สบตา ‘ภักตปุระ’ เหนือความงาม คือความหมาย มรดกโลกหิมาลัยในหุบเขากาฐมาณฑุ

ไม่อาจมีถ้อยคำใดถูกใช้ในการปฏิเสธซึ่งความงดงามเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา สำหรับ ‘ภักตปุระ’ เมืองเล็กๆ ใน ‘หุบเขากาฐมาณฑุ’ แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาตินับแต่การประกาศท่ามกลางที่ประชุม ณ ประเทศอียิปต์ ตั้งแต่ พ.ศ.2522 หรือกว่า 4 ทศวรรษล่วงมาแล้ว

แม้เคยได้รับผลกระทบใหญ่หลวงจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน 2558 สร้างความสูญเสียที่ทำให้โลกร่วมร่ำไห้ไปด้วยกัน ทว่า ‘เนปาล’ ในวันนี้พร้อมเปิดประตูเชื้อเชิญนักเดินทางให้มาเยี่ยมเยือนผืนแผ่นดินแห่งอารยธรรมอีกครั้งหลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากภัยพิบัติ

อิฐก้อนแล้วก้อนเล่าถูกจัดเรียงขึ้นใหม่ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมอันสะท้อนพลังแห่งศรัทธาและความภักดีอย่างเต็มเปี่ยม เฉกเช่นเดียวกับคำแปลของชื่อเมืองภักตปุระ ‘นครแห่งผู้ภักดี’ บนพื้นที่เพียง 119 ตารางกิโลเมตร ทุกย่างก้าวล้วนมีความหมาย เข้มข้นด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มากล้นด้วยสีสันที่รายล้อมอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน

Advertisement

ในอ้อมกอดของเทือกเขาหิมาลัยอันยิ่งใหญ่ กษัตริย์แห่งราชวงศ์มัลละ สร้างเมืองแห่งนี้ขึ้นในศตวรรษที่ 12 ในอดีตนับเป็นศูนย์กลางทางการค้าขายที่สำคัญระหว่างอินเดียกับทิเบต ผังเมืองถูกวางเป็นรูป ‘หอยสังข์’ เนื่องด้วยผูกพันกับความเชื่อในศาสนพราหมณ์-ฮินดู อาวุธคู่กาย ‘พระวิษณุ’ จึงถูกนำมาใช้ในดีไซน์ยุคโบราณ ภายในประกอบด้วยถนนสายหลักที่คึกคักด้วยรถรา เชื่อมจัตุรัสต่างๆ อย่าง จัตุรัสภักตะปุระ และจัตุรัส ‘ดูร์บาร์’ ซึ่งหมายถึง ลานหน้าพระราชวัง ทำหน้าที่เป็นท้องพระโรงเมื่อกษัตริย์เสด็จออกให้เข้าเฝ้าฯ ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นที่ตั้งของวัดวาอารามและตลาดที่มีร้านรวงมากมาย สินค้าหลากหลายอีกทั้งข้าวของกระจุกกระจิกทั้งที่ผลิตในท้องถิ่นและเดินทางมาจากดินแดนห่างไกลมีให้ชมอย่างเพลินตา จับจ่ายอย่างเพลินใจ

‘ดูบาร์’ ของเนปาลจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่กลายเป็นเสน่ห์ยวนใจ ยิ่งไปกว่านั้น ยังนับเป็นแหล่งรวม ‘ความหลากหลาย’ ด้านสถาปัตยกรรม แต่หากมองหาความไม่เหมือนใคร ให้ลองสังเกตอาคารทรง ‘เทคะ’ นั่นคือเรือนสูงหลังคาลาดซ้อนชั้นอันคุ้นตา แล้วลดระดับลงมาพิจารณา ‘เท้าแขน’ ที่จำหลักจากไม้ประดิดประดอยลวดลายสุดประณีต เป็นรูปบุคคลมีหลายใบหน้า หลายมือ สวมใส่เครื่องประดับอย่างอลังการ และดู ‘ดุร้าย’ อธิบายถึงอิทธิพลทางศิลปะและความเชื่อ ที่เนปาลได้รับมาจากอินเดีย สมัยปาละ ซึ่งทั้งศาสนาฮินดูและพุทธในห้วงเวลานั้นนิยมเทพสายดุ ใช้มนต์คาถาปราบภูตผีปีศาจอันสื่อถึง ‘ความชั่วร้าย’ อย่างไรก็ตาม เท้าแขนอาคารเช่นนี้ ไม่มีในชมพูทวีปแต่อย่างใด หากเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะเนปาลที่มีพัฒนาการขึ้นอย่างเป็นตัวของตัวเอง โดยทำหน้าที่ค้ำยันโครงสร้างหลังคากับตัวอาคารและมอบความงามเชิงสุนทรียะไปพร้อมๆ กัน

