‘เรากำลังย้อนไป สู่อีกทวิภพหนึ่ง’ เศรษฐกิจการเมืองไทยในสายตา วีรพงษ์ รามางกูร

“เมื่อผมเปิดฟังที่นักเรียนนักศึกษาพูดกัน ทำให้ความรู้สึกสมัยหนุ่มๆ กลับขึ้นมาใหม่”

เป็นถ้อยคำจากความรู้สึกของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร กูรูเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของประเทศ ต่อการปราศรัยของนิสิตนักศึกษาใน “แฟลชม็อบ”

หลังการชี้ชะตา (ยุบ) พรรคอนาคตใหม่ แม้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ทว่า บุคคลท่านนี้ คือ “สิงห์ดำรุ่น 14” ผู้คว้ารางวัลเกียรตินิยมเหรียญทอง “คนแรกและคนเดียว” ในยุคเก่า จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ก่อนข้ามฟากไปเรียนฝั่งเศรษฐศาสตร์ เชิงปริมาณ กระทั่งนั่งเก้าอี้คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ รั้วสามย่าน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รองนายกรัฐมนตรียุค “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในหลายรัฐบาล มุมมองทางเศรษฐกิจของท่านจึงเต็มไปด้วยมุมมองทางการเมือง และประสบการณ์อย่างถึงแก่น

Advertisement

นับเป็นนักวิชาการผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างมากมาย จนไม่ต้องตั้งคำถามว่า “ทำอะไรให้ประเทศชาติบ้าง”

ตัดฉากมาถึงยุคสมัยปัจจุบัน กับการเป็นเจ้าของวาทะ “มหาวิกฤตการณ์” ซึ่งเจ้าตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมิติอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สะเทือนการเมืองไทยในวันนี้ ดังเช่นผลของการยุบพรรค อนาคตใหม่ที่จุดชนวนให้เกิดการชุมนุมของนิสิต นักศึกษาในหลายสถาบัน และลงไปถึงระดับโรงเรียนมัธยมในที่สุด

ต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของบทสนทนากับ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเวที “อนาคตการเมืองไทย หลังยุบพรรคในยุค covid-19” เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา แม้ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องร่วมกันสกัดไวรัสร้ายจึงเจตนาจัดในธีมเสวนา “วงเล็ก” ทว่า เนื้อหาเข้มข้น ร้อนแรง สะเทือนอารมณ์ด้วยข้อมูลและมุมมองเฉียบคมแบบต้องฟังเน้นๆ ในทุกถ้อยคำ

มุมมองความเปลี่ยนแปลง มองฉากทรรศน์ของความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น อนาคตการเมืองไทยหลังยุบพรรคจะเป็นอย่างไร?

เป็นเวลานานแล้วที่ผมไม่ได้ขึ้นเวทีสาธารณะ แต่ก็มีอีกเวที คือ การเป็นคอลัมนิสต์ เขียนบทความในหนังสือพิมพ์มติชนตลอดมา และด้วยความที่เป็นนักเรียนรัฐศาสตร์เก่า แม้เศรษฐศาสตร์จะเป็นอาชีพหลัก ก็อดไม่ได้ที่จะมองเศรษฐศาสตร์ผ่านทฤษฎีการเมือง ที่พูดว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้เป็น “มหาวิกฤตการณ์” เพราะเกิด 3-4 อย่างพร้อมๆ กัน พื้นฐานแรกซึ่งจะเป็นฐานของวิกฤตการณ์อื่นๆ หนีไม่พ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดทั่วโลกในขณะนี้ ไม่ใช่วิกฤตการณ์ชั่วคราว แต่เป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ และถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เกิดผลกระทบมหาศาลกับเรา เพราะจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ฉะนั้น การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นโดยเร็ว จึงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเดิมก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่มีครั้งไหนที่ลงปีเดียวแล้วขึ้น

