การสร้าง ‘พระสยามเทวาธิราช’ ในประวัติศาสตร์ไทย

พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานในพระวิมานพระสยามเทวาธิราช ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง (ภาพจากหนังสือพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน จัดพิมพ์โดยสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2525)

หากกล่าวถึง “พระสยามเทวาธิราช” ในวันนี้คาดว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดีในฐานะเทพยดาคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่งของประเทศไทย

ซึ่งเป็นผลมาจากงาน “ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี” เมื่อ พ.ศ.2525

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราช เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชหลังพระราชพิธีเสร็จแล้วอีกระยะหนึ่ง

นั่นเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีโอกาสได้เข้าถวายสักการะ “พระสยามเทวาธิราช” โดยตรง

Advertisement

แต่เรื่องของพระสยามเทวาธิราชยังมีอีกหลายมิติที่น่าสนใจ นอกจากนี้ พระสยามเทวาธิราชที่เป็นประติมากรรมแบบยืนแล้วยังมีรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.2563 นำมาตีพิมพ์ให้ได้อ่านกัน

ในบทความที่ชื่อว่า “พระสยามเทวาธิราชทรงปราบกบฏบวรเดช : การช่วงชิงเทพสัญลักษณ์ใน “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2476” โดยการค้นคว้าและเรียบเรียงของ วิศรุต บวงสรวง

ที่เริ่มเล่าตั้งแต่ที่มาในการจัดสร้าง “พระสยามเทวาธิราช” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประเทศชาติสามารถรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ต้องสูญเสียอิสรภาพหลายครั้งมาได้ ด้วยมีเทวดารักษาคุ้มครอง จึงควรทำรูปเทวดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา

Advertisement

รูปแบบของเทวดาที่จัดสร้างขึ้นก็คือ เป็นเทวดาทรงเครื่องอย่างพระมหากษัตริย์ พระหัตถ์ขวาถือพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบเหนือพระอุระ ประดิษฐานอยู่ในพระวิมานไม้จันทน์ และกำหนดให้มีการทำพิธีบวงสรวงทุกปี ในวันปีใหม่ไทย ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

นั่นคือข้อมูลทั่วไปที่หลายท่านอาจจะทราบอยู่แล้ว หรือสืบค้นจากระบบออนไลน์ไม่ยาก

แต่ผู้เขียน (วิศรุต บวงสรวง) ได้ค้นคว้าลึกลงไปกว่านั้นว่า มีการสร้างพระสยามเทวาธิราชอีกหลายครั้งด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ดังนี้

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างเทวรูปขึ้นอีกองค์หนึ่ง สำหรับประดิษฐานอยู่ที่ห้องบรรทมของพระองค์ ในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

เทวรูปดังกล่าวมีรูปเหมือนพระสยามเทวาธิราช เว้นเพียง “พระพักตร์ของเทวรูป” ที่โปรดเกล้าฯ ให้แปลงเป็น “พระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

นอกจากนี้ ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “เหรียญดุษฎีมาลา” สำหรับพระราชทานแก่บรรดาผู้มีความชอบ ก็มีการอัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชมาไว้ในเหรียญด้วย

ภาพวาดลายเส้น “เหรียญดุษฎีมาลา” (ภาพจากหนังสือรชดาภิเษก เปนตู้ทองของการเล่าเรียน รวมศึกษานุกรมทั้งชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นสูง เล่ม ๑ ซึ่งตีพิมพ์โดยกรมศึกษาธิการเมื่อ ร.ศ.113 (พ.ศ.2437) บันทึกภาพเผยแพร่ใน https://th.wikipedia.org/wiki/เหรียญดุษฎีมาลา)

วิศรุต บวงสรวง อธิบายลักษณะของเหรียญดุษฎีมาลาว่า

“ลักษณะเหรียญเป็นแบบกลมรีไข่ ด้านหน้าตรงกลางเหรียญประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผินพระพักตร์ทางซ้ายของเหรียญ มีอักษรตามขอบเบื้องบนว่า ‘จุฬาลังกรณว์หัส์สปรมราชาธิราชิโน’ ขอบเบื้องล่างเป็นช่อชัยพฤกษ์ไขว้กัน

ด้านหลังเหรียญเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ยืนพิงโล่ตราแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาทรงพวงมาลัยทรงทำท่าจะสวมตรงชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทาน โดยในโล่ล้อมรอบด้วยชัยพฤกษ์นั้นเว้นพื้นที่ไว้สำหรับจารึกนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา

