ปากท้อง ‘ของกิน’ ชีวิตเก่า วิถีใหม่ หลังคลาย ‘ล็อกดาวน์’

จากซ้าย - สมิทธิ ปรางทอง, วีรยุทธ คล้ำดำ, มิตรภาพ พาโพธิ์

ทยอยเปิดกันไปบ้างแล้ว สำหรับร้านอาหารทั่วประเทศไทย หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ แต่เน้นย้ำดำเนินตามมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มข้น

ร้านติดแอร์ กระทั่งสตรีทฟู้ดข้างทางก็ต่างเคร่งครัด ด้วยความหวาดหวั่นทั้งไวรัส และเกรงถูกลงดาบปิดซ้ำหากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเสี่ยง

ไม่เพียงเท่านั้น หลายร้านยังสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมทำมือจำพวกม่านพลาสติกกั้นระยะห่างระหว่างบุคคล บ้างแปะเทปกาวเป็นรูปกากบาทส่งสัญญาณห้ามนั่งแนบสนิทชิดใกล้

แน่นอนว่า อีกหนึ่งบรรยากาศที่น่าสังเกต คือแม้มีการเปิดร้าน แต่ก็ไม่ค่อยคึกคักสักเท่าไหร่ บ้างก็ว่ายังหวั่นๆ สถานการณ์ติดเชื้อ บ้างก็ยัง Work from home ที่สุดท้ายการสั่งมารับประทานที่บ้านเป็นอันสะดวกกว่า บ้างก็ว่าภาพรวมไม่คึกคัก ไม่ชวนให้นึกอยากไปนั่งกิน

Advertisement

ที่น่าสนใจ คือเหตุผลที่นักวิชาการบางท่านเคยวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนแล้ว นั่นคือ ความเคยชินในวิถีใหม่ที่จะเห็นได้อย่างแจ่มชัดยิ่งขึ้นในยุค “หลังโควิด”

และฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนปากท้องของกิน ณ ห้วงเวลาเช่นนี้ ก็คือพนักงานส่งอาหารที่ไม่เพียงมีประสบการณ์น่าฟัง หากแต่สะท้อนภาพความเป็นไปในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

Advertisement

คลายล็อก ยอดไม่ลด ‘ส้มตำ’ รอนานสุด

สมิทธิ ปรางทอง อายุ 24 ปี พนักงานส่งอาหารของ “แกร็บฟู้ด” เผยข้อมูลน่าสนใจว่า หลังจากที่รัฐบาลคลายล็อก ยอดสั่งอาหารยังคงเดิม ลูกค้าจะสั่งอาหารทั่วไป ทั้งในห้าง และร้านอาหารข้างทาง ทั้งประเภทคาวและหวาน สำหรับประสบการณ์รออาหารนานที่สุด ส่วนมากคือร้านส้มตำ

“ร้านส้มตำทำช้า เคยรอ 2 ชั่วโมง จากนั้นไม่เอาอีกเลย ได้ออเดอร์ร้านนี้มาก็กดยกเลิก เราเลือกได้เพราะไม่คุ้ม ประสบการณ์ขับแกร็บบางทีก็เจอคนไม่รับของ แต่ถ้าเขายืนยันว่าจะไม่รับ เราก็ต้องโทรหาคอลเซ็นเตอร์ เขาจะให้เราเอาไปกิน บางครั้งก็เจอลูกค้าสั่งเค้ก สั่งไอศกรีม ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องละลาย แต่ปัญหาที่เจอ คือ คัพเค้กที่ใส่กล่องขนาดใหญ่ พอไปถึงหก ลูกค้าก็โวยวาย คอลเซ็นเตอร์โทรมาบอกว่า ลูกค้าสั่งมาแล้วหก สั่งใหม่ก็หกอีก แต่คอลเซ็นเตอร์ก็เข้าใจ บางคนสั่งเค้กวันเกิดขอให้ระวัง เราก็ระวังมาก แต่บางทีถนนซอยบ้านลูกค้าไม่ค่อยเอื้อให้ขี่ได้ดีเท่าไหร่”

