วันที่โลกป่วยไข้ เสียงในใจผู้คนบนเส้นทาง ‘ท่องเที่ยว’ ‘เราต้องรอดไปด้วยกัน’

Once Again Hostel

มีแนวโน้มทรุดหนักตั้งแต่ยังไม่เกิดวิกฤตโควิด-19 แล้ว สำหรับ ภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเดิมมีผู้คาดการณ์ไว้ว่าตลอดปี 2563 ธุรกิจสายนี้ที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศจะย้ำแย่ด้วยหลายเหตุปัจจัยลบ ทั้งค่าเงินบาท และเศรษฐกิจโลก

ทว่า เมื่อเข็มนาฬิกาเดินเข้าสู่ต้นปีนี้จริงๆ กลับเกิดสิ่งที่ผู้คนไม่เคยคาดคิด นั่นคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่กดปุ่ม ‘หยุด’ โลกทั้งใบไว้เป็นการชั่วคราว

ไม่ต้องจ่อไมค์ถามกูรูท่านได้ ก็เดาได้ไม่ยากว่า ภาคการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะป่วยไข้ขั้นรุนแรง เมื่อโลกถูกล็อกดาวน์การเดินทาง สายการบินต่างๆ ล้วนประกาศหยุดบิน บางแห่งถึงกับต้องลดพนักงาน โรงแรมไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ สายป่านสั้นหรือยาว ล้วนเจ็บปวดกันระนาวจนต้องปิดตัวไปมากมาย บริษัทนำเที่ยว รู้ตู้ รถเช่า เมื่องานไม่เข้า เงินก็ไม่มี กลายเป็นโดมิโนสเกลใหญ่ที่พากันล้มไปเป็นทอดๆ

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 1 คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนมกราคม และรุนแรงขึ้นตามลำดับ ยังไม่นับการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ, วิกฤตฝุ่น PM2.5, ปัญหาภัยแล้งในทุกภาคของประเทศ และการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้า

Advertisement

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า การบุกโลกของโควิด-19 จะยังคงรุนแรงต่อไป โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงมากกว่า 80% ที่น่าเศร้าคือข้อมูลเกี่ยวกับแผนลดการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี ในสัดส่วนประมาณ 16% และมีแนวโน้มมากขึ้นอีก

แม้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่คาดการณ์และคาดหวังว่า สถานการณ์ต่างๆ จะค่อยๆ คลี่คลายจนกลับมาประกอบกิจการได้ในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้เป็นต้นไป ทว่า กว่าจะถึงวันนั้น ไม่อาจมีหลักประกันใดให้ผู้คนที่ไม่ใช่เพียงฟันเฟืองในธุรกิจท่องเที่ยวอันหล่อเลี้ยงประเทศชาติ หากแต่ยังเป็นสมาชิกของบ้าน บ้างคือหัวแรงหลักในการหาเลี้ยงคนในครอบครัว

บรรทัดต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของเสียงจากผู้คนในสายงานการท่องเที่ยวและการโรงแรม ผู้ซึ่งบาดเจ็บไม่มากก็น้อยจากการต่อสู้บนสังเวียนโควิด-19 สงครามโลกที่มนุษยชาติต้องร่วมกันสู้

Advertisement

ณัฐ (นามสมมุติ)
อดีตพนักงานโรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ
‘ไม่มีสิทธิรับ 5,000 หางานอยู่ แต่ไม่มีที่ไหนรับ’

ก่อนหน้านี้โดนให้ลางานแบบไม่รับเงินเดือน (Leave without Pay) ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจากนั้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โรงแรมตัดสินใจให้ผมยื่นใบลาออกโดยละม่อม เพื่อไปขอเงินชดเชยจากประกันสังคม ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้อะไรเลย เพราะโรงแรมก็ไม่ได้ปิดตัว แต่ก็ไม่รู้จะได้หรือไม่ ซึ่งพนักงานเจอแบบนี้หลายคน ระบุจำนวนยาก แต่ถือว่าเยอะที่อยู่ในระดับที่โดนเหมือนกัน พนักงานส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ก็โดน Leave without Pay และคนที่ยังอยู่ก็แทบไม่มีงานเลย บางแผนกที่มี 10-20 คน ตัดเหลือ 1-2 คนต่อวัน