วัฏจักรที่ผมเคยเห็นมี 2 รอบ เช่น วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 ในปี 2520 ในยุคนั้น หลังออยล์ช็อก ครั้งที่ 2 เศรษฐกิจก็ซบเซาเรื่อยมา ราคาข้าว ยาง และมันสำปะหลังตกต่ำหมด ต้องปิดไฟตอนกลางคืน เราขาดแคลนเงินตรา และตกต่ำเรื่อยมา วิกฤตครั้งนั้นต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เศรษฐกิจจึงจะฟื้น รอบนี้คงไม่ต่างกันนัก ต่างเพียงเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศที่ค่อนข้างแข็งแรงและมั่นคง แต่เรื่องการผลิต เรื่องรายได้ประชาชน การบริโภค และหนี้ในครัวเรือน คล้ายกัน

ขณะนี้หนี้ครัวเรือนสูงมากในรอบหลายปี จึงคืบคลานไปเกิดปัญหากับ สถาบันการเงิน คำถามคือ จะหยุดสิ่งที่เราเห็นว่ามันกำลังจะเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่? คำตอบคือ “ไม่ได้” เพราะประเทศไทยผลิตเกินความต้องการใช้เอง ที่มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์พึ่งการส่งออก ถ้าการส่งออกมีปัญหา เช่น ดีมานด์ของโลกลดลง หรือเศรษฐกิจโลกอ่อนตัวลง สิ่งที่เราจะทำได้เพื่อป้องกันตนเอง คือ “ลดค่าเงินบาท” ค่าเงินบาทต้องอ่อนลงเพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกได้เงินชดเชยจากการตกต่ำของเวทีการค้าระดับโลก

สังคมเราแปลก ใครพูดว่าเศรษฐกิจไม่ดี ถูกด่า ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไร และก็ “ไม่เอา ไม่เชื่อ” ถ้าคนนี้พูด ถ้าคนนั้นพูด ถูกใจ “เอา” เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะเสนอนโยบายที่ถูกต้อง ที่ประคับประคองเศรษฐกิจได้ ก็ไม่มี จึงลามมาที่ปัญหาการเมือง ซึ่งเป็นพฤติกรรมการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่พฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมืองส่วนน้อย

การที่มีรัฐบาลเผด็จการทหารจะทำให้รัฐบาลกับประชาชนเหินห่างกัน เพราะรัฐบาลทหารจะประกอบด้วยรัฐมนตรีที่เป็นเทคโนแครต ที่ไม่จำเป็นต้องสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน ต่างจากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ที่ถูกกดดันจากประชาชนรากหญ้าอยู่เสมอ

ผมเชื่อว่าในระยะยาวเราหนีไม่พ้นที่จะต้องอยู่ในกรอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในระยะสั้นก็จะมีความหยุดชะงักบ้าง แต่นานไม่ได้ ครั้งนี้เป็นการหยุดชะงักของประชาธิปไตยที่นานมาก เกินกว่าที่คาด การลุกฮือขึ้นของนิสิต นักศึกษา และนักเรียนมัธยม จะเป็นจุดเริ่มต้นการแสดงออกของความอัดอั้นตันใจ ในการที่เขารู้สึกถูกกดดันเรื่องสิทธิเสรีภาพ เขาดูทีวีเห็นประเทศอื่นๆ ที่เจริญในทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้เขารู้สึกอิจฉา รู้สึกมีปมด้อยจากการเป็นนักเรียนนักศึกษาของประเทศไทย ที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ที่มีผู้นำของประเทศออกมาก่นด่าประชาชน ขณะนี้ถึงจุดที่ผมคิดว่า ถ้าหากไม่รีบถอยออกไป ในอีกปี 1-2 คงจะถึงจุดระเบิด

มีคนถามว่าจะให้ถอยอย่างไร ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีหมดบุญแล้ว ขืนอยู่ต่อไป นายกรัฐมนตรีคือตัวปัญหาของประเทศ เป็นตัวปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ตราบใดที่นายกรัฐมนตรีไม่มีความชอบธรรมในการอยู่ตำแหน่ง เพราะการได้มาซึ่งอำนาจของท่านไม่ชอบธรรม สิ่งเหล่านี้ทับถมมาเรื่อยๆ อย่างที่ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นอาจารย์ของพวกเรา บอกว่า เหมือนปลากระป๋องที่เอาไปตั้งอยู่บนไฟแล้วไม่ได้เจาะรูให้หายใจ วันหนึ่งกระป๋องจะต้องระเบิด ซึ่งขณะนี้ผมเห็นสัญญาณแล้วว่า มันจะระเบิดในระยะเวลาไม่นานนี้

ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญหลายคนบอกว่าสถาปนิกอยากให้เกิดสภาวะเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พยานหลักฐานบุคคล ในระดับชั้นต้นอย่างอาจารย์ มองอย่างไร ?

