สำรวจเอกสาร ค้นชีวิต พระธรรมสาคร ‘หลุยส์ ลาโน’ สังฆราชฝรั่ง ผู้วางรากฐานคาทอลิกในสยาม

(ซ้าย) พจนานุกรมภาษาฝรั่งเศส-สยาม อาจกล่าวได้ว่าเป็นพจนานุกรมเล่มแรกที่ทำขึ้นในสยาม, (ขวา) คำสั่งของพระพระมหากษัตริย์ เขียนด้วยภาษาสยาม (จากหอจดหมายเหตุคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส)

เมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง ประเด็นหนึ่งคือการตั้งสมณศักดิ์ให้กับบาทหลวงคาทอลิกฝรั่งเศสท่านหนึ่ง

ทว่า รายละเอียดข้อมูลยังไม่ประจักษ์ชัดว่าเป็นใคร สมณศักดิ์อะไร หรือแม้แต่สมณศักดิ์ที่ได้รับนั้นตั้งโดยใคร นี่เป็นความสงสัยที่สร้างความคาใจเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากมีการตั้งสมณศักดิ์จริง ย่อมเป็นเรื่องที่ “ออกนอกขนบ” อยู่ไม่น้อย

ยิ่งไปกว่านั้น บาทหลวงคาทอลิกที่ได้รับสมณศักดิ์นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อผู้ที่ตั้งให้เป็นแน่

สำรวจเอกสารฝรั่งเศสยุคพระนารายณ์
‘ผู้ปราดเปรื่องเต็มไปด้วยรัศมีเจิดจ้า’

จากการเริ่มต้นสำรวจวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเอกสารและหลักฐานชั้นต้นของฝรั่งเศสในช่วงรัชสมัยพระนารายณ์ พบว่าในบันทึกของ อับเบ เดอ ชัวซีย์ (Abb de Choisy) ได้กล่าวว่า “ชื่อพระสังฆราชลาโนได้รับพระทานมีว่า พระผู้ประเสริฐ พระสังฆราชฝรั่งเศสหลุยส์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนา ผู้มีความยุติธรรม ผู้เป็นเลิศในหลายๆ ด้าน ผู้ปราดเปรื่องเต็มไปด้วยรัศมีเจิดจ้า…”

Advertisement

หลักฐานชิ้นนี้แม้จะไม่ได้ระบุชื่อว่าใครเป็นผู้ตั้งสมณศักดิ์ให้ แต่อย่างน้อยบันทึกชิ้นนี้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นั่นคือ “พระสังฆราชลาโนได้รับพระราชทาน” หากพิจารณาจากข้อความนี้ ก็หมายความว่าพระสังฆราชลาโนได้รับสมณศักดิ์จากพระมหากษัตริย์ แต่หลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้เชื่อว่ามีการตั้งสมณศักดิ์ (จริง) ก็คือ “จดหมายอภิบาล” จดหมายฉบับนี้ เขียนด้วยลายมือภาษาสยาม จำนวน 4 หน้า ความว่า

“หนังสือพระธรรมษาครถ่งบดีปูพระสังฆราชฝรังเสศถึงพีนองสับบุรุดทังหลายณจัหงวัตแวน้แควนเมืองพิศหนุโลก…” (ภาษาในต้นฉบับ) ซึ่งถอดความได้ว่า “หนังสือพระธรรมสาครถึงบิชอปพระสังฆราชฝรั่งเศสมาถึงพี่น้องสัปปุรุษทั้งหลาย ณ จังหวัดแว่นแคว้นพิษณุโลก….” จดหมายฉบับนี้ลงท้ายว่า “แลหนังสือนีมาวันพระหัศเดือนส่บีแรมฺแปด่คำสักราช 2228 ปีหลูสุบับศกแลปดตราเปนสำคัน”ซึ่งถอดความได้ว่า “และหนังสือนี้มาวันพฤหัสบดี เดือนสิบ แรมแปดค่ำ ศักราช 2228 ปีฉลู ศุภศก และประทับตราเป็นสำคัญ”

