19 (+1) วาทะแห่งปีที่ต้อง ‘ขีดเส้นใต้’

พยัญชนะ สระ ข้อความ วลี ประโยค และบทความนับไม่ถ้วนถูกตีพิมพ์ด้วยหมึกสีดำลงบนปึกกระดาษในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันคุณภาพ นาม “มติชน” จากวันแรกของปี 2019 ก่อนเข้าสู่ศักราชใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ด้วยเลขสวย 2020

ท่ามกลางสุ้มเสียงที่ถูกถ่ายทอดผ่านตัวอักษรใน “บทสัมภาษณ์” ของ “เสาร์ประชาชื่น” และ “อาทิตย์สุขสรรค์” มีข้อความสำคัญที่ต้องไฮไลต์ ไม่เพียงความคมคายของวาทะ หากแต่สะท้อนตัวตน แนวคิด ที่สะกิดให้มองเห็นประเด็นบางอย่าง ส่องสปอตไลต์ ขยายนัยยะซ่อนเร้น กระทั่งเผยสิ่งที่เคยถูกอำพรางให้แจ่มชัด

ต่อไปนี้ คือ 19 + 1 วาทะเด็ดจากหลากหลายวงการ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอีกหลากหลาย ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ในความทรงจำแห่งปีที่กำลังผ่านพ้น

พินิจ จารุสมบัติ

การจัดงานนี้ไม่ได้หวังผลตอบแทน หวังผลกำไร แต่เราหวังให้เกษตรกรสามารถขายยางพาราที่มีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่ขายน้ำยางสด

Advertisement

ไม่นานมานี้ได้ไปเจอผู้แทนบริษัทยางรถยนต์บริดจสโตน เขาบอกว่า ถ้าเป็นยางพาราต้องบึงกาฬ นี่แสดงว่าชื่อเสียง เกียรติคุณของงานนี้ได้ขจรขจายไปแล้ว เพราะเราเคยเชิญผู้แทนจากหลายประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน จีน เกาหลี ญี่ปุ่นร่วมงาน ให้หลายประเทศเหล่านั้นรู้ถึงศักยภาพของไทย นับว่ากำไรเหลือเกินที่ 8 ปีเราจัดงานมา

งานวันยางพาราได้เผยแพร่ความจริงให้โลกได้รับรู้อย่างมาก

พินิจ จารุสมบัติ

อดีตรองนายกรัฐมนตรี

Advertisement

จาก “พินิจ จารุสมบัติ ทัพหน้างานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 8 ปีที่เหนือกว่า กำไร”, 1 ธันวาคม


 

ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร

ดิฉันเก็บทุกอย่างของ ดร.ไซเลอร์ ไว้เพื่อประเทศ เพื่อคนรุ่นหลัง ซึ่งจะสะดวกมากหากคุณได้ข้อมูลตรงนี้ เขาทำไว้หมดแล้ว ดิฉันจะทำให้คนไทยไม่ลืมเขา ให้งานไม่สูญหาย สิ่งที่เขาทำให้ประเทศไทยมีมากมาย เราจะทิ้งผลงานของเขาหรือ นี่คือผู้ชายที่อุทิศทั้งชีวิต ไม่มีครอบครัว ชีวิตมีแต่งานๆๆ ตลอดเวลา เป็นคนเอ็กซ์ตรีมมากๆ ทำให้ชีวิตต้องเป็นเช่นนี้

ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร

ราชบัณฑิต

จาก “อ่านทีละคำ เปิดทีละหน้า ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ปมขุมทรัพย์ ดร.ไซเลอร์”, 24 พฤศจิกายน 2562


 

ศิริกัญญา ตันสกุล

ไม่มีคดีไหนที่โทษจะไปถึงยุบพรรคได้สักคดีหนึ่ง แต่กระแสก็มาเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับว่าศาลจะตัดสินอย่างไร วิธีการก็คือทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ให้ประชาชนเป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็ก ให้เขาเห็นว่าการมีอยู่ของอนาคตใหม่ ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในสภาเราก็ทำให้เห็นแล้วว่าการเมืองใหม่มันเป็นไปได้ เราเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเปลี่ยนแปลงในสภาได้ นอกสภาก็ทำงานกันเต็มที่ ถ้าทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เชื่อว่าประชาชนจะปกป้องเรา

ศิริกัญญา ตันสกุล

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

จาก ‘เป็นเด็กเนิร์ดที่ขบถ’ เส้นทางชีวิตสู่ (ดาว) สภา ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’, 27 ตุลาคม 2562


