‘การศึกษาฆ่าฉัน’ ความเจ็บปวดเด็กไทยในรั้วโรงเรียน เมื่อกฎระเบียบเบียดเบียน

โรงเรียนสตรีวิจิตรยาตรา

ช่วงนี้กิจกรรมโดยเยาวชนเกิดขึ้นถี่ยิบ ล่าสุดกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ออกมาแสดงความรู้สึกต่อคำวินิจฉัยของศาลท่านกันอย่างมาก

ย้อนถึงอีกหนึ่งสถานการณ์ก่อนผ่านพ้นกุมภาพันธ์ หลังวาเลนไทน์ได้เพียงวันเดียว ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครก็ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งด้วยนิทรรศการแนวเพอร์ฟอมานซ์อาร์ต แปลกที่ว่าไม่ใช่เรื่องความรัก แต่เป็นเรื่องของ “สิทธิ” ที่ช่วงนี้เราจะเห็นการเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลสะท้อนให้เห็นว่าเหล่าเยาวชนทนไม่ไหวกับประเทศไทยที่เป็นอยู่

หลังได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นเมื่อตุลาคมปีที่ผ่าน กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท จับมือกันแน่น จัดภาคต่อของนิทรรศการเชิงสัญลักษณ์ ภายใต้ชื่อ การศึกษาฆ่าฉัน กฎระเบียบเบียดเบียน โดยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 7 หัวข้อ 7 โรงเรียน ใช้ตัวแสดงหัวข้อละ 2 คน ด้วยนักเรียนหญิงชายที่สวมใส่เครื่องแบบของแต่ละโรงเรียน จัดวางท่าทางคู่กัน แต่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในรายละเอียด พร้อมป้ายแสดงชื่อโรงเรียน และนักเรียนนามสมมุติ คำขวัญ และคำอธิบายความแตกต่าง คนหนึ่งสะอาดสอ้าน แต่ข้างๆ คือ ‘เพื่อน’ ที่เต็มไปด้วยคราบเลือดและน้ำตา เพื่อเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความเจ็บปวดของนักเรียนในระบบการศึกษาไทย

ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท บอกว่า นิทรรศการ “การศึกษาฆ่าฉัน” ครั้งที่ 2 ต้องการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ปัญหาที่นักเรียนพบเจอ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้ หรือถึงรู้ก็ไม่ได้ตระหนัก

Advertisement

“คราวแล้วเราพูดถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาทุกเรื่อง แต่ครั้งนี้พยายามเจาะประเด็นเดียวคือ ‘กฎระเบียบ’ เรากำลังพูดถึงกฎระเบียบที่นักเรียนไม่มีส่วนในการคิดและตั้ง แต่เป็นกฎระเบียบที่ออกโดยใครสักคน แล้วบังคับใช้กับคนหมู่มากโดยที่คนอื่นไม่ได้ให้ความยินยอม ซึ่งไม่สามารถคัดค้านได้ เราจึงนำผลกระทบของกฎระเบียบต่างๆ เหล่านั้นมาสะท้อนถึง”

ท่ามกลางการหลั่งไหลของเยาวชนและผู้สัญจรทั่วไปที่สนใจหมุนเวียนมาชมนิทรรศการเป็นจำนวนมากทั้งไทยและต่างชาติ ผู้สื่อข่าว นักเรียน และนิสิต นักศึกษา แห่แหนมาเก็บภาพและโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ พร้อมติดแฮชแท็ก #การศึกษาฆ่าฉัน #กฎระเบียบเบียดเบียน ท่ามกลางการเฝ้าสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายนาย ที่ถ่ายภาพบันทึกวิดีโอไปตามปกติวิสัยเมื่อมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ แต่สต๊าฟตัวน้อยยังคงเดินแจกคู่มือ “ยุทธวิธีเอาตัวรอดในโรงเรียน” ให้กับเยาวชนที่มาเดินชมนิทรรศการอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

