‘คนไร้บ้าน’ อยู่ตรงไหน? ในสมรภูมิ ‘โควิด’ วันที่ใครๆ ได้ #stayathome

ในวันที่ “โควิด-19” ทำให้มนุษยชาติ 1 ใน 3 ของโลก “อยู่บ้าน” ตามรายงานของสื่อต่างประเทศ

ในวันที่คนไทยได้รับการรณรงค์ “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” โดยหนุนให้ Work from home ทำงานจากบ้าน และ Stay at home เว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ในวันที่แรงงานในประเทศต่างๆ กลับ “บ้านเกิด”

ในวันที่ “บ้าน” คือที่พำนักกักตัว คือขอบเขตความปลอดภัยทั้งกับตัวเองและผู้อื่น

Advertisement

“คนไร้บ้าน” อยู่ตรงไหนในสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่นี้?

หลากปัญหา บน ‘ความเปราะบาง’ กลางสมรภูมิโควิด

ว่ากันตามข้อมูล คนไร้บ้าน มีแนวโน้มที่จะมีปัญหารุนแรงเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ถึง 3 เท่า จึงนับเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในภาวะเช่นนี้ แต่ละประเทศพยายามแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้าเท่าที่ทำได้

มาเลเซียซึ่งอยู่ระหว่างการปิดประเทศ และห้ามเดินทางระหว่างรัฐ คุมเข้มในสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อยืนหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทั่งเพิ่งถูกแซงไปโดยอินโดนีเซีย

Advertisement

รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ อาจารย์มหาวิทยาลัยมาลายา อ้างอิงสื่อมาเลเซียที่นำเสนอข่าวว่าจะมีการอพยพคนไร้บ้านราว 1,000 ราย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปพักอาศัยในที่พักชั่วคราว 3 แห่ง ของทางการตลอดช่วงเวลาของการใช้มาตรการ Movement Control Order ภายใต้คำสั่ง

ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัญจร ที่เริ่มตั้งแต่ 18 มีนาคมเป็นต้นมา กำหนดถึง 14 เมษายน และจะพิจารณาขยายเวลาออกไปตามสถานการณ์

ในขณะที่ “โฮมเลส” หรือคนไร้บ้านในอังกฤษ ได้รับความช่วยเหลือโดยรัฐบาลจองโรงแรมดังกว่า 300 ห้อง กว่า 3 เดือน เพื่อให้คนไร้บ้าน “กักตัวเอง” สกัดการแพร่ระบาดของเชื้อร้าย

กลับมาที่เมืองไทย Penguin Homeless : The Homeless Story เพจตีแผ่ทุกแง่มุมของคนไร้บ้านทั่วโลก เผยแพร่ความในใจจากปากคนไร้บ้าน ที่ “ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู” ความตอนหนึ่งบ่งถึง “ความเสี่ยง” ว่า

“เป็นโรคปอดกันเยอะนะ หมอเขาก็เอายามาให้ทุกเดือน นี่เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ถึงกำหนดต้องเอายามาให้แล้ว แล้วอย่างนี้คนเป็นโรคปอดจะยิ่งแย่ไหม คุณว่ามันอันตรายหรือเปล่า นี่ผมเดี๋ยวก็ตัวร้อน เดี๋ยวเป็นหวัด มันเป็นกันบ่อยอยู่แล้วของแบบนี้ แล้วจะแยกยังไงล่ะทีนี้”

สุขภาพ-ปากท้อง ในชีวิตที่ขาด ‘ทางเลือก’

“ถ้าหากมองประเด็นคนไร้บ้าน เรากำลังพูดถึงกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดของเมือง ภายใต้สถานการณ์ของโรคระบาด ทุกคนที่อยู่ในเมืองล้วนอยู่ภายใต้ความเปราะบางนี้อยู่แล้ว ทั้งในทางเศรษฐกิจ และในเรื่องสุขภาพ ภายใต้ภาวะการแพร่ระบาด จะเห็นได้ชัด คือ เรื่องสุขภาพ ที่ทุกคนมีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพมากขึ้นด้วยเงื่อนไขการแพร่ระบาดของโรค ผลกระทบของการแพร่ระบาด นำไปสู่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น แต่คนไร้บ้าน เป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในเมือง

ดังนั้น ความเปราะบางที่ต้องเผชิญจะหนักหนาสาหัสกว่าคนทั่วไป”

คือความเห็นของ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านฯ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. ที่มีต่อปมปัญหาคนไร้บ้าน ก่อนลงลึกในรายละเอียดในแต่ละด้าน ได้แก่ สุขภาพและเศรษฐกิจ

