เมื่อเด็กไทยทวง ‘สิทธิ’ เชียงใหม่กับฝุ่นพิษ วิกฤตที่แก้ไม่หาย

ฤดูหนาว ฤดูกาลไฟป่าหมอกควันกำลังจะมาถึง หนึ่งในต้นตอของ PM 2.5 นอกเหนือจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การเกษตร การเผาป่า และภัยธรรมชาติ

ด้วยหน้าหนาวสภาพอากาศปิด ลมไม่เคลื่อนตัว ทำให้ฝุ่นที่มีอยู่ไม่เคลื่อนที่ โดยเฉพาะฝุ่นภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ แม้จะมีท่าทีดีขึ้น ทว่าปีที่ผ่านมาไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และจะกลับมาเลวร้ายอีกครั้ง

เมื่ออยู่ในจุดที่จัดการกับต้นตออย่างธรรมชาติไม่ได้ จะทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่รอดในวันที่วิกฤตฝุ่นในไทยยังแก้ไม่ตก

20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมทองกวาว โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ คือวันรวมตัวของเด็กประถม 4-6 จาก 8 โรงเรียนในพื้นที่ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความเข้าใจและเตรียมรับมือกับปัญหา ในโอกาสที่บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด จัดโครงการให้เด็กในเชียงใหม่ร่วมแสดงความเห็นในหัวข้อ “I have right to breathe” เป็นพื้นที่ทวงสิทธิจากสิ่งที่ผู้ใหญ่ก่อไว้ ให้พวกเขาสามารถหายใจได้อย่างเต็มปอด

Advertisement
กิจกรรม “I have right to breathe”

PM 2.5 เกิดจากอะไร ?

เผาป่าก็มา ควันรถก็ใช่ ด้านน้องไจแอนท์ ร.ร.คำเที่ยงอนุสรณ์ ยกมือบอก “เผาขยะคืออีกหนึ่งปัญหา” น้องพลอย ร.ร.พุทธิโสภณ บอกว่าปัญหามาจากควัน จากโรงงานอุตสาหกรรมในเชียงใหม่

Advertisement

“ปัญหาฝุ่นในภาคเหนือปัญหาต่างจากที่อื่น เป็นไปได้ตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เพราะพี่น้องบนดอย มีหลากหลายชนเผ่า หลากวิธีทำมาหากิน มีความไม่เท่าเทียมกันของคนที่อยู่ในเมืองและที่ป่า ปัญหาถูกสะสมมานานและยังไม่ได้รับการแก้ไข ชุมชนขนาดเล็กยังต้องการสิทธิหลายอย่างในชีวิตความเป็นอยู่

เรามีพื้นที่ป่าและภูเขาเยอะมาก เรามีการทำการเกษตรในพื้นที่ป่า ชาวบ้านซึ่งไม่มีต้นทุนลงเงินซื้อยากำจัดศัตรูพืช วิธีง่ายที่สุดคือ เผาป่า ยังมีคนที่หาของป่า ล่าสัตว์ ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า ซึ่งบางคนไม่ได้ดูแลรักษาแต่อย่างใด หากปัญหาทั้งหมดนี้ไม่คลี่คลาย ก็เป็นเรื่องยาก และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฝุ่นควันในภาคเหนือจึงไม่สามารถแก้ไขได้” คือมุมมองของผู้ดูแลเรื่องนี้มากว่า 5 ปี อย่าง รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ขอจับไมค์ฉายภาพให้เห็น

“ภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร ซึ่งมีทั้งเรื่องของการรุก การทำการเกษตร ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า โดยที่เราไม่ทราบว่าข้างในเกิดอะไรขึ้น เนื่องจากข้อมูลป่ายังไม่ชัดเจน หากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ถูกแก้ไขก็ยากที่จะทำให้ปัญหาฝุ่นควันลดลงไป และการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แม้จะมียุทธศาสตร์ชาติหรือแนวทางหลายอย่าง เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถมั่นใจว่าจะแก้ได้ในระยะยาว ที่ทำกันอยู่เน้นปลายเหตุเป็นส่วนใหญ่ ควรจะเป็นรูปธรรมมากกว่านี้

คนที่อยู่ปลายทางแน่นอนว่าได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะเด็กที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบาง เสี่ยงที่จะป่วยง่าย และมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังในระยะยาว”

