Art on da Floor คอมมูนิตี้ของนักสะสม ย้ำ ‘การลงทุนเชิงแพสชั่น’ สร้างแวลูใหม่ระดับโลก

"Amoghli" ออกแบบโดยตระกูล Amoghli ผลิตจากขนแกะ ขนาด 4.70 x 3.20 เมตร ผลิตที่เมืองมาแชด

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากการจัดงาน Bangkok Persian Carpet Exhibition 2019 ที่ริเวอร์ซิตี้ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา “อาร์ต ออน เดอะ ฟลอร์” (Art on da Floor) เดินหน้าทำแพลตฟอร์ม เป็นตัวกลางเชื่อมคอลเล็กเตอร์คอเดียวกันที่สะสมของหลากหลายประเภท เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ นำออกจัดแสดงร่วมกัน และนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางธุรกิจ

จิตรกร มงคลธรรม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความคิดในการก่อตั้ง “อาร์ต ออน เดอะ ฟลอร์” คอมมูนิตี้ของนักสะสมว่า ความที่เป็นคนชอบแต่งบ้าน แต่แต่งอย่างไรก็รู้สึกว่าไม่สมบูรณ์ กระทั่งได้เจอ “พรม” เพราะพรมเป็นศูนย์กลางของบ้าน ทีแรกมีความคิดจะเปิดช้อป แต่เมื่อได้รู้จักกับ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ สปีกเกอร์เรื่องการลงทุนเชิงแพสชั่น จึงเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง “ดีลเลอร์” กับ “คอลเล็กเตอร์”

“ดีลเลอร์” มักจะเลือกซื้อของที่ซื้อง่ายขายคล่อง แต่ “คอลเล็กเตอร์” จะเลือกของที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ตลอดเวลา นั่นทำให้จิตรกรเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ และเริ่มต้นบนเส้นทางของนักสะสม จากวันนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว

ความที่คลุกคลีกับนักสะสมระดับบิลเลียนแนร์มานาน ทำให้เห็นเพนพอยต์ของคนกลุ่มนี้ บางคนเบื่อที่จะสะสมแล้ว บางคนเห็นว่าสิ่งของที่สะสมมาล้วนมีที่มามีเรื่องเล่า อยากจะแบ่งปันและส่งต่อเรื่องราวเหล่านั้นกับคนรุ่นลูกหลาน ฯลฯ แต่ไม่ทราบช่องทางที่จะติดต่อสื่อสารกับคนที่สนใจเหมือนๆ กัน ตนเองจึงคิดทำแพลตฟอร์มเชื่อมโยงระหว่างลูกค้าและนักสะสม

Advertisement

จิตรกรบอกอีกว่า การลงทุนมีหลายรูปแบบ การลงทุนในเชิงแพสชั่น อินเวสต์เมนต์ เป็นการลงทุนที่เราต้องรู้จักของที่เราจะซื้อด้วยว่ามีแวลูในอนาคตไหม หมายความว่าตลาดโลกต้องยอมรับ

จิตรกร มงคลธรรม

“เชื่อมั้ยว่าพรมเปอร์เซียทุกๆ ผืนเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 20% ต่อให้เป็นพรมธรรมดาก็ตาม”

สำหรับ “อาร์ต ออน เดอะ ฟลอร์” จิตรกรย้ำว่า เปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ และคอลเล็กเตอร์ไม่จำเป็นต้องเป็นพรม เช่น อาเปี๊ยก สุรเดช ผดุงศิริเศรษฐ์ ที่สะสมผ้าทอมือโบราณระดับท็อป 3 ของโลก มีเป็นร้อยผืน ไม่เคยคิดจัดแสดงมาก่อน เมื่อได้มาคุยกันก็เห็นเหมือนกันว่าน่าจะนำมาแบ่งกันชม

Advertisement

“ปีนี้เราจัดนิทรรศการไปแล้ว 2 ครั้ง ส่วนปีหน้าจะจัดแสดงอะไรตอนนี้ยังไม่บอก แต่ไม่ใช่พรมแน่นอน เราจะจัดงานปีละ 3-4 ครั้ง โดยจะเปลี่ยนเป็นของสะสมประเภทอื่นๆ ซึ่งต่อไปนอกจาก “ออน กราวนด์” จะมี ออนไลน์ และออนแอร์ ให้เห็นว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และเป็นที่ปรึกษาไขข้อสงสัยนานาประการ” จิตรกรบอก

