ฟังความ 2 ด้าน หั่นเขตโบราณสถาน ‘เขายะลา’ เมื่อแผลเก่าตามหลอกหลอน

ถ้าไม่นับโควิด-19 และสถานการณ์การเมืองอันร้อนแรง ก็ไม่มีข่าวใดทำคะแนนแซงประเด็นร้อน “ภาพเขียนสีเขายะลา” ไปได้ เมื่อโลกออนไลน์เปิดเผยประกาศกรมศิลปากร เรื่องแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานเขายะลา แหล่งภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์อายุหลักพันปี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลลิดล และตำบลยะลา อ.เมือง จ.ยะลา โดยหั่นพื้นที่จาก 887 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา ตามประกาศเดิม เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2544 เหลือเพียง 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยให้เหตุผลตามปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าเพื่อผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินในการทำอุตสาหกรรม ที่ถูกสังคมตีความว่า “เอื้อประโยชน์” ต่อการทำเหมืองหิน ประกาศดังกล่าวยังอ้างเหตุผลด้าน “ความมั่นคง” ที่สร้างความมึนงงว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร

นำไปสู่การนัดหมายป้ายประท้วงหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา โดย “เครือข่ายประชาชนปกป้องยะลา” จี้ภาครัฐให้เพิกถอนประกาศกรมศิลปากรฉบับดังกล่าว พร้อมยื่น 4 ข้อเรียกร้อง อีกทั้งขีดเส้นตาย 1 สัปดาห์ ทำ “งานเข้า” อธิบดีกรมศิลปากรคนปัจจุบัน นาม “ประทีป เพ็งตะโก” คนละคนกับ “อนันต์ ชูโชติ” ผู้ปรากฏชื่อลงนามในเอกสารเมื่อ 30 กันยายน 2562 “วันสุดท้าย” บนเก้าอี้อธิบดีกรมศิลปากร

รุ่งขึ้น กรมศิลปากรจัดทำคำชี้แจงพร้อมแนบแผนที่เขตโบราณสถาน ไม่เพียงเท่านั้น ยังรีบแอ๊คชั่นด้วยการนัดคุยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 11-12 มีนาคมนี้ คือ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ กมธ.ด้านที่ดิน แน่นอนว่าต้องมีหน่วยงานด้าน “ความมั่นคง” ร่วมวงด้วย

สถานการณ์นี้ดูเผินๆ อาจคล้ายคลึงข่าวเก่าๆ ที่เห็นผ่านตาในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งไม่ได้เกินความคาดหมายในประเด็นความขัดแย้งระหว่างกรมศิลปากรกับชาวบ้าน ด้วยลักษณะงานที่ต้องเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ คล้ายลิ้นกับฟันที่กระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ทว่า สิ่งที่แตกต่างจากวันวานคือการมาถึงของยุคข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้สิทธิของประชาชน คำว่า “ศิโรราบ” ต่ออำนาจรัฐ จึงค่อยๆ ถูกลบจากพจนานุกรมการต่อสู้ภาคประชาสังคม

Advertisement

ท้องถิ่นคาใจ ไม่เคยคุย ‘ประชาชน’
อ้างขาดแคลนหิน-ความมั่นคง ‘ฟังไม่ขึ้น’

“การอ้างว่าเพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ขอเรียนว่า

พื้นที่โบราณสถานดังกล่าวเป็นพื้นที่โบราณสถานที่สำคัญ และอาจเป็นพื้นที่ทางโบราณคดีผืนใหญ่ผืนสุดท้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระเบิดภูเขาในเขตโบราณคดีเพื่อสนองทุนอุตสาหกรรม”

คือคำกล่าวของ วรา จันทร์มณี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องยะลา เมื่อครั้งเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการ วธ. และพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร รับเรื่องแทน

Advertisement

วรายังระบุว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 17 ว่าพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงเห็นได้ชัดเจนว่า การแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานล่าสุดเป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อทุนที่จะมาทำอุตสาหกรรมเหมืองหิน ทั้งๆ ที่พื้นที่จังหวัดยะลายังมีภูเขาอีกมากมายที่ไม่ได้เป็นพื้นที่โบราณสถาน และไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่หวงห้าม

อีกประเด็นสำคัญที่ตัวแทนเครือข่ายกล่าวถึง คือการไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ไม่แม้แต่การที่จะดำเนินการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อเขตโบราณสถาน ต่อชุมชน ต่อประชาชน และต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับข้อมูลจากปาก โกมุท มอหาหมัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านยะลา ที่ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ในภายหลังว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานใดทำประชาพิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวมาก่อน ทั้งที่โบราณสถานเขายะลาคือพื้นที่ซึ่งชาวบ้านหวงแหน