ผมไม่แน่ใจว่าเป็นสถาปนิกจอมปลอมหรือไม่ ด้วยเหตุที่เราดึงระบอบการปกครอง และกฎหมายให้เลวร้ายกว่าสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียอีก เพราะในสมัยนั้นท่านยึดอำนาจและสถาปนาระบอบเผด็จการ แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านไม่ได้แตะต้อง คือ ระบอบกฎหมาย การทำปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับสิ่งที่เราเคารพนับถือในระบอบนิติธรรมมาช้านาน เป็นเรื่องที่ร้ายกาจ และนักกฎหมายโดยเฉพาะนักกฎหมายมหาชน ไม่ควรจะยอม ควรจะคัดค้าน มันขัดกับความรู้สึกของเรา ไม่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่เหมือนทิ้งเชื้อโรคให้กับระบอบกฎหมายของเรา เป็นอุสรรคอย่างมากในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยต่อไป

ขณะนี้พยายามจะนึกไปถึง พล.อ.เปรม อย่าลืมว่าปัญหาของชาติขณะนั้นต่างกัน ตอนนั้นปัญหาสำคัญที่ต้องเผชิญหน้า คือ การล้มลงของประเทศอินโดจีน และปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ปัญหาเรื่องสงครามการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน ตามมาด้วยปัญหาการจะล้มละลายของเศรษฐกิจไทย การขาดดุลอย่างมากจนกระทั่งไม่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงต้องเข้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศไอเอ็มเอฟ และอีกด้าน คือ ปัญหาเรื่อง สงครามเย็น ซึ่งโชคดีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างเวียดนาม กับ จีน เป็นเหตุให้เราได้ใช้ประโยชน์ออกมาตรการ 66/23 ซึ่งเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะคนละสถานการณ์ ขณะนี้ไม่มีปัญหาอย่างที่ยุค พล.อ.เปรม ประสบ แต่เป็นปัญหาเรื่องการจะรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย โลกเดินไปข้างหน้าแล้ว เราไม่ได้หยุดอยู่กับที่ แต่ย้อนกลับไปปี 2502 และหนักกว่า จะเป็นปัญหาสำคัญต่อไปในอนาคต

มีข้อสังเกตว่าในยุค พล.อ.เปรม “เทคโนแครต” หรือข้าราชการที่เป็นนักวิชาการ มีบทบาทในการกำหนดความเป็นไปทางเศรษฐกิจ การเมือง อีกด้านเป็นการประนีประนอมให้มีพลังอำนาจฝ่ายการเมืองภาคประชาชน มีการเลือกตั้ง เป็นศัพท์ที่รู้ทั่วกันว่า ประชาธิปไตยครึ่งไป แต่ในขณะเดียวกันข้าราชการก็มานั่งกำกับในวุฒิสภา ส่วนเงื่อนไขปัจจุบันคือ นอกจากฝ่ายการเมืองจะถูกผู้นำการเมืองทำลายเป็นรุ่นๆ ข้อสังเกตอีกประการ คือ ในยุคคุณทักษิณ ชินวัตร ใช้ทีมที่ปรึกษาภาคประชาชน ย้อนไปสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็มีทีมบ้านพิษณุโลก เป็นนักวิชาการนอกระบบราชการ เพื่อเป็นที่ปรึกษา ซึ่งมีอิสระพอควร แต่ยุคนี้แตกต่างกันอย่างไร?

การพัฒนาทางการเมืองตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม เกิดหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยกลุ่ม ยังเติร์ก รุ่น 7 ที่สามารถยึดอำนาจได้ และผลักดันให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นมาเป็นนายกฯ ต่อมามีปัญหากัน พวกยังเติร์กจึงเอา พล.อ.เกรียงศักดิ์ลง และเอา พล.อ.เปรมขึ้นมาแทน ในระยะแรกก็มีปัญหา กับ พล.อ.เปรม เพราะ พล.อ.เปรม ไม่ได้มีอิสระจากนายทหารยังเติร์ก รุ่นนั้น จนท่านถูกบังคับให้ทำปฏิวัติอีกรอบ ในที่สุดมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.เปรมพูดเสมอว่า “ท่านเป็นผู้รักษาระบอบรัฐสภา” แม้ว่าท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรี ในระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ เพราะมีวุฒิสภาคอยประคับประคองอยู่เบื้องหลัง แต่มีจุดหมายแน่นอนว่าท่านจะไปสู่ระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง และท่านก็มีความหวังว่าพรรคการเมืองจะนำพาประเทศชาติไปได้อย่างสงบเรียบร้อย เมื่อพรรคชาติไทยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนมากที่สุด จึงเป็นแกนนำ 1 ใน 5 พรรค ลงชื่อเสนอท่านเป็นนายกฯ ท่านก็ตอบว่าท่านพอแล้ว เพราะคิดว่าระบอบรัฐสภาที่ท่านประคับประคองมา 8 ปี น่าจะเข้มแข็งพอที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้แล้ว ความจำเป็นดำรงนายกฯ ต่อไปก็ไม่มี ไฟสงครามเย็นได้มอดลงแล้วจากการคุกรุ่นอย่างยิ่งสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกฯ ท่านเปลี่ยนนโยบาย “ใช้การเมืองนำหน้า การทหารมาทีหลัง” จึงเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยสามารถออกมาอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์จบลงในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีในขณะนี้ ขณะนี้เป็นการยึดอำนาจเพื่ออำนาจของตนอย่างแท้จริง ไม่มีเป้าหมายทางการเมือง หรือเศรษฐกิจ ในการใช้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ เพื่อดำเนินการไปสู่จุดนั้น ที่ร้ายที่สุด คือการใช้ “ระบอบเผด็จการโดยกฎหมาย” ซึ่งรุนแรงกว่าระบอบเผด็จการโดยปากกระบอกปืนเป็นไหนๆ”

แม้จะไม่เหมือนกรณีทุ่งใหญ่เสียทีเดียว แต่ก็มีลักษณะหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ความมุ่งหวังของสังคม ชนชั้นกลาง และล่าง ในการนำประเทศชาติไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ระบอบประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้ระหว่างคนส่วนใหญ่กับคนส่วนน้อย ที่คนส่วนน้อยซี่งคุมอำนาจรัฐมักจะชนะเสมอ ชนะผ่านการเลือกตั้งไม่ได้ ก็ชนะผ่านการปฏิวัติรัฐประหาร คนส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้รัฐสภาในการต่อรอง ทำให้เกิดความคับแค้นใจ คงไม่แปลกใจหากประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยจากปี 12 มา 14 และ 16 ซึ่งหลายๆ ประเทศมักซ้ำรอยอยู่เสมอ เพราะเหตุปัจจัยไม่ได้เปลี่ยน เพียงแต่คนละรุ่น อาจเปลี่ยนไปในแนวรุนแรง หรือเบาบางลง เพราะสถานการณ์ของโลกขณะนี้มุ่งไปทางประชาธิปไตย แม้แต่ประเทศที่ปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ก็ยังต้องเปิดกว้างกว่าเดิม ไม่สามารถคงความเป็นคอมมิวนิสต์แบบปิดอย่างเดิมได้ แต่เรากำลังย้อนไปสู่อีกทวิภพหนึ่ง

กราฟิกโดยหนังสือพิมพ์ ‘มติชน’ รายวัน ระบุว่า เด็กอายุ 20 ปี ในวันนี้ ผ่านอะไรมาบ้าง เมื่อย้อนกลับไป เด็กรุ่นนี้เกิดยุค คุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี โตในยุคคุณทักษิณเป็นนายกฯ เห็นสงครามการเมืองของเสื้อสี ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกหลังไม่ได้เลือกตั้งมา 5 ปี คนรุ่นนี้จะเคลื่อนตัวไปเป็นก้อน ปัจจุบัน 9.5 ล้านคน ซึ่งในอีก 3 ปี ข้างหน้าจะเป็น 50% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทย มองอย่างไร?

