อ่านทีละบรรทัด คำสั่ง ‘ศาลปกครอง’ เบรก ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ ยกแรกเพิ่งเริ่ม อย่ารีบเดาตอนจบ

ส่งเสียงเฮ! ลั่นทั้งโลกออนไลน์และในชีวิตจริง สำหรับกลุ่มค้านทางเลียบเจ้าพระยา เมื่อศาลปกครองมีคำสั่ง ‘เบรก’ ชั่วคราวเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาทุกข์ก่อนการพิพากษา หลังเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกฟ้องรวม 12 ราย ยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งให้คณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา, กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ‘ผู้ถูกฟ้องคดี’ ยกเลิกการดำเนินโครงการนี้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียง ‘ยกแรก’ ในเวทีศาลตามกระบวนการยุติธรรม ที่ยังคงต้องติดตามกันต่อไป ว่ามวยภาครัฐ ที่คัดง้างกับภาคประชาสังคมจากมุมมองที่แตกต่าง จะลงเอยอย่างไร ?

ย้อนไปเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561 ส.รัตนมณี พลกล้า จาก ทีมกฎหมายมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้สัมภาษณ์หน้าศาลในวันที่ผู้ฟ้องคดีร่วมกันหอบเอกสารแขนแทบหักกว่า 3,000 หน้า ยื่นพิจารณาและขอความคุ้มครองชั่วคราว แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจากส่วนราชการและจากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม 2.งานวิจัย การศึกษาผลกระทบ 3.ข่าวในสื่อต่างๆ และกิจกรรมที่เครือข่ายผังเมืองฯ ติดตามคัดค้าน 4.หนังสือที่เคยยื่นต่อหน่วยงานต่างๆ

“เชื่อว่าศาลจะพิจารณาให้ความคุ้มครองชั่วคราว เพราะชัดเจนว่าขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ของโครงการไม่เป็นไปตามกฎหมาย และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นอัตลักษณ์สำคัญ การที่ตัดสินใจยื่นขอคุ้มครองในวันนี้เพราะหากผ่านไปถึงขั้นตอนการประมูลว่าจ้างเอกชนก็จะเกิดปัญหาทั้งต่อภาครัฐและเอกชนที่มาทำโครงการ”

Advertisement

หลังจากนั้น กลุ่มค้านทางเลียบฯยังเร่งทำเอกสารชี้แจงต่อศาลอย่างต่อเนื่อง

23 มกรา 6 ชั่วโมงในห้องพิจารณาคดี

ตัดฉากมาในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม ณ ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ ห้องพิจารณาคดี 14 ในวันนัดหมายให้ถ้อยคำต่อศาล

Advertisement

ผู้ถูกฟ้องคดี คือหน่วยงานภาครัฐมีผู้เข้าให้ถ้อยคำ คือ หรรษา อมาตยกุล จากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะพยาน กล่าวต่อศาลถึงจุดมุ่งหมายของโครงการที่จะพัฒนาให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม สำหรับการดำเนินการโครงการมีการยืนยันว่ากระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยกล่าวต่อศาลถึงอุทกศาสตร์ทำการจำลองสถานการณ์ พบว่าไม่มีผลกระทบ นอกจากนี้ ยังระบุว่าเข้าพูดคุยกับผู้ประกอบกิจการโรงแรมถึงประเด็นต่างๆ อย่างราบรื่น เช่น การจอดเรือ

สำหรับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ นั้น สำนักโยธาฯยืนยันว่าให้ความร่วมมือ เว้นแต่ชาวบ้านบางส่วนเท่านั้น ส่วนประเด็นโบราณสถานริมน้ำ มีการพูดคุยกับกรมศิลปากรซึ่งขอให้ตั้งกรรมการขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ได้ดำเนินการที่กระทบต่อโบราณสถานแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดียังระบุว่าหากโครงการดำเนินต่อไปไม่ได้ จะกระทบต่อการดำเนินการป้องกันน้ำท่วม เพราะจะกระทำไปพร้อมกันกับทางเดิน-ทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนผู้ฟ้องคดีมีตัวแทนเข้าร่วมให้ถ้อยคำรวม 6 ราย ประกอบด้วย ผู้ฟ้องคดี 2 ราย ได้แก่ ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง และ สาธิต ดำรงผล ตัวแทนชุมชนบางอ้อ