 

ธนินท์ เจียรวนนท์

ยิ่งสำเร็จมากปัญหาก็ยิ่งจะใหญ่ขึ้น ต้องเตรียมตัวแก้ปัญหา ฉะนั้นผมดีใจแค่วันเดียว ทุกวันต้องศึกษาว่าเรามีอะไรต้องเปลี่ยนแปลงไหม อย่าไปอิจฉาใคร เราต้องดูตัวเอง สร้างตัวเอง เปลี่ยนแปลงตัวเอง ความล้มเหลวก็เช่นกัน ไม่ควรกลุ้มใจเกินหนึ่งวัน จากนั้นคิดทบทวนว่าล้มเหลวเพราะอะไร เพื่อเป็นกรณีศึกษาไม่ให้ล้มเหลวอีกครั้ง

ตอนวิกฤต ต้องอย่าตาย ต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ แล้วถึงจะมีโอกาสฟื้นคืน ถือว่าเป็นประสบการณ์ เป็นความรู้ เสียค่าเล่าเรียนแล้ว ถ้าตายไป ก็เอาคืนไม่ได้

ธนินท์ เจียรวนนท์

ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์

จาก “หนุ่มเมืองจันท์ถาม เจ้าสัวธนินท์ตอบ ธุรกิจ ชีวิต และเรื่องราวระหว่างบรรทัด ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”, 20 ตุลาคม 2562


 

สุพจน์ ธีระวัฒนชัย

มันจะมีฉากหนึ่งที่ไม่เคยลืม วันนั้นไปซื้อก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา เกาเหลา 1 บะหมี่น้ำ 1 ถุงละ 5 บาท และข้าวสวย 5 ถ้วย พี่น้อง 5 คน นั่งกินล้อมกัน น้องชายคนที่ 5 จะได้กินลูกชิ้นปลา ผมกินถั่วงอกราดกับน้ำ ความรู้สึกของเราตอนนั้นมันแย่นะ แต่จุดนั้นทำให้เราไม่ยอมให้ชีวิตข้างหน้าเป็นอย่างนี้อีก

สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต คนมักจะชี้ไปหาเงิน แต่จริงๆ แล้ว เงินเป็นเบอร์สอง กัลยาณมิตรเป็นเบอร์หนึ่ง การที่มีกัลยาณมิตร ชีวิตอับจนอย่างไรคุณจะไม่ตาย

สุพจน์ ธีระวัฒนชัย

ผู้ก่อตั้งโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

จาก “มีวันนี้เพราะความจนคอยเฆี่ยนตี สุพจน์ ธีระวัฒนชัย 2 ทศวรรษ แห่งอาณาจักรโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง”, 6 ตุลาคม 2562


 

สุรพงษ์ กองจันทึก

การอุ้มหายไม่ได้เกิดครั้งแรก เกือบทุกเคส ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ ก็เกิดคำว่าลอยนวล จริงๆ แล้วทั่วโลกก็เป็น แต่ไทยยิ่งไม่มีกฎหมายมาช่วยก็ยิ่งทำให้ยากใหญ่ ระยะเวลาผ่านไปนานเข้า ก็ยิ่งตอกย้ำว่าการลอยนวลน่าจะเป็นไปตามนั้น ต้องขอบคุณดีเอสไอ นี่ถือเป็นผลงานแรกๆ ที่สำคัญในแนวนี้ ซึ่งก็หวังว่าจะลบภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองว่าไม่มีน้ำยา ตรวจเรื่องไหนก็เงียบ โดยสร้างผลงานตัวเองจากเรื่องนี้

สุรพงษ์ กองจันทึก

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

จาก “สุรพงษ์ กองจันทึก อำนาจเถื่อนในสังคมไทย กับความหวังจากบิลลี่”, 14 กันยายน 2562


 

ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ

ทุกครั้งที่ผมอภิปราย เป็นงานกึ่งวิจัยทั้งสิ้น ไม่ใช่พูดชุ่ยๆ พอโชว์ป้ายเงียบกริบเป็นเป่าสาก เวลายิงเปรี้ยงเลยเถียงไม่ออก หลายเรื่องที่อภิปรายไป รัฐบาลก็คงอาย

ถ้าคุณอยากจะเป็นสุดยอด อยากเป็นอะไรที่เหนือกว่าคนอื่น อย่าไปก๊อบปี้ใคร อย่างมากคุณก็ได้เท่าเขา สิ่งที่ดีที่สุดคือองค์ความรู้