แม้คนสั่งอาหารเยอะในยุคโควิด แต่สมิทธิบอกว่า เมื่อช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา มีการปรับลดรายได้ลง

“เมื่อก่อนรายได้ดี ได้วันละ 1,000 บาท สบายๆ แต่เดี๋ยวนี้ลำบาก เพราะแกร็บปรับให้รายได้ลดลง จากปกติ 1 รอบได้ 50 บาท ตอนนี้เหลือ 40 บาท เพิ่งปรับได้ประมาณ 1 เดือนกว่า เมื่อก่อนจะมีเพชรให้เก็บสะสมโบนัส เดี๋ยวนี้ก็มี แต่น้อยลงมาก ส่วนใหญ่ลูกค้าจะจ่ายแบบตัดผ่านบัตร ช่วงโควิดไม่ค่อยมีจ่ายเป็นเงินสด ก่อนหน้านี้ทำงานค้าขาย แต่รายได้ไม่ค่อยดี ปลายปีที่แล้วเลยหันมาส่งแกร็บฟู้ด ส่วนมากขี่อยู่แถวประชานิเวศน์และชินเขต”

ข้อมูลเพิ่มเติมจากหนุ่มแกร็บยังชี้ว่างานส่งอาหารที่เห็นไม่ใช่แค่รอรับแล้วขี่ส่งตามคำสั่ง หากแต่มีรายละเอียด เทคนิค ชั้นเชิงที่ต้องใช้อยู่ไม่น้อย

สมิทธิ ปรางทอง

“คนที่ทำมานานจะรู้ว่าแถวไหนมีร้านอาหารเยอะก็จะนั่งเฝ้าอยู่ละแวกนั้น 10-15 นาที บางครั้งส่งงานเสร็จก็เด้งขึ้นมาต่อ ถ้าคิดว่าขี่เรื่อยๆ ก็คุ้ม แต่ถ้าเป็นจริงเป็นจัง คิดว่ามีรายได้เป็นเงินเดือนดีกว่า เพราะรายได้ไม่แน่นอน

“ผมเคยเจอเหตุการณ์แบบที่ตัวเองไม่ได้สั่ง แต่เดินมาเอา หรือบางครั้งคนสั่งไม่อยู่ ขอให้ฝากไว้กับป้า เราเอะใจว่าทำไมลูกค้าไม่อยู่ ก็ลองโทรหา ลูกค้าบอกไม่ใช่บ้านหลังนั้น ผมเกือบให้เขาไปแล้ว พลาดบ้างก็มี ลูกค้าบางคนสั่งเหมือนกัน เช่น สั่งไก่ทอด พอลงมารับ เราถามว่าสั่งไก่ทอดใช่ไหมครับ เขาบอกว่าใช่ เราก็ให้เขา สักพักอีกคนเดินลงมาเอาบอกว่าสั่งไก่ทอด แต่คนนั้นเดินขึ้นไปแล้ว”

โควิดก่อเกิดธุรกิจช่วยชุมชน รับสั่งอาหารผ่านไลน์ @Locall.bkk

พฤติกรรมคน (กิน) เปลี่ยน สร้างรายได้เสริม ‘ที่พิเศษมาก’

พนักงานอีกรายของอีกบริษัทดังอย่าง “ฟู้ดแพนด้า” วีรยุทธ คล้ำดำ เล่าประสบการณ์ครั้งเป็นช่างไม้ที่รายได้ไม่ดีนัก จึงเปลี่ยนมาส่งอาหารที่ให้ความเป็นอิสระ กำหนดเวลาทำงานได้ ในวันที่พฤติกรรมคนเปลี่ยนเมื่อเกิดโควิด-19

