เปิดเทอมใหม่ หัวใจว้าวุ่น จาก ‘โควิด’ ถึงสิทธิใน ‘ทรงผม’

ภาพจาก 'กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท'

โควิดก็ต้องสู้ การเรียนรู้ก็ต้องไปต่อ

แวดวงการศึกษาไทย ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัยร่วมฝ่าฟันพร้อมสกัดไวรัสมานานนับเดือน

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเลื่อนเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม

ทว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โรงเรียนดังอย่างสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งไม่ได้อยู่ใต้สังกัด ศธ.ประกาศเปิดเทอมใหม่ในวันที่ 1 มิถุนายน ทำเอาเหล่าผู้ปกครองว้าวุ่นใจด้วยความห่วงใยในสุขภาพลูกหลาน พากันร่วมคัดค้านอย่างสุดกำลัง ผู้ปกครองบางรายระบุว่าจะร้องเรียนไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

Advertisement

หันมาดูระดับอุดมศีกษา การเรียนการสอน “ออนไลน์” ถูกนำมาใช้แล้วอย่างกว้างขวาง แต่ยังมีการตั้งคำถามในประเด็นข้อจำกัดและความเหลื่อมล้ำที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอยู่จริง ดังเช่นถ้อยความจาก ธนกฤต ลออสุวรรณ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เปิดเผยว่า นักศึกษาบางส่วนเป็นผู้สูงวัยที่ย้อนกลับมาเรียนใหม่ บางรายไม่มีทรัพยากรเพียงพอต่อการใช้เทคโนโลยีได้ตลอด

ในขณะที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โอปป้าแห่งวงการ ทวีตข้อความเปิดใจในประสบการณ์การสอนออนไลน์ว่า

“หลังจากสอนออนไลน์มาเกือบ 2 เดือน ประสิทธิภาพการเรียนการสอนลดลงกว่าครึ่ง นักศึกษาเองก็บ่นว่าล้า ไม่มีสมาธิและเครียดกว่าเรียนในห้อง สรุป การเรียนออนไลน์ ไม่มีทางจะทดแทนการเรียนในห้องที่ครูกับนักศึกษาเจอหน้ากันได้เลย”

Advertisement

ประเด็นร้อนเปิดเทอมกับเรียนออนไลน์ยังเป็นไข้อยู่รุมๆ ก็เกิดประเด็นใหม่มาเพิ่มอุณหภูมิ เมื่อราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 โดยมีตอนหนึ่งระบุว่า นักเรียนชายและหญิง “จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้” แต่ห้ามดัด ย้อม ไว้หนวดเครา ทำเอาแว่บแรก เฮลั่น แต่ไม่ทันไรก็มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ในประกาศฉบับเดียวกันมีข้อความระบุชัดว่าสุดท้ายให้หัวหน้าสถานศึกษามีอำนาจพิจารณา ซึ่งจะนำมาสู่วังวนเดิมๆ อยู่ดี กระทั่งปลัด ศธ.ออกมายืนยัน ว่าไม่มีการ “ซ่อนปม” ใดๆ ในระเบียบ โรงเรียนในสังกัดต้องให้ไว้ผมยาวได้ แต่กระแสในโลกออนไลน์ยังคงร่วมจับตา

เรียกได้ว่า อุณหภูมิร่างกายของการศึกษาไทยในห้วงเวลานี้ ไม่ต้องยิงเครื่องมือวัดไข้ก็พอเดาได้ถึงความอลหม่าน

เด็กกังวลสูงสุดว่าจะเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง ครูและผู้ปกครองห่วงสุดเรื่องการมีส่วนร่วม

เปิดผลสำรวจ ‘โควิด’

สะเทือนการศึกษาไทย

จากสถานการณ์ชวนปวดเมื่อยร่างกาย เพจดังอย่าง “ครูขอสอน” ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มบุคลากรทางการศึกษาไทย นำโดย ครูทิว ว่าที่เรือตรี ธนวรรนธ์ สุวรรณปาล โรงเรียนวัดธาตุทอง และครูพล อรรถพล ประภาสโนบล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เปิดเผยผลการสำรวจข้อมูลครู นักเรียน ผู้ปกครองจากทั่วประเทศ 755 คนในประเด็นต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กับการเรียนการสอน พบว่า ข้อกังวลสูงสุดของครู และผู้ปกครอง ในการเรียน-สอนออนไลน์คือ “การมีส่วนร่วม” ในการจัดการเรียนรู้ ขณะที่นักเรียนกังวลที่สุด ว่าการเรียนด้วยเทคโนโลยีจะทำให้ไม่เข้าใจในบทเรียน

สำหรับโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง มีความกังวลเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี การสอนด้วยเทคโนโลยี รวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง สูงที่สุด ส่วนโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กมีความกังวลเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองสูงที่สุด