เรียบ หรู และดูดี

เสน่ห์จิตวิญญาณแห่งพรมเปอร์เซีย

จากผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม “อาร์ต ออน เดอะ ฟลอร์” มารู้จักกับคอลเล็กเตอร์รุ่นใหม่ ที่…ไม่ธรรมดา

วริศรียา ทิฆัมพรทิพย์ แม้จะเพิ่งก้าวเข้ามาศึกษาเรียนรู้เรื่องพรมได้เพียง 2 ปี แต่มีพรมเปอร์ซียในครอบครองราว 20 ผืน

ผู้ร่วมก่อตั้ง “อาร์ต ออน เดอะ ฟลอร์” บอกว่า เริ่มต้นสนใจพรมจากการที่เป็นคนชอบช้อปปิ้งของแต่งบ้าน จะซื้อบ้านไว้หลายหลัง ความที่เป็นคนชอบออกแบบตกแต่งบ้านเอง วันหนึ่งไปเดินดูของที่สวนจตุจักรและถูกใจพรมผืนหนึ่ง เมื่อทราบถึงราคาที่ค่อนข้างสูงให้นึกแปลกใจจึงกลับมาสืบค้นข้อมูล และศึกษาเรื่องพรมอย่างจริงจัง พร้อมกับเริ่มต้นซื้อหาสะสมพรม โดยติดต่อดีลเลอร์ให้นำมาให้ชมที่เมืองไทย

วริศรียา ทิฆัมพรทิพย์

“เครื่องเพชรคนสะสมกันมากแล้ว และการออกแบบก็ไม่ได้ออกมาจากจิตวิญญาณเหมือนพรม ซึ่งโปรดิวเซอร์จะจินตนาการลายจากสิ่งที่เห็นในธรรมชาติจริงๆ ทำไปร้องเพลงไป ใส่ความสุขและจิตวิญญาณของเขาลงไปด้วย มันเป็นวิถีของเขา มันมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก โดยเฉพาะพรมที่ผลิตในช่วงก่อนปี 1970”

วริศรียาบอกว่า มีเงินอย่างเดียวใช่ว่าจะซื้อพรมเปอร์เซียของแท้ได้ ต้องมีความรู้และเท่าทันตลาดด้วย นักสะสมทุกคนล้วนต้องเสียค่าประสบการณ์มาด้วยกันทั้งนั้น

การสังเกตว่าพรมผืนไหนเป็นพรมเปอร์เซียแท้ นอกจากดูลายเซ็นที่โปรดิวเซอร์ทอไว้ที่ขอบพรมแล้ว ให้สังเกตที่เส้นลายการทอจะไม่ตรงเป๊ะ ดูมีมิติ สีสันเป็นสีธรรมชาติ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นลายพรรณพฤกษา หรือลายบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ทำต้องการจะถ่ายทอด

ทั้งนี้ ประเภทของพรมแบ่งได้ 3 ประเภท คือ ผ้าไหม ขนแกะ และผ้าฝ้าย ที่แพงสุดคือ ผ้าไหมจากเมืองกุมของอิหร่าน แต่ก็ขึ้นกับปัจจัยอื่นด้วย อย่างพรมของอะมอกรู (Amoghli) พรมขนแกะที่โปรดิวเซอร์เป็นผู้ผลิตพรมให้กับพระราชวังอิหร่านในช่วงปี 1920 ถือเป็นพรมเบอร์ 1 ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

“อยากจะรู้ว่าพรมมีเสน่ห์เพียงใด ต้องลองนำพรมไปปูที่บ้านดูค่ะ ซึ่งกับบ้านที่แต่งแบบโมเดิร์นก็ใช้พรมเข้าไปแต่งได้ ช่วยให้ดูหวานขึ้น เป็นเสน่ห์ที่ลงตัว และให้ความสุขเวลาที่เราอยู่บ้าน รู้สึกผ่อนคลายเหมือนได้อยู่กับงานศิลปะดีๆ