สอบถามได้ความว่า เฉพาะนักเรียน นิสิต นักศึกษาเท่านั้น บุคคลทั่วไปสนับสนุนเยาวชนกลุ่มนี้ได้ด้วยแบงค์ยี่สิบเพียงสองใบในเพจเฟซบุ๊ก “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท”

Advertisement

เลขาธิการกลุ่มยังเผยด้วยว่า นักแสดงกลุ่มนี้จัดตั้งมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว โดยนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในส่วนของงานครั้งนี้คิดกันมาตั้งแต่เดือนตุลาคมหลังจบงานครั้งแรกทันที

“น้องๆ 99 เปอร์เซ็นต์เป็นนักเรียน มี 1 คนที่แสดงเท่านั้นที่เป็นครู ส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม บางส่วนก็ชวนๆ กันมา สต๊าฟทุกคนยังเป็นนักเรียนอยู่ และช่วงนี้กำลังสอบ แต่ทุกคนก็ทุ่มเทมากเพื่อให้งานนี้เกิดขึ้น

“ดีใจกับผลลัพธ์ที่ได้ รู้สึกว่าปัญหาที่เราอยากสะท้อนให้สังคมรับรู้ก็มีคนอยากรับฟัง แม้จะโดนปฏิเสธมาถึง 4 ครั้ง เพราะความกังวลของเจ้าของสถานที่ว่าไม่เหมาะสมกับภาพลักษณ์ของสถานที่ เขาก็ต้องเซฟตัวเอง เข้าใจได้ จนสุดท้ายได้มาจัดที่นี่อีกครั้ง”

 

โรงเรียนทรัพย์สะพัด

โรงเรียนทรัพย์สะพัด
‘อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์’


อาทิตย์ อภิชาติปทุมานันท์
18 ปี / 163 ซม. / 57 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน, กระเป๋าโรงเรียน

นักเรียนแผนก EP มัธยมศึกษาปีที่ 6 ผู้ปกครองสนับสนุนโรงเรียนทุกปี ทั้งบริจาคเงินเข้าสมาคมผู้ปกครอง สมาคมศิษย์เก่า เป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าการศึกษาและอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ตัวอาทิตย์เองยังเป็นตัวอย่างของ 10 ต้นแบบที่ใช้สินค้าของโรงเรียนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเป้ กระเป๋าสะพาย กระเป๋าตังค์ สมุด แฟ้ม ริสต์แบนด์ ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ถูกระเบียบและมีคุณภาพ


วนาพจน์ สุรารักษ์
18 ปี / 170 ซม. / 51 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน, กระเป๋าทั่วไป

นักเรียนแผนกสามัญ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 บุตรบุญธรรมของครอบครัวสุรารักษ์ ได้รับการอุปการะจากการที่พ่อแม่ที่แท้จริงเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ส่งผลให้ฐานะทางการเงินไม่สู้ดีนัก เขาได้รับทุนการศึกษาจากความสามารถ แต่มักถูกครูทำโทษอยู่บ่อยครั้ง จากการสะพายกระเป๋าที่ไม่ได้ซื้อจากโรงเรียน เขามักบอกคุณครูทุกครั้งที่ถูกทำโทษว่ากระเป๋าโรงเรียนแพงเกินไปที่จะซื้อไหว แต่ก็ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า “กฎระเบียบต้องมาก่อนเสมอ”

โรงเรียนพื้นขาววิทยา
‘ลูกพื้นขาวพราวเสน่ห์’


ธนพัฒน์ เลื่องไพศาล
19 ปี / 173 ซม. / 60 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน, ถุงเท้าพื้นขาว

