สุวรรณภูมิในอาเซียน : ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ วาทกรรมระบอบเก่า ต่อต้านระบอบใหม่

อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จ.มหาสารคาม สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2477 เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกขอประเทศสยาม ภาพจาก คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และพิมพ์เอกสารการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2500, จังหวัดมหาสารคาม งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (พระนคร : โรงพิมพ์อุดม, 2500)

“ยังไม่พร้อม” และ “ชิงสุกก่อนห่าม” เป็นวาทกรรมระบอบเก่าต่อต้านระบอบใหม่ของผู้รู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวต่อการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ตราบถึงทุกวันนี้

เสรีภาพ หรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมสู่สิ่งที่ดีกว่า หรือก้าวหน้ากว่า มักถูกผู้มีอำนาจขณะนั้นอ้างว่าต้องค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้สังคมมีความ “พร้อม” เสียก่อน แต่ไม่บอกว่าความ “พร้อม” ดูจากอะไร? แค่ไหน? กำหนดอย่างไร ฯลฯ

ซึ่งเท่ากับสรุปกลายๆ ว่าแท้จริงแล้วกำหนดไม่ได้หรอกความ “พร้อม” ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่ความพอใจของผู้มีอำนาจเท่านั้นว่า “อยากอยู่ยาว” มากหรือไม่? ขนาดไหน?

เหมือนจะบอกว่าอย่าชิงสุกก่อนห่าม เมื่อถึงเวลาจะได้เอง แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะมีเสรีภาพ หรือเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่า ก้าวหน้ากว่า เรื่องนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยสรุปว่า

Advertisement

“ชิงสุกก่อนห่าม” เป็นข้อกล่าวหาเมื่อเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบอบเก่าลงแล้ว ซึ่งไม่ได้มีที่ไทยเท่านั้น แต่มีเหมือนกันหมดทุกแห่งในเอเชียที่ระบอบเก่าถูกล้มล้าง

ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากความเข้าใจผิดในยุคสมัยนั้น ว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นผลจากการกระทำหรือไม่กระทำของผู้มีอำนาจปกครอง หรืออย่างน้อยผู้มีอำนาจปกครองเป็นตัวกระทำสำคัญที่สุด

แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าใครจะคาดได้ว่าทำอะไรหรือไม่ทำอะไรแล้วจะทำให้อะไรเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน

Advertisement

[นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกไว้ในบทความเรื่องปฏิรูปจากข้างบนหรือข้างล่าง ใน มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ 2563]

‘เทอด’ รัฐธรรมนูญในอีสาน

พื้นฐานความรู้มีไม่พอ ผมจึงรับมาบางส่วนของการแบ่งปันข้อมูลและความรู้จาก ราษฎรธิปไตย ของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ หนังสือ “คืนความทรงจำ”, “คืนลมหายใจ”, “คืนอนาคต” ให้สังคมไทย (สรุปจากคำนิยมของ ณัฐพล ใจจริง)

ถึงกระนั้นก็กระตุกและกระตุ้นให้ต้องตระเวนเสาะหาอนุสาวรีย์ “เทอด” รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่มหาสารคามถึงร้อยเอ็ดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


 

ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2562 ราคา 390 บาท

อาจารย์ศรัญญูไม่เพียงเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ ตามหาเศษเสี้ยวแห่งความหมายของการปฏิวัติ 2475 ที่ตกหล่นหายไปจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติและห้องหนังสือหายากเท่านั้น

แต่เขาตามรอยวัตถุพยานแห่งยุคสมัยที่แอบซ่อนตามร้านหนังสือซาเล้งที่รับซื้อหนังสือตามบ้านคน, ร้านแบกะดินริมถนน, ตลาดหนังสือออนไลน์, ร้านขายของเก่า, ร้านขายของสะสม, และตระเวนไปตามสถานที่จริงที่อนุสาวรีย์ต่างๆ ตั้งอยู่ หรือเคยตั้งอยู่ รวมทั้งการเข้าร่วมงานบุญที่ครอบครัวของสมาชิกคณะราษฎรทำบุญแก่บรรพบุรุษเพื่อพูดคุยและขอสัมภาษณ์

เขาแสวงหาหลักฐานอย่างกว้างขวาง และใช้เวลารวบรวมหลักฐานเป็นเวลายาวนาน ดังนั้น นักอ่านผู้สนใจในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่จะเห็นถึงหลักฐานใหม่ที่แทบไม่เคยปรากฏตัวมาก่อน