“เรากำหนดรายได้ของตัวเองได้ อยากได้มากก็วิ่งมาก ประสบการณ์ส่วนมากลูกค้าจะปักหมุดผิด ต้องคอยโทรศัพท์ถาม ช่วงนี้โควิดระบาด ลูกค้าบางคนก็ขอให้ขึ้นไปส่งบนคอนโด บนออฟฟิศ ส่วนตัวจะถามลูกค้าก่อนว่าเป็นอะไรหรือไม่ ถึงให้ขึ้นไปส่ง แต่ถ้าไม่เป็นอะไร ส่วนมากจะไม่ขึ้นไป เพราะเราก็เสี่ยง ถ้าลูกค้าไม่ลงมารับของระบบก็จะยกเลิกรายการอัตโนมัติ ที่รอนานสุดเต็มที่ 10 นาที ระหว่างรอก็เล่นโทรศัพท์ เพราะระบบของฟู้ดแพนด้ากำหนดให้รอระยะเวลาเท่านี้ ลูกค้าไม่ลงมารับระบบจะยกเลิกออเดอร์ทันที ระบบของฟู้ดแพนด้าดีตรงที่คนส่งจะได้ไม่ต้องรอนานด้วย”

วีรยุทธ คล้ำดำ

ในขณะที่ อำนาจ ใจเกื้อ พนักงานแกร็บ เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมาขับแกร็บ ทำงานเป็นพนักงานขับรถบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง สาเหตุที่มาขับเพราะต้องการหารายได้เสริม แต่ก็ยังทำงานที่บริษัทเดิมอยู่ เพิ่งมาทำได้ประมาณเดือนกว่าๆ ช่วงโควิดพอดิบพอดี

“อย่างน้อยก็มีรายได้เสริม มีค่ากับข้าว ขึ้นอยู่กับงานที่ลูกค้าสั่ง บางครั้ง 1 งานได้ 300-400 บาทก็มี แล้วแต่ระยะทางว่าใกล้หรือไกลมากน้อยแค่ไหน บางเที่ยวได้ 40 บาท ซื้อกับข้าว หรือข้าวกล่องใกล้ๆ แล้วแต่ลูกค้าจะใช้บริการ รออาหารอย่างช้า 2 ชั่วโมงก็มี แต่ถามว่าคุ้มไหม คุ้มนะ อย่างเช่นวันนี้ก่อนเข้างานออกมาวิ่งได้แล้ว 300 กว่าบาท มีสตางค์จ่ายค่าข้าว ซื้อขนมให้หลาน เป็นทางเลือกที่ดี”

ถ้าคนวิ่งประจำไม่มีงานอื่นทำ น่าจะอยู่ได้ เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ไม่ค่อยออกจากบ้าน แต่ส่วนตัวจะกำหนดระยะเวลาวิ่ง หมดเวลาก็ต้องไปทำงานประจำ รายได้หักค่าน้ำมัน หักค่ากิน อยู่ที่ประมาณวันละ 300-400 บาท ก็ถือว่าเป็นอะไรที่พิเศษมาก

เคสแปลกๆ ส่วนมากลูกค้าปักหมุดที่หนึ่ง แต่ไปส่งจริงอีกที่หนึ่ง ซึ่งระยะทางที่ไม่ตรง ราคาจะต่างกัน ถูกลง 5-10 บาทบ้าง ตั้งแต่วิ่งมามีหลายครั้งที่เป็นแบบนี้ อยากบอกแต่ก็บอกไม่ได้ เข้าใจว่าคนก็อยากได้ราคาถูกที่สุด” อำนาจเล่า

เที่ยงตรง ‘คิว’ สาหัส บ่ายสองสุดเหงา วอน ‘สั่งแล้วอย่ารับช้า’

หลังโควิดระบาด ภาพพนักงานส่งอาหารรอคิวตามร้านดังโดยนั่งสไลด์โทรศัพท์มือถือ คือภาพจำคุ้นตา