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คณะกรรมการนักเรียนด้านการควบคุมระเบียบการแต่งกาย ได้รับตำแหน่งนี้จากการแต่งกายถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เคยแต่งกายผิดเลยแม้แต่วันเดียว โดยเฉพาะถุงเท้าที่มักมีนักเรียนคนอื่นแหกคอกใส่มาผิดระเบียบอยู่เสมอ แต่เขาก็ยังคงสวมใส่ถุงเท้าพื้นขาวลอนเล็กอย่างถูกระเบียบตลอดมา ถือเป็นการช่วยรักษาเอกลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนพื้นขาววิทยา จึงเหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งอันทรงคุณค่าดังกล่าว


สหดล จิตธรรม
15 ปี / 164 ซม. / 49 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน, ถุงเท้าพื้นดำ

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แหกคอกสวมถุงเท้าพื้นดำมาโรงเรียน จึงต้องถูกยึดให้เดินเท้าเปล่า เพราะการสวมใส่ถุงเท้าพื้นดำมาโรงเรียนถือเป็นการไม่ให้เกียรติสถานศึกษาด้วยถุงเท้าดำๆ ที่มีแต่ความสกปรกซ่อนเร้นอยู่ภายใน การใส่ถุงเท้าพื้นดำย่ำเท้าเข้ามาในโรงเรียน จึงเป็นการนำสิ่งสกปรกมาสู่โรงเรียนไปโดยปริยาย

โรงเรียนมัธยมวัดความยาว

โรงเรียนมัธยมวัดความยาว
‘ศักดิ์ศรีลูกผู้ชายคือการแต่งกายที่เหมาะสม’


นิธินันท์ สิริลัดดาเตโช
18 ปี / 179 ซม. / 79 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน, กางเกง

นักเรียนที่น่าภาคภูมิใจของโรงเรียนมัธยมวัดความยาว การแต่งกายเหมาะสมเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของบุคคลนั้นๆ ซึ่งเขาสามารถทำได้ดี โดยสวมกางเกงนักเรียนที่มีความยาวปิดเข่าเรียบร้อย ถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักเรียนดีที่จะเติบโตไปเป็นพลเมืองชั้นเยี่ยมของประเทศชาติ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะจดจำนายนิธินันท์ไว้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตต่อไป


ณภัทร กิจสนสโรชิน
19 ปี / 168 ซม. / 76 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน, กางเกง

ผู้นำความเสื่อมเสียมายังโรงเรียนมัธยมวัดความยาว เขาสวมกางเกงนักเรียนที่มีความสั้นเหนือเข่า นับเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษา แลดูไร้ความเจริญอย่างยิ่ง หากใครพบเห็นคงต้องคิดว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนของพวกไร้การศึกษาเป็นแน่ ต้องถูกทำโทษเสียให้จำ จะได้ไม่โตไปเป็นขยะสังคมก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่นในอนาคต

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกลี้ยงเกลา
‘ชีวิตที่สดใสเพราะใบหน้าที่เกลี้ยงเกลา’


กานต์ชนก มงคลชัยกุล
17 ปี / 155 ซม. / 52 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้รับรางวัลนักเรียนประพฤติตนอยู่ในกฎระเบียบดีเด่นประจำปีนี้ เธอยืนหยัดรณรงค์ให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ โรงเรียนมั่นใจในรูปลักษณ์ของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องเสริมเติมแต่งสิ่งแปลกปลอมลงบนใบหน้า และสนับสนุนให้ทุกคนหมั่นสั่งสมบุญกุศล ทั้งทาน ศีล ภาวนา เพื่อให้ชาติหน้าเกิดมามีรูปร่างหน้าตาสวยงามอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมีจากเครื่องสำอางที่เป็นอันตรายอีกต่อไป