ดังนั้น ความกว้างขวางรอบด้านของการใช้หลักฐานของเขา เป็นการเปิดพรมแดนความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่เป็นคุณต่อสังคมและประชาธิปไตยไทยอย่างไม่ต้องกังขา และแน่นอนว่างานเขียนของเขาย่อมวางอยู่บนความทรงจำร่วมของชุมชนที่เห็นคุณค่าของการปฏิวัติ 2475 ว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งในอดีตที่อำนวยให้เกิดความเท่าเทียมกันแก่สังคมไทย อันเป็นคุณค่าที่ควรแก่การจดจำเช่นกัน

คำนิยม ของ ณัฐพล ใจจริง

 


คนอีสานจัดการตนเอง

คนอีสานจัดการตนเองเป็นรากฐานสำคัญของความตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตยในอีสาน

ส่วนมากคนอีสานต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แล้วร่วมกันจัดการตนเองในการทำมาหากินอย่างอิสระและเสรีตามธรรมชาติ เพื่อให้หลุดพ้นจากความหิวโหยลำบากยากแค้นแสนเข็ญบนพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร

ลักษณะเสรีอย่างธรรมชาติของคนอีสานมีให้เห็นเด่นชัดอย่างยิ่งในการแสดงหมอลำ ซึ่งเป็นอิสระจากจารีตประเพณีของหลวง หมายถึงไม่ถูกครอบงำและไม่ถูกควบคุมด้วยวัฒนธรรมลายกระหนกของคนชั้นนำลุ่มน้ำเจ้าพระยาหรือลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้เพราะเป็นพื้นที่แห้งแล้งซึ่งมีในประวัติศาสตร์หลายอย่างต่างจากท้องถิ่นอื่น ดังนี้

1. “นอก” อำนาจรัฐ มากกว่า 500 ปีมาแล้ว

สมัยนั้นอำนาจรัฐใหญ่อยู่ลุ่มน้ำโขงกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่เข้าไม่ถึงพื้นที่ตอนในของอีสานแห้งแล้ง และรกร้างว่างเปล่า เพราะคนดั้งเดิมโยกย้ายอพยพไปอยู่ที่อื่นซึ่งอุดมสมบูรณ์มากกว่า

2. “ห่าง” เทคโนโลยี ราว 200 ปีที่แล้ว

อำนาจรัฐใหญ่จากลุ่มเจ้าพระยากับลุ่มน้ำโขงพยายามเข้าถึงอีสานเพื่อควบคุมผู้คนและทรัพยากร แต่ผู้คนไม่มากและตั้งชุมชนกระจายห่างๆ บนพื้นที่แห้งแล้ง อำนาจรัฐจึงเข้าไม่ถึง แม้เข้าถึงบางแห่งก็ควบคุมไม่ได้ จึงมี “ผีบุญ” หลายแห่ง ต่อต้านอำนาจรัฐจากกรุงเทพฯ แต่ถูกเรียก “กบฏ” เป็นเหตุให้อีสานถูกปล่อยกลายเป็นดินแดน “ห่าง” เทคโนโลยีเป็นที่รู้ทั่วไป

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม สร้างเลียนแบบอนุสาวรีย์ที่เคยอยู่หน้าศาลากลางมหาสารคาม

รัฐธรรมนูญในอนุสาวรีย์ที่อีสาน
สำนึกใหม่หลังการปฏิวัตสยาม

“อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ” ผู้คนจำนวนมากคงนึกถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่ใจกลางถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว โดยมิได้ทราบเลยว่ายังมีอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญอีกจำนวนมากถูกสร้างกระจายอยู่ทั่วประเทศ และบางแห่งนั้นถูกสร้างขึ้นก่อนที่รัฐบาลคณะราษฎรจะมีแนวคิดในการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเสียอีก

ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 อันเป็นวันเดียวกันกับที่พระยาพหลพลพยุหเสนาประกอบพิธีฝังหมุด “ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” กลางลานพระราชวังดุสิต ยังได้มีการจัดพิธีเปิดอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดร้อยเอ็ด อันเกิดจากความร่วมมือกันของข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนในท้องถิ่น เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักการปกครองในระบอบใหม่ อันแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนพลเมืองว่าพวกเขาตอบรับ สนับสนุน และมีความตระหนักสำนึกถึงความสำคัญของระบอบใหม่ที่ทำให้พวกเขาได้มีความเสมอภาคและได้มีส่วนร่วมในการปกครอง