เป็นสิทธิพื้นฐานในการรับรู้ว่า ที่ๆ เราอยู่อากาศดีหรือไม่

รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล

“ประเทศไทยภายใต้การดูแลของรัฐบาลยังมีเครื่องไม้เครื่องมือน้อยมาก มีใครทราบหรือไม่ ว่าเรามีเครื่องมือจากภาครัฐในเชียงใหม่กี่เครื่อง?” คือ คำถามที่ ศ.ดร.เศรษฐ์ ตั้ง ก่อนจะเฉลยกับเด็กๆ ว่า ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ 24 อำเภอ มีเพียง 4 เครื่อง ด้วยเครื่องมือวัดที่ไม่เพียงพอ วิศวกรจากหน่วยวิจัยสภาอากาศของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงผลิตเครื่องมือหนึ่งที่ชื่อว่า “ดัสต์บอย” (DustBoy) เพื่อวัดข้อมูลฝุ่นให้พี่น้องแต่ละพื้นที่ได้เตรียมรับมือ

“แม้น้องดัสต์บอยอาจไม่แพง หรือล้ำสมัย เหมือนเครื่องที่รัฐบาลใช้ แต่ฉลาด สามารถเก็บข้อมูลฝุ่นและรายงานได้ นอกจากอุปกรณ์วัดฝุ่น ยังมีภาพที่ถ่ายจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ใกล้กับดอยสุเทพ

เราถ่ายรูปทุกวัน โดยแบ่งช่วงเวลาเกิดวิกฤตเป็น ช่วงอากาศดี จะเห็นว่าท้องฟ้าสดใส เห็นภูเขา เห็นหอนาฬิกา จากนั้นอากาศเริ่มขมุกขมัวเป็นสีน้ำตาลในช่วงวิกฤตฝุ่นควัน เราอยู่ในสภาพแบบนี้มากว่า 10 ปีแล้ว เรียกว่าเป็นวัฏจักร” รศ.ดร.เศรษฐ์ระบุ

พร้อมแนะแนวทางให้เด็กๆ สังเกตสภาพอากาศผ่าน ดัชนีชี้วัดอย่างง่ายว่า

“ถ้าน้องๆ อยู่ใกล้ ดอยสะเก็ดก็อาจให้ดัชนีดอยสะเก็ด หรืออยู่ใกล้เชียงดาว ก็ใช้ดัชนีดอยเชียงดาว วันไหนที่เราเห็นภูเขาแสดงว่าอากาศน่าจะดี แต่ถ้าวันไหนไม่เห็นภูเขาให้เราระวังตัวไว้ว่าวันนั้นอากาศไม่ดี” เพราะเราไม่มีเครื่องมือติดตัว ความสามารถในการมองเห็น จึงถือเป็นอุปกรณ์ในการเปรียบเทียบคุณภาพอากาศในแต่ละวันได้ในทรรศนะของอาจารย์

“ฝุ่นเล็กมาก มองไม่เห็น แต่มีความอันตรายและรุนแรงกับสุขภาพมาก ถ้าเข้าไปในร่างกายเราจะป่วยเป็นหลายโรคได้ ตั้งแต่โรคหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคหัวใจ มะเร็งปอด และอีกมากจากปัญหาฝุ่น จากที่ได้มีการทดสอบโดยเอากระดาษกรองไปเก็บข้อมูลฝุ่นที่โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน ก่อนเก็บตัวอย่างฝุ่นยังเป็นกระดาษขาว หลังเก็บเป็นสีดำ เช่นนี้ ช่วงที่มีวิกฤตฝุ่น ถ้าเราไม่มีหน้ากาก หรือเครื่องฟอกอากาศ หายใจเข้าไปก็เข้าปอด ปอดดำเหมือนกระดาษ”

“ฝุ่นเข้าไปแล้วไม่มีทางระบาย สะสมอย่างเดียว นั่นหมายความว่า ถ้าเราไม่ได้สูบบุหรี่ ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้เหมือนกัน ยิ่งช่วงวิกฤตฝุ่นเพียง 2 วัน สามารถทำให้อายุสั้นลงไปอย่างน้อย 2 ปี นอกจากนี้ ฝุ่นยังมีผลต่อทารกในครรภ์ คนเป็นโรคอัลไซเมอร์ หลงลืมง่ายตอนแก่ เพราะรับฝุ่นควันสะสมทุกปี ปัญหาฝุ่นจึงรุนแรงและอันตรายมาก ต้องหาวิธีป้องกัน และบอกญาติ คนใกล้ชิดว่าฝุ่นอันตรายอย่างไร” รศ.ดร.เศรษฐ์ย้ำกับเด็กๆ ก่อนจะยกตัวอย่าง เด็กเล็กที่อยู่เชียงดาว ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดอันดับ 2 ของเชียงใหม่ รองจากแม่แจ่ม หลังเก็บเกี่ยวเกษตรกรใช้วิธีก็เผาเพราะง่าย เมื่อเด็กหายใจเอาควันเข้าไป สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ไซนัสอักเสบ แสบจมูก และมีเลือดออก