ช่วงปกติก่อนมีโควิด แขกเยอะมาก เพราะเป็นโรงแรม 5 ดาวขนาดใหญ่ มี 500 กว่าห้อง จำนวนแขกระดับ 70-80 เปอร์เซ็นต์ตลอด แต่พอมีโควิด-19 ปัจจุบันเท่าที่ติตามอยู่คือมีแขกประมาณ 10 กว่าห้อง แต่ก็เข้าใจเขา

เขาบอกว่าพอถึงเวลาเหมือนเดิมก็จะเรียกกลับมาทำใหม่ แต่ช่วงเวลานี้ที่ไม่เหมือนเดิม เราก็ไม่รู้ ตอนแรกเขาระบุให้กลับไปทำงานประมาณวันที่ 1 มิถุนายน 2563 แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ

ถ้าในอนาคตถ้าโรงแรมเรียกกลับไปทำงาน ก็น่าจะกลับไป เพราะตอนนี้ไม่ได้ทำอะไร แถมไปสมัครที่ไหนก็ยังไม่รับ เพราะภาวะแบบนี้เขาก็พยุงคนของเขาไว้

สถานการณ์ตอนนี้กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ระดับสูงเลย นี่ยังพอได้ทางแฟนช่วยบ้าง ไม่งั้นตาย เพราะมีครอบครัวที่ยังดูแลอยู่ด้วย

เงินเยียวยา 5,000 บาทก็ไม่มีสิทธิครับ เพราะเราอยู่ในมาตรา 33 และมาตรานี้ที่เขาอนุมัติในปัจจุบันคือต้องเป็นโรงแรมที่ปิดตัว แต่ของเราไม่ได้ปิด

ยังดีที่ไม่มีภาระหนี้สิน เพราะไม่เคยทำบัตรเครดิต เงินที่มีตอนนี้ ถามว่าอยู่ได้ไหม ประมาณ 1-2 เดือน อาจจะอยู่ได้ แต่ถ้าเกินกว่านั้นตายแน่ๆ

ภทพร เที่ยงแช่ม

ภทพร เที่ยงแช่ม
มัคคุเทศก์อิสระภาษาฝรั่งเศส
‘เริ่มมองหาอาชีพที่ 2 อยากให้รัฐเยียวยาทั่วถึง ไม่ใช่แค่แจกเงิน’

ปกติทำงานกับนักท่องเที่ยวที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด อยู่ในวงการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ประมาณปี 2550 หลังจากมีโควิด-19 เข้ามาก็หยุดพักไปเลย เพราะปกติทำงานกับนักท่องเที่ยวยุโรป ตอนนี้เหมือนทางยุโรปไม่มีไฟลต์ เหมือนต้องหยุดทำงานไปด้วย มัคคุเทศก์คนอื่นๆ ก็เป็นเหมือนกัน

จริงๆ แล้วเป็นฟรีแลนซ์ แต่มีบริษัทที่ทำงานร่วมกันประจำ แต่ส่วนใหญ่หากที่ไหนมีงานให้เราก่อน เราก็รับก่อน เพราะไม่ได้ทำงานประจำกับที่ไหน

ตอนนี้ปรับตัวเองได้ โดยปกติของการทำงานแล้วจะมีช่วงไฮซีซั่นกับโลว์ซีซั่น ช่วงไฮซีซั่นประมาณเดือนตุลาคม-ปลายเดือนพฤษภาคมก็ยังมีงานอยู่ แต่พอโควิดเข้ามา กรุ๊ปสุดท้ายที่เพิ่งเสร็จงานคือวันที่ 22 มีนาคม 2563 นอกจากนั้นโดนยกเลิกไปโดยปริยาย

