เจาะโลเกชั่น ‘สุวรรณภูมิ’ ศาสนา ผู้คน บนเส้นทางการค้าโลก ‘ที่นี่ไม่ใช่บ้านป่า เมืองเถื่อน’

ไม่เพียงสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพแบบ ‘ไม่ลอกใคร’ ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการใหม่ๆ แจ้งเกิดในวงการมานับไม่ถ้วน นิตยสารระดับอภิมหาตำนานอย่าง ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ยังขยันจัดกิจกรรมแบ่งปันความรู้อย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ผ่านงาน ‘ศิลปวัฒนธรรมเสวนา’ โดยเชิญวิทยากรโปรไฟล์ไม่ธรรมดามาขึ้นเวทีบอกกล่าวเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์หลากหลายแง่มุม

ล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ห้องโถง ‘มติชนอคาเดมี’ คึกคักด้วยผู้สนใจในประเด็น ‘พุทธศาสนากับเส้นทางการค้าในสุวรรณภูมิ’ ซึ่งได้รับเกียรติจากเจ้าของรางวัลฟุกุโอกะ นักมานุษยวิทยาเลื่องชื่อ อย่าง ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ร่วมด้วย นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้ครอบครองลูกปัดล้ำค่ามากมาย รวมถึง ดร.วรรณพร เรียนแจ้ง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกรมติชนทีวีที่งานนี้ไมาได้ลงพื้นที่ ‘ทอดน่อง’ ไปกับ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ แต่มายิงคำถามประวัติศาสตร์บนเวทีถกปมสุวรรณภูมิอันมากมายด้วยข้อมูลน่าสนใจยิ่ง

รุ่งเรืองด้วยการค้า ไม่ใช่ ‘พวกป่าเถื่อน’

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร ผู้ศึกษาค้นลึกเรื่องสุวรรณภูมิมาอย่างยาวนาน อธิบายภาพกว้างอย่างชวนจินตนาการว่า ดินแดนเอเชียอาคเนย์เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ยุคโบราณ มีการติดต่อกับวัฒนธรรมภายนอก โดย ‘เลือกรับ’ วัฒนธรรมที่เหมาะสมกับตัวเองมาปรับใช้ ผสมผสานความเชื่อดั้งเดิม ที่สำคัญ ดินแถบแถบนี้ในยุคโบราณ

ไม่ใช่พวกป่าเถื่อน แต่มีการสร้างบ้านแปงเมืองกันแล้ว

Advertisement

ดินแดนเอเชียอาคเนย์หรือสุวรรณภูมิได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียที่สำคัญ คือ “พระพุทธศาสนา” ซึ่งถูกนำเข้ามาผ่านเส้นทางการค้า สินค้าที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่นำมาค้าขายกันนอกจากจะเป็นพวกอัญมณี เครื่องประดับแล้วยังมีการค้า “พระธาตุ” ซึ่งเป็นสินค้าทางความเชื่อเหมือนกับการเช่าบูชาพระเครื่อง


“ย้อนกลับไป เคยมีการพูดถึงความเจริญของสุวรรณภูมิว่าอยู่ในภาพที่อินเดียมาครอบ สมัยนั้นคิดว่าสุวรรณภูมิติดต่อกับอินเดีย จากนั้นอินเดียก็มาตั้งรกรากที่นี่ นี่คือความคิดของ ยอร์ช เซเดส์ บรมครูของโบราณคดีไทย ซึ่งผมไม่เชื่อ แต่มีนักวิชาการชาวดัชต์ บอกว่า เหตุที่ดินแดนเอเชียเจอกันเพราะมีการค้าขาย พวกพ่อค้าต่างประเทศเข้ามาค้าขายกับเมืองที่มีเจ้าบ้านผ่านเมืองแล้ว ไม่ใช่จู่ๆ อินเดียมาครอบยึดครองไว้ ซึ่งเรื่องนี้หลักฐานก่อนประวัติศาสตร์ก็ยืนยันให้เห็น ว่าแถบนี้เป็นบ้านเป็นเมืองมาโดยตลอดแล้ว ไม่ใช่เมืองป่าเถื่อน ส่วนอินเดียเข้ามาเจรจา ตรงนี้คือความสัมพันธ์ ไม่ใช่มาครอบ หรือมาตั้งรกราก

