120 ปีชาตกาล ‘ปรีดี พนมยงค์’ ตามรอยรัฐบุรุษอาวุโส ผู้ริเริ่มประชาธิปไตยในไทย

หากจะตั้งคำถามกับคนรุ่นนี้หลายๆ คน “รู้จักปรีดี พนมยงค์ไหม?” เชื่อว่าคำตอบที่ได้ส่วนใหญ่แล้วคือ “เคยได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร” ไม่รู้ว่าบุคคลผู้นี้มีความสำคัญอย่างไร เคยทำอะไรมาบ้าง แต่ถ้าหากสัจธรรมของโลกยังเป็นแบบโคลงโลกนิติ ว่า “นรชาติ วางวาย มลายสิ้น ทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา” ปรีดี พยมยงค์ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทิ้งตำนานคุณูปการหลายๆ อย่างไว้บนโลกใบนี้ ไม่เฉพาะแค่เมืองไทยและไม่ใช่แค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่มีทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา กระทั่งสันติภาพ สิทธิที่พึงมีของคนเรา

11 พฤษภาคม 2563 ปีนี้ เป็นวาระครบรอบ 120 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้สร้างคุณูปการมากมายแก่บ้านเมืองไทย จึงนับเป็นบุคคลสำคัญของไทยและทั้งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ด้วย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 เมื่อที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 30 ขององค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีมติประกาศให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยมีบทบาทสำคัญตั้งแต่เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

ปรีดีเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยถึง 3 สมัย และยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ปรีดีก็เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย ต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย แต่ต่อมาต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 8 โดยถูกกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สวรรคต เมื่อครั้งเกิดรัฐประหารปี 2490 ปรีดีจึงต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศนานกว่า 30 ปี โดยไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยเลย อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ลี้ภัยทางการเมืองนั้น ปรีดีได้ฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทตนทุกเรื่อง และผลปรากฏว่าสามารถชนะคดีความได้ทุกคดี ได้รับการรับรองจากทางราชการว่าเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ตลอดจนได้รับเงินบำนาญและหนังสือเดินทางของประเทศไทยตามเดิม กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526

ป้อมเพชร

“ปรีดี พนมยงค์” หรือ “รู้ธ” (Ruth) ชื่อที่ใช้ในงานปิดลับในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย หรือ “อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2443 ที่เรือนแพ หน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนที่ 2 จากจำนวนพี่น้อง 6 คน ของนายเสียงและนางลูกจันทน์ พนมยงค์ มีอาชีพเป็นชาวนาและค้าขายเล็กๆ น้อยๆ บรรพบุรุษของปรีดี ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้วัดพนมยงค์มาแต่โบราณ โดยบรรพบุรุษฝ่ายบิดานั้นสืบเชื้อสายมาจากพระนมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อ “ประยงค์” พระนมประยงค์เป็นผู้สร้างวัดในที่สวนของตัวเอง จึงตั้งชื่อวัดตามผู้สร้าง ว่า วัดพระนมยงค์ หรือวัดพนมยงค์ ทายาทตระกูลพนมยงค์จึงได้อุปถัมภ์วัดนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของอาจารย์ปรีดี ในวันที่ 14-15 มี.ค.นี้ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ร่วมกับ “มติชนอคาเดมี” หน่วยงานในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดทัวร์ตามรอย “120 ปี ชาตกาลปรีดี พนมยงค์” ใน 3 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และ ลพบุรี ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับอาจารย์ปรีดีและคณะราษฎร โดยหนึ่งในคณะราษฎรที่ใกล้ชิดกับอาจารย์ปรีดีผู้หนึ่ง คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่นเอง

Advertisement

เรื่องราวทั้งหมดในทัวร์ตามรอย 120 ปีชาติกาลปรีดี พนมยงค์ จะบอกเล่าอย่างละเอียดทุกมุมจากปากของ “สมฤทธิ์ ลือชัย” นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ประกบคู่ดูโอ้กับ “ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปริญญาเอกสาขาวิชาประวัติศาสตร์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รู้ลึกแจ่มแจ้งเกี่ยวกับ 2475

วงเวียนกลางเมืองลพบุรี รูปแบบจากฝรั่งเศส

อาจารย์สมฤทธิ์ เกริ่นถึงปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นบุคคลที่น่าสนใจมาก คนไทยจะรู้จักแต่ชื่อ แต่ไม่รู้จักประวัติ เพราะอาจารย์ปรีดีออกจากประเทศไทยไปตั้งแต่ปี 2490 และไม่ได้กลับมาอีกเลย จนถึงแก่อสัญกรรมที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2526 เป็นบุคคลแรกที่ได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และที่สำคัญอย่างมากคือเป็นหนึ่งในคณะราษฎร ที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ส่วนผลงานยิ่งใหญ่คือเรื่องของเสรีไทยที่ปรีดี พยมยงค์ เป็นผู้นำ ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกลงโทษในสงครามเอเชียบูรพาเมื่อฝ่ายอักษะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ซึ่งไทยร่วมอยู่ในฝ่ายอักษะ ประกอบด้วยเยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น และไทย