สมบูรณ์ คำแหง อีกหนึ่งตัวแทนเครือข่ายประชาชน ยังขยี้ปมโดยหยิบยกแง่มุมทางกฎหมายที่ว่า หลังจากที่กรมศิลปากรออกประกาศฉบับนี้ บริษัททำเหมืองแร่สามารถยื่นขอสัมปทานได้ทันที เพราะถือว่าพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเขตโบราณสถานอีกต่อไป สิ่งที่เครือข่ายต้องการอย่างเร่งด่วนคือ อยากให้กรมศิลปากรยกเลิกคำสั่งนี้ เพราะถ้าไม่ทำ ภูเขาลูกนี้จะถูกขอทำสัมปทานเหมืองแร่และจะไม่สามารถนำกฎหมายฉบับไหนไปล้มล้างได้ เนื่องจากบริษัททำตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว โดยทางกลุ่มอาจจะฟ้องร้องกรมศิลปากรได้ เพราะกรมศิลปากรอาจจะเข้าข่ายทำหน้าที่เกินที่ พ.ร.บ.เหมืองแร่ กำหนดไว้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าถ้าค้นพบแหล่งโบราณสถาน ไม่สามารถประกาศเป็นแหล่งการทำเหมืองแร่ได้

ยังไม่นับอีกหนึ่งปม “คาใจ” ที่ว่าเหตุใดอธิบดีกรมศิลปากรคนก่อนจึงตัดสินใจลงนามออกประกาศในวันสุดท้ายของการปฏิบัติราชการ หันดูกระแสโซเชียลก็ร่วมลงชื่อคัดค้านผ่านเว็บไซต์ change.org แม้ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่ลงนามในฐานะคนไทยที่มีใจอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ

กรมศิลป์แจง ไม่ใช่ ‘เพิกถอน’ แหล่งโบราณคดี
ยืนยันไม่กระทบภาพเขียนสี

ตัดภาพมาที่ฟากฝั่งกรมศิลปากร ที่ร้อนถึง ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีหมาดๆ ออกมาชี้แจงข้อมูลบางประการ ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ชาวเน็ต” ส่วนหนึ่งเข้าใจผิดไปว่าประกาศดังกล่าวคือการ “เพิกถอน” ภาพเขียนสีเขายะลาออกจากการเป็นโบราณสถาน โดยบริษัทเหมืองแร่สามารถระเบิดภาพเขียนสีทิ้งได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย แต่ที่จริงแล้ว ประกาศที่ว่านี้คือการประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานโดยรอบภาพเขียนสีเขายะลา โดยภาพเขียนสีเขายะลายังคงสภาพเป็นโบราณสถานเหมือนเดิม และได้รับการปกป้องตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504

อธิบดีกรมศิลป์ยังอธิบายด้วยว่า นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนพื้นที่โบราณสถานให้เป็นแหล่งสัมปทานเหมืองหิน เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งสัมปทานเดิมอยู่ก่อนแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ก่อนที่จะมีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งภาพเขียนสีแต่อย่างใด

ส่วนกระแสข่าวการสัมปทานแร่หินในบริเวณใกล้เคียง มีผลทำให้ภาพเขียนสีเขายะลาเสียหายไปแล้วหนึ่งจุดนั้น ผลจากการตรวจสอบ โดยสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 1 สงขลา พบว่าการพังทลายดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2551 จากรอยเลื่อน และการกัดเซาะของน้ำใต้ดิน ทำให้รอยแตกขยายกว้างขึ้น ประกอบกับบริเวณเชิงเขามีลักษณะเป็นโพรง รวมถึงการทำเหมืองในอดีตด้วยวิธีแบบโบราณที่มีมาก่อนการให้ประทานบัตร ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมการพังทลาย โดยไม่เกี่ยวข้องกับสัมปทานเหมืองหินที่อยู่โดยรอบ

และสุดท้าย เหตุผลการประกาศแก้ไขเขตที่ดินมีที่มาจากการ “ขอความร่วมมือ” ของหน่วยงานภาครัฐ ถึง 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี 2.ศูนย์อำนวยการบริหารส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม 4.จังหวัดยะลา 5.สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

“ในครั้งนั้นกรมศิลปากรพิจารณาแล้วเพื่อเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และความมั่นคงของประเทศ จึงพิจารณาให้ความร่วมมือ โดยการพิจารณาแก้ไขเขตพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งศิลปกรรมภาพเขียนสีเขายะลาแต่อย่างใด” อธิบดีกรมศิลป์ระบุ

ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ชีวิต และบริบททางโบราณคดี

จากคำชี้แจงของอธิบดีกรมศิลป์มีประเด็นสำคัญที่จริงๆ แล้วถูกตั้งคำถามมาก่อนหน้านั้น นั่นคือ ถึงแม้เขตโบราณสถานเดิมที่ถูกหั่นออกไป ไม่พบภาพเขียนสี หรือหลักฐานทางโบราณคดีเลยจริงๆ แต่ภาพรวมของภูมิทัศน์แหล่งโบราณคดีนั้นจะถือว่าถูกลดทอนความสำคัญลงไปหรือไม่ ดังข้อมูลที่ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดการประท้วงเสียด้วยซ้ำว่า เขายะลาถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์

“ผมไม่เคยไปที่นั่น รู้แต่ว่าเขายะลาเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญมาก ดังเห็นได้จากภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่พบตามเพิงผาตลอดภูเขา และที่สำคัญด้วยคือมีภาพโขลงช้างที่หาไม่ได้แล้วในภาคใต้และเป็นหลักฐานว่ายะลามีช้างมาแล้วช้านาน แถมยังเป็นช้างเลี้ยงอีกต่างหาก ดังนั้น ถ้ากำหนดอายุภาพเขียนพวกนี้ได้แน่นอน อาจจะเป็นหลักฐานการเลี้ยงช้างที่เก่าแก่มากเลย ดังนั้น จึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ”

แม้พอเข้าใจได้ว่าทำไมกรมศิลป์อาจต้องตัดสินใจ หรือจำใจ หั่นเขตโบราณสถานจากการขอความร่วมมือโดยหน่วยงานภาครัฐด้วยกันถึง 5 แห่ง แต่การระบุว่าการพิจารณาแก้ไขเขตโบราณสถานครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งศิลปกรรมภาพเขียนสีเขายะลานั้น เป็นประเด็นที่อาจต้องใส่เครื่องหมายคำถาม ทั้งยังชวนให้นึกถึงกรณีภาพสลักยุคทวารวดีในถ้ำพระโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเคยมีการคัดค้านการ “ระเบิดหิน” มาแล้วเมื่อปี 2559 เพราะห่วงเรื่อง “แรงสั่นสะเทือน” ที่อาจมีผลต่อภาพสลักดังกล่าว โดยครั้งนั้นนอกจากชาวบ้าน ก็มี รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ลงพื้นที่ปีนป่ายถ้ำ ออกโรงเน้นย้ำความสำคัญจนเป็นข่าวใหญ่ที่สังคมไทยหันมอง

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ในสังกัดเดียวกัน ซึ่งให้ความเห็นในประเด็นเขายะลานี้ว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่าหากมีแรงสั่นสะเทือนจากการทำเหมืองหินจะกระทบกับภาพเขียนสีหรือไม่ แต่หากมีการกั้นเขตไว้แล้วในตอนแรกก่อนที่มีการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าการกั้นเขตของนักโบราณคดีจะเป็นไปตามหลักวิชาการ คือระยะทางจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดีโดยตรง เมื่อมีการเปลี่ยนเขตใหม่ซึ่งลดขนาดเข้ามา เชื่อว่าจะต้องมีผลกระทบอย่างแน่นอนตามลักษณะที่ควรจะเป็น แต่ส่วนของรายละเอียดนั้นยังไม่แน่ใจ

ยังไม่นับ “ความรู้สึก” ของชาวบ้านในฐานะเจ้าของพื้นที่ ซึ่งกรมศิลปากรเองเน้นย้ำ เรียกร้อง ไปจนถึงตัดพ้อสังคมเรื่อยมาให้รัก หวงแหน เห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมในท้องถิ่น เมื่อเกิดสถานการณ์นี้ขึ้นย่อมถูกตั้งคำถามเป็นธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่มีการหารือหรือบอกเล่ากับชาวบ้านกระทั่งเอกสารถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องย้อนมาที่ข้อเรียกร้องของ วรา จันทร์มณี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องยะลา โดยมีประเด็นน่าสนใจที่ว่า ขอให้ “เร่งสำรวจและประกาศเขตที่ดินโบราณสถานในพื้นที่ภูเขาที่ตกค้าง โดยคำนึงถึงความเป็นย่านกลุ่มเขาแหล่งโบราณสถานโบราณคดีในภาพรวม” และ “ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องอนุรักษ์คุ้มครองแหล่งโบราณสถานโบราณคดี เพื่อให้เกิดการปกป้องคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

แผลเก่าเฝ้าหลอน ขาดสื่อสาร-ส่วนร่วมสังคม
เปิดปม ‘พ.ร.บ.โบราณสถาน’

