แสงชัย โสตถีวรกุล ‘ที่ซึ่งมีพระอาทิตย์ส่องถึงต้องมีคนแต้จิ๋ว’

สถาปัตยกรรมสง่างามเป็นเอกลักษณ์ด้วยศิลปกรรมในกลิ่นอายวัฒนธรรมจีน ตั้งตระหง่านในย่านตรอกจันทน์ ผู้คนมากมาย แวะเวียนเข้าออกอย่างคึกคัก ไม่ว่างเว้น แน่นอน ไม่อาจเป็นสถานที่อื่นใดไปได้ นอกจาก “สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย” ซึ่งก่อตั้งขึ้นอย่างยาวนานมาถึง 82 ปีในวันนี้ มีบทบาทในการดูแลชาวแต้จิ๋วที่พำนักพักพิง ตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยตลอดมา ตั้งแต่เกิด จนวาระสุดท้ายของชีวิต

แสงชัย โสตถีวรกุล คือชื่อของนายกสมาคมคนปัจจุบัน อันเป็นลำดับที่ 15 ในประวัติศาสตร์กว่า 8 ทศวรรษของสมาคมแห่งนี้

เป็นที่รู้จักในนามของนักธุกิจชื่อดัง เจ้าของอาณาจักรอุตสาหกรรมกล่องกระดาษ บรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกรายใหญ่

เติบโตในครอบครัวคนจีนแต้จิ๋วที่เดินทางมาจาก “ซัวเถา” ราวกับเรื่องราวในตำนานที่เล่าขานถึงการต่อสู้จากเสื่อผืนหมอนใบ

Advertisement

ทว่า ชีวิตของบุคคลผู้นี้แตกต่างออกไป

เข้มข้น เปี่ยมสีสัน และมีจุดพลิกผันที่น่าสนใจยิ่ง

ไต่กวง แซ่อึ๊ง คือชื่อในวัยเด็ก ที่หมายถึง แสงสว่าง

Advertisement

ครั้นต้องเปลี่ยนให้เป็น “ไทย” จึงได้ชื่อ “แสงชัย” บรรจุในบัตรประชาชน

เป็นลูกคนสุดท้องของพี่น้อง 5 คน เรียนชั้นประถมในโรงเรียนคริสต์ ก่อนย้ายไปศึกษาที่ “ปีนัง” กระทั่งบินข้ามขอบฟ้าไปยังสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพ

คว้าคำนำหน้าว่า “ดอกเตอร์” ด้านจิตวิทยาแทนที่จะเป็นสาขาทางธุรกิจดังที่ผู้เป็นบิดาคาดหวัง จึงต้องหันเหไปเป็นอาจารย์ ก่อนสำเภาแห่งชีวิตหันหัวกลับมายังกิจการของครอบครัวอีกครั้ง

แสงชัย ในวัยหนุ่มไฟแรง เข้าไป “ปฏิวัติ” ครั้งใหญ่ เกิดเรื่องราวมากมายที่น่าศึกษาเรียนรู้

ในวัย 78 ปี นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย บอกว่า สุขภาพดีอยู่ที่จิตใจ

ยังเดินทางมาทำงานที่สมาคมเกือบทุกวัน มุ่งหน้าพัฒนาสมาคมในทุกด้าน

“ที่ที่ดวงดาวและพระอาทิตย์ส่องถึง ต้องมีคนจีน มีคนแต้จิ๋ว

คนจีน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ขาดตะเกียบก็วิ่งไปหาให้ ไม่มีตะเกียบก็หาช้อนไปก่อน”

คือถ้อยความจากปากนายกสมาคม ที่เล่าเรื่องราวของชาวแต้จิ๋วได้อย่างลึกซึ้งอย่างยิ่ง

ความเป็นมาและบทบาทหน้าที่หลักๆ ของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทยมีอะไรบ้าง?