Advertisement

เวลาเรารับอารยธรรมเราไม่เอามาทั้งหมด แต่เลือกเฟ้นให้เหมาะ ตอนหลังมีงานของนักวิชาการพูดถึงความเจริญของประเทศไทยว่า ไม่ได้มาจากอินเดียอย่างเดียว แต่มาจากเส้นทางการค้า” ศาสตราจารย์ศรีศักรระบุ

เปิดหลักฐาน ‘สะพานเชื่อมโลก’ ชุมทางอารยธรรมนับพันปี

ถึงคิว นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่พบในประเทศไทย โดยเฉพาะลูกปัด พร้อมระบุว่าเก็บไว้เพื่อการศึกษาเป็นเวลาหลายปี มีบทสรุปว่า

ดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ในการรับรู้กันโดยทั่วไปในโลกยุคโบราณ เริ่มจากยุคกรีก ปโตเลมี ชาวกรีก ผู้อาศัยอยู่ที่เมืองท่าอเล็กซานเดรียของอียิปต์ นั่งฟังนักเดินเรือเล่าเรื่องการค้าขาย มีการเดินทางไปที่ไหนบ้าง มีจุดสำคัญที่ไหนบ้าง เขาทำการจดชื่อเมืองพร้อมตำแหน่งที่ตั้ง มีพิกัดบอก

ต่อมามีการนำไปเขียนตำราภูมิศาสตร์ เมื่อประมาณพุทธศตรวรรษที่ 7 หลังจากนั้นตำราเล่มนี้ถูกนำไปใช้อ้างอิงทั่วทั้งโลก ประมาณพันปีต่อมามีชาวฟลอเรนซ์จากอิตาลี เอาข้อมูลในตำรานี้มาทำเป็นแผนที่ชื่อแผนที่ปโตเลมี ในแผนที่บอกถึงดินแดนที่อยู่ถัดจากอินเดียไปเรียกว่าสุวรรณภูมิ นอกจากชาวตะวันตกจะรับรู้การมีอยู่ของดินแดนสุวรรณภูมิแล้ว ชาวจีนก็รู้จักดินแดนนี้และเรียกว่า จินหลิน

“การศึกษาจากต่างประเทศให้ข้อมูลว่าสุวรรณภูมิมีอยู่เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว เชื่อว่าค่อยๆ ก่อตัวเป็นรัฐมีการค้าที่มาพร้อมกับศาสนาพุทธเป็นหลัก นักวิชาการอินเดียอธิบายว่าพ่อค้าของอินเดียคือชาวพุทธเพราะฮินดูกับเชนจะไม่เดินทางออกนอกประเทศเพราะข้อห้ามทางศาสนา

วงแหวนศิลาแห่งราชวงศ์โมริยะ

โดยสรุปแล้ว สุวรรณภูมิมีอยู่จริง ตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย โดยใช้หลักฐานทางโบราณวัตถุอายุ ประมาณ พ.ศ.200-300 พบหลักฐานจำนวนมากที่คอคอดกระ พบโบราณวัตถุที่มาจากอินเดีย เมดิเตอร์เรเนียน กรีก โรมัน และจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น

ตัวอย่างโบราณวัตถุที่พบ เช่น หินวงแหวน ที่มีลวดลายเทพีเปลือยให้เห็นถึงถัน ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการให้ชีวิตและการกำเนิดแสดงความมั่งคั่งของอินเดีย ภายหลังจึงรู้ว่าเป็นวงแหวนศิลาแห่งราชวงศ์โมริยะ” นายแพทย์บัญชาเล่า ก่อนสรุปว่า สุวรรณภูมิเป็นสะพานเชื่อมโลก เต็มไปด้วยของดีมีค่า พัฒนาเป็นเมือง รัฐ อาณาจักร มีการแลกเปลี่ยนวิทยาการ เทคโนโลยีรวมทั้งเป็นแหล่งผลิต และถือเป็นชุมทางการค้าสำคัญของโลก

