ยกระดับชีวิต ‘นครน่าน’ เดินหน้าแนวคิด ‘สี่เหลี่ยมนวัตกรรม’

แอ๊กทีฟมากมายต้องกดไลค์อย่างรัวๆ สำหรับ “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” หรือ NIA ซึ่งล่าสุด เร่งเดินหน้า โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Innovation Village เพื่อตอบโจทย์แนวคิดนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น โดยเผยการดำเนินงานในปี 2562 ที่ผ่านมา ว่าได้ส่งต่อนวัตกรรมไปยังชุมชนในกลุ่มจังหวัดยากจนทั้งสิ้น 6 พื้นที่เป้าหมาย จำนวน 23 นวัตกรรม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนใน 6 ชุมชนได้กว่า 8,200 หลังคาเรือน เป็นเงินทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาโครงการกว่า 19 ล้านบาท เกิดมูลค่าโครงการมากกว่า 40 ล้านบาท

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของ NIA ที่มีความตั้งใจในการยกระดับชุมชนของกลุ่มจังหวัดยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการสรรค์สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมนำโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพเข้าไปแก้ไขปัญหาหรือตอบโจทย์บริบทแต่ละพื้นที่ โดยในการดำเนินโครงการดังกล่าวยังมีความมุ่งหวังที่จะยกระดับสินค้าและบริการให้มีศักยภาพที่เพียงพอต่อการนำออกไปสู่ช่องทางตลาด การลดความเหลื่อมล้ำทั้งทางด้านการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภค รวมทั้งการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมให้พร้อมต่อการสร้างงาน สร้างรายได้

ในปี 2562 ที่ผ่านมา NIA ได้ร่วมพัฒนาและส่งต่อนวัตกรรมไปยังชุมชนในกลุ่มจังหวัดยากจนทั้งสิ้น 6 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ 1.ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน 2.ชุมชนอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 3.ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท 4.ชุมชนจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี 5.ชุมชนเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และ 6.ชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้พัฒนาและส่งต่อนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริบทและปัญหาของพื้นที่ทั้งสิ้น 23 นวัตกรรม ใน 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ด้านสุขภาพ ด้านความเชื่อมโยงระหว่างอาหาร น้ำ และพลังงาน และด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยในการส่งเสริมนวัตกรรมทั้งหมดนี้ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนใน 6 ชุมชนได้กว่า 8,200 หลังคาเรือน คิดเป็นเงินทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาโครงการกว่า 19 ล้านบาท เกิดมูลค่าโครงการมากกว่า 40 ล้านบาท และปัญหาที่ได้รับการบรรเทามากที่สุดก็คือด้านอาหาร น้ำ และพลังงานทดแทน

Advertisement

ดร.พันธุ์อาจกล่าวเพิ่มเติมว่า ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมนวัตกรรมจาก NIA เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาบริบททางพื้นที่มากที่สุด โดยโจทย์ปัญหาจากพื้นที่ที่ NIA ได้รับมีทั้งการยกระดับเกษตรอัจฉริยะ การบริหารจัดการน้ำ นวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร นวัตกรรมการบริหารจัดการขยะชุมชน และการทำเกษตรอินทรีย์ โดยหลังจากที่ NIA ได้รับโจทย์ข้างต้นจึงได้ทำการจับคู่นวัตกรรม (Matching) ด้วยการให้ชุมชนได้มีโอกาสเลือกโซลูชั่นที่สามารถแก้ไขปัญหาที่คนในพื้นที่กำลังเผชิญ จากนักวิจัย สตาร์ตอัพ และผู้พัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมที่ส่งผลงานเข้ามานำเสนอกับทาง NIA ซึ่งปัจจุบันมี 6 นวัตกรรมที่ได้นำไปใช้จริงแล้วในชุมชน ได้แก่ โครงการ Organic Circle นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจร ระบบสูบน้ำแบบขั้นบันไดพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบโดมร่วมกับการแผ่รังสีอินฟราเรดระยะไกลจากแผ่นเซรามิกเพื่อช่วยในการแปรรูปผลไม้ โครงการนวัตกรรมการบริหารจัดการขยะชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการ YAKSA เครื่องอัดขยะในครัวเรือน เพื่อลดพื้นที่การจัดเก็บขยะ และโครงการ Neo Solar ระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และควบคุมด้วยระบบ IoT

“ในอนาคตเทรนด์การสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยเฉพาะนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากจะต้องเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่ยังอยู่ในรูปแบบของ ‘สามเหลี่ยมนวัตกรรม’ คือมีเพียงนักวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการ ที่เป็นผู้พัฒนาในลักษณะผูกขาด มาเป็น ‘สี่เหลี่ยมนวัตกรรม’ ซึ่งจะต้องควบรวมภาครัฐ นักวิจัย ผู้ประกอบการ และคนในชุมชนร่วมกันกำหนดแนวทาง เพื่อให้เกิดมิติและประสิทธิภาพการทำนวัตกรรมที่ดีมากขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินรอยตามแนวคิดสี่เหลี่ยมนวัตกรรมจะต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญแต่ละด้านของแต่ละองค์กรที่เป็นพันธมิตร เพื่อลดความเสี่ยงของโครงการที่มาร่วมมือกันเป็นเครือข่ายหุ้นส่วน นอกจากนี้จะต้องมีการดำเนินงานโครงการอย่างเปิดเผย มีเป้าหมายร่วมกันในการทำธุรกิจใหม่ และสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงให้มากที่สุดนอกเหนือจากมูลค่าหรือผลกำไรของธุรกิจคือ นวัตกรรมเหล่านี้ต้องเกิดคุณค่าทางสังคม มีผู้ได้รับประโยชน์จำนวนมากทั้งจากภายในและภายนอก สามารถต่อยอดและนำไปพัฒนาได้ในระดับเดียวกัน หรือสูงกว่า รวมทั้งต้องพัฒนาให้ครอบคลุมทุกๆ ด้าน”

Advertisement

ดร.พันธุ์อาจกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อตอบโจทย์แนวคิดนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ในปี 2563 NIA โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม ยังเตรียมเปิดรับผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่พร้อมขยายผลสู่พื้นที่เป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนแคนดง อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ ในหัวข้อ เกษตรปลอดภัยแปลงใหญ่แบบผสมผสาน การบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตร เกษตรอัจฉริยะ ชุมชนท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ในหัวข้อ นวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรม การบริหารจัดการน้ำ, ชุมชนหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ในหัวข้อ นวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรม การบริหารจัดการน้ำ

โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ดูรายละเอียดและลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ https://social.nia.or.th/service/support/ หรือโทร 0-2017-5555 ต่อ 550

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image