ผมจะบอกคุณนะ สิ่งที่มันต่อสู้รุนแรง มีพลัง มีความหมายที่สุด ไม่มีอะไรเทียบได้กับการเมือง คุณทำธุรกิจคุณก็รวย มีเงินมีทองเท่านั้นเอง จะช่วยใครก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้ามาอยู่ในการเมือง มาอยู่ในที่ที่มีอำนาจจริงๆ คุณจะช่วยคนได้เยอะมาก

ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ

ส.ส.อุตรดิตถ์ เขต 2 พรรคเพื่อไทย

จาก “คุณจดบันทึกไว้เลยนะ นี่คือตัวตนของผม ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ”, 2 กันยายน 2562


 

ศรัญญู เทพสงเคราะห์

แม้จะบอกว่าในยุคนี้เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่สิ่งที่เราเห็นกันอยู่คือความพยายามลบความทรงจำต่างๆ เต็มไปหมด อย่างกรณีอนุสาวรีย์ปราบกบฏ เดิมสถานีรถไฟฟ้าใช้ชื่อสถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ แต่พออนุสาวรีย์หายไปก็เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีพหลโยธิน 59 สะท้อนว่าไม่มีอะไรยึดโยงแล้ว ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเขตบางเขน มีการตั้งแขวงอนุสาวรีย์ แต่ต่อจากนี้ไปไม่รู้ว่าความทรงจำจะถูกลบไปเรื่อยๆ หรือเปล่า

ศรัญญู เทพสงเคราะห์

ผู้เขียน “ราษฎรธิปไตย”

จาก “ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ราษฎรธิปไตย ในสมรภูมิช่วงชิงความทรงจำ 2475”, 25 สิงหาคม 2562


 

ชัยเกษม นิติสิริ

การเมืองบ้านเราเล่นกันแรงและไม่อยู่ในกฎระเบียบ กติกา ใช้อารมณ์ค่อนข้างมากกว่าที่ควรทำ แต่พอเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เคยชิน นักการเมืองก็มาจากทุกระดับ บางคนเหมือนมีการศึกษา แต่ถ้าไปดูอดีต มาจากนักเลงบ้าง เป็นนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งต่อสู้มาในทุกรูปแบบบ้าง อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเป็นตัวอย่างที่ดี อนาคตของนักการเมืองไทยก็คงจะดีขึ้น แต่ปัจจุบันเราไม่ค่อยเห็นตัวอย่างที่ดีสักเท่าไหร่ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเด็กเสียด้วยซ้ำ

ชัยเกษม นิติสิริ

ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมและอำนาจรัฐ พรรคเพื่อไทย

จาก “คำต่อคำ นาทียึดอำนาจ จากปาก ชัยเกษม นิติสิริ เวอร์ชั่นที่ไม่ใช่นิยาย”, 10 สิงหาคม 2562


 

ดำรงค์ พิเดช

ผมอยู่ฝั่งที่ทำถูกต้อง อะไรที่ถูกก็ว่ากันไปตามที่ถูก แต่ถ้าทำผิดเราไปบอกว่าถูกมันจะมีปัญหาทันที แล้วจะไปตอบคำถามกับประชาชนแสนสามหมื่นกว่าเสียงได้อย่างไร ผมทำหน้าที่ตรงนี้ในฐานะพรรครักษ์ผืนป่า ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีนโยบายเดียวเรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้สัตว์ป่า

เจ้านายของผมคือต้นไม้ คือสัตว์ป่า เจ้านายของผมพูดไม่ได้ ผมจึงต้องทำหน้าที่พูดแทนและจะทำหน้าที่ดูแลเจ้านายให้ดีที่สุด

ดำรงค์ พิเดช

ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย

จาก “ดำรงค์ พิเดช ในวันที่มีต้นไม้และสัตว์ป่าเป็นเจ้านาย ในเวลาที่เป็น ส.ส.เต็มตัว”, 29 กรกฎาคม 2562


 

ฐนพงศ์ ลือขจรชัย

การตกลงดินแดนมลายูในยุคนั้นเป็นเรื่องที่ผ่านการไตร่ตรองของชนชั้นนำสยามมาแล้วด้วยเหตุผลประการหนึ่ง ไม่ใช่การสูญเสียดินแดนที่ถูกบีบบังคับเอาไป เราควรเห็นใจคนตรงนั้น

ประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ส่วนหนึ่งที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันก็คือ การที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศคิดว่านี่คือ ดินแดนประเทศไทย ถ้าคุณไม่พอใจก็ออกไป ความเข้าใจของคนกรุงเทพฯ หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รู้สึกว่าฉันเสียให้อังกฤษมาเยอะแล้ว ฉันจะไม่เสียอีก พวกคุณไม่พอใจก็ออกไป นี่คือสิ่งที่อยากสื่อสารที่สุดว่าทัศนคติแบบนี้ต้องเปลี่ยน

ฐนพงศ์ ลือขจรชัย

ผู้เขียน “เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติฉบับ Plot twist”

จาก “คุยเรื่อง (ชัง) ชาติ เมื่อประวัติศาสตร์วนลูป กับ ฐนพงศ์ ลือขจรชัย สยามไม่เคยเสียดินแดนมลายู”, 27 กรกฎาคม 2562


 

ไพบูลย์ สุดลาภา

ผมเกลียดการอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร พออยู่นานๆ ไปชักเบื่อ อยากทำอะไรให้มีประโยชน์ อยากจะเรียนคอมพิวเตอร์น่าจะเป็นประโยชน์กับเรามากกว่าสิ่งอื่นๆ ทำให้ไม่ต้องเหนื่อยแรงอะไรมาก ทุกอย่างคอมพิวเตอร์ทำให้หมด ความสามารถของเครื่องในอนาคตก็จะยิ่งมากไปกว่านี้อีก

ไพบูลย์ สุดลาภา

นักศึกษา ปี 1 สาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา วัย 72 ปี

จาก “ชีวิตไม่ธรรมดา อดีตนักบิน ไพบูลย์ สุดลาภา เฟรชชี่ออกแบบกราฟิกฯอายุมากที่สุด”, 21 กรกฎาคม 2562


 

ชลน่าน ศรีแก้ว

ต้องยอมรับว่าเมื่อก่อนเรามีข้อมูลอะไรไม่เยอะพอ และพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนั้นถือว่าประชาธิปัตย์น่าจะดีที่สุดแล้ว พอมองกลับไป ผมไม่อยากวิจารณ์เขา เพราะยิ่งมาอยู่ในวงการการเมือง เรายิ่งรู้อะไรลึกมากขึ้น ในฐานะนักการเมือง ไม่ขอซ้ำเติมกัน ทุกอย่างอยู่ที่การกระทำ คุณสามารถแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน การใช้คำพูดในการแก้ปัญหาในยุคนี้มันเป็นไปไม่ได้แล้ว คุณต้องลงมือทำ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

ส.ส.น่าน เขต 2 พรรคเพื่อไทย

จาก “นัดกันนอกสภา บทสนทนาที่ไม่มีฝ่ายค้าน ชลน่าน ศรีแก้ว”, 14 กรกฎาคม 2562


 

สุดใจ ปุ่มประโคน

ความรู้สึกของผมก็คิดอยู่ทุกวันว่า เอ๊ะ…กูไม่น่าจะมาถึงขนาดนี้ได้ (หัวเราะ) ก็ภูมิใจในตัวเอง คนในโลกนี้คงเกือบจะไม่มีคนเหมือนผม ทำตั้งแต่นักมวยค่าตัวหลักร้อยจนค่าตัวเป็นแสน บางคนก็มีค่าตัวเป็นล้าน ผมทำด้วยน้ำพักน้ำแรงความสามารถของตัวเองทั้งสิ้น ความยากจนมันทำให้ทุกคนสู้

สุดใจ ปุ่มประโคน

เจ้าของค่ายมวย “เกียรติหมู่ 9”

จาก “บุกค่ายมวย เกียรติหมู่ 9 จับเข่า สุดใจ ปุ่มประโคน สังเวียนปั้น เด็กข้างบ้าน สู่ยอดมวยดังกระหึ่มโลก”, 13 กรกฎาคม 2562


 