“การตามรอยอาจารย์ปรีดีครั้งนี้ จะเริ่มกันที่จังหวัดสระบุรี ต่อด้วยลพบุรี เพราะเกี่ยวข้องกับอาจารย์รวมถึงคณะราษฎร คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม เล่าคร่าวๆ ก่อนว่าจอมพล ป.อยากไปสร้างพุทธมณฑลที่สระบุรี คงเคยได้ยินที่ว่าพุทธศาสนาจะมีอายุ 5,000 ปี พอเข้ากึ่งพุทธกาล 2,500 มีการเฉลิมฉลองกันใหญ่มาก พม่าก็มีการสังคายนา ส่วนไทยก็อยากสร้างอนุสรณ์สถานคือพุทธมณฑล แต่จะสร้างที่ไหน ฝ่ายคณะราฎรเสนอที่สระบุรี เพราะมีพระพุทธบาทอยู่ แต่มตินี้แพ้โหวตในสภา ฉะนั้นต้องไปดูการสร้างพุทธมณฑลของคณะราษฎร และพระพุทธบาทนี้มีความสำคัญอย่างมาก เป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์สมัยก่อนทุกพระองค์จะต้องเสด็จฯ โดยนั่งไปบนหลังช้าง พูดง่ายๆ ว่าเป็นการฟ้อนบนหลังช้างเพื่อเป็นพุทธบูชาถวายแด่พระพุทธบาท…”

Advertisement

แค่เรื่องพระพุทธบาทก็ตื่นเต้นเสียแล้ว เสียงเล่าร่ายยาวต่อว่าที่จังหวัดลพบุรี ถือเป็น “เวสต์ปอยท์” ของจอมพล ป. เพราะตั้งใจสร้างเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองทหาร “…พูดง่ายๆ ว่าไอเดียของจอมพล ป. เอาจังหวัดลพบุรีมาสร้างเป็นเมืองในอุดมคติ ประมาณว่าเราจะสร้างเมืองไทยให้เป็นอย่างนี้นะ ก็ตั้งลพบุรีมาเป็นเมืองในอุดมคติก่อน มีการวางผังเมือง แบ่งโซน เราจะรู้จักวงเวียนเป็นครั้งแรกก็ในเมืองลพบุรีนี่แหละ วงเวียนเป็นการจัดการจราจรในฝรั่งเศส เราจะเห็นสถาปัตยกรรมในสมัยคณะราษฎรเป็นวงเวียน อย่างที่พระนครศรีอยุธยาก็มี ก่อนจะเข้าตัวเมืองต้องผ่านวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม ซึ่งก็เป็นผลงานของคณะราษฎร เรื่องของคณะราษฎรและอาจารย์ปรีดีมันซ้อนกันอยู่…”

อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์
รูปปั้นปรีดี พนมยงค์ ที่อนุสรณ์สถานปรีดี จ.พระนครศรีอยุธยา

ต่อจากนั้นมาบ้านเกิดอาจารย์ปรีดี “พระนครศรีอยุธยา” ซึ่งมีสถานที่หลายแห่งปรากฏในชีวิตตั้งแต่เกิดจนมีครอบครัว ไม่ว่า วัดพนมยงค์ อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ วัดมงคลบพิธ โดยเฉพาะที่วัดมงคลบพิธมีเรื่องโจษขานที่อาจารย์ปรีดีเข้าเฝ้าพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า “…ตรงนี้จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ยังไม่บอก…ต้องตามไปฟัง” อาจารย์สมฤทธิ์ทิ้งปมไว้อย่างท้าทาย

ทริปเดินทางยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีเรื่องให้เซอร์ไพรส์ และเรื่องราวดีๆ ชนิด “เอ็กซ์คลูซีฟ” จากการเสวนาในยามค่ำคืนของ 2 อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ในมุมต่างกันแต่ผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว ในหัวข้อ “2475” ที่อาจจะยังไม่เคยฟังที่ไหนมาก่อน เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ตื่นเต้นขนาดไหน เต็มอิ่มหรือไม่…ต้องติดตาม!!


 

สมฤทธิ์ ลือชัย
History repeats itself.