พูดถึงคนรุ่นใหม่ ผมนึกถึงสมัยที่เรียนหนังสือ ขณะเรียนอยู่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทุกอย่างถูกปิดกั้น ทีวี วิทยุ เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่อินโดจีน และที่่อื่นๆ หลังจากได้รับทุนไปเรียหนังสือที่ สหรัฐอเมริกา ตกใจ มีการเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนามโดยนักศึกษาอเมริกัน มีการต่อต้านกรณี “มายาเกซ” มีการสนับสนุนคิวบาที่ไล่จับอเมริกันที่ไปตั้งจรวดอยู่ที่นั่น จนออกเป็นข่าวใหญ่โต แต่เราเป็นนักศึกษาไทยไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้ ขณะอยู่ที่นั่น กระแสลมของฝ่ายซ้ายพัดแรงมาก นักศึกษาอเมริกาเป็นซ้ายหมด ซื้อหมวกดาวแดงมาใส่ แต่พอเรียนจบกลับมาเมืองไทย ปิดข่าว มีแต่ข่าวนายกฯ ไปเปิดงาน แถลงผลงานที่นู่นที่นี่ สมัยนั้นมีทีวีช่อง 4 สถานีวิทยุมีประเภท “ยานเกราะ” เป็นหลัก สร้างความคับแค้นใจอย่างมาก สำหรับเด็กอย่างผมที่เพิ่งกลับมาจากอเมริกาสดๆ ร้อนๆ ปี 2515 เมื่อมีการขบวนการเซ็นชื่อคัดค้านต่างๆ ทั้งสงครามเวียดนาม เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ก็ไปเซ็นชื่อด้วย จึงเข้าใจนักเรียนนักศึกษาที่อัดอั้นตันใจขณะนี้ ก็คงเหมือนกับตอนที่ผมเป็นนักศึกษาอยู่ที่อเมริกา อายุน่าจะใกล้เคียงกัน สมัยนี้ปิดกั้นไม่ได้ เพราะมียูทูบ มีโซเชียล สมัยก่อนต้องไปถึงต่างประเทศจึงจะได้ข่าวที่แท้จริง จึงจะได้รู้ว่าเรื่องในประเทศไทยเป็นเรื่องโกหกทั้งนั้น ทำให้เกิดความตื่นตัว

เมื่อผมเปิดฟังที่นักเรียนนักศึกษาพูดกัน ทำให้ความรู้สึกสมัยหนุ่มๆ กลับขึ้นมาใหม่


การเมืองของคนรุ่นใหม่กับนาฬิกาที่ไม่มีใครซื้อ

“ความจริงอยากล้ออาจารย์โกร่ง เล่นๆ ว่าวันนี้ถ้าป๋าอยู่ ป๋าตัดสินใจลงแล้วนะ” คำกล่าวจากปาก ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณัมหาวิทยาลัย นักวิชาการไทยเลื่องชื่อโดยเฉพาะด้าน ‘การทหาร’ บนเวทีเดียวกันกับ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ‘อาจารย์โกร่ง’ ที่ปรึกษา ‘ป๋าเปรม’ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเสวนา “อนาคตการเมืองไทย หลังยุบพรรคในยุด covid-19” เมื่อวันที่ 5 มีนาคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้ติดตามผ่าน ‘เฟชบุ๊กไลฟ์’ จากสื่อค่ายต่างๆ อย่างลันหลาม

“ยุคนั้นท่านนายกฯ เปรมอ่านเกมออก แล้วตัดสินใจลง แต่วันนี้เมื่อไม่มีเงื่อนไขความกดดันจากสงครามคอมมิวนิสต์ ไม่มีแรงกดดันอะไรเลย เพราะชนชั้นกลางก็อยู่กับชนชั้นกลางที่เป็นปีกขวา หรือที่เรียกว่าชนชั้นกลางปีกอนุรักษ์ กลุ่มทุนใหญ่ไม่ต้องพูดเลย