สมาคมแต้จิ๋ว ถ้านับตั้งแต่จดทะเบียน คือ 82 ปี แต่จริงๆ มีมาแล้ว 100 ปีขึ้นไป เนื่องจากก่อนหน้านั้นเราไมได้จดทะเบียน เพราะช่วงนี้คนแต้จิ๋วยังใช้ใบต่างด้าว ไม่สามารถซื้อที่ดินได้ พิสูจน์ได้จากสุสาน ศาลเจ้า โรงเรียนที่บรรพบุรุษสร้างเอาไว้ ตั้งแต่โรงเรียนอนุบาล อย่างโรงเรียนเผยอิง ที่ถนนทรงวาด กำลังจะฉลองครบ 100 ปี โรงเรียนโกศลวิทยา ซึ่งเก่าแก่พอสมควรคือ 70 กว่าปี และโรงเรียนนิพัทธ์วิทยา อายุ 60 กว่าปี

ที่ตั้งสมาคมที่นั่งอยู่ตรงนี้ ก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้ามาอยู่ เพราะเป็นสุสาน เขาเลยหนีบ้าง ขายบ้าง ให้เราบ้าง ตอนนี้มี 100 กว่าไร่ ช่วงนี้กลายเป็นใจกลางเมือง คนไม่กลัวแล้ว ที่ว่าง ก็สร้างเป็นที่ท่องเที่ยวไปเลย เรามาอยู่ที่นี่ 58 ปีแล้ว เป็นที่ทำการแห่งที่ 3 ก่อนหน้านี้ย้ายมา 2 ครั้ง ตึกนี้คนจีนในประเทศจีนออกแบบมาให้เราอย่างแน่นหนามาก

80 กว่าปีนี้ มีนายก 15 คน แต่ละท่าน มีบทบาทคือรักษาทรัพย์สมบัติ ดูแลโรงเรียน สุสาน สร้างศาลเจ้า เพราะคนจีนต้องไหว้เจ้าเพื่อความสบายใจ บรรพบุรุษของเราคิดการณ์ไกลจริงๆ มีโรงเรียนให้ลูกหลาน มีศาลให้ไหว้เจ้า มีสุสานให้ฝังศพ มีให้ทุนการศึกษาด้วย ต้องดูแลคนจีนแต้จิ๋วที่มาอยู่ในเมืองไทย ต้องการอะไร มาคุยกัน

แนวทางพัฒนาการดำเนินงานของสมาคมแต้จิ๋วในอนาคต?

ต้องบอกก่อนว่า ไม่มีองค์กรไหน รวยกว่าแต้จิ๋ว เพราะที่ดินเยอะ เนื่องจาก 100 ปีที่แล้ว มีการซื้อสุสาน ซื้อที่ไว้สร้างโรงเรียน ศาลเจ้า ที่ดินยังมีเยอะแยะที่ยังไม่ได้พัฒนา แต่เนื่องจากสมาคมเป็นมูลนิธิ จึงขายไม่ได้ แต่ถ้าใครจะมาเช่า ยินดีให้เช่า แล้วร่วมกันพัฒนา เราจะยินดีอย่างยิ่ง ตอนที่ผมมาเป็นนายก มีนโยบายเพิ่มหลายอย่าง และยังมีหลายโครงการที่กำลังจะสร้าง

จากวิกฤตโคโรนา มองผลกระทบเชิงเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง?

10-20 ปีที่แล้ว จีนไม่ได้มีอำนาจด้านเศรษฐกิจเหมือนวันนี้ คิดว่าจีนรู้ และจะไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนมากกว่านี้ วิกฤตนี้เริ่มจากเขา เขาก็จะต้องรีบระงับ พร้อมทั้งช่วยเหลือประเทศที่ด้อยโอกาส คนจีนมาไทยวันละ 3 หมื่นคน ตอนนี้เหลือไม่ถึงพัน ลองคิดดูว่าจะกระทบไหม ทุกอย่างกระทบหมด โรงแรม อาหารการกิน ของที่ระลึก เสื้อผ้า ทุกอย่างกระทบหมด แต่ว่าจะช้าหรือเร็ว หนักหรือเบา ยาวหรือสั้น เท่านั้นเอง อยู่ที่ว่าจีนจะระงับวิกฤตตรงนี้ได้รวดเร็วมากน้อยแค่ไหน