“ผลกระทบด้านสุขภาพ ที่เห็นได้ชัดเจนจากการใช้ชีวิตของพี่น้องกลุ่มคนไร้บ้าน ทั้งในพื้นที่สาธารณะ และในที่พักพิงชั่วคราว (Shelter) ซึ่งมีเรื่องของความแออัด คนมักบอกว่า แออัด ทำไมไม่ทำให้ไม่แออัด ต้องเข้าใจก่อนว่า ในแง่การใช้ชีวิตของพี่น้องคนไร้บ้านไม่ได้มีทางเลือกมากในการดำรงชีวิต เขาไม่ได้มีที่ที่จะสามารถพักพิงได้มากนัก ความแออัดจึงเป็นเรื่องพื้นฐาน ดังนั้น การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) กับประชากรกลุ่มนี้ก็อาจจะเป็นวิธีการที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้มากนัก เป็นเงื่อนไขของการใช้ชีวิตที่พูดตรงๆ ว่า เป็นช้อยส์ที่เขาเลือกไม่ได้มากนัก เพราะเป็นกลุ่มที่เปราะบางมากๆ การแพร่ระบาดของโรค จึงส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ภาพจำ” ตามความเข้าใจของคนไทย คนไร้บ้าน คือคนไม่มีงานทำ แต่ข้อเท็จจริงคือ เขาเหล่านั้นมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการทำงาน และแน่นอนว่า เป็นงานที่ไม่มั่นคง

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านฯ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.


“ต้องบอกว่าคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่พวกเขาทำงาน มีรายได้ แต่เป็นงานที่มีลักษณะไม่มั่นคง กล่าวคือ เป็นงานแบบลูกจ้างรายวัน ซึ่งเราเห็นชัดเจนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พอเกิดการล็อกดาวน์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมาเป็นเรื่องของคนจำนวนหนึ่งที่ขาดรายได้อย่างฉับพลัน ส่วนหนึ่งก็เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด อีกส่วนคือ คนไร้บ้าน ซึ่งบางคนก็ไม่มีบ้านที่สามารถกลับไปได้ ทำให้เขายังต้องอยู่ในที่สาธารณะ ที่ในแง่หนึ่งขาดรายได้ หรือรายได้ลดน้อยลงอย่างมาก”

“ส่วนในเรื่องอาหารการกิน ตอนนี้ยังถือว่าพอไปได้ระดับหนึ่ง โชคดีที่สังคมไทยยังคงมีความเอื้ออาทร พอจุนเจือกันไปได้ แต่ในระยะยาวถ้าสถานการณ์แพร่ระบาดยังคงดำเนินต่อไป และยังไม่มีมาตรการหรือแนวทางจากรัฐที่จะมาดูแลกลุ่มคนเปราะบางในเมือง สถานการณ์ในแง่ความเปราะบางทางชีวิตของคนกลุ่มนี้ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น” อนรรฆกล่าว

‘คนไร้บ้านไม่ใช่เชื้อโรค’ สิทธิพื้นฐานบนความเท่าเทียม

จากปัญหาสำคัญข้างต้น ในช่วงที่ผ่านมา คนไร้บ้านได้รับความช่วยเหลือจาก NGO มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายคนไร้บ้าน โดยมีการนำหน้ากากอนามัยรวมถึงอาหารไปแจก อนรรฆ บอกว่า แม้ไม่มากมาย แต่พอช่วยเหลือกันไปได้

“มีหลายองค์กรที่เข้ามาซัพพอร์ต แต่ในระยะยาวหากมาตรการเข้มข้นขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะยิ่งเผชิญความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ทั้งในเชิงสุขภาพ และในเชิงเศรษฐกิจ การป้องกันตนเองไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด คือ สิทธิอย่างหนึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ฉะนั้น ในแง่หนึ่ง รัฐก็ต้องมีแนวทางต่างๆ เข้ามาดูแลคนไร้บ้าน อย่างแรก คือ อาจจะต้องจัดที่อยู่อาศัย แต่อีกแง่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า คนไร้บ้านจำนวนมากมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับภาครัฐ กับระบบของรัฐ ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ดังนั้น การจัดการที่พักหรือที่อยู่อาศัยควรจะต้องตั้งอยู่บนฐานสิทธิในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน สิทธิในการเข้าถึงบริการทางสังคม บริการทางสุขภาพ สิทธิที่จะปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรค ควรจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานนี้ โดยอาจจะต้องมีการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยว่า คนไร้บ้านไม่ใช่เชื้อโรคของเมือง คนไร้บ้านก็คือคนที่อยู่ในเมือง มีสิทธิที่จะเท่าเทียมกับทุกคน ดังนั้น การดูแลเขา คือ ความเท่าเทียมที่ทุกคนควรจะได้รับ”