นักท่องเที่ยวกรุ๊ปสุดท้ายตอนที่เริ่มเข้ามา บ่นไหม เขาก็ไม่บ่น เพราะช่วงแรกของสถานการณ์ยังไม่ค่อยเลวร้าย ทางยุโรปก็ไม่ได้กลัวเหมือนทางบ้านเรา ขณะที่ทางเอเชียเริ่มตื่นตัว รับมือกับโควิดแล้ว เช่น ใส่แมสก์ แต่ทางยุโรปไม่ได้ตื่นตัวอะไรมาก เพราะคิดว่าเป็นไวรัสตัวหนึ่งเหมือนไข้หวัดใหญ่ เขายังคุยกับเราว่าเหมือนปกติเขาก็ไม่ได้กลัว เพราะไข้หวัดใหญ่โดยปกติมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 18,000 ราย/ปี ซึ่งสถานการณ์โควิดช่วงแรกของแต่ละประเทศก็ยังไม่รุนแรงเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวจึงยังไม่ค่อยตื่นตัว หรือตระหนกอะไรมาก

ภาวนาว่าไม่อยากให้ยืดเยื้อ ปกติการท่องเที่ยวจะมีไฮซีซั่นของซีซั่นหน้า คือช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม คาดว่าโปรแกรมที่นักท่องเที่ยวจองมาในปีนี้น่าจะยกเลิกทั้งหมด แม้ว่าถ้าในเอเชียจะคุมสถานการณ์ได้ แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ฝั่งยุโรปหรืออเมริกาจะยืดเยื้อไปถึงเมื่อไหร่ หรือถ้าเร็วสุดก็อาจเป็นเดือนพฤศจิกายน หรือลากยาวไปถึงปีหน้า ก็คงต้องมองหาอย่างอื่นทำระหว่างรอสถานการณ์ดีขึ้น

ตอนนี้ไม่ได้มีงานเสริมอะไรจริงจัง แต่ก็เริ่มมองหาอาชีพที่ 2 เช่น ขายของออนไลน์

ลงทะเบียนขอรับการเยียวยาไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน ยังต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ และเพื่อนอีกหลายๆ คนก็ไม่ได้รับเงินเยียวยา เหมือนเอไอระบุมาว่าเป็นเจ้าของกิจการบ้าง เป็นเกษตรกรบ้าง ของตัวเองก็ยังรออยู่ ปัจจุบันก็เพิ่งได้รับข้อความมาว่าให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติม ก็เพิ่งส่งข้อมูลเพิ่มเติมไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ยังรอผลอยู่ว่าจะได้หรือไม่ได้

แต่ที่ดูข่าวคือมัคคุเทศก์ไปลงทะเบียนกัน 30,000 คน แต่น่าจะได้ไม่ครบทั้งหมด อาจเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนน้อยที่ได้

คิดว่ามาตรการที่ภาครัฐออกมายังไม่เพียงพอ เพราะไม่ใช่แค่คนที่ทำงานเกี่ยวกับท่องเที่ยว พอมีโรคโควิดเข้ามาก็โดนผลกระทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจพื้นฐาน แม้กระทั่งภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือคนทำมาค้าขายขนาดย่อยก็ได้รับผลกระทบทั้งหมด

อยากให้ภาครัฐมีนโยบายเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ทั่วถึงทุกภาคฝ่าย เพราะเชื่อว่าส่วนใหญ่ทำมาหากินไม่ได้ และไม่ใช่แค่นโยบายแจกเงินอย่างเดียว

 

เพียงพลอย จิตรปิยธรรม และทีม

เพียงพลอย จิตรปิยธรรม
วันซ์ อะเกน โฮสเทล / ลุค โฮสเทล
‘ก่อนปิดก็กลัว ตอนจะเปิดก็กลัวเหมือนกัน’