แน่นอนว่า สถานการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดวิวาทะ ทว่า ตลอดระยะเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์การก่อตั้งกรมศิลปากรตั้งแต่วันแรก จนถึงวันนี้ที่จะครบรอบ 109 ปี เตรียมพร้อมแต่งไทยเฉลิมฉลอง ก็มีปมปัญหามากมายให้อธิบดีและข้าราชการกรมศิลป์ต้องแก้ไขชี้แจงกันเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นเพนียดคล้องช้าง พระนครศรีอยุธยา ที่แม้มีหลักฐานชัดเจนว่ากรมศิลป์บูรณะถูกต้อง แต่ขัดแย้ง “ภาพจำ” ที่คุ้นเคย, พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่ถูกมองว่าซ่อมมาซ่อมไปทำไมขาวโพลน ต้องเปิดแถลงชี้แจงกันขนานใหญ่ ตบท้ายด้วยเสวนาและนิทรรศการที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ยืนยันว่าก่อนบูรณะมีการศึกษาอย่างดี แต่สิ่งที่พลาดตามการวิเคราะห์ของนักวิชาการหลายรายซึ่งเห็นตรงกัน ก็คือการไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชน แม้ในช่วงหลัง เห็นได้ชัดว่ากรมศิลปากรปรับตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อาจยังไม่เพียงพอ

และกรณีเขายะลาก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ต้องจดจารไว้ในรายการข้อขัดแย้ง ซึ่งแม้ที่ผ่านมาดูเหมือนมี “บทเรียน” มากมาย แต่ไม่วายเกิดซ้ำ ไม่ว่าจะเกิดจากทัศนคติเดิม หรือจากปัจจัยอื่นใด แต่แผลเก่าในด้านขาดการสื่อสารและเปิดให้สังคมมาส่วนร่วมก็ยังวนเวียนมาหลอกหลอน ไม่เพียงกรมศิลปากร หากแต่รวมถึงหน่วยงานภาครัฐเกือบทั้งหมด

เราจึงเห็นความขัดแย้งในการก่อสร้าง “ทางเลียบเจ้าพระยา” ที่สุดท้ายถึงขั้นขึ้น “ศาลปกครอง”

โครงการก่อสร้างทางเลียบเจ้าพระยา

สำหรับประเด็นกฎหมาย มีข้อมูลและความเห็นน่าสนใจจากรายงานเรื่อง “ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504” โดย บัณฑิต ถึงลาภ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมหลักสูตรผู้พิพากษาผู้บริหารในศาลชั้นต้น รุ่นที่ 14 ของวิทยาลัยข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2558

รายงานดังกล่าวศึกษาความขัดแย้งระหว่างกรมศิลปากรกับท้องถิ่นในแง่มุมกฎหมาย โดยระบุว่า พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ พ.ศ.2504 ใช้บังคับมาค่อนข้างนาน ไม่ค่อยได้รับการปรับปรุงแก้ไขเท่าที่ควรเป็น บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ให้อำนาจอธิบดีกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตโบราณสถานที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเนืองๆ นอกจากนี้ การผ่องถ่ายอำนาจหน้าที่การอนุรักษ์ การจัดการโบราณสถานจากกรมศิลปากรไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ยังไม่มีความชัดเจน เพราะติดขัดทั้งในแง่กฎหมาย และการบริการจัดการ ซึ่งควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ข้อความตอนหนึ่ง ว่า

“(พ.ร.บ.โบราณสถาน 2504 แก้ไขเพิ่มเติม 2535) ให้อำนาจอธิบดีกรมศิลปากรในลักษณะผูกขาดความเป็นโบราณสถานและการอนุรักษ์บริหารจัดการโบราณสถานไว้แต่เพียงผู้เดียว ข้าราชการส่วนใหญ่ในกรมศิลปากรมองว่าตนเองเป็นผู้มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญในการอนุรักษ์บริหารจัดการโบราณสถาน ประชาชนทั่วไปไม่มีความรู้ หรือรู้น้อยกว่าตน จึงไม่พร้อมที่จะรับแนวคิดใหม่ๆ โดยเฉพาะการอนุรักษ์และการบริหารจัดการโบราณสถานสมัยใหม่ และไม่พร้อมที่จะเปิดกว้างให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ…”

บัณฑิต ถึงลาภ ยังสรุปไว้ในตอนท้ายของรายงาน โดยเน้นย้ำประเด็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นประเด็นที่พูดกันมานานแสนนานจนแทบกลายเป็นนิทานปรัมปรา

ส่วนปมร้อนเขายะลาจะจบอย่างไร ต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image