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ประวัติศาสตร์ไม่มีพระเอก ไม่มีผู้ร้าย ไม่มีคนถูก คนผิด แต่ทุกคนคือตัวละคร เมื่อตัดความรู้สึกไม่ว่ารักหรือเกลียดออกจากเรื่องราว เราจะหาเหตุผลได้ ไม่ต้องทะเลาะกัน จะมีความสุข สนุกที่จะค้นคว้า ผมเองค่อนข้างเป็นห่วงว่าสังคมไทยเมื่อมาถึงวันนี้ คนดูเหมือนจะมีมุมของตัวเอง แล้วปฏิเสธคนที่ไม่ได้อยู่ในมุมของตัวเอง เรา 2 คนคุยกัน บางทีผมก็ไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่ผมไม่ได้จัดคุณเป็นศัตรู แต่สิ่งที่ผมเห็นในปัจจุบัน คือถ้าไม่พูด ไม่เชื่อเหมือนเรา เขาเป็นศัตรู

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

นักเขียนชื่อดัง

จาก “นายทหารนักเขียน พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ไม่มีพระเอก ผู้ร้าย ทุกคนคือตัวละครในประวัติศาสตร์”, 30 มิถุนายน 2562


 

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

พาราควอตที่เราสู้ตอนนี้ รัฐบาลไม่เปลี่ยนแต่ประชาชนเปลี่ยนแล้ว ไม่เอาแล้ว เชื่อว่าอีกไม่นานก็ต้องแบน เช่นเดียวกับเรื่องกัญชา ที่เคยมีคนบอกเลอะเทอะแต่ตอนนี้ดูเหมือนคิดได้แล้ว

การเปลี่ยนผ่านเรื่องพวกนี้ สังคมต้องถกแถลงกัน สังคมจะเป็นคนตัดสินใจ ขอยกตัวอย่างเรื่องพาราควอต มาเลเซียเคยแบนเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว ท้ายสุดไม่สำเร็จเพราะบริษัทยักษ์ใหญ่และรัฐบาลขณะนั้นเอาด้วย ก็ต้องยกเลิกการแบน แต่กระแสโลกไม่แบนไม่ได้ ไม่งั้นขายปาล์มไม่ได้ มันมีมาตรฐานโลกอยู่ ท้ายสุดก็ต้องเปลี่ยน

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

ผอ.มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)

จาก “ศึกกัญชา เปิดใจ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.ไบโอไทย”, 14 เมษายน 2562


 

จิราภรณ์ ดำจันทร์

รัฐประหารทุกครั้งจะมีเงื่อนไขมาก่อน พอหลังจากนั้นก็เข้าอีหรอบเดิม ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดกติกาใหม่ เข้าสู่การเลือกตั้ง ได้รัฐบาล วนอยู่อย่างนี้ แค่ระยะเวลาในแต่ละกรอบต่างกันบ้าง สาระต่างกันบ้าง …ที่ผ่านมา (ประชาธิปไตยไทย) ล้มเหลวเพราะความคิดเห็นในกติกาไม่ตรงกัน ถ้าอยู่คนละกติกา คนละฝั่ง มันคุยกันไม่ได้ มันไม่จบ หรืออาจจะจบนะ แต่จบไม่สวย

ถ้าเกิดเหตุที่เป็นวิกฤต สิ่งแรกที่ต้องทำคือตั้งหลัก อดกลั้น คิดว่าสิ่งที่อยากได้คืออะไร เมื่อเราอยากได้ประชาธิปไตย ก็ต้องหาช่องทางที่จะไปต่อให้ได้ ถ้าไม่อดกลั้นก็นำไปสู่ความรุนแรง แล้วเข้ารูปแบบเดิม

ดร.จิราภรณ์ ดำจันทร์

ผู้เขียน “ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น”

จาก “87 ปี ประชาธิปไตยที่ (ยัง) ไม่ตั้งมั่น ในมุมมอง ดร.จิราภรณ์ ดำจันทร์”, 7 เมษายน 2562


 

พิชัย รัตตกุล

ประชาธิปัตย์หาเสียงปีแล้วปีเล่า ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเอาความคิดใหม่ๆ ออกมาเลย คนแก่อย่างผม 93 ยังมีความคิดใหม่ๆ นี่มันแบบเก่า ไม่มีอะไรใหม่ๆ เลยแม้กระทั่งนโยบาย เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เราต้องยอมรับว่า ประชาธิปัตย์ไม่ใช่เลิศ มีพรรคเกิดใหม่ขึ้นมา มีคนรุ่นหนุ่มสาวอย่างพรรคอนาคตใหม่ คนไปดูถูกเขา ผมไม่เคยดูถูกเลย คนเหล่านี้เป็นรุ่นที่มีไฟ คิดอ่านก้าวหน้า ยึดหลักประชาธิปไตย มีอุดมการณ์ เหมือนประชาธิปัตย์เมื่อแรกตั้ง