ณัฐณิชา น้อยม่วง
16 ปี / 160 ซม. / 50 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ประพฤติผิดกฎระเบียบรายวันจนครูเอือมระอา ไม่อยากจะสั่งสอนอีกต่อไป ทุกๆ วันเธอจะทาครีมกันแดดผสมรองพื้น เขียนคิ้ว แล้วทาปากมาโรงเรียน แม้ว่าเธอจะไม่ได้แต่งหน้าหนามาก แต่การเสริมเติมแต่งสิ่งแปลกปลอมลงบนใบหน้าเป็นสิ่งที่โรงเรียนแห่งนี้รับไม่ได้ เธอจึงถูกจับเข้าค่ายธรรมะอยู่บ่อยครั้ง โดยเป็นนโยบายของโรงเรียนเพื่อละลายค่านิยมรักสวยรักงาม ให้หันมาทำบุญทำกุศลแทน

โรงเรียนพิทักษ์พรหมจรรย์พิทยาลัย

โรงเรียนพิทักษ์พรหมจรรย์พิทยาลัย
‘รักนวลสงวนตัว ไม่มีผัวก่อนวัยควร’


กาญจนาพร อ่อนประนม
18 ปี / 164 ซม. / 45 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน, เสื้อซับใน

กุลสตรีศรีพรหมจันทร์ นักเรียนผู้ประพฤติตนเป็นต้นแบบแห่งกุลสตรีที่สังคมต้องการ ถูกอบรมสั่งสอนมาอย่างดีเยี่ยมให้มีความรักนวลสงวนตัว เขินอายแต่เพียงน้อย สำรวมกิริยาไม่พึงประสงค์ เพื่อไม่ให้เป็นที่หมายปองของกามารมณ์แห่งบุรุษเพศ ด้วยการนุ่งเสื้อชั้นในและกางเกงซับใน และไม่ให้เกิดการโป๊เปลือยอันมาจากความบางของชุดนักเรียน ซึ่งสามารถปกป้องกันการถูกกระทำชำเราจากชายที่มีความอยากใคร่ทางอารมณ์ได้


สโรชาท ลลัทนาการ
17 ปี / 156 ซม. / 59 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน

หญิงทรามงามหน้า ไม่คู่ควรกับการเป็นนักเรียนไทย ประพฤติตนยั่วยวนกามอารมณ์บุรุษเพศด้วยการไม่สวมเสื้อซับใน ปล่อยให้ถูกต้องมองผ่านเสื้อบางๆ จนเห็นไปถึงชุดชั้นใน ไร้การอบรมสั่งสอน กิริยาต่ำสถุนเหมือนหญิงงามเมือง รู้ไปถึงไหน อับอายขายหน้าไปถึงนั่น สมควรถูกรุมโทรมเสียให้เข็ดหลาบจะได้รู้จักป้องกันตัว

โรงเรียนสตรีวิจิตรยาตรา
‘จงศรัทธาในความงาม’


ณัฐณิชา มหาพฤกษ์
18 ปี / 168 ซม. / 46 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน, ความงามโดยกำเนิด

นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผู้มีความงดงามในรูปลักษณ์ภายนอกอย่างเด่นชัด ประดุจดาวจรัสแสงในท้องนภายามรัตติกาล เจ้าของตำแหน่ง La Prima Donna หรือนักเรียนจรัสแสงแห่งสตรีวิจิตรยาตรา ที่มีความงามไร้ที่ติ ควบตำแหน่งตัวแทนนักเรียน ประธานนักเรียน เชียร์ลีดเดอร์ ผู้อัญเชิญพานไหว้ครู ผู้ถือป้ายโรงเรียน และตำแหน่งอันทรงเกียรติอื่นๆ อีกมากมาย


อรปรียา นาอ่วม
18 ปี / 165 ซม. / 55 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน

นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผู้อาภัพในรูปลักษณ์ มีความงามอันดับรั้งท้ายของโรงเรียน ไม่เป็นที่ต้องการของใคร ถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนและครูเพียงเพราะเธอมีความงดงามไม่เพียงพอต่อการเรียนที่สถาบันนี้ ทุกๆ วันของเธอที่ย่ำเท้าเข้าโรงเรียนคือความทุกข์ระทมแสนสาหัส ไร้เพื่อน ไร้ความรัก ไร้ความสุข แต่ด้วยผลการเรียนดีเด่นของเธอทำให้โรงเรียนยังเก็บตัวเธอไว้แม้ว่าจะมีความงามไม่เหมาะสม เพื่อดึงคะแนนเฉลี่ยให้นักเรียนคนอื่น