เราอาศัยทำมาหากินในไทย มีจนทุกวันนี้ แต่ก็ไม่ลืมรากเหง้าของที่เมืองจีน แม้ห่างไกล แต่เราไม่ห่างใจ มีอะไรก็ช่วยเต็มที่ ส่งกำลังใจให้ว่าต้องสู้ คนที่อยู่ข้างหลังพร้อมหนุนเต็มที่ไม่ต้องเป็นห่วง จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ แต่ย้อนไปในปีชวดเมื่อ 60 ปีก่อน ยุคเหมา เจ๋อตุง คนจีนต้มรองเท้าหนังเข็มขัดหนังมากิน คนอดตายไม่รู้เท่าไหร่ ปีชวดเมื่อ 120 ปีก่อน ยุคซูสีไทเอา คนตายไปตั้งเท่าไหร่ ปีนี้ครบรอบอีก 60 ปี ก็เลยตกใจว่า จะแย่เหมือนในประวัติศาสตร์หรือเปล่า แต่เชื่อว่าคราวนี้ จีนระงับอยู่

ชาวจีนมีหลากหลายกลุ่มมาก ถ้าพูดถึงจีนแต้จิ๋ว อะไรคือเอกลักษณ์?

การตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน ไม่มีชาติไหนเหมือนคนจีน คนจีนที่อยู่ในเมืองไทย มี 20 ล้านคน เป็นจีนแต้จิ๋ว 12 ล้านคน เหลือ 8 ล้านคน ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 ภาษา คือ กวางตุ้ง แคะ ไหหนำ ฯลฯ ไปแบ่งๆ กัน ถามว่าแต้จิ๋วมีอะไรวิเศษ คือความสามัคคี คนแต้จิ๋วนี่ชั้นหนึ่งเลย “กากี่” ทั้งนั้น กันเองหมด ไม่เคยรังเกียจ มีความขยันหมั่นเพียร คนจีนที่ไหนๆ ในโลก รวยที่สุด คือคนแต้จิ๋ว ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา ยิ่งในไทย คนรวยๆ นี่แต้จิ๋วทั้งนั้น ซีพี คุณเจริญ คิงเพาเวอร์ หวั่งหลี ห้างเซ็นทรัล แต้จิ๋วทั้งนั้น พูดแค่นี้ก็รู้นะว่าแต่ละท่านรวยแค่ไหน (หัวเราะ)

จุดสำคัญคือ คนแต้จิ๋ว มีความอดทน มีความพยายาม และที่น่ากลัวที่สุดคือความสามัคคี ผูกมัดแน่นฉันพี่น้อง ไทยจีนก็ไม่ใช่อื่นไกล คนจีนในเมืองจีนอพยพมาเมืองไทยมากที่สุดในโลก

ความภูมิใจในความเป็นคนแต้จิ๋ว?

คนจีนแต้จิ๋วรักษาศักดิ์ศรีของตัวเอง จะทำอะไรก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ถ้าทำน้ำชาแล้วกำไรน้อยกว่าอย่างอื่น ทิ้งทันที มุ่งไปทำอย่างอื่น แล้วถ้าทำอย่างอื่นยังมีอะไรที่กำไรมากกว่า แม้จะลำบาก ก็จะไปทำสิ่งนั้น ต่างจากคนจีนกลุ่มอื่น หากเป็นสิ่งที่บรรพรุษสร้างมา ก็จะยังพยายามรักษาไว้ แต่คนแต้จิ๋วไม่ใช่อย่างนั้น มีการปรับตัวตลอด ไม่เอาแล้วคือไม่เอาเลย ไปบุกเบิกสิ่งที่ดีกว่า นี่คือคนแต้จิ๋ว

เมื่อครั้งที่ได้รับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนครบรอบ 80 ปี สมาคมแต้จิ๋ว พร้อมทั้งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วย สิ่งที่ประทับใจที่สุด คือพระองค์ตรัสว่า ไม่ต้องพูดราชาศัพท์ ไม่ถือพระองค์ ทรงแย้มพระสรวลตลอด ทรงให้พรทุกอย่าง เป็นสิ่งที่รู้สึกอิ่มบุญที่สุดแล้วในชีวิตนี้ ไม่รู้ว่าจะหาอะไรมาเปรียบเทียบได้

กล่าวกันว่า คนจีนมีดีเอ็นเอ ด้านการค้าอยู่ในพันธุกรรม มองเศรษฐกิจไทยอย่างไร ที่ว่าปีนี้เผาจริง?

