‘เมืองไทยจะมีนักอนุรักษ์ศิลปกรรมในทุกด้าน’ ก้าวย่างสำคัญ เมื่อศิลปากรเปิด ‘ศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ’

นับเป็นก้าวย่างสำคัญของวงการอนุรักษ์ศิลปกรรมในประเทศไทย เมื่อล่าสุด วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้ง “ศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ” เป็นผลสำเร็จ โดยมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นด้วยความร่วมแรง ร่วมมือ และร่วมใจระหว่างสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านศิลปะของไทยอย่าง “ศิลปากร” และ University of Applied Arts แห่งกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

จรดปากกาลงนามความร่วมมือโดยมี ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และ Mr. Bernhard Kernegger เป็นตัวแทนของสองสถาบัน ตามด้วยการกระชับมืออย่างมั่นคง เน้นย้ำภารกิจสำคัญในการผนึกกำลังพัฒนาศูนย์ดังกล่าวให้รุดหน้า ภายใต้ความหวังในการเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์งานศิลปะของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งก่อเกิดหลักสูตรปริญญาโทที่ผู้เข้าเรียนจะได้รับปริญญา 2 ใบ นับเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ในแวดวงศิลปะที่น่าชื่นชมและจับตาถึงภารกิจสำคัญนี้

ย้อนเวลากลับไปในอดีต เป็นเวลาเกินครึ่งศตวรรษ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันการศึกษาด้านศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกของไทยถือกำเนิดขึ้น ไม่เพียงวังท่าพระ สนามจันทร์ และเพชรบุรี จะเป็นขุมคลังสหวิทยาการในด้านต่างๆ

“วิทยาลัยนานาชาติ” เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญตั้งแต่ พ.ศ.2546 เป็นต้นมา

Advertisement
ผศ.ดร.สมพิศ ขัตติยพิกุล คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผศ.ดร.สมพิศ ขัตติยพิกุล คณบดีคนปัจจุบันผู้มีประสบการณ์ระดับสากลมานานถึง 23 ปี มีความมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยหยิบยกจุดเด่นที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของความเป็น “ศิลปากร” นั่นคือ ความแข็งแรงด้านศิลปะทั้งในแบบ “ร่วมสมัย” และศิลปกรรม “โบราณ” ที่ก้าวข้ามผ่านกาลเวลา ด้วยมีคณะวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ที่สร้างศิลปินมากมาย รวมถึงคณะโบราณคดี ที่สร้างบุคลากรในสายงานอนุรักษ์ เป็นกำลังสำคัญในกรมศิลปากร

ผศ.ดร.สมพิศปัดฝุ่นโครงการงานอนุรักษ์ศิลปกรรมที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วเมื่อ 15 ปีก่อนขึ้นมาอีกครั้ง แต่สะดุดด้วยปัญหาด้านงบประมาณ กระทั่งครั้งนี้ เจ้าตัวขอคัดท้ายเรือ ปักธงเดินหน้าให้ก้าวกระโดดอีกหลายขั้นด้วยปณิธาน “มุ่งสู่สากล” จนเดินทางมาถึงการลงนามความร่วมมือระดับอินเตอร์ได้สำเร็จ โดยมีบุคคลสำคัญที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้

ญาณิศา ทองฉาย นักอนุรักษ์งานศิลปกรรม ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากเวียนนา

“โครงการนี้เริ่มขึ้นมาอีกครั้งเพราะท่าน เอกอัครราชทูตออสเตรีย มองเห็นว่าประเทศไทยน่าจะเป็นศูนย์ในการอนุรักษ์ศิลปกรรมทั้งหลายในภูมิภาค เนื่องจากมีความพร้อมกว่าประเทศอื่น ท่านจึงมาหาเรา หลังจากพูดคุยกัน ผู้บริหาร ม.ศิลปากรก็เดินทางไปชม University of Applied Arts ที่เวียนนา ซึ่งเก่าแก่ถึง 150 ปี พบว่าเขาพร้อมมาก โดยเฉพาะ Institue of Conservation และ Reservation ซึ่งมีชื่อเสียงมากในการซ่อมภาพของพิพิธภัณฑ์ พอกลับมาก็ลงนามความร่วมมือกันระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย แล้วเริ่มต้นทำเวิร์กช็อป โดยทางเวียนนาส่งนักอนุรักษ์มา 2 คน หลังจากนั้นจึงคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะตั้งศูนย์ขึ้นมา ทั้งด้วยความพร้อม การลงนามเอ็มโอยู และเสียงตอบรับจากกรมศิลปากรรวมถึงอีกหลายภาคส่วน” ผศ.ดร.สมพิศกล่าว