“Horses in Paradise” ออกแบบโดย ศิลปิน Djavadzadeh ผลิตจาก ไหม 100% ขนาด 1.92 x 1.32 เมตร ผลิตที่เมืองกุม

“อย่างที่บอก คอนเซ็ปต์แพลตฟอร์มของเราคือ คนที่มีแนวคิดเดียวกันมารวมกันและสร้างศิลปะดีๆ”

‘อาร์ต ออน เดอะ ฟลอร์’

มิติใหม่คอมมูนิตี้นักสะสม

ใครที่แวะไปชมงานนิทรรศการ Bangkok Persian Carpet Exhibition 2019 จะสังเกตเห็นผ้าโบราณทอด้วยไหมดิ้นทอง แขวนอยู่บนผนัง ผืนผ้าที่บางเบาไกวเป็นระลอกคลื่นเมื่อต้องสายลม

เป็นผ้าผืนเอกที่ สุรเดช ผดุงศิริเศรษฐ์ นักสะสมของเก่ารุ่นใหญ่และอดีตนายกสมาคมเผยแพร่และส่งเสริมวัตถุ บอกว่า เป็นงานจากราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 4 ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าทอในกรุงวอชิงตันเคยยืมไปจัดแสดงมาแล้วทั่วโลกเมื่อ 27 ปีก่อน เพิ่งนำออกมาจัดแสดงพร้อมกับผ้าไหมเขมรของรักของหวงอายุกว่า 100 ปี อีก 4 ผืน

สุรเดชบอกว่า เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่มาเปิดร้านที่ริเวอร์ซิตี้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน โดยชักชวนคนที่มีร้านขายของเก่าจากทั่วกรุงเทพฯ มาอยู่รวมกันเป็นสมาคมอนุรักษ์ศิลปะไทย เพื่อตรวจพิสูจน์ของแอนทีค ทำกิจกรรมร่วมกัน นี่เป็นครั้งแรกที่นำเอาของสะสมมาร่วมจัดแสดงนิทรรศการ เพราะชอบในความคิดของผู้จัด

“เราไม่เคยแต่งศิลปะบนพื้น มันเหมือนเราเอางานศิลปะที่วิเศษมาสร้างบนพื้น ไม่เคยมีใครคิดถึง ‘ฟลอร์’ เพราะเป็นพื้นที่ที่เราเหยียบย่ำเราเดิน อย่างเก่งก็เลือกกระเบื้องที่ดูดี

“ผมรู้สึกว่าเขาไม่ได้หยุดแค่เรื่องพรม แต่ยังสนใจไปเรื่องอื่นๆ ทำอย่างไรจะให้คนรักตู้อยากมาดูพรม คนสะสมพรมอยากมาเห็นพระ เหล่านี้คือคนที่รักของเก่าล้วนๆ ไม่ใช่เดินไปหาแต่แบรนด์เนม”

สุรเดช ผดุงศิริเศรษฐ์ นักสะสมของเก่ารุ่นใหญ่

นักสะสมรุ่นใหญ่ บอกว่า เห็นไอเดียของจิตรกรแล้วนึกย้อนไปถึงตัวเอง “ผมเป็นพ่อค้า ผมเรียนรู้จากสิ่งที่ผมสะสม และแสวงความรู้เพิ่มเติมไปให้ถึงสุดยอดของแต่ละประเภท ตั้งแต่งานไม้ งานจักสาน งานพระพุทธรูป งานผ้า ไปจนถึงงานทอง พอมาถึงจุดนี้ผมหวนคิดว่าความรู้ที่ผมมีไม่ควรอยู่แค่ผมกับลูกค้า”

ควรนำออกมาให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก เรียนรู้ เพื่อให้เห็นคุณค่า ก่อให้เกิดความหวงแหนในศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะไทยที่น่าภาคภูมิใจยิ่งควรสร้างจิตสำนึกตรงนี้ให้มาก เพื่อช่วยกันรักษามรดกของชาติให้คงอยู่สืบต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image