นอกจากนี้ในภาคอีสาน อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญยังถูกสร้างขึ้นกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดชัยภูมิ, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดบุรีรัมย์, จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอุดรธานี ทว่าในปัจจุบันกลับหลงเหลืออนุสาวรย์รัฐธรรมนูญอยู่เพียง 6 แห่งเท่านั้น เนื่องจากอนุสาวรีย์หลายๆ แห่งถูกรื้อถอนหรือถูกเปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือสภาพเดิม

[จากบทนำ หนังสือ ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2562 หน้า 9-12 เนื้อหาบางตอนและรูปได้จากหนังสือเล่มนี้]


อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ถูกย้ายไปตั้งอยู่หน้าที่ทำการเทศบาลเมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม (ภาพเมื่อกุมภาพันธ์ 2563)

มหาสารคาม

อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคาม เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศสยาม ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2477 ด้วยความร่วมมือระหว่างข้าราชการและพลเมืองชาวมหาสารคามในสมัยหลวงอังคณานุรักษ์ (สมถวิล เทพาคำ) เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดเพื่อให้พลเมืองชาวมหาสารคามได้รำลึกและเห็นคุณค่าของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ร้อยเอ็ด

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ.2479 คณะกรมการจังหวัดร้อยเอ็ดได้สร้างภูมิทัศน์ใหม่กลางเมืองร้อยเอ็ด คือการประดิษฐานรัฐธรรมนูญจำลองขนาดใหญ่บนเกาะกลางบึงพลาญชัย

เนื่องจากบึงพลาญชัยเป็นบึงน้ำกลางเมืองร้อยเอ็ดที่เคยตื้นเขิน ต่อมาในสมัยระบอบเก่าได้เกณฑ์แรงงานชาวร้อยเอ็ดที่ไม่มีเงินเสียค่าภาษีอากรจากทุกอำเภอประมาณ 40,000 คน มาขุดลอกบึงพลาญชัยระหว่าง พ.ศ.2469-2471 จนกลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่และนำดินที่ขุดมาถมเป็นเกาะกลางบึง

แรกเริ่มเดิมทีคณะกรมการจังหวัดร้อยเอ็ดประสงค์จะสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญและเสาธงประจำจังหวัดบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ทว่าข้าหลวงประจำจังหวัดได้ขอร้องให้ย้ายมาสร้างบนเกาะกลางบึงพลาญชัยแทน เพราะเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองใกล้กับสมาคมร้อยเอ็ด

นอกจากนี้อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบนเกาะกลางบึงพลาญชัยยังเปรียบเสมือนเป็นการประกาศชัยชนะของระบอบใหม่เหนือระบอบเก่า โดยอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญได้มาประดิษฐานบนเกาะที่ถูกสร้างจากการเกณฑ์แรงงานอย่างเอารัดเอาเปรียบในสมัยระบอบเก่า

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญร้อยเอ็ด ถ่ายโดยชาร์ลส์ เอฟ. ไคส์ ในเดือนมกราคม พ.ศ.2507 ภาพจาก Research Works Archive, University of Washington

ดังนั้นเกาะกลางบึงพลาญชัยในระบอบใหม่จึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวร้อยเอ็ด อันประกอบด้วยหลักเมืองที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น, รัฐธรรมนูญที่เป็นหลักการปกครองของประเทศ และเสาธงไตรรงค์อันเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญร้อยเอ็ดยังสัมพันธ์กับการแสวงหาเอกลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด ดังสะท้อนผ่านการออกแบบตราประจำจังหวัดร้อยเอ็ดในพ.ศ. 2483 ที่ได้นำภาพอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญกลางบึงพลาญชัยเป็นตราประจำจังหวัด และอาจกล่าวได้ว่าเป็นตราจังหวัดแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญปรากฏอยู่

ตราประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นรูปพานรัฐธรรมนูญจำลองบนเกาะกลางบึงพลาญชัย ภาพจาก คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และพิมพ์เอกสารการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2500, จังหวัดร้อยเอ็ด ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (พระนคร : โรงพิมพ์อุดม, 2500)
เกาะกลางบึงพลาญชัย ด้านซ้ายเป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ตรงกลางเป็นเสาธงชาติประจำจังหวัด และด้านขวาเป็นเสาหลักเมืองร้อยเอ็ด ภาพจาก คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และพิมพ์เอกสารการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2500, จังหวัดร้อยเอ็ด ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (พระนคร : โรงพิมพ์อุดม, 2500)
เกาะกลางบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด บริเวณเอกลักษณ์จังหวัด (ขวา) อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ (กลาง) เสาธงชาติ (ซ้าย) ศาลหลักเมือง (ภาพเมื่อกุมภาพันธ์ 2563)

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image