– เปรียบเทียบการเมืองปัจจุบันกับสมัยอาจารย์ปรีดี

ประวัติศาสตร์ มีคำคำหนึ่งว่า History repeats itself. ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอยู่เสมอ การซ้ำรอยไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเหมือนกัน ตรงกันเป๊ะๆ แต่มันมีเหตุและผลการเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าคล้ายๆ กัน ผมคิดว่าปัจจุบันมีการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Fake News มีการพูดถึงไอโอ (Information Operation) หรือปฏิบัติการข่าวสาร การเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของ “ฝ่ายเรา” ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และทำให้เกิดความคิดความเชื่อคล้อยตามความประสงค์ของ “ฝ่ายเรา” ผมคิดว่าอาจารย์ปรีดีเป็นคนหนึ่งที่ถูกพิษร้ายของ Fake News ใช้เฟคนิวส์ทำลายกันอย่างโหดร้ายมาก และกว่าคนทั้งหลายจะเข้าใจและรู้ว่าความจริงคืออะไร อาจารย์ปรีดีก็ถูกถล่มยับไปแล้ว หนึ่งในนั้นที่สารภาพว่าเข้าใจอาจารย์ปรีดีผิด คืออาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เรื่องของอาจารย์ปรีดีเป็นอุทาหรณ์ให้เราได้ว่า เราไม่ควรให้เกิดกรณีแบบนี้กับใครในแผ่นดินนี้อีก จะไม่ทำให้เกิดก็คือเราจะต้องไม่เชื่อข้อมูลข่าวสารที่มาจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว โดยเฉพาะการเมืองใช้คำเท็จมาต่อสู้กันมากกว่าความจริง

– แต่สมัยนี้มีโซเชียลมีเดีย

นี่แหละที่ผมมองว่าเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจเก่า ที่กุมอำนาจการสื่อสารไว้อยู่ ที่ผ่านมาเราแทบไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “การสื่อสารโต้กลับ” เพราะเราไม่มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยี ฉะนั้น การสื่อสารทุกอย่างจึงเป็นการสื่อสารจากข้างบนลงมา ถ้าข้างบนทุจตริต ข่าวสารมันก็หลอกเรา รับข้อมูลที่เป็นเท็จเป็นเฟคนิวส์มาตลอด แต่วันนี้มันมีเทคโนโลยี มีเครื่องมือที่โต้กลับได้ และเราสามารถตรวจสอบข่าวกับแหล่งอื่นได้

– พูดได้ไหมว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้เปลี่ยนประเทศไทย

อาจารย์ปรีดีคิดจะเปลี่ยนแปลง แต่ไม่สำเร็จ อาจารย์ปรีดีต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2475 ถ้าไปอ่านดู 6 ข้อของคณะราษฎร นับเป็นสิ่งที่ก้าวหน้ามากๆ อย่าลืมนะครับว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกของเราให้สิทธิสตรีในทางการเมืองเท่ากับบุรุษ ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปยังไม่มีเลย พูดง่ายๆ บัญญัติ 6 ประการของคณะราษฎร ก้าวหน้ามากๆ มีการพูดถึงการศึกษาของประชาชน พูดถึงประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น มีหลายสิ่งที่อาจารยืปรีดีต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ที่อยากเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือเปลี่ยนให้เป็นประชาธิปไตย นี่คืองานใหญ่ที่สุดที่อาจารย์ปรีดียังทำไม่สำเร็จ และพวกเราต่างหากที่ต้องทำอุดมการณ์ของอาจารย์ให้สำเร็จ อาจารย์อยากเห็นประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย

– จากวันนั้นถึงวันนี้เราเป็นประชาธิปไตยกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว

(หัวเราะเสียงดัง)..ผมบอกไม่ได้ เอาเป็นว่า 88 ปี จนถึงวันนี้ สิ่งที่ผมเห็นเมื่อไม่กี่วันก่อน ทำให้ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมอยากเห็นนั้นมันไม่ไกลแล้ว แค่นั้นเอง และสิ่งที่อาจารย์ปรีดีฝันนั้นก็คงจะอยู่ไม่ไกลเช่นกัน เมื่อผมเห็นคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมา และมันไม่ถูกจัดตั้งโดยองค์กรการเมืองเพื่อหวังผลประโยชน์ใดๆ แต่เป็นด้วยความบริสุทธิ์ การลุกขึ้นของนักเรียน นักศึกษาเหล่านั้นจะสำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ ผมไม่สนใจ ผมสนใจแต่ว่า…เขาตื่นแล้ว เป็นนิมิตหมายที่ดีมาก ผมยังคิดว่าจะไม่ได้เห็นภาพนี้ในชาตินี้ ผมไม่เคยดีใจอย่างนี้มานานมากแล้ว

– ณ เวลานี้ สถานการณ์แบบนี้ ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น?

เรียนตรงๆ ว่าผมไม่รู้ ผมก็ไปถามอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เก่งและเชี่ยวชาญกว่าผมหลายเท่าตัว ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุกคนตอบเหมือนกันหมดเลย ว่า “ไม่รู้” (หัวเราะ) ไม่มีใครพยากรณ์ได้ เป็น “unpredictable” สำหรับผมเพียงแต่ว่ามันมีนิมิตหมายทำให้เรามีกำลังใจ ดีกว่าที่ผ่านมา

เพราะฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ไม่รู้ แต่ เฮ้ย..มันมีความหวังว่ะ.. แค่นั้นแหละ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image