ด้านผู้ปกครองระดับชั้นประถมศึกษามีความกังวลมากกว่าผู้ปกครองระดับชั้นมัธยมศึกษา และถ้าต้องเลือกแนวทางรับมือสถานการณ์โควิดมา 1 วิธี

52% ของ ครู ผู้ปกครองและนักเรียน ชี้ว่าควรเลื่อนเปิดเทอมและปรับหลักสูตร

รองลงมา 18% มองว่าควรเปิดให้ครอบครัวที่ไม่พร้อมมาเรียนที่โรงเรียนได้

ส่วนอันดับที่สาม 16% เห็นว่าควรมีการส่งอุปกรณ์ สื่อไปให้เรียนควบคู่กับการเรียนด้วยเทคโนโลยี ขณะที่การเรียนผ่านอินเตอร์เน็ตและทีวีสาธารณะ มีผู้เสนอรวมกันเพียง 13%

มาถึงครูในระดับประถมและมัธยมศึกษา ซึ่งเสนอให้มีการจัดการเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ตเพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่ครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่ มีการเสนอให้จัดการสอนผ่านอินเตอร์เน็ต สูงกว่าโรงเรียนขนาดอื่นๆ สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

จากการตอบคำถามของครู 509 คน พบว่ามีเพียง 29% เท่านั้นที่โรงเรียนมีการออกคำสั่งแนวทางจัดการเรียนการสอนอย่างชัดเจน สะท้อนถึงการบริหารงานที่โรงเรียนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง

ปิดท้ายด้วยข้อเสนอร่วมกันระหว่างครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ว่าสิทธิในการศึกษาที่เท่าเทียม การจัดการเรียนสอนที่คำนึงช่วงวัยด้วยวิธีที่หลากหลาย และลดการสั่งแบบเหมาเข่ง

ด้าน สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยข้อมูลจาก ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา ซึ่งระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กไทยไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวใช้ในการเรียนหนังสือ และเด็กในกลุ่มที่ยากลำบากที่สุด

มีเพียง 57% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ นั่นแปลว่าความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานยังคงกระจุกตัวอยู่แค่บางส่วน ซึ่งเป็นโจทย์ที่โรงเรียน ครู ผู้ปกครองและภาครัฐต้องหาทางออกร่วมกันว่าจะใช้วิธีการแบบไหนที่เหมาะสมกับพื้นที่การศึกษาของตัวเองเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาในระยะยาว โดยมองว่าแนวทางการเรียนแบบอื่น อย่างโทรทัศน์ วิทยุ หรือชุดเอกสาร Learning Box Set ก็สามารถเป็นทางออกให้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลนี้ได้เหมือนกัน

ครูโรงเรียนเทศบาลโนนชัย จังหวัดขอนแก่น ร่วมรับมือโควิด ผุดไอเดียออนไลน์คู่ออฟไลน์

‘ฮาวทูทีช’ ออนไลน์ก็เอา ออฟไลน์ก็อิน

‘รถพุ่มพวงโมเดล’ รับ-ส่งการบ้าน

จากข้อมูลข้างต้น โดยเฉพาะประเด็บริบททางสัมคมที่แตกต่าง บุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนหลายแห่งก็ตื่นตัว โดยร่วมหาทางรับมือที่น่าสนใจและได้รับเสียงชื่นชมแพร่หลาย ต่างกดไลค์ “โรงเรียนเทศบาลโนนชัย” จังหวัดขอนแก่น ที่ระดมสมองถกปม “ฮาว ทู ทีช จัดการเรียนการสอนอย่างไร ในสถานการณ์แบบนี้?” โดยเน้นย้ำทำตาม “บริบท” สังคมท้องถิ่น

ครูๆ พยักหน้ายอมรับร่วมกันว่านาทีนี้ “ออนไลน์” ก็ต้องทำ เทคโนโลยีก็เอามาใช้ แต่ส่วนสำคัญที่จะยังต้องให้น้ำหนักคือ “ออฟไลน์” ที่ทำให้ครูและนักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน โดยนำเสนอการลงพื้นที่สอนในชุมชนแบบ อสม. สนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ใบงาน แบบฝึกหัด และเกม

ให้ “ครูเดินสอน” แทน “นักเรียนเดินเรียน”

ห้องเรียน 10-15 คนต่อห้อง แบ่งเป็นสองกลุ่ม เรียน วันเว้นวัน ยืดเวลา ลดเวลา

และที่สะดุดตาอย่างยิ่งในไอเดีย คือข้อเสนอการสอนแบบ “ตะลอนทัวร์” รถสายรุ้ง รถพุ่มพวง รถซาเล้ง ตามส่ง ตามเก็บการบ้าน พร้อมเยี่ยมยามถามข่าวเด็กๆ และผู้ปกครอง เพื่อเตรียมการให้สอดคล้องกับไอเดียอื่นๆ