ภารนีได้ชี้แจงภาพรวมปัญหาของโครงการว่ามีความไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการมีส่วนร่วม ข้อมูลที่ให้ประชาชนมีไม่มากพอ ไม่ครอบคลุม การรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้นหลังมีความเห็นว่าจะทำโครงการนี้แล้ว

ในขณะที่สาธิตชี้แจงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนบางอ้อ รวมถึงผลกระทบต่ออาคารขณะก่อสร้าง เช่น มัสยิดบางอ้อ ซึ่งเก่าแก่ถึง 100 ปี เช่นเดียวกับบ้านเรือนไม้หลายหลังในชุมชน

ที่น่าสนใจคือ พยาน ซึ่งประกอบด้วย ยศพล บุญสม จากกลุ่ม เอฟ โอ อาร์ หรือเพื่อนแม่น้ำ และ อังคณา พุ่มพวง สถาปนิก และผู้มีบ้านพักอาศัยริมแม่น้ำ ซึ่งหยิบยกงานวิจัยบ่งชี้ว่า โครงการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งที่โครงการอ้างว่าเป็นไปเพื่อส่งเสริมในด้านดังกล่าว นอกจากนี้ ยังระบุว่า ปัจจุบันแม่น้ำเจ้าพระยามีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมอยู่แล้ว ถ้ามีโครงสร้างเป็นสะพานหรือทางเลียบอีก จะเกิดอุปสรรคในการสัญจร

ไม่ลืมสะกิดปมที่ภาครัฐอ้างว่า ‘ไม่มีผู้คัดค้าน’ ทั้งที่มีผู้คัดค้านมากมาย ทั้งคนในชุมชน และประชาชนทั่วไป

ด้าน ส.รัตนมณี ทนายความ กล่าวสรุปในประเด็นข้อกฎหมาย คือการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง รวมถึง การออกใบอนุญาตของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่าที่บอกว่ามีการอนุญาตแล้วก่อนที่เราจะยื่นฟ้องเพียง 1 เดือน ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน การอนุญาตของกรมเจ้าท่าไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็น ทำไปโดยมิชอบ สำหรับการขออนุญาตการใช้พื้นที่อื่น เรามองว่าการ

ทำทางเลียบแม่น้ำ คือการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่อีกประเภทหนึ่ง ฉะนั้น จำเป็นต้องขออนุญาต และขอออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพ แต่ไม่มีการดำเนินการ นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ากำหนดว่าต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของพื้นที่แล้ว แต่เราไม่พบว่ามีการดำเนินการขออนุญาตจากเจ้าของที่ดินริมแม่น้ำในจุดที่จะก่อสร้าง” ส.รัตนมณีกล่าว

จาก 10.30-16.25 น. เป็น 6 ชั่วโมงที่เข้มข้นด้วยข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย

คดี ‘มีมูล’ 5 กุมภา ‘คำสั่งศาล’ เบรก

ถัดมา เมื่อวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ ‘สำนักงานศาลปกครอง’ เผยแพร่คำสั่งศาลปกครองกลาง ห้ามกรุงเทพมหานครดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ก่อน เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากทางเดินดังกล่าวน่าจะไม่ใช่อาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำฯที่เจ้าท่าจะพึงอนุญาตได้ และการก่อสร้างทางเดินมีผลกระทบต่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และไม่ใช่การสร้างสิ่งล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการคมนาคมและการขนส่งทางน้ำตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง อีกทั้งทางเดินยังมีลักษณะเป็นอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งไม่ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครมีการแจ้งและส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลนให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2528) กรณีจึงมีมูลว่าการก่อสร้างดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อความในเอกสาร ‘ข่าวศาลปกครอง’ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์มีข้อความ 1 หน้ากระดาษ ดังนี้

“ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ในจำนวน 12 แผนงานในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแผนงานดังกล่าวจะมีการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยากว้างประมาณ 6-20 เมตร ยาวตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตรล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อใช้เป็นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยานชมทัศนียภาพพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายน่าจะไม่ใช่อาคารหรือสิ่งล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เจ้าท่าจะพึงอนุญาตได้ตามมาตรา 117 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพระพุทธศักราช 2456 ประกอบกับกฎกระทรวงฉบับที่ 63 (พ.ศ.2537)

และการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามีผลกระทบต่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและมิใช่การสร้างสิ่งล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการคมนาคมและการขนส่งทางน้ำตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง อีกทั้งทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะเป็นอาคารตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แต่ในการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้มีการแจ้งและส่งแผนผังบริเวณแบบแปลนให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2528) กรณีจึงมีมูลว่าการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและเมื่อปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ดำเนินการเตรียมการที่จะดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นลำดับ

กรณีจึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตั้งใจที่จะกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้องและการห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามิได้มีผลกระทบ

ต่อการจัดทำบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงมีคำสั่งห้าม

มิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น”

‘ที่โล่ง’ โบราณสถานกับสะพานยกสูงข้ออ้าง ‘ประโยชน์สาธารณะ’

จากเอกสารข้างต้น หากเจาะลงในรายละเอียด ใน 29 หน้าของคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ส.88/2561 ในช่วงท้ายระบุข้อมูลตอนหนึ่งว่า

จากการศึกษามรดกวัฒนธรรมโดยผู้เชี่ยวชาญ บริเวณ 2 ฝั่งตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รวมระยะทาง 14 กิโลเมตร อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครให้การยอมรับว่ามีโบราณสถานขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ อยู่ใกล้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงดังกล่าว จำนวน 24 รายการ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยาในฐานะเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางน้ำทั้งอดีตและปัจจุบัน

“เมื่อพิจารณาประกอบกับการบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพ มหานคร พ.ศ.2556 ที่กำหนดเรื่อง ‘ที่โล่ง’ เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณริมแม่น้ำไว้ หากมีความว่าตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไปให้มีที่ว่างปลูกต้นไม้ตามแนวขนานข้างละไม่น้อยกว่า 6 เมตร แม้จะเป็นข้อห้ามสำหรับเจ้าของที่ดิน ไม่ได้ห้ามกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครก็ตาม แต่เนื่องจากการก่อสร้างมีความกว้างประมาณ 6-10 เมตร ที่มีเสาสองต้นปักลงไปในแม่น้ำ รวมระยะทาง 57 กม. เพื่อเป็นสะพานยกสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด และใช้เป็นทางสัญจรด้วยจักรยาน เพื่อชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ ไม่ใช่เพื่อการคมนาคมและขนส่งทางน้ำ ตามเจตนากฎหมายผังเมือง แม้จะอ้างว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะแต่ก็ต้องเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบต่อการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำสาธารณะของประชาชน

แต่โครงการจะส่งผลให้เกิดการแออัดทางทางจราจรทางน้ำ ซึ่งกระทบมากที่สุดต่อกลุ่มเรือเล็กที่ปกติเดินชิดตลิ่ง ต้องระมัดระวังมากขึ้นและต้องลดความเร็วการดำเนินการไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ต้องแจ้งและส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้แก่เจ้าพนักงานก่อนการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา คดีจึงมีมูลว่าการดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครได้จัดทำสัญญาจ้างกลุ่มสถาบันการศึกษาเป็นที่ปรึกษางานจ้างที่ปรึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทระยะดำเนินการ 210 วัน วงเงิน 119,513,000 บาท และคณะรัฐมนตรีได้ประชุมเมื่อ 14 มีนาคม 2560 เห็นชอบและอนุมัติให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการเงินช่วยเหลือ ซึ่งสำรวจได้ 272 หลัง ปัจจุบันประชาชนที่ปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้รื้อย้ายออกไปแล้ว 171 หลัง และรื้อสิ่งปลูกสร้างอีก 10 รายการ ผู้ถูกรื้อย้ายได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ดำเนินการสร้างบ้านมั่นคงให้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง จึงเห็นได้ว่า กรุงเทพมหานครตั้งใจที่จะกระทำต่อไปซึ่งการละเมิด หรือกระทำที่ถูกฟ้องร้อง”

ภายใต้ถ้อยคำ ประโยค ย่อหน้าที่ประกอบขึ้นด้วยข้อมูล ตัวเลข ข้อกฎหมายมากมาย นี่อาจเป็นชุดคำที่ไม่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ รายละเอียดที่ซับซ้อน ทว่าเป็นประเด็นที่น่าเรียนรู้ ขบคิด และติดตามต่อไปจนถึงตอนจบด้วยความลุ้นระทึก

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image