พิชัย รัตตกุล

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

จาก “พิชัย รัตตกุล มองประชาธิปัตย์ในวันแห่งความพ่ายแพ้”, 31 มีนาคม 2562


 

สมบูรณ์ ชุมศักดิ์วินิจ

ผมสู้ไม่ไหวแล้ว ปิดตำนานแล้ว ใครๆ ก็บอกเสียดาย ผมก็เสียดาย ไม่มีใครทำต่อ เศรษฐกิจไม่ดีด้วย เดี๋ยวนี้คนสมัยใหม่ก็ไปทานอาหารอีกอย่างหนึ่งแล้ว เดี๋ยวนี้มีศูนย์อาหาร อย่างว่าแหละครับ เราก็ทำดีที่สุด อาหารโต๊ะจีนนี่ไม่มีใครสู้เลยจริงๆ สมัยก่อนใครจะแต่งงานต้องมารีบจองก่อน

คนเขาพูดกันนะ ผมไม่ได้พูดเอง ว่าโรงแรมเกี่ยวอันเหมือนคู่มากับสระบุรี เกิดมาก็เห็นเกี่ยวอัน เขาเป็นนักเรียนนั่งรถผ่านไปมาก็เห็นเกี่ยวอัน จนป่านนี้ บางคนเกษียณตั้งนานเป็น 10 ปี ก็ยังอยู่

ผมบุกเบิกมา 2 คนสามีภรรยาด้วยมือเปล่าๆ ตอนเตี่ยตาย ปี 2506 เงินทำศพยังไม่มี ต้องวิ่งเปียแชร์มาซื้อที่ฮวงซุ้ยให้ท่าน ก็พยายามก่อร่างสร้างตัวมา พูดแล้วมันยาว เรื่องมันเยอะ

สมบูรณ์ ชุมศักดิ์วินิจ

ผู้ก่อตั้งโรงแรมเกี่ยวอัน

จาก “สมบูรณ์ ชุมศักดิ์วินิจ เตรียมปิดตำนาน 80 ปี โรงแรมเกี่ยวอัน ผมสู้ไม่ไหวแล้ว”


บทสัมภาษณ์สุดท้าย

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร

มีนาคม 2562 ก่อนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของไทย นักปราชญ์คนสำคัญของไทย ให้เกียรติรับคำขอเข้าพบเพื่อพูดคุยหลากหลายประเด็นในประวัติศาสตร์ชาติผ่านศิลาจารึกและชีวิตอันยาวนานในวัย 100 ปี ตีพิมพ์เผยแพร่ในวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ยังเอ่ยประโยคสุดท้ายก่อนเข้าลิฟต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเพื่อขึ้นไปประชุมว่า

“ผมไปทุกครั้ง เป็นคนที่ไปเลือกตั้งตลอดเวลา”

หลังจากนั้นไม่นาน ข่าวการล้มป่วยแพร่สะพัด ท่ามกลางความห่วงใยของลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ

จากไปอย่างสงบในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562

ทิ้งไว้ซึ่งผลงานและคุณูปการมากมายต่อแวดวงการศึกษาไทยจนไม่อาจใช้หน้ากระดาษบรรยายได้หมดสิ้น

นี่คือส่วนหนึ่งของถ้อยคำในบทสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชนครั้งสุดท้ายของราชบัณฑิตผู้นี้ ที่สะท้อนแนวคิด ตัวตนของท่านอย่างแท้จริง

“ผมเลยคิดว่า เอ๊ะ! ถ้าเซเดส์ตาย จะไม่มีใครอ่านจารึกภาษาไทยได้เชียวหรือ ถ้าไม่มีใครอ่าน ผมก็จะอ่านเอง ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มมาอ่านจารึก”

แต่ก่อนเวลาจะนอนก็คิดว่าวันนี้ได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ประเทศชาติบ้าง พรุ่งนี้ก็จะทำให้มันดีขึ้น มันมีความสุขที่ได้ทำตัวให้ดีที่สุดในแต่ละวันไปแล้ว (ความสุขในวันนี้และพรุ่งนี้ที่ได้ตื่นขึ้นมาคือ) ได้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

ประเสริฐ ณ นคร

ราชบัณฑิตผู้ล่วงลับ

จาก “42 นาที 18 วินาที ใน 100 ปีของชีวิต ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร นักปราชญ์แห่งยุคสมัย”, 24 มีนาคม 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image