ไร้บัตรประชาชน คนนอกประกันสังคม โจทย์ที่ต้องศึกษา

อีกหนึ่งปัญหาอมตะที่มีมาก่อนการระบาดของโควิด-19 คือการที่คนไร้บ้านจำนวนหนึ่งไม่มีบัตรประชาชน จะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานที่คนไทยได้รับ รวมถึงบริการด้านสุขภาพ ส่วนประกันสังคมไม่ต้องพูดถึง เพราะแน่นอนว่าคนเหล่านี้อยู่นอกระบบ

ประเด็นนี้ อนรรฆ บอกว่า หากดูจากมาตรการที่ออกมาในช่วงแรก จะเห็นว่าครอบคลุมเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม จนล่าสุดมีการรวมกลุ่มแรงงานนอกระบบเข้ามาด้วย การเยียวยาด้วยเงิน 5,000 บาท เป็นสิ่งที่ดีในระดับหนึ่ง สะท้อนว่าอย่างน้อยรัฐเห็นความสำคัญของแรงงานนอกระบบ ซึ่งควรจะเข้าถึงหลักประกันทางสังคม เนื่องจากความเปราะบางที่ว่า ถ้าวันนี้ไม่ทำงานก็ไม่มีเงิน ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีความสามารถในการเข้าถึงสิทธิเท่ากัน โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้านจำนวนมาก ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่มีสมาร์ทโฟน ที่จะทำโมบายแบงกิ้ง (Mobile Banking) หรือเข้าถึงพร้อมเพย์ เพื่อขอรับความช่วยเหลือส่วนนี้ได้ อีกทั้ง คนไร้บ้านหลายคนก็เป็นคนไทยที่ตกหล่นจากสถานะ

“คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ประมาณร้อยละ 30 มีปัญหาเรื่องการตกหล่นจากสถานะด้วยสาเหตุต่างๆ กล่าวคือ เป็นคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือตรงนี้ได้ ถือเป็นโจทย์ที่น่าศึกษา ประเด็นที่ 2 อย่าลืมว่าธรรมชาติของแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่เป็นคนยากจน ธรรมชาติของเขา คือการรับรายได้รายวัน จะพอมีใช้วันต่อวัน เพราะรายจ่ายเขามีทุกวัน ส่วนใหญ่จะไม่เหลือเก็บเพราะรายได้ที่ต่ำ และค่าใช้จ่ายในเมืองที่มีค่าครองชีพสูง แต่ด้วยลักษณะการจ่ายเงินตามมาตรการเยียวยา ทราบว่าเป็นลักษณะของการจ่ายเป็นรายเดือน ไม่ใช่การจ่ายรายวันหรือรายสัปดาห์ และมีระยะเวลาที่จะต้องรอการพิจารณา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ แรงงานนอกระบบขาดรายได้ อาจจะถึง 1 เดือน ที่ไม่มีเงินในกระเป๋า เป็นโจทย์ที่รัฐต้องคิดว่าช่วงที่เขาไม่มีรายได้จะไปสนับสนุนคนกลุ่มนี้อย่างไร โดยเฉพาะคนที่แทบไม่มีหลักประกันอะไรเลยอย่างคนไร้บ้าน

“รัฐมาถูกทางในแง่ที่บอกว่าต้องดูแลคนกลุ่มนี้ (แรงงานรายวัน/แรงงานนอกระบบ) แต่รัฐอาจจะไม่เข้าใจธรรมชาติของประชากรกลุ่มนี้ว่ารายได้ของเขาเป็นรายวัน แรงงานนอกระบบมีหลายเลเวล มีเลเวลชนชั้นกลาง และเลเวลที่เป็นคนยากคนจนซึ่งส่วนใหญ่จะมีรายได้วันชนวัน ซึ่งคนกลุ่มนี้แทบไม่มี safety net อะไรเลย ในช่วงที่เขาอาจยังไม่ได้เงินช่วยเหลือ รัฐอาจจะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเข้าไปเยียวยาในส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางสุขภาพ เพื่อไม่ให้ชีวิตของพวกเขาเปราะบางมากกว่าเดิม ชีวิตคนมีรายจ่ายทุกวัน แต่รายได้อาจไม่ได้มีทุกวัน”

โลกของคนไร้บ้าน กับ ‘คนไร้บ้านของโลก’

