความเป็นประชาธิปไตยที่เริ่มจากข้างล่าง จากการตื่นรู้ของชาวบ้าน ไม่ใช่การหว่านเงินหาเสียงแล้วชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ยิ่งตอกย้ำว่าประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นแค่เปลือก ยิ่งอยู่ยิ่งเห็น

แต่เราไม่สามารถคิดเรื่องใหญ่อย่างในอดีตได้อีกแล้ว

 

ครัวเรือน 88.1% มี ‘หนี้’ ปริญญาตรีตกงานมากที่สุด

ข้อมูลจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าสถานภาพหนี้สินครัวเรือนไทย ปี 2562 ว่า ครัวเรือนไทย 88.1% มีหนี้ครัวเรือน โดยเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 340,053.65 บาท ขยายตัว 7.4% จากปีก่อนอยู่ที่ 316,623.51 บาท แบ่งเป็น หนี้ในระบบ 59.2% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 64.7% และหนี้นอกระบบ 40.8% ซึ่งขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี ช่วงปี 2559-2562 สาเหตุของการมีหนี้ 38.4% เพื่อใช้จ่ายทั่วไป 32.9% เพื่อซื้อยานพาหนะ 21.2% เพื่อซื้อบ้าน จ่ายบัตรเครดิต และหนี้เพื่อประกอบอาชีพ ตามลำดับ

กลุ่มเจเนอเรชั่นวาย หรือประชากรที่มีอายุระหว่าง 24-41 ปี มีอัตราการก่อหนี้สูงสุด โดย 17.6% ระบุว่า เนื่องจากมีรายได้ลดลง เช่นเดียวกับกลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ หรือประชากรที่มีอายุระหว่าง 42-56 ปี ซึ่งมีอัตราการก่อหนี้รองลงมา ส่วนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ หรือประชากรที่มีอายุระหว่าง 57-75 ปี มีอัตราการก่อหนี้น้อยที่สุด โดย 16.6% ระบุว่า มาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

ในขณะที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมของไทยไตรมาส 3/2562 พบว่า ผู้มีงานทำลดลง 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 38.7 ล้านคน มาอยู่ที่ 38 ล้านคน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการหดตัวของการส่งออก รวมถึงปัญหาภัยธรรมชาติการจ้างงานภาคเกษตร ลดลง 1.8% จาก 12.8 ล้านคน มาอยู่ที่ 12.6 ล้านคน เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติ และ คนจบปริญญาตรีตกงานมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image