โรงเรียนสตรีคลุมเข่า

โรงเรียนสตรีคลุมเข่า
‘งดงามกิริยา มารยาทเป็นเลิศ เชิดชูวัฒนธรรม’


ภัทรวี ประสาทพา
17 ปี / 161 ซม. / 46 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน, กระโปรง

นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นทูตทางวัฒนธรรมประจำโรงเรียน เธอถูกปลูกฝังเรื่องขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมมาตั้งแต่เด็ก จนเติบโตมาเป็นหญิงสาวที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการแต่งกายซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทยที่ต้องแต่งกายมิดชิด กระโปรงจะต้องยาวคลุมเข่า เสื้อจะต้องไม่รัดรูป ภาพลักษณ์ที่ได้จึงเป็นหญิงสาวที่เรียบร้อยตามแบบอย่างวัฒนธรรมอันดีงามของสังคม


นิศากร พรประเสริฐ
17 ปี / 158 ซม. / 54 กก.
มนุษย์, เยาวชน, นักเรียน, กระโปรง

นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ถูกลงโทษจากการประพฤติผิดระเบียบของโรงเรียนข้อสำคัญ นั่นคือการไม่เคารพซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของสังคม และพยายามแหกขนบธรรมเนียมดั้งเดิมด้วยการนุ่งกระโปรงที่มีความยาวไม่ถึงเข่า เป็นการนำอิทธิพลวัฒนธรรมการแต่งตัวของต่างชาติมามอมเมาผู้อื่น โดยมองข้ามวัฒนธรรมบ้านเกิดของตน ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้

หนึ่งในเด็กสาวที่มาเที่ยวสยาม เห็นแฮชแท็กในทวิตเตอร์จึงรีบปรี่มาดู ก่อนจะเผยว่า “รู้สึกหดหู่กับการศึกษาไทย” เพราะตรงกับหลายโรงเรียน ส่วนตัวก็เคยเจอประสบการณ์ ตอนนั้นนั่งอยู่ คุณครูเรียกให้เพื่อนดึงแมสก์ออก และชี้ว่า 1 2 3 ทีละจุด บอกว่า ครูเห็นปากเธอตั้งแต่หน้าโรงเรียน ทั้งที่ปากก็ไม่ได้แดงขนาดนั้น ออกจะปกติด้วยซ้ำ การแต่งหน้าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิแต่งหน้าถ้าอยู่ในวัยกำลังโอเค และไม่ได้หนาหรือมากเกินไป

ด้าน ธีรัช ธำรงวิศว นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนศรีอยุธยา เผยความรู้สึกหลังจากดูนิทรรศการว่า “ตรง” แต่ละอย่างสะท้อนความรู้สึกของเด็กนักเรียนในโรงเรียนไทยอย่างมาก โดยเฉพาะโรงเรียนพื้นขาววิทยา

“ผมรู้สึกว่ารองเท้าขาวไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียน และถุงเท้าพื้นดำก็ออกจะดีด้วยซ้ำ เพราะถุงเท้าพื้นขาวใส่แล้วมันดำ ซักไม่สะอาดเพื่อนก็จะล้อ อยากให้โรงเรียนเปลี่ยนกฎระเบียบที่นอนเซนส์ให้เข้าใจได้ บางอย่างไม่ได้ส่งผลต่อการเรียนก็น่าจะอนุโลม”

คือนิทรรศการที่อยากชวนดู ส่วนจะรับรู้หรือคิดเห็นอย่างไร สุดแล้วแต่ความรู้สึกของท่านจะพาไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image