ที่บอก แย่ๆ มันยังไม่ได้มาถึง ที่ว่าแย่ที่สุด คนจีนที่อยู่ในเมืองไทย เราก็ไม่เคยเจอ แต่คนจีนมีสุภาษิตเตือนลูกหลานว่า อะไรที่ร้อนๆ มืออย่าไปแตะ อะไรที่เราไม่ชำนาญ อย่าไปทำ อะไรที่เราไม่ควรคิด อย่าไปคิด อะไรที่ไม่ควรพูด มีกี่อย่าง ก็อย่าไปพูด เพราะจะเข้าตัว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำให้คนจีนไม่กังวลเท่าไหร่นัก เพราะว่ายึดมั่นในอาชีพตัวเอง มีฝีมือการทำก๋วยเตี๋ยวก็ทำก๋วยเตี๋ยว ไม่ทำบะหมี่ ไม่ไปแตะสิ่งที่ไม่ชำนาญ ในการแข่งขัน คิดว่าตัวเองมีความสามารถอะไร ก็ทำในบทบาทของตัวเอง

มาถึงชีวิตส่วนตัวบ้าง วัยเด็กเป็นอย่างไร คนจีนยุคนั้นชีวิตเข้มข้นเหมือนในละครจริงไหม?

ต้องย้อนเล่าไปถึงยุคอาก๋ง ท่านมาแต่งงานที่เมืองไทย มีลูกคือคุณพ่อผม แต่พ่อไปเรียนที่เมืองจีน แต่งงานกับหม่าม้าที่นั่น พอทำมาหากินลำบาก อาก๋งเลยบอกให้มาเมืองไทยดีกว่า เลยพากันมาเมืองไทย ส่วนอาก๋งกลับไปเมืองจีน (หัวเราะ) ผมเลยเป็นรุ่นที่ 3 ผมเกิดที่พระโขนง ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พากันหลบไปที่ฉะเชิงเทรา โตขึ้นหน่อยก็กลับมากรุงเทพฯ

พ่อผมเป็น “คนบุ๋น” อยากให้ลูกทุกคนเรียนสูงๆ ช่วงที่เรียนหนังสือ ยังไม่มีโอกาสเรียนภาษาจีนเพราะเดี๋ยวถูกจับ หาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ที่บ้านพูดจีนกันอยู่แล้ว โชคดีที่เรียนโรงเรียนคริสต์ธรรมวิทยา ใกล้หัวลำโพง พอตำรวจมาตรวจ ก็บอกว่าเราขึ้นไปโบสถ์ อ่านพระคัมภีร์ เลยรอดไป เวลาจะอ่านหนังสือจีน ต้องฉีกออกมาเป็นบทๆ ปะไว้ในสมุด แล้วเอาสมุดขึ้นไปโบสถ์ อ่านทีละบท จะพกหนังสือจีนเป็นเล่มๆ ไว้อ่านไม่ได้ “ชีช้ำ” อย่างนี้

พอโตขึ้น ไปเรียนต่อที่ปีนัง ถึง ม.6 เรียนเป็นภาษาจีนเลย แล้วไปต่อที่อเมริกาจนจบดอกเตอร์ คุณพ่อสั่งว่า ฉันไม่มีเงินจะให้นะ แต่จะเรียนสูงเท่าไหร่ก็ได้ อีกหน่อยทรัพย์สมบัติอยู่ในสมอง ต่อให้ถูกขโมยตัดหัวไป ก็เอาทรัพย์สมบัติในสมองไปไม่ได้

ตอนทำวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอก ด้านจิตวิทยา แก้แล้วแก้อีก หัวข้อเกี่ยวกับจิตวิทยาในการบริหาร คุณพ่อโมโห ว่าไปเรียนทำไมด้านนี้ ไม่ต้องมาทำงานเลย ไปเป็นอาจารย์ไป เราก็สบายสิ เขาหวังให้เรียนธุรกิจ เราก็ท้าทายนะ (หัวเราะ) ลองเรียนดู จะได้รู้ว่าจะบริหารคนอย่างไร คนนี้ชอบอะไร ประสานงานติดต่อกับเขาอย่างไร สนุกจะตาย ไม่ใช่หมอดูนะ แต่คุณคุยกับผมอย่างนี้ ไม่ถึง 20 นาที ก็รู้ว่าเป็นคนอย่างไร เพราะผมใช้จิตวิทยา แต่พ่อไม่ให้ไปดูกิจการ เพราะนึกว่าเรียนมาเป็นหมอดู

แสดงว่าครอบครัวมีฐานะพอสมควร ตอนนั้นทำกิจการอะไรบ้าง?

เยอะเลย ทั้ง 7 อย่าง ทำพลาสติก นิกเกิล เซรามิก ปิ่นโต ถ้วยแก้ว กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน พ่อไม่ให้ไปดูเลย บอกจะไปไหนก็ไป (หัวเราะ)

เล่าตอนนี้อาจดูขำ แต่ตอนนั้นเครียดไหม?

เครียดจะตายยยยยย (หัวเราะ) เราเรียนบริหารมา ทำไมต้องไล่ หาว่าเราเป็นหมอดู เลยไปเป็นอาจารย์ บรรยายพิเศษที่ ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ ชั่วโมงนึง 2,000 บาท เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ดีจะตาย ทุกวันนี้ยังไปบรรยายที่ ม.ขอนแก่นทุกปี ให้นักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบปริญญาตรีฟังเรื่องการเข้าสังคม เล่ามา 20 กว่าปีแล้ว จะเปลี่ยนหัวข้อ อธิการบดี ไม่ให้เปลี่ยน เพราะเป็นเรื่องของชีวิต

แล้วสุดท้ายย้อนสู่วงการธุรกิจได้อย่างไร?

พี่ชายกลับไปเรียนหนังสือที่เมืองจีน แต่งงานแล้วไม่กลับมาเลย พี่น้องมี 5 คนผู้ชายหมดเลย ผมเป็นคนที่ 5 คนที่ 3 เรียนเภสัช ไปเปิดโรงงานยา คนที่ 4 วิศวกร เปิดโมล อัดพลาสติก สุดท้าย พ่อมาขอร้องผม (หัวเราะ) 7 โรงงาน บริหารเองเลย แต่อาเจ็กบอกพ่อว่า ผมคงเป็นได้แค่อาจารย์ไปสอนหนังสือเท่านั้น ทำงานเป็นที่ไหน แม่ประเสริฐสุด ใหญ่หลวงที่สุด บอกพ่อว่า ลูกเรียนจบถึงดอกเตอร์ จะโง่อย่างไร ก็ยังดีกว่าคุณ จบแค่มัธยม แต่พอมาคุยกับผม บอกป่าป๊าสร้างกิจการมาอย่างเหน็ดเหนื่อยจะตาย ต้องมาหัดเรียนรู้ พอเข้าไปบริหารปุ๊บ ผมยุบฝ่ายจัดซื้อ 7 โรงงานเหลือคนเดียวมาดูแล ฝ่ายบุคคลก็เหมือนกัน สัมภาษณ์เสร็จ จะรู้ว่าคนนี้เหมะกับแผนกไหน ไม่ใช่ว่าทุกแผนกมีฝ่ายบุคคล