คนในภาคเหนือถือเป็นมะเร็งปอดอันดับ 1 ของไทย ดังนั้นสิ่งที่ต้องระลึกเสมอ คือ ช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่นควันจะต้องป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากาก เปิดเครื่องฟอกอากาศ เพราะฝุ่นมีขนาดเล็กมาก แม้แต่ในรถหรือห้องที่ปิดประตูหน้าต่างก็ยังเข้ามาได้ และฝุ่นข้างนอกกับข้างในอาจใกล้เคียงกัน

อ.เศรษฐ์บอกอีกว่า หน้ากากอนามัยสีเขียวป้องกันได้น้อยมาก สิ่งที่ต้องพิจารณา หลักๆ คือ 1.หน้ากากต้องป้องกัน PM 2.5 ได้ 2.ใส่แล้วต้องพอดี ถ้าเด็กเอาหน้ากากของผู้ใหญ่มาใส่ มีรู ฝุ่นก็เข้าได้อยู่ดี ต้องหาไซซ์เด็กมาใส่

แม้จะยอมรับว่าในการติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นถือว่ายากมาก เพราะฝ่ายรัฐบาลอาจยังไม่ยอมรับเครื่องมือที่ราคาดูไม่แพง เพราะของเราราคาถูก รัฐบาลต้องการเครื่องมือหลักล้าน มีความมั่นคงทางสถิติสูงมาก แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อนำไปใช้ จะไม่สามารถกระจายตัวได้มาก

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของอุปกรณ์ คือ การสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่าอันตรายหรือไม่อันตราย “อากาศเหมือนการจราจร เรามีการแบ่งเป็น 6 แถบสีเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายกว่าตัวเลข

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Climate Change Data Center

“อนุบาลเชียงใหม่อาจจะชักธงสีเขียว สีฟ้า ขึ้นมาหน้าเสาธง ให้เพื่อนๆ เห็นจะได้ไม่ต้องออกมาเข้าแถวหน้าเสาธง และไม่ออกมาเตะฟุตบอล เพราะยิ่งเราออกกำลังกายจะยิ่งหายใจเอาฝุ่นเข้าไปมาก และอันตรายกว่าเดิม ช่วงฝุ่นเยอะห้ามออกกำลังกายนอกอาคารเด็ดขาด” รศ.ดร.เศรษฐ์ย้ำ

และเล่าต่อไปว่า ข้อมูลที่จะได้จากดัสต์บอย จะช่วยเฝ้าระวังและเตือนภัย วันไหนที่ฝุ่นสูงก็เปิดเครื่องฟอกอากาศ อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ได้ต่อได้ เช่น ที่ผ่านมาเด็กนักเรียนเอาข้อมูลฝุ่นไปเปรียบเทียบกับสีของดวงจันทร์ซึ่งมีหลายสี ในงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์ วันที่ฝุ่นเยอะดวงจันทร์จะมีสีแดงหรือสีส้ม ถ้าอากาศสดใสดวงจันทร์จะเป็นสีเหลืองอร่ามสวยงาม เป็นต้น

เพราะปัญหาฝุ่นไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาคเหนือ ปัจจุบันมีการขยายผลและติดตั้ง ดัสต์บอย ทั้งใน กทม. และภาคอีสาน ซึ่งมีฝุ่นเยอะจากการเผาอ้อย รวมทั้งฝุ่นที่มาจาก ลาว จีน เวียดนาม ส่วนภาคใต้มีฝุ่นจากการเผาปาล์มที่อินโดนีเซีย ทุกภูมิภาคของไทยมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศทั้งสิ้น

DustBoy

“ปัจจุบันเรามี 300 จุด ในประเทศใต้หวันมี 10,000 จุด เรายังห่างไกลต่างประเทศ โดยรัศมีทำการของเครื่องวัดฝุ่นดัสต์บอย จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากจะสามารถวัดได้ถึง 10 ตารางกิโลเมตร 1 ตำบล อาจกระจาย 1-2 จุด ประมาณการง่ายๆ ว่าประเทศไทยควรจะมี 8,000 จุดเป็นอย่างน้อย แต่ขณะนี้มีเพียงแค่ 300 จุดเท่านั้น

ดังนั้นภาคประชาสังคม จึงต้องสร้างองค์ความรู้เรื่อง PM 2.5 ว่ามีผลกระทบต่อคนทุกวัยอย่างไรบ้าง ถ้ารู้ว่าฝุ่นอันตราย จะสามารถหาวิธีป้องกันตนเองได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันมีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ หน้ากาก เครื่องฟอกอากาศ ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ เข้าถึงได้ ราคาประหยัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนในทุกระดับมีอุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง” รศ.ดร.เศรษฐ์ทิ้งท้าย