จากหลักฐานข้างต้นทำให้ค่อนข้างเชื่อว่า “พระธรรมสาคร” คือสมณศักดิ์ที่พระนารายณ์ทรงตั้งให้ และใช้เรียกเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2228 เป็นต้นมา แต่ปัญหาก็คือ พระนารายณ์ทรงตั้งสมณศักดิ์ให้กับพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน เมื่อไร? และเพราะสาเหตุใดถึงได้มีการตั้งสมณศักดิ์ให้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีกษัตริย์พระองค์ใดทรงตั้งสมณศักดิ์ให้แก่บาทหลวงหรือมิชชันนารี ทำให้ผมสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่การตั้งสมณศักดิ์ในลักษณะนี้คือการแสดงความไม่พอใจพระสงฆ์ของพระนารายณ์ที่มักนินทาพระองค์ กระทั่งเกิดความไม่ลงรอยกัน

Advertisement
พระนารายณ์เสด็จออกรับราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (พระธรรมสาครหรือบาทหลวงลาโนอยู่ทางด้านขวามือในรูป)

จากปารีสสู่สยาม ‘สังฆราชฝรั่ง’ นอกขนบแห่งยุคสมัย

พระธรรมสาคร หรือ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน (Mgr.Louis Laneau) พระสงฆ์พื้นเมืองสังกัดคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการสามเณราลัยในอยุธยาองค์แรก และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขมิสซังสยามองค์แรก มีบทบาทสำคัญในด้านการศาสนาในรัชสมัยพระนารายณ์ และนับเฉพาะเพียงเท่านี้ ก็คงเป็นที่ประจักษ์ว่าบุคคลท่านนี้มิใช่บาทหลวงธรรมดาที่เพียงเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา ความไม่ธรรมดาของบาทหลวงฝรั่งเศสผู้นี้ไม่เพียงแต่เราจะเห็นได้จากตำแหน่งที่ท่านได้รับหรือสิทธิและอำนาจในด้านการเผยแผ่คริสต์ศาสนาหรือในทางการเมือง หากแต่แนวคิดและภูมิหลังความรู้ที่นำเข้ามายังราชอาณาจักรสยามช่างดูแตกต่างจากมิชชันนารีหรือนักบวชอื่นๆ ที่เดินทางมายังราชอาณาจักรสยามอย่างสิ้นเชิง รวมถึงบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างพระธรรมสาครกับพระนารายณ์ เราก็คงพบกับความแปลกประหลาด น่ามหัศจรรย์ใจอยู่ไม่น้อยว่าท่านนี้ได้กระทำการต่างๆ ในลักษณะที่เป็นการ “ออกนอกขนบ” ของยุคสมัยนั้นและยังเป็นเหมือนผู้ที่กระทำการในลักษณะปิดทองหลังพระอยู่ไม่น้อย โดยที่ท่านได้เลือกแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกอย่างไรก็ตามล้วนกลับกลายเป็นผลดีต่อการวางรากฐานอย่างมั่นคงของคริสต์ศาสนาในสยาม

หนังสือเถียงศาสนา คือหนังสือที่เป็นจุดเริ่มต้นของของการทำหนังสือปุจฉา-วิสัจชนาในเวลาต่อมา เขียนด้วยภาษาสยามบนใบลาน (จากหอจดหมายเหตุคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส)

บาทหลวงฝรั่งคนแรกผู้ฟัง พูด อ่าน เขียน ‘ภาษาสยาม’ คล่องแคล่ว

พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.1637 ที่มองดูโบล แขวงลัวร์และแชร์ เวลานั้นอยู่เขตสังฆมณฑลชาร์ตร (ปัจจุบันเรียกว่าสังฆมณฑลบลัวส์) ขณะกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน ท่านได้รู้จักคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1658 จึงสมัครเข้าร่วมกับคณะนี้ หลังจากบวชเป็นพระแล้ว ได้เดินทางออกจากกรุงปารีสในเดือนกันยายน

ค.ศ.1661 พร้อมกับพระสังฆราชฟรังซัวส์ ปัลลือ (Franois Pallu) และมิชชันนารีอีก 8 ท่าน เพื่อเดินทางเข้ามาในเอเชีย กระทั่งมาถึงอยุธยาเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1664 และได้รับการสถาปนาเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งเมเตโลโปลิสเมื่อปี ค.ศ.1673