ใต้แท่นทรงยืนของพระสยามเทวาธิราช มีข้อความ ‘1244’บอกปีจุลศักราชที่สร้าง และมีอักษรตามขอบว่า ‘สยามิน์ทปรมราชตุฏธิป์ปเวทนํอิทํ’ ที่ริมขอบเหรียญจารึกอักษรว่า ‘สัพ์เพสํ สํฆภูตานํ สามัค์คีวุฏ์ฒิสาธิกา’ ด้านบนเหรียญมีพระขรรค์ชัยศรีกับธารพระกรเทวรูปไขว้กัน มีห่วงยึดกับเหรียญและติดกับแผ่นโลหะจารึกว่า ‘ทรงยินดี’ ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญนี้ ไม่มีประกาศนียบัตร เพราะจารึกชื่อผู้ได้รับลงไปในเหรียญแล้ว”

“เหรียญปราบฮ่อ” (ภาพจาก คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์)

นอกจากนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเหรียญราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเพื่อเป็นบำเหน็จความดีความชอบแก่ผู้ไปราชการสงครามปราบฮ่อเมื่อ พ.ศ.2427 (จ.ศ.1246) หรือที่เรียกกันทั่วไปภายหลังว่า “เหรียญปราบฮ่อ” ก็มีการอัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชมาไว้ในเหรียญเช่นกัน

วิศรุตอธิบายลักษณะของเหรียญไว้ว่า

“เหรียญเงินรูปกลม ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หันพระพักตร์ไปทางซ้าย มีพวงมาลัยรองรับ เบื้องบนเป็นแถวอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความ ‘จุฬาลงกรณ์ บรมราชาธิราช’

ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงคอช้างถือพระแสงของ้าว มีควาญนั่งอยู่ท้ายช้างคนหนึ่ง รองรับด้วยกลุ่มแพรแถบ เบื้องบนของรูปนั้นมีอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความมีจุลศักราชที่ทำสงครามกับฮ่อครั้งต่างๆ…”

แม้การสร้างพระสยามเทวาธิราชที่กล่าวมานั้นเป็นของราชสำนักทั้งสิ้น แต่มีอยู่อย่างน้อยครั้งหนึ่งที่เป็นการสร้างโดยประชาชน

“เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ด้านหน้าเหรียญเป็นภาพพานรัฐธรรมนูญ ล้อมรอบด้วยพวงมาลาชัยพฤกษ์ และมีรัศมีเปล่งรอบ ด้านหลังของเหรียญเป็นภาพพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ มีอักษรด้านล่างว่า “ปราบกบฏ พ.ศ.2476” ตัวเหรียญมีห่วงห้อยด้านหน้าจารึกว่า “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ด้านหลังจารึกว่า “สละชีพเพื่อชาติ” (เหรียญนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พัดยศสมณศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับบริจาคจาก นายสุเทพ ขำมา ดร. พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี (มากคล้าย) ถ่ายภาพ ภาพจาก https://th.wikipedia.org/wiki/เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ)

เป็นการสร้างภายหลังรัฐบาลปราบปรามกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 ได้สร้างเหรียญที่ระลึกเพื่อตอบแทนความดีแก่ผู้ช่วยเหลือรัฐบาลปราบกบฏ เรียกว่า “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” โดยออกแบบเหรียญไว้ดังนี้

“ลักษณะเป็นเหรียญทองแดงรมดำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าเหรียญเป็นภาพพานรัฐธรรมนูญ ล้อมรอบด้วยพวงมาลาชัยพฤกษ์ และมีรัศมีเปล่งรอบ

ด้านหลังของเหรียญเป็นภาพพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ มีอักษรด้านล่างว่า ‘ปราบกบฏ พ.ศ.2476’ ตัวเหรียญมีห่วงห้อยด้านหน้าจารึกว่า ‘พิทักษ์รัฐธรรมนูญ’ ด้านหลังจารึกว่า ‘สละชีพเพื่อชาติ'”

ส่วนที่ว่าทำไมการสร้างเทวรูปที่ห้องบรรทมของรัชกาลที่ 5 ในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต, เหรียญดุษฎีมาลา, เหรียญปราบฮ่อ, เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จึงเลือกอัญเชิญรูป “พระสยามเทวาธิราช” มาใช้ มีเหตุผล, นัยยะแฝง หรือต้องการสะท้อนอุดมการณ์ใด ขอได้โปรดติดตามอ่านผลงานฉบับเต็มของวิศรุต ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายนนี้

พระราชบัญญัติเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476 (ภาพจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 วันที่ 9 ธันวาคม 2476)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image