ผลกระทบจากมลพิษเชียงใหม่ส่งผลต่อเด็กๆ เชื่อว่าจากนี้เด็กๆ จะมีวิธีการป้องกันและจัดการปัญหาได้ดีมากขึ้น ในโอกาสนี้ “ชาร์ป ไทย” ขอเป็นอีกหนึ่งส่วนในการส่งต่ออากาศบริสุทธิ์ให้กับเด็ก ขนเครื่องฟอกอากาศ 40 เครื่อง มอบให้กับ 8 โรงเรียน 2 มูลนิธิ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กในจังหวัดเชียงใหม่

มณีนภา ดวงดารา

มณีนภา ดวงดารา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชาร์ปไทย จำกัด เผยว่า เรียนว่าส่วนตัวไม่ตระหนัก ตั้งแต่เกิดจนวันนี้ 52 ปี อากาศก็เป็นอย่างนี้มาตลอด แต่ปีที่แล้วหนัก ตกใจที่ออกจากบ้านไม่ได้ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ ไม่มีลม อากาศนิ่ง จนเริ่มคันตา คันหน้า และป่วย ในฐานะที่ลูกสาวคนสุดท้องอยู่ ป.5 และมีแม่อายุ 84 ปี จึงตระหนักดีในปัญหาข้อนี้

“ชาร์ป ไทย ตระหนักถึงปัญหามลภาวะ ในฐานที่มีเทคโนโลยีที่ตรงกับปัญหาชาติ จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับเด็กๆ อย่างน้อยช่วงที่เรียน หรือทำกิจกรรม เครื่องฟอกอากาศจะสามารถช่วยให้เด็กๆ มีอากาศที่สะอาด เพราะควรมีสิทธิได้รับอากาศบริสุทธิ์ เหมือนสิทธิอื่นๆ ที่เราควรจะมี

เชียงใหม่สาหัสมาก เมื่อเกิดกับกรุงเทพฯ ทุกภาคส่วนเริ่มตระหนัก นอกจากนำเครื่องไปมอบ เรายังต้องให้เขาตระหนักรู้ จะได้ทราบว่า PM 2.5 อันตรายอย่างไร และจะป้องกันตัวเองได้อย่างไรหากไม่มีเครื่องมือเหล่านี้” มณีนภากล่าว

ในกรุงเทพฯ เราไม่ใช่เรื่องป่า ทว่าจากท่อไอเสีย

หวังว่าข้อความที่เด็กๆ เขียนในวันนี้ จะสามารถในการเพิ่มความตระหนักรู้กับผู้ใหญ่ ว่าเด็กๆ ก็เรียกร้องต้องการสิทธิที่จะได้รับอากาศบริสุทธิ์กลับคืน

ด้าน โรเบิร์ต อู๋ กรรมการผู้จัดการบริษัทชาร์ป ไทย และชาร์ป มาเลเซีย เผยว่า ในระดับโลกตระหนักถึงปัญหามลภาวะ ชาร์ปจึงมีการพัฒนา “พลาสม่าคลัสเตอร์” อยู่ตลอดเวลา เป็นเทคโนโลยีปล่อยประจุเลียนแบบธรรมชาติ ทำให้ความหนาแน่นของอากาศบริสุทธิ์เหมือนอยู่ในป่า

แต่ถ้าเรายังมีป่าอยู่เหมือนเดิม เครื่องนี้ก็ไม่จำเป็น

“โรเบิร์ต ยังบอกอีกว่า ชาร์ปไม่ได้มองแค่การพัฒนาโปรดักต์ แต่ยังมองรวมถึงความรู้ที่ชาร์ปจะมีให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ และมองไปถึงเรื่องขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น BTS MRT หรือรถประจำทาง

ในอนาคตเราอาจมีเครื่องฟอกอากาศสำหรับห้องประชุมที่มีคนมาก ในรถไฟฟ้า สถานที่สาธารณะ โดยฝังมาในเครื่องปรับอากาศตั้งแต่กระบวนการผลิต เช่นที่ ญี่ปุ่น หรือบนรถสาธารณะบางคันในยุโรปมี

เหล่านี้คือเครื่องมือเพื่อการรอดชีวิต ในวันวิกฤตที่ไร้ความหวังจากรัฐบาล

(จากซ้าย) เบลค หวัง ผู้จัดการอาวุโส, ปรีชา ไชยสิวมงคล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและตัวแทนจำหน่าย, โรเบิร์ต อู๋ กรรมการผู้จัดการ บริษัทชาร์ปไทย และชาร์ปมาเลเซีย , มณีนภา ดวงดารา ประธานกรรมการบริหาร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image