แนวคิดและวิธีการที่มุ่งหวังให้ผู้คนพื้นเมืองกลายเป็นคริสต์ชนผ่านกระบวนการ Localization และหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญคือ “ภาษาท้องถิ่น” เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าแรกเริ่มหลักคำสอนอย่างพระคัมภีร์ไบเบิลถูกเขียนด้วยภาษาละติน ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่บรรดานักเผยแผ่ศาสนาเองต่างก็รู้ดีว่าถ้าไม่ปรับคำสอนหรือเนื้อหาบางอย่างให้สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของท้องถิ่นหรือศาสนาดั้งเดิมของดินแดนที่เข้าไปเผยแผ่คริสต์ศาสนา ก็เป็นการยากที่จะทำให้ผู้คนพื้นเมืองจะเข้าใจในหลักคำสอนหรือหันมาเปลี่ยนศาสนา

สำหรับพระธรรมสาครหรือบาทหลวงลาโนมีความรอบรู้และเชี่ยวชาญภาษาสยามเป็นอย่างมาก เนื่องจากแรกเริ่มเมื่อท่านเดินทางถึงอยุธยา ท่านได้มีโอกาสพบปะและทำความรู้จักมักคุ้นกับพระสงฆ์ที่อาศัยในอาราม ท่านได้เล่าเรียนภาษาสยามและภาษามคธอย่างกระตือรือร้น จนกระทั่งท่านสามารถเขียนหนังสือด้วยภาษาสยาม ภาษามคธ และภาษาละติน ถึง 26 ชิ้น ในแง่นี้ อาจจะกล่าวได้ว่าท่านเป็นบาทหลวงฝรั่งท่านแรกที่สามารถฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาสยาม ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผลงานของท่านอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเกือบจะทั้งหมด

พระสังฆราช หลุยส์ ลาโน ภาพถ่ายที่วัดนักบุญยอแซฟ

วางรากฐาน ‘คาทอลิก’ ในสยามอย่างมั่นคง

บทบาทที่สำคัญของบาทหลวงผู้นี้คือการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกในสยามด้วยการเข้าไปประกาศพระวรสารเพื่อให้ผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ในราชอาณาจักรสยามหันมานับถือพระผู้เป็นเจ้า โดยเริ่มต้นที่อยุธยา ภายหลังจากที่ได้เข้าเฝ้าพระนารายณ์เป็นการส่วนพระองค์พร้อมด้วยคณะบาทหลวงท่านอื่น ๆ ซึ่งคณะบาทหลวงได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้างวัดและโรงเรียนซึ่งพระองค์ทรงตอบรับและยินดีให้การช่วยเหลือแก่บรรดาบาทหลวงคณะนี้อย่างเต็มที่ พระองค์พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำและได้พระราชทานเงินและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับสร้างวัดและโรงเรียน ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1666 ทั้งวัดและโรงเรียนเรียกรวมกันว่า “ค่ายนักบุญยอแซฟ” นอกจากนี้ ท่านยังมีบทบาทในการสร้างโรงหมอ ซึ่งบาทหลวงผู้นี้ยังทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยซึ่งบาทหลวงลาโนได้มีโอกาสศึกษาการแพทย์มาจากฝรั่งเศสบ้าง รวมไปถึงการสร้างสามเณราลัยจากการดำริของพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อตต์ และฟรังซัวส์ ปัลลือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการอบรมพระสงฆ์พื้นเมือง โดยมีพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน เป็นอธิการบดีคนแรก พื้นที่ต่อมาก็คือพิษณุโลกโดยพระธรรมสาครได้เดินทางไปเผยแพร่ธรรมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1671 และพำนักจนถึงวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.1671 นอกจากนี้ ท่านยังโปรดให้สร้างวัดขึ้นหนึ่งแห่งเพื่อใช้ประกอบศาสนพิธี ท่านทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสอนคำสอนให้แก่ผู้คนที่สนใจในศาสนาคริสต์ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ซึ่งในเวลาต่อมาจำนวนคริสตชนมีจำนวนเพิ่มขึ้น ท่านจึงได้ส่งพระสงฆ์จากสามเณราลัยจากอยุธยาขึ้นไปเผยแผ่ศาสนาและรับผิดชอบดูแลในพื้นที่นั้นและบางกอก

พระนารายณ์พระราชทานที่ดินบริเวณสามเสนให้แก่บาทหลวงซึ่งท่านโปรดให้สร้างวัดปฏิสนธินิรมล หรือวัดคอนเซ็ปชัญในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวโปรตุเกส เขมร และญวณ

ขอขอบพระคุณ
บาทหลวงพรชัย สิงห์สา
รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี
ธิษณา วีรเกียรติสุนทร

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image