3 เดือนผ่านไป บอกเลย ป่าป๊า ผมจะปิดทิ้ง 4 โรงงาน ทีนี้ละฟ้าผ่าเลย ปฏิวัติอย่างนี้ (หัวเราะ) ยอมที่ไหน สร้างมาเกือบตาย คนจีนก็อย่างนี้ บางโรงงานขาดทุนยังทำอีกเหรอ ผมไม่ทำ พ่อก็รู้ว่าบางอย่างกำไรน้อย แต่ไม่ยอม เพราะเขาสร้างมาเอง คุณพ่อห่วงลูกน้อง มีน้ำใจ โรงงานที่กำไรมากกว่า เจือจุนส่วนที่กำไรน้อยได้ ผมบอกว่า อีก 3 โรงงานที่ไม่ปิดทิ้ง จะขยาย แล้วเอาคนมาลงตรงนี้ ก็ยิ่งดีใหญ่ สุดท้ายสำเร็จทุกอย่าง ผมบอกคุณพ่อ ภายใน 1 ปี จะทำในสิ่งที่คนอื่นจะต้องอาศัยเรา ตอนนั้นอุตสาหกรรมของเราอาศัยคนอื่น อย่างกระติกน้ำแข็ง น้ำร้อน แค่ขาดใบคำอธิบายการใช้งานจากโรงพิมพ์ก็ขายไม่ได้ ปิดโรงงานกระติกเลย กว่าจะได้กระติก ต้องมีส่วนประกอบ 20 กว่าอย่าง พลาสติกเอย นอตเอย หูเอย โอ้โห ทำไปทำไม กำไรก็น้อย

ผมเลยบุกเบิกโรงงานกล่องกระดาษเมื่อ 42 ปีที่แล้ว ชิ้นสุดท้ายที่จะกลายเป็นเงิน ถ้าผมไม่มีกล่องใบนี้มาใส่ คุณจะเอาอะไรมาใส่ ถุง ไม่มูลค่า ต้องเป็นกล่อง ตอนนี้ทำแค่โรงงานกระดาษ โรงงานกล่อง และโรงพิมพ์ ทุกคนต้องอาศัยผม นี่คือความสำเร็จเล่าแบบย่อๆ 42 ปี พูดไม่ถึง 5 นาทีจบ

ผ่านอะไรมามากมาย ความสุขที่สุดของชีวิตในวันนี้คืออะไร?

เรามีพ่อแม่ที่ดี ยอมฟังสิ่งที่อยากทำ และเราก็ทำให้เขาเห็นถึงความสามารถ จากที่เขาแอนตี้ เราขยายกิจการ ประสบความสำเร็จอย่างที่เคยบอกเขาว่า จะทำอุตสาหกรรมอย่างที่คนอื่นต้องอาศัยเรา ไม่ทำอุตสาหกรรมที่ต้องไปอาศัยจมูกคนอื่นมาหายใจ ลูกๆ 5 คนของผม ผู้หญิง 3 ผู้ชาย 2 เรียนจบปริญญาโททั้งหมด มาช่วยในอุตสาหกรรมทั้งนั้น ไม่ไปไหนเลย ขนาดลูกเขยรวยกว่าผม ก็ไม่ไป มาช่วยเรา

สุดท้าย ขอย้อนไปที่สมาคมแต้จิ๋ว มองผลงานของตัวเองใน 4 ปีบนเก้าอี้เป็นนายกสมาคมอย่างไร?

ผมเป็นนายกมา 4 ปี ยังเหลืออีก 2 ปี ที่ผ่านมาก็พัฒนา ตกแต่งที่นี่ใหม่หมด ทำให้คนอื่นๆ เห็น พัฒนาในทุกด้าน สามารถใช้ความรู้ของเราให้เป็นประโยชน์ พยายามปลุกปั้น ให้สมาชิกมีส่วนร่วม ถ้าเราไม่อยู่ เขาก็ดูแลได้ ทำงานได้ บริการได้ ฝึกให้แต่ละคนให้เข้ากับคนอื่นได้ ที่นี่เราฝึกคนให้รู้จักบริการ ผมบอกว่า ทุกคนคือเถ้าแก่ ลื้อไม่ต้องมาดูแลนายกหรอก ต้องดูแลคนอื่นๆ