Advertisement

ในขณะที่ ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี บอกเล่าถึงการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติแห่งนี้ว่า อยู่ในความดูแลของสำนักงานอธิการบดี ซึ่งทำงานร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ โดยมีการก่อตั้งหลักสูตรปริญญาโทเพื่อสร้างบุคลากรในสาขาวิชาด้านการอนุรักษ์ ในขณะเดียวกันก็รับซ่อมแซมและอนุรักษ์งานศิลปะเพื่อหารายได้ เนื่องจากต้องมีการเชิญพันธมิตรเข้าร่วมซึ่งมีค่าใช้จ่าย ทางมหาวิทยาลัยสนับสนุนทางศูนย์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านความร่วมมือกับ University of Applied Arts แห่งกรุงเวียนนา

นอกจากนี้ อธิการบดี ม.ศิลปากรยังแง้มว่า แม้จะเริ่มต้นจากการซ่อมแซม “ภาพเขียน” แต่มีแผนพัฒนาไปสู่ศิลปกรรมด้านอื่นๆ อย่างแน่นอน และไม่ใช่เพียงให้บริการในขอบเขตประเทศไทยเท่านั้น หากแต่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์ของ “อาเซียน” ด้วย

Mr.Bernhard Kernegger จาก University of Applied Arts แห่งกรุงเวียนนา ประเทศ ออสเตรีย และ ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ลงนามความร่วมมือ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา

“จุดเริ่มต้นคือการซ่อมภาพก่อน แต่ความเป็นจริง ศูนย์จะใหญ่มากเพราะจะดูทั้งเรื่องโบราณสถาน เรื่องอาคาร เรื่องวัสดุ เรื่องโบราณคดี เรื่องการตกแต่งภายใน ฯลฯ ประติมากรรมทั่วประเทศ มีการเสื่อมสภาพ ต้องมีการซ่อมแซมให้ยั่งยืนต่อไป โดยใช้เทคนิควิชาการเข้ามาช่วย ใครเป็นจิตรกร ทำเมื่อไหร่ ชำรุดตรงไหนบ้าง ซ่อมอย่างไร ใช้วัสดุอะไร คนรุ่นหลังจะได้ทราบว่าถ้าชำรุดตรงนี้อีก จะทำอย่างไร” ผศ.ชัยชาญกล่าว

สำหรับคำถามที่ว่า จะนำจุดเด่นของความเป็นศิลปากร อันเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งศิลปะมาช่วยสนับสนุน ส่งเสริมอย่างไร ที่จะทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจยิ่งขึ้นในการนำงานศิลปะมาซ่อมแซม อนุรักษ์กับทางศูนย์ ท่านอธิการฯ บอกว่า

“ด้วยชื่อเสียงที่เรามี แน่นอนว่าเราทำอย่างดี ได้คุณภาพ ได้มาตรฐาน และเราไม่ได้มองแค่ในประเทศ แต่มองถึงอาเซียนด้วย จุดเริ่มต้น ต้องเริ่มอย่างระมัดระวัง มีคุณภาพตามหลักมาตรฐานวิชาการ เป็นภารกิจหลักที่จะทำให้คนเชื่อถือว่าส่งมาแล้วไม่เสียหาย เพราะภาพมีราคา หากส่งมาที่นี่จะมีการรับรองอย่างดี มีรายงานที่ระบุรายละเอียดทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าซ่อมเสร็จ ส่งคืนกลับไปเท่านั้น นี่ก็คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากต่างประเทศ”

ผศ.ชัยชาญยังเน้นย้ำว่า ศิลปากรพยายามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เน้นการปฏิบัติ ไม่ใช่การเรียนการสอนแบบนั่งฟังบรรยาย

“เขาเองก็อยากจะรู้ว่าสีของเมืองไทยใช้อะไร วัสดุ ลวดลายเป็นอย่างไร เราก็เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีเวิร์กช็อป นักศึกษาจากเวียนนามาที่นี่ นักศึกษาไทยไปเวียนนา ไปทำงานกับมืออาชีพจริงๆ ไม่ใช่เรียนแบบบรรยาย”

อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจ คือ วิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับแนวทาง หรือ “เทรนด์” การศึกษาในอนาคต อย่างการเรียนรู้ผ่านคอร์สสั้นๆ แบบเฉพาะทางตามความสนใจส่วนบุคคล

“บางคนสนใจซ่อมภาพแบบสีน้ำมัน สีน้ำ หรือแม้กระทั่งอยากรู้เฉพาะการซ่อมกรอบรูป เราก็เอามาแยกเป็นคอร์สได้ เรียนปุ๊บ ไปใช้งานได้เลย สนใจอย่างอื่นอีกก็มาเรียนเพิ่มเติม” ผศ.ชัยชาญกล่าว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ ประธานที่ปรึกษาศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ

อีกหนึ่งบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานที่ปรึกษาศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ

“โครงการนี้ควรเกิดขึ้นนานแล้ว เพราะการอนุรักษ์ศิลปะ ต้องใช้ศาสตร์หลายด้าน แน่นอนว่าทั้งด้านจิตรกรรม ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านโบราณคดี และอื่นๆ เพราะฉะนั้นศิลปากรน่าจะมีหลักสูตรนี้นานแล้ว แต่เรายังรวมกันไม่ติด เมื่อวิทยาลัยนานาชาติไปดูงานที่เวียนนา พบว่ามีความพร้อม จึงเกิดโครงการนี้” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ย้อนเล่าความเป็นมา ก่อนลงลึกถึงรายละเอียดในความจำเป็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บุคลากรด้านการอนุรักษ์ในไทยยังคง “ขาดแคลน” แม้มีหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมศิลปากร

“งานศิลปะ พอถึงระยะหนึ่ง มันเสื่อม ต้องซ่อม แต่ไม่มีที่ซ่อม เมืองไทยมีศิลปวัตถุมากมาย ทั้งโบราณวัตถุ โบราณสถาน และงานศิลปะของเอกชน แต่เราไม่มีบุคลากรทางด้านนี้เลย คนที่ทำงานให้กรมศิลปากร จบวิทยาศาสตร์หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วไปฝึกงานมา ไม่ได้เรียนโดยตรง งานของรัฐเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นโครงการนี้จะส่งผลให้วันข้างหน้า คือคนไทยเราจะทำได้เอง

การอนุรักษ์ภาพเขียน เป็นไปตามหลักวิชาการ ด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากรและ University of Applied Arts แห่งกรุงเวียนนา ประเทศ ออสเตรีย

ทุกวันนี้มีชาวต่างชาติตั้งถิ่นฐานซ่อมโดยเฉพาะในราคาแพง เพราะฉะนั้น การตั้งศูนย์นี้จึงถูกต้องที่สุด และจำเป็นมากด้วย ถ้าเราเริ่มโครงการตามที่มีการวางแผนไว้ว่าปีหน้า คือ พ.ศ.2563 จะเปิดสอนระดับปริญญาโท เชื่อว่าภายใน 2 ปี เราจะมีมหาบัณฑิตทางด้านนี้” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวด้วยรอยยิ้มในวันเปิดตัวศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติอย่างเป็นทางการ

ส่วนประเด็นความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของไทยอย่างกรมศิลปากรนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรีบอกว่า มีอย่างแน่นอน โดยได้พูดคุยกับอธิบดีกรมศิลปากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นทางศูนย์มีแนวคิดในการฝึกฝนทักษะในด้านดังกล่าวให้แก่บุคลากรของกรมศิลปากร เพิ่มศักยภาพให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับประเด็นเรื่องงานที่จะรองรับมหาบัณฑิต สามารถรับงานอนุรักษ์จากเอกชน หรือเปิดสตูดิโอของตัวเองได้

“เมืองไทยมีรูปที่เศรษฐีทั้งหลายอยากจะซ่อมเยอะมาก เพราะฉะนั้นเรื่องอาชีพ ไม่ห่วง ทำได้สบายมาก จะรับไม่ไหวเสียอีก เพราะระดับปริญญาโท เราเปิดสอนได้รุ่นละไม่มาก”

ถามถึงอุปสรรคในอนาคตที่เตรียมแผนฟันฝ่าไว้ ได้คำตอบว่า ในเบื้องต้นที่ยังมีปัญหาคือเรื่องของห้องปฏิบัติการ ซึ่งต้องลงทุนเยอะ จึงคิดว่าจะร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศไทยที่มีความสนใจทางด้านนี้ และมีความพร้อมที่จะสนับสนุน โดยทำงานร่วมกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะหากอาศัยเพียงการทำตามขั้นตอนราชการ จะใช้เวลานานมาก ที่สำคัญคือต้องลงทุนเยอะมาก

“ขั้นตอนของราชการกว่าจะได้ของมาแต่ละชิ้น จัดซื้อจัดจ้าง บางอย่างเป็นปีแล้วยังไม่ได้ เอกชนมีความคล่องตัวกว่า จะช่วยบริหารจัดการให้ เชื่อว่าน่าจะไปได้ดี”

สุดท้าย เมื่อถามถึงความคาดหวังสูงสุดในการถือกำเนิดขึ้นของศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรีกล่าวว่า

“เมืองไทยจะมีนักอนุรักษ์ศิลปกรรมของตัวเองในทุกด้าน เบื้องต้นอาจเริ่มต้นด้วยจิตรกรรม ต่อไปอาจเป็นประติมากรรม ที่สำคัญคือโบราณสถานเยอะมาก คงต้องขยายไปในทุกเรื่องศิลปากรมีฐานความรู้”

เป็นข่าวดีส่งท้ายปี 2562 ที่ต้องปรบมือให้ความมุ่งมั่น และส่งกำลังใจในการเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งในปี 2563 และปีต่อๆ ไปในทุกก้าวย่างอย่างมั่นคงและเป็นสากล

ญาณิศา ทองฉาย นักอนุรักษ์งานศิลปกรรม ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากเวียนนา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image