ลูกค้าที่มาพักส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ แนวแบ๊กแพค โรงแรมเราไม่ได้เป็นแนวเอ็นเตอร์เทน แต่จะออกแนวท้องถิ่น เรียนรู้ชุมชน เป็นโฮสเทลจริงๆ เราทำงานร่วมกับชุมชนย่านประตูผี-เสาชิงช้า มีกิจกรรมทุกวัน ตั้งแต่ทำอาหาร เรียนภาษาไทย ท่องเที่ยวชุมชน จัดเป็นทริปไปตลาดน้ำ ไปที่ต่างๆ ก็มี แต่พอโควิดมา ผลกระทบคือ ไม่มีแขก มีเพียงหลักหน่วย สุดท้ายก็ไม่คุ้มค่าที่จะเปิด

พอวันซ์ อะเกน โฮสเทล ต้องปิดกิจการชั่วคราว เพราะไม่มีแขกมาพักในช่วงนี้ เลยทำ Locall.bkk แพลตฟอร์มส่งอาหารดิลิเวอรีขึ้นมาเพื่อช่วยร้านค้าในชุมชนในการขายอาหาร ผ่านช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก Locall.bkk และไลน์ @Locall.BKK เพื่อไม่ให้พนักงานต้องออกจากงาน ลงมาดูโปรเจ็กต์ว่าพอจะปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง ด้วยความที่มีข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหารอยู่แล้ว

ผลตอบรับตอนนี้ดีมาก เป็นธุรกิจที่เริ่มขึ้นใหม่ ไปได้ดี ที่สำคัญคือเป็นการช่วยชุมชนไม่ได้ช่วยตัวเองอย่างเดียว แล้วมาทันเวลา ลูกค้าก็ชอบเพราะตอบโจทย์ สั่งอาหารได้หลายร้านพร้อมกันทีเดียวในย่านเดียวกัน ซึ่งตอนนี้ก็เปิดสาขาขยายมาที่เยาวราชแล้วด้วย แต่ก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อไปเพราะเริ่มล็อกดาวน์แล้ว แต่ตอนนี้ทำได้ก็ทำไปก่อน

สินค้าจาก Locall.BKK

เราคิดว่าจะทำอย่างไรก็ได้ให้ย่านเจริญไปพร้อมกับธุรกิจของเรา ไม่ใช่เราโตอย่างเดียว นอกจากนั้นเรามองว่า ถ้าโควิดไปแล้ว หรืออาจจะยืดเยื้อยาวนานใดๆ ก็ตาม ถ้าลุงป้าหายไปหมายความว่า โฮสเทลเราจะกลับมาเปิดอีกทีท่ามกลางพื้นที่ร้าง ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดแบบนั้น เพราะสุดท้ายจะกระทบกับธุรกิจเราในที่สุดอยู่ดี ไม่มีใครอยากจะมาพักท่ามกลางตึกเปล่า ทุกคนอยากมาดูวิถีชีวิตคน ทำให้เรารู้สึกว่า โอเค เราจะต้องพาพวกเขารอดไปกับเราด้วยเหมือนกัน

ตอนนี้ ลุค โฮสเทล (Luk hostel) เปิดให้ชาวต่างชาติที่ยังกลับบ้านไม่ได้มาพัก เขาก็ยังอยู่กันที่นี่ ถามว่าแผนการในการฟื้นฟูจะเป็นอย่างไรต่อไป ยอมรับว่ายังตอบไม่ได้ ก่อนจะปิดก็กลัว ตอนจะเปิดก็กลัวเหมือนกัน ไม่รู้จะเอาอย่างไรดี แต่อย่างไรก็ตาม แผนฟื้นฟูของเรายังเหมือนเดิม วันก่อนหน้าเป็นโฮสเทลที่ส่งลูกค้าไปให้ร้านค้า ส่งงานซักผ้าไปให้ชุมชน ในการที่จะจ้างคนในชุมชนเป็นแม่บ้าน วันนั้นเป็นแบบนั้น วันนี้ก็ยังเป็นแบบเดิม เรายังเอาของของคนในชุมชนออกไปให้คนข้างนอกซื้อกิน เรายังให้งานพี่ๆ ในชุมชนในการขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่ง

เรายังไปด้วยกันอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image