ภายใต้สถาปัตย์อันมีความเฉพาะตัว ไม่เพียงความงามแปลกตา ทว่าสะท้อนถึงภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ อาคารไม้หลังคาลาดชันอันเป็นที่นิยม บ่งบอกสภาพแวดล้อมอันอุดมด้วยป่าไม้ ฝน และหิมะ

Advertisement

บนถนนสายเล็กๆ ที่เชื่อมถนนสายหลัก เป็นที่ตั้งของศาสนสถานซึ่งกลายเป็น ‘โบราณสถาน’ ยังคงมีชีวิตด้วยวิถีอันจริงแท้ของผู้คนท้องถิ่นที่อยู่ร่วมกับพื้นที่อนุรักษ์ตั้งแต่โลกยังไม่จำกัดนิยาม นี่คือ ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ ไร้กำแพง ไม่มีประตูกางกั้น พิธีกรรมในเทศกาลสำคัญที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นก็ถูกจัดขึ้นในย่านนี้ หน้ากาก ไม้แกะสลัก ประณีตศิลป์ ผ้าผ่อนหลากสีสัน ภาชนะดินเผาแบบดั้งเดิมมีให้เลือกชมละลานตา พร้อมเรียนรู้ขั้นตอนการทำจากชาวบ้านตัวจริง ไร้การจัดฉาก

‘เทวาลัย’ ถูกสร้างขึ้นเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู รังสรรค์ด้วยทรง ‘ศิขระ’ ซึ่งรับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียเหนือ ‘พระราชวัง 55’ หน้าต่าง อาคาร 3 ชั้น ถูกเนรมิตขึ้นด้วยอิฐ เมื่อได้พบเห็นก็ไม่อาจละสายตาจากความงามในทุกรายละเอียดของหน้าต่างไม้ที่สลักเสลาอย่างสุดฝีมือจนกลายเป็นผลงานชิ้นเอก ‘ประตูทองคำ’ สุดยอดงานศิลป์ถูกต่อคิวยาวอย่างไม่ว่างเว้นโดยนักท่องเที่ยวที่หวังชมความตระการตาของพระราชวัง

เหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความงามและความหมายที่ไม่อาจบรรยายได้หมดสิ้นด้วยตัวอักษร หากแต่ต้องเดินทางไป ‘สบตา’ สักครั้ง

ไม่ว่าภักตปุระมีเวทมนตร์หรือพระประเสริฐจากเทพองค์ใด มนต์นั้นไม่เคยเสื่อมคลาย ยังคงสะกดผู้คนมากมายจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยือน


เนปาล เที่ยวได้ทั้งปี VISIT NEPAL 2020

แคมเปญที่เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ ในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาภายใต้การผลักดันของรัฐบาลเนปาลด้วยความคาดหวังปลุกกระแสการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนหลังซบเซาลงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน พ.ศ.2558

147,181 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นสัดส่วน 0.1 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่โลกซึ่งประเทศเนปาลครอบครอง ล้วนเปี่ยมคุณค่าทั้งด้วยอารยธรรมอันรุ่มรวยของมนุษยชาติ มรดกโลกทั้งด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติอันหลากหลาย

4 ฤดูกาลที่มีเสน่ห์แตกต่าง โดยสามารถเลือกเดินทางได้ตามความเหมาะสมของแหล่งท่องเที่ยว ‘หนาว’ ระหว่างธันวาคม-กุมภาพันธ์ ‘ใบไม้ผลิ’ มีนาคม-พฤษภาคม ‘ร้อน’ มิถุนายน-สิงหาคม ‘ใบไม้ร่วง’ กันยายน-พฤศจิกายน

125 กลุ่มชน 123 ภาษาพูด ไร้ปัญหาการสื่อสารด้วย ‘รอยยิ้ม’ ยังไม่นับภาษาอังกฤษที่คนท้องถิ่นจำนวนมากใช้งานได้ดี

คนไทยไปเนปาล ขอวีซ่านักท่องเที่ยวได้ที่สถานทูตเนปาลโดยมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก

สายการบินเนปาล แอร์ไลน์ ให้บริการบินตรงสัปดาห์ละ 3 วัน จากไทยแลนด์ สู่ กาฐมาณฑุ จากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ สู่ท่าอากาศยานนานาชาติตริภูวัน ใช้เวลาเฉลี่ยราว 4 ชั่วโมง

ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ที่ www.welcomenepal.com


ข้อมูลอ้างอิงด้านวิชาการ

-ผศ.ดร.เกริก กิตติคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิทัศน์เมือง เรื่อง การพัฒนาเมืองตามอัตลักษณ์และภูมิวัฒนธรรมของเมือง โดย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-แผ่นดินไหวและสถาปัตยกรรมเนปาลที่สูญเสีย โดย รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2558

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image