แม่บ้านชื่อคุณจำปี ผมยังฝึกเขา บอกว่า คุณต้องจำชื่อคนที่มา น้ำชาต้องร้อน อย่าเอาน้ำไม่ร้อนชงชา เราต้องรู้จักบริหาร คนทำงานผิดพลาดก็อย่าไปต่อว่าเขา ไม่มีประโยชน์ ทำผิดก็ชม อย่างให้ไปซื้อส้ม แต่ซื้อฝรั่งมา ก็บอกเขาไป ว่าไม่เป็นไร แต่ต้องไปซื้อมาใหม่ ฝรั่งก็ดี แต่ตอนนี้ต้องการส้ม สั่งก๋วยเตี๋ยวผิด ลื้อกินเองแล้วกัน อย่าให้เสียของ ถ้าไม่กิน หักเงิน ด่าไปไม่มีประโยชน์

โมโหแล้วเดี๋ยวอายุสั้น ไม่มีใครอยากทำผิด


เหนือกว่า ‘ต่อราคา’

คือ จิตวิทยาที่มากกว่า ‘กำไร’

กับ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

เป็นนักธุรกิจใหญ่ชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วที่ได้เดินทางไปพบปะคนจีนด้วยกันมาแล้ว 47 ประเทศทั่วโลก ยังไม่นับที่เคยร่ำเรียนยังปีนัง ตั้งแต่ครั้งยังเด็ก เปิดโลกสากลให้มีความคิดกว้างไกล กระทั่งไปศึกษาต่อด้านจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกา

แสงชัย โสตถีวรกุล นำสิ่งที่เรียนรู้มาปรับใช้ในธุรกิจจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม หนึ่งในหลักการเหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่าย ทว่า หากคิดได้ ย่อมเกิดประโยชน์

นักธุรกิจท่านนี้ เปิดเคล็ดลับที่ไม่ลับอีกต่อไป ว่า ในขณะที่ฝรั่ง มีแต่เยสกับโน แต่วัฒนธรรมตะวันออก โดยเฉพาะชาวจีน มีความ “อะลุ้มอล่วย” เช่น ขายของ 10 บาท 9 บาท คนจีนก็ยอมขาย แต่ฝรั่งไม่ใช่แบบนี้

“คนจีนขายของ 10 บาท 9 บาท ก็ขายเขาเถอะ แต่ฝรั่ง 10 บาทคือ 10 บาท 99.99 บาทก็ไม่ขาย เรายังชอบต่อรอง แต่ต่อรองไปเพื่ออะไร เป็นไปด้วยความเคยชิน”

แสงชัย บอก ก่อนแนะนำด้วยหลักการน่าสนใจ ที่ดูเหมือนจะนำทั้งจุดแข็งของโลกตะวันตกและตะวันออกมาหลอมรวมเข้าด้วยกัน นั่นคือ ไม่ต่อราคา แต่ยื่นเงื่อนไขเรื่อง “เวลา” แทน

“เวลาซื้อเครื่องจักร ผมสอนลูก อย่าไปต่อ แต่ใช้วิธีอื่นแทนในการปฏิบัติสมมุติเครื่องจักร 10 ล้าน จะต่อเหลือเท่าไหร่ล่ะ 9 ล้าน 5 หรือ 9 ล้าน 9 ถ้าไปต่อเขามาก เดี๋ยวนอต 1 นิ้ว เหลือเหล็ก 6 หุน จะทำอย่างไร เหล็กหนา 4 หุน เดี๋ยวเขาเอา 3 หุนให้คุณ คุณจะรู้หรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ควรใช้วิธีอื่น เช่น เครื่องจักรนี้ 1 ปีถึงจะส่งของ แทนจะต่อรองราคา แต่ขอว่า 9 เดือน หรือ 10 เดือนส่งของได้ไหม เขากะว่าจะต้องต่อรอง แต่เราไม่ต่อ คุณจะลดหรือไม่ลด ก็แล้วแต่คุณ แต่ยังไงผมก็ซื้อกับคุณ แต่ 9-10 เดือนต้องส่งให้ การได้ของมาก่อน เพื่อนำมาผลิต ได้กำไรมากกว่าจำนวนเงินที่ต่อรองเพื่อลดราคาเสียอีก เป็นเทคนิคในทางจิตวิทยา”

เป็นการซื้อเวลาอันล้ำค่า ที่ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว

เป็นกำไร ที่เหนือกว่ากำไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image