เปิดผอบ ‘พระธาตุ’ เปิดตำนาน ‘สุวรรณภูมิ

ปิดท้ายด้วยการลงลึกถึงรายละเอียดของหลักฐานทางพระพุทธศาสนา โดย ดร.วรรณพร เรียนแจ้ง ได้กล่าวถึงการพบผอบที่ใช้บรรจุพระธาตุมากมายโดยเฉพาะในอินเดียเหนือ รูปแบบของผอบที่พบในแต่ละแห่ง มีลักษณะคล้ายกันเพราะมีการลอกเลียนแบบกันมาจนแพร่กระจายมาถึงทางใต้ของอินเดีย

“การสร้างผอบเพื่อบรรจุพระธาตุขึ้นมาอาจเป็นการนำไปสู่การค้าพระธาตุในดินแดนแถบนี้

นอกจากนี้ การพบสถูปสาญจีในอินเดียที่สร้างขึ้นเมื่อ 200 ปีก่อนคริสตกาลทำให้เข้าใจได้ว่าวัฒนธรรมการบูชาพระธาตุมีมาอย่างจริงจังแล้วในสมัยนี้ โดยการบรรจุพระธาตุลงในผอบพร้อมกับลูกปัดซึ่งถือเป็นของมีค่าและบางพื้นที่อย่างเช่นญี่ปุ่น ถือว่าลูกปัดคือพระธาตุแล้วนำไปฝังไว้ในสถูป ตำแหน่งการฝังจะแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย

พัฒนาการของศาสนา การค้า และความเจริญรุ่งเรืองของอินเดีย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ แต่ดินแดนนี้ก็ไม่ใช่ดินแดนล้าหลังและเป็นเพียงตำนานเท่านั้น กลับเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองบนเส้นทางการค้าสำคัญของโลกที่เชื่อมอารยธรรมจากตะวันออกและตะวันตกมาตลอดหลายร้อยหลายพันปี” ดร.วรรณพรกล่าว

เป็นเสวนาเนื้อหาแน่น ที่ ‘ฟังง่าย’ สไตล์ ‘ศิลปวัฒนธรรม’ เน้นย้ำจุดมุ่งหมายกระจายความรู้สู่สังคมแบบไม่แทงกั๊ก หากแต่ยังชักชวนผู้คนร่วมขบคิด คอมเมนต์ เห็นด้วย คัดค้าน อย่างอิสระและสร้างสรรค์ ดังเช่นที่เคยเป็นเสมอมา ไม่แปรเปลี่ยน


 

กว่า 4 ทศวรรษ ‘ศิลปวัฒนธรรม’
เปิดหลักฐาน รื้อ-สร้างประวัติศาสตร์ ทำความจริงให้ปรากฏ

นับแต่นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ วางแผงสู่สายตาสาธารณชน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2522 จนถึงฉบับล่าสุด กุมภาพันธ์ 2563 เป็นเวลายาวนานถึง 4 ทศวรรษ

ก้าวสู่ปีที่ 41 อย่างภาคภูมิ

จากยุค สุจิตต์ วงษ์เทศ จนถึง สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการคนปัจจุบัน

จากยุคกระดาษ จนถึงออนไลน์ ที่มีอีกช่องทางในการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.silpa-mag.com

จากยุคจดหมายถาม-ตอบ ระหว่างกองบรรณาธิการและคุณผู้อ่าน สู่ยุค ‘คอมเมนต์’ ในโลกโซเชียล ผ่านเฟซบุ๊ก silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีการถ่ายทอดสดงาน ‘ศิลปวัฒนธรรมเสวนา’ ทุกเดือน

แม้มีพัฒนาการ ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย นำเสนอบนแพลตฟอร์มหลากหลาย แต่สิ่งที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนคือการยืนหยัดเดินหน้าทำความจริงในประวัติศาสตร์ให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ต่อปัจจุบันและอนาคต ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ในเส้นแบ่งของกาลเวลา

ฟันฝ่าการตั้งคำถามจากความคุ้นชินในตำราเล่มเก่า จากความเชื่อเดิมที่ฝังแน่นในความทรงจำ กระทั่งจาก ‘อคติ’ ด้วยเหตุผลอื่นใดที่ยากแท้หยั่งถึง

ศิลปวัฒนธรรมในวันนี้ ไม่เพียงเป็นนิตยสารที่ได้รับการยอมรับ หากแต่ยังเป็นคลังความรู้ของสังคมไทยซึ่งได้รับความเชื่อถือตลอดมา

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image