มาถึงตรงนี้ ลองมองภาพกว้างดังกรณีศึกษาในต่างประเทศ เจาะลึกการแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาแห่งความยุ่งเหยิงนี้ อนรรฆ บอกว่า มีหลายประเทศที่ช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ในแง่เป้าหมายอาจจะคล้ายกัน และอาจคล้ายกับมาตรการของหน่วยงานรัฐไทยบางส่วน รวมถึงภาคประชาสังคมของไทยด้วย ประการแรก คนไร้บ้านจะต้องได้รับการดูแลให้พ้นจากความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ปัญหาคือคนไร้บ้านก็ยังไม่รู้ว่าโควิด-19 คืออะไร เป็นอย่างไร จึงต้องได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ (Health Literacy) อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป

“เราจะเห็นว่าในหลายประเทศจะมีการตั้ง Shelter ฉุกเฉินสำหรับคนกลุ่มนี้ อย่างอังกฤษ มีการขอความร่วมมือ โดยรัฐไปเช่าโรงแรมเพื่อให้คนไร้บ้านเข้าไปอาศัยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เพื่อลดความเสี่ยงของการรับเชื้อ จะเห็นว่าต่างประเทศปฏิบัติต่อคนไร้บ้านในฐานะคนที่มีความเท่าเทียม คนที่จะต้องเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ดีในภาวะวิกฤต และในชีวิต เป็นสิทธิตามกฎหมายในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ แต่ในแง่การปฏิบัติก็อาจจะแตกต่างกันไป”

ประเด็นที่ลืมไม่ได้คือ เมื่องานและรายได้ของคนไร้บ้านอยู่ใน “พื้นที่สาธารณะ” มาตรการของรัฐ Social distancing หรืออยู่บ้าน เป็นมาตรการที่ดี แต่สำหรับคนไร้บ้าน ควรจะต้องมีรูปแบบที่พิเศษออกไป ซึ่งอาจจะต้องหารือกับภาครัฐโดยด่วน

“ในหลายประเทศเริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้ว่าถึงที่สุดแล้วมาตรการ Stay Home หรือ Social distancing มันมีลักษณะของมาตรการที่ทำได้เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น ถึงกับมีการเรียกมาตรการนี้ว่าเป็น White-Collar Quarantine ความจริงแล้ว ทาง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พยายามดูแลอยู่ แต่ต้องเข้าใจว่าอาจมีข้อจำกัดทางงบประมาณ อย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นเรื่องที่เขาจะต้องไปคุยหรือต่อรองให้ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมมา เราก็พยายามชวนเข้ามาลิงก์กับ องค์กรพัฒนาสังคม เพื่อดูว่าเราจะดูแลคนกลุ่มนี้ได้อย่างไรบนฐานของสิทธิที่เขาควรได้รับอย่างเท่าเทียมกับคนอื่น”

สุดท้าย แม้หน้าที่โดยตรงในการดูแลคนไร้บ้าน จะเป็นของ พม. แต่อีกแง่หนึ่ง ใน กรุงเทพมหานคร ก็มีหน้าที่เช่นกันในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ โดยเฉพาะ สำนักพัฒนาสังคมและสำนักอนามัย ของ กทม. ซึ่ง อนรรฆ บอกว่า “ยังมีหวัง” เพราะทุกคนเห็นปัญหาตรงกัน เห็นแนวทางและเป้าหมายตรงกัน แต่ในแง่ของรายละเอียดเชิงวิธีการ จะต้องมีการหารือกัน

“ประเด็นในเรื่องการทำไกด์ไลน์หรือในแง่ Scenario ที่น่าจะเกิดขึ้น หรือหากเกิดกรณี Worst-case ตัวไกด์ไลน์จะต้องถูกหยิบยกมาใช้ได้ ไม่ควรให้เกิดก่อนแล้วไปล้อมคอก ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อยากได้ไกด์ไลน์ที่สามารถป้องกัน และเป็นแนวทางได้ หากมีการล็อกดาวน์แบบปิดเมือง เราจะดูแลพี่น้องกลุ่มนี้อย่างไร แม้จะไม่ง่ายเพราะเป็นสถานการณ์ในภาวะวิกฤตของโรคระบาด ซึ่งเป็นภาวะที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอดเวลา แต่เราพยายามอุดความเสี่ยง ทั้งในแง่การป้องกัน และการดูแลฟื้นฟู” ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านฯ กล่าวปิดท้าย

นี่คือเรื่องราวของผู้คนอีกกลุ่มที่ไม่อาจถูกหลงลืมจากสังคมไทยและโลกใบนี้ ในสถานการณ์ที่มวลมนุษยชาติต้องร่วมฟันฝ่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image