โจทย์ใหญ่ในยุค พล.อ.เปรม คือสงครามคอมมิวนิสต์ แต่ผมสงสัยว่าพอสมครามดังกล่าวจบ โจทย์ใหญ่ของผู้นำทหารปัจจุบันเป็นสงครามการเมือง กล่าวคือยุคนายกฯ เปรมมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเป้าหมายหลัก ศัตรูหลัก แต่ในสงครามการเมืองชุดนี้สำหรับผู้นำทหารมีพรรคการเมืองและนักการเมืองเป็นศัตรูหลัก ดังนั้น วิถีทางแบบนี้ คำตอบตอบง่าย คือ ขับเคลื่อนด้วยมาตรการทุกอย่าง

ถ้าย้อนกลับไปในยุคที่ พล.อ.เปรมยังอยู่ สงครามคอมมิวนิสต์ยังแรง ผมว่าทหารไทยทำอย่างงี้ไม่ได้ ถ้าเป็นยุคนั้นทำอย่างนี้ คนเข้าป่า และอาจจบเร็วกว่านี้ เชื่อว่าวันนี้ถ้าชนชั้นนำหรือผู้นำที่มีอำนาจทางทหารและปีกพลเรือนสายอนุรักษนิยม รวมทั้งปีกขวาจัดทั้งหลาย ถ้ายังมีสติ ต้องตั้งหลักวิธีคิดใหม่ บทเรียนปี 2519 ยังอยู่ บทเรียนท่านนายกฯ เปรม ที่เราตัดสินใจว่ารัฐบาลไทยต้องปรับยุทธศาสตร์และนโยบายใหญ่
ที่สุดคือทรรศนะของผู้นำรัฐบาล ไม่อย่างนั้นเอาชนะสงคราม พคท.ไม่ได้ แต่วันนี้เมื่อไม่มี พคท.แต่มี พ คือพรรค และการเป็นพรรคการเมือง ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์” ศ.ดร.สุรชาติอธิบาย

อีกประเด็นไม่เอ่ยถึงไม่ได้ คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งนักวิชาการและภาคประชาชนโหมขับเคลื่อนให้เร่งแก้ไขอย่างไม่ละลด

“ผมเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าฉบับไร้ชัย คนร่างชื่ออะไรไม่รู้ รู้แต่ว่าผมเรียกฉบับไร้ชัย เพราะไม่มีทางชนะ และเป็นรัฐธรรมนูญที่กำลังสร้างปัญหา การเปลี่ยนผ่านไม่มีทางเดินต่อ เมื่อเปรียบเทียบกับนายกฯ เปรม ป๋าไม่ได้มีพรรคการเมือง ป๋าไม่ลงมาเล่นขนาดนี้ วุฒิก็ไม่มีอำนาจขนาดนี้ แต่พอปัจจุบันมันออกแบบแล้วมาหยุดกลางทาง แบบนี้สงสัยว่ามันค่อนไปทางเผด็จการ ขอใช้ศัพท์ทางวิชาคือ เป็นระบอบกึ่งอำนาจนิยม
หรืออำนาจยมครึ่งใบ หรือใช้กาษาย้อนนายกฯเปรม ปัจจุบันคือระบอบเผด็จการครึ่งใบ

ผมว่าวันนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมหรือบรรดาปีกขวาคิดเหมือนคนย้อนโลก สงสัยว่าปีกขวาไทยทำธุรกิจขายนาฬิกาไม่ได้ เพราะนาฬิกาที่ฝ่ายขวาไทยขายเป็นนาฬิกาถอยหลังกับนาฬิกาที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งนาพิกาทั้งสองชนิดนี้ไม่มีคนซื้อ คนซื้อนาฬิกาเพราะมันหมุนไปข้างหน้า สังคมไทยหรือสังคมโลกก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่เราเห็นรอบหน้าเชื่อเลยว่าวันนี้เห็นน้องๆ นักเรียนลงเวทีม็อบแล้วคิดว่า อาจมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับตัว
แบบฮ่องกงแน่ๆ

ที่น่าสนใจคือการเมืองในอนาคตเป็นการเมืองของคนรุ่นใหม่มากขึ้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image