ไม่ลืมข้อสำคัญในสถานการณ์นี้ คือสอนสิ่งที่จำเป็น พวกทักษะชีวิตต่างๆ เจล หน้ากาก ให้ยืมอุปกรณ์ อำนวยความสะดวกหากจะออนไลน์ ในบางชั้นที่มีความพร้อม

หากมาโรงเรียน ห่อข้าว กล่องข้าว ช้อน จาน ขวดน้ำ ใช้ส่วนตัวทั้งหมด

ครูโรงเรียนเทศบาลโนนชัยยังย้ำว่านอกเหนือจากระดมไอเดีย และเเนวทางการลงมือทำ คือการสร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัย ของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ที่ต้องร่วมกันสร้าง

เพจครูขอสอนเปิดผลสำรวจทั่วประเทศ พบความกังวลหลากหลายในการเรียนการสอนช่วงโควิดระบาด

มองโลก จับตาอาเซียน

หลากช่องทาง ‘เรียนรู้’ ในยุคโรคระบาด

เขยิบไปดูเพื่อนบ้านอาเซียน สปป.ลาว เพิ่งประกาศเปิดสถานศึกษาตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัยโดยเริ่มทยอยตั้งแต่ 18 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป หลังจากไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดรายใหม่ต่อเนื่องยาวนานถึง 19 วัน โดยมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ลาวเน้นย้ำให้ทุกสถาบันการศึกษาเคร่งครัดมาตรการความปลอดภัยในการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส ขณะที่อีกประเทศที่เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายในภาพรวมคือ มาเลเซีย แต่ยังไม่เปิดสถานศึกษา

สำหรับประเทศอื่นๆ ในโลก ที่น่าสนใจคือ จีน จัดหาอุปกรณ์และระบบการสื่อสารทางไกลให้คนที่ไม่พร้อม, โปรตุเกส รับส่งการบ้านทางไปรษณีย์ ฝรั่งเศสให้ยืมอุปกรณ์ที่จำเป็น สำหรับบางรัฐในอเมริกา มีคำแนะนำให้ว่า อย่าจัดการเรียนการสอนออนไลน์ หากไม่แน่ใจว่าทุกคนจะเข้าถึงระบบนี้ร่วมกันทั้งโรงเรียน

ภาพจาก ข่าวสด

ประกาศฉบับใหม่

กับประโยคคาใจในมหากาพย์ ‘ผมเกรียน’

กลับมาที่สยามประเทศ กับมหากาพย์การต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในเรือนร่างของตัวเอง อย่างประเด็นทรงผมนักเรียนที่คุ้นตากับแนวเกรียนและติ่งหูมาช้านาน

ล่าสุด 1 พฤษภาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับใหม่ ไฟเขียวนักเรียนหญิงชายไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ แต่อย่าดัด ย้อม สร้างเสียงฮือฮาทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน ในขณะที่ มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทวีตทันควันว่าในข้อ 6 ของประกาศฉบับใหม่นั้น ระบุว่า “ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้พิจารณาอนุญาต” ซึ่งส่งผลให้ทุกอย่างเหมือนเดิม

สอดคล้องกับคำถามจาก “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” ซึ่งเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมีความเห็นต่อประกาศนี้ว่า กฎทรงผมฉบับใหม่ แต่ความคิดคงเก่า อิสรภาพบนเส้นผมยังหายไปเหมือนเดิม เนื่องจาก ในข้อที่ 4 บัญญัติไว้ว่า นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลัง ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย ส่วนนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้น หรือยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะและมีความเรียบร้อย ซึ่งมาตรฐานแต่ละคนแตกต่างกัน

นอกจากนี้ ยังมีข้อที่ 7 ของร่างระเบียบดังกล่าว ที่บัญญัติว่า ภายใต้ข้อบังคับ ข้อที่ 4 ให้สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

กระทั่ง ประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ออกมายืนยันว่า ระเบียบใหม่ไม่มีซับซ้อนซ่อนปม นักเรียนหญิงชายสามารถไว้ผมยาวได้ตามรายละเอียดในเอกสาร หากหัวหน้าสถานศึกษาไม่อนุญาต นักเรียนฟ้องร้องได้

อย่างไรก็ตาม อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ออกมาบอกว่า จะมีการส่งรายละเอียดให้โรงเรียนต่างๆ ต่อไปโดยส่วนตัวไม่กังวล เพราะในตอนท้ายของประกาศ ก็ ไม่ได้ให้อิสระกับนักเรียนมากเกินไป โดยยังให้เป็นดุลพินิจของโรงเรียนและกรรมการสถานศึกษาในการกำหนดความเหมาะสมร่วมกัน

โควิดก็กลัว ทรงผมก็มึน เปิดเทอมใหม่ วงการศึกษาไทยเตรียมไข้ขึ้นอีกระลอก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image