มิตรภาพ พาโพธิ์ อีกหนึ่งหนุ่มแกร็บฟู้ด เผยว่า เพิ่งวิ่งแกร็บได้ 3 เดือน ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นสต๊าฟจัดงานอีเวนต์ทั่วไป แต่ด้วยช่วงนี้รัฐบาลงดจัดงานอีเวนต์ เพราะโควิดเข้ามาจึงไม่มีให้ทำ

“หลังจากที่รัฐบาลคลายล็อกได้ไม่กี่วัน ต้องบอกว่าอาจจะยังไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่ ต้องรอให้คลายล็อกถึงเที่ยงคืนจึงจะรู้ ตอนนี้ยังคงวิ่งได้ถึง 21.00 น.อยู่ ระยะเวลาวิ่งส่งอาหารลดลงไปเยอะมาก จากปกติจะได้วันละประมาณ 15-20 ออเดอร์ ออกจากบ้านตั้งแต่ 08.30-20.30 น. วิ่งตามเวลาจนใกล้จะถึงเวลาเคอร์ฟิว ช่วงนี้ถือว่าได้เงินพอสมควร

“หมูตำลึงนานา เม้งโภชนา คนจะสั่งเยอะช่วง 11.00-12.00 น. เป็นช่วงที่รอนานมาก คนนิยมสั่งก๋วยเตี๋ยว เพราะราคาน่าจะถูก คนเลยกินเยอะ”

เจ้าตัวยังขอวอนลูกค้าว่า เมื่อพนักงานไปถึงจุดหมาย ขออย่าลงมารับช้า เพราะต้องทำเวลาเพื่อรับออร์เดอร์ถัดไป

มิตรภาพ พาโพธิ์


“เวลาขี่ไปส่งจะมีลูกค้าที่ชอบลงมาช้า นี่คือแปลกสำหรับผมมาก อย่างอื่นแปลกได้ แต่ขออย่าลงมาช้าก็พอ เพราะก่อนที่คนขี่จะไปถึงประมาณ 1 นาที จะมีข้อความอัตโนมัติบอกว่าคนขับใกล้ถึงแล้วนะ ลูกค้าควรจะเตรียมตัว อยากให้เห็นใจ เพราะบางทีมันต้องทำเวลา มีช่วงที่ทำเวลาอยู่ ของแกร็บคือ 10.00-13.00 น. และครึ่งหลัง 17.00-20.00 น. ถ้ารออาหารนานก็นั่งเล่นเกม บางทีก็ขี่รถไปเรื่อยๆ นั่งตรงนี้บ้าง ตรงนู้นบ้าง เซเว่นบ้าง ตามจุดต่างๆ บ้าง แต่ถ้าอยู่ในโซนร้านอาหารออเดอร์ก็จะเด้งขึ้นมาเองอัตโนมัติ บางวันก็รอนานเป็นชั่วโมงเหมือนกัน รอจนกว่าจะได้ อยู่ที่ลูกค้าว่าลูกค้าจะสั่งหรือไม่ ช่วงเวลาตั้งแต่ 14.00 น. ลูกค้าจะเงียบ ไม่ค่อยสั่ง ลูกค้าไม่สั่งก็ไม่มีงาน

ถามว่าคุ้มไหม คุ้มนะ แต่ก็เหนื่อยแสนสาหัส กลับบ้านไปอาบน้ำก็หลับทันที ตื่นเช้าก็ต้องมาวิ่งรถ วิ่งทุกวัน ตั้งใจว่าจะทำไปเรื่อยๆ

ไม่น่าจะล่มสลาย คนน่าจะสั่งอาหารเยอะ”

‘กานาฉ่าย’ เจ้าอร่อยเยาวราชยังหารับประทานได้แม้ต้อง Stay At Home
ไม่ใช่แค่อาหารพร้อมทาน แต่วัตถุดิบก็มีธุรกิจ ‘รับหิ้ว’ หนุนเศรษฐกิจชาวบ้าน
วิถีใหม่ในยุคโควิด ที่ร้านข้าวต้มเป็ดย่านประตูผี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image