จากสวนครัวสู่สมาร์ทโฟน ความรัก ‘กินได้’ บนเครือข่าย ‘ปลูกผัก’

พ่อเมืองตาก และครอบครัวลงสวนดูแลพืชผัก สอดคล้องแนวคิด "ผู้นำต้องทำก่อน" (โพสต์โดย คุณ ศศิธร หมูล้อม)

เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว ที่แผนปฏิบัติการ ’90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร’ โดย กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เริ่มต้นขึ้นและดำเนินไปอย่างงดงามบนความพร้อมใจของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วไทยภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสร้าย ‘โควิด-19’

8,254,125 คือครัวเรือนที่ลงมือปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้จากการผลักดัน ชักชวน และสนับสนุนโดย พช. ผ่านภาคส่วนต่างๆ ที่ร่วมแรงแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็น จังหวัด อำเภอ ตำบล จนถึงพัฒนากรที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน

ตัวเลขข้างต้น คิดเป็นจำนวนถึง 69.88% บนเป้าหมาย 11,811,124 ครัวเรือน จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่คือการเริ่มต้นที่มีภาพความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เพียงจับต้องได้ หากแต่ยังรับประทานอร่อยในทุกๆวัน

สำหรับ 5 อันดับครองแชมป์การหย่อนเมล็ดพันธุ์พืชลงดินมากที่สุด ได้แก่ ‘ร้อยเอ็ด’ ซึ่งเปิดตัวเป็นแห่งแรกๆ โดยพ่อเมืองลงสวนด้วยตนเอง จนมีตัวเลขถึง 89.76% ตามมาติดๆ ด้วยจังหวัด ‘ตาก’ ที่ขึ้นชื่อเรื่องผักเมืองหนาวเป็นทุนเดิมคว้า 89.55% ด้าน ‘บึงกาฬ’ ไม่น้อยหน้า รั้งอันดับ 3 จาก 89.30% จากนั้นลงใต้ไป ‘พัทลุง’ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันปลูกผักถึง 88.05% ปิดท้ายในจังหวัดชายทะเลอย่าง ‘ตราด’ กับตัวเลข 87.84%

Advertisement

หากมองภาพกว้างใน 4 ภาคของไทย ภาคเหนือ คือพื้นที่ซึ่งร่วมปลูกผักมากที่สุด ตามมาด้วยภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลางตามลำดับ โดยมีเปอร์เซ็นต์ไม่แตกต่างกันมากนัก

ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนความสำเร็จ หากแต่ยังเน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ของ ‘เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้’ ภายในปี 2565 ที่ พช.ปักธงเป้าหมายไว้อย่างมั่นคง

เฟซบุ๊ก “ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช.”กลุ่มสาธารณะที่สามารถเข้าร่วมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในปฏิบัติการ 90 วัน สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยกรมการพัฒนาชุมชน

จากตัวเลขบนกระดาษที่ถูกรวบรวมและเรียงร้อยจากความเขียวขจีในพื้นที่จริงของรั้วบ้าน หันมาดูโลกโซเชียลที่การปลูกผักสวนครัวในวันนี้ไม่ใช่แค่เกมเสมือนจริงที่เคยฮิตในสมาร์ทโฟน ทว่า ก่อเกิดสังคมออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปลูกผักสวนครัวผ่านเฟซบุ๊ก ‘ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช.’ ซึ่งเป็นกลุ่มสาธารณะที่ใครๆ ก็เข้าร่วมได้ จนมีสมาชิกถึง 12,374 คนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน พร้อมยอดการมีส่วนร่วมเกือบ 2 แสนครั้งจากกว่า 3,000 โพสต์ที่มากมายด้วยเรื่องราว คำบอกเล่า และภาพถ่ายเขียวขจีของพืชผักจากน้ำพักน้ำแรง อีกทั้งรอยยิ้มของผู้คนที่ปรากฏบนหน้าจอในช่วงอายุหลากหลายทั้งชายและหญิงตั้งแต่ 35-64 ปี บ่งบอกทั้งการมีส่วนร่วมและจุดร่วมของกิจกรรมอันเป็นที่รื่นรมย์ได้อย่างไม่จำกัดเพศและวัย

Advertisement

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมอบประสบการณ์ที่แตกต่าง แลกเปลี่ยนเทคนิคการปลูกพืชพันธุ์อย่างเปิดกว้าง ดังเช่นโพสต์พร้อมคำอธิบายอย่างเรียบง่ายแต่ชวนอ่าน เรื่อง ‘ความสุขวันอาทิตย์ของคนรักผัก’ โดยสมาชิกชื่อว่า ธนกร ตราครบุรี ที่บอกเล่าถึงการปลูกผักบุ้ง ที่เจ้าตัวบอกว่า ‘กินได้ยกแปลง‘ ตามด้วย กรีนโอ๊ค กวางตุ้ง และหอม พร้อมภาพครอบครัวที่ช่วยกัน ‘ปรุงดิน’ ไว้เป็นเมนูรสเลิศของรากพืชผักที่จะเติบโตเป็นอาหารในครัวของชาวบ้านต่อไป ในขณะที่บางส่วนร่วมแนะนำเทคนิคการปลูกผักสำหรับบ้านที่มีพื้นที่น้อยแบบไม่หวงวิชา และหลายท่านยังเปิดเผยว่าตั้งแต่เข้าร่วมโครงการของ พช. ก็ไม่ต้องไปซื้อหาพืชผักจากแหล่งใด เพียงเอื้อมไปเก็บเกี่ยวผลิตผลที่ปลูกไว้หลังบ้านก็อิ่มหนำอย่างปลอดภัยได้ทุกมื้อ การันตีด้วยภาพเมนูน่ารับประทานที่ปรุงจากผักในสวนครัวส่วนตัว อย่าง ‘เมียงโค้น’ ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า ‘นุ่ม การะเกต’ แห่งเมืองเลย ซึ่งคว้ารางวัลคือ ‘ปิ่นโต’ เถาน่ารัก จากเข้าร่วมกิจกรรม “เมนูเด็ดจากพืชผัก ผลไม้ที่ปลูกเอง”

“เมียงโค้น” เมนูพื้นบ้านจากผักสวนครัว โดยคุณนุ่ม การะเกต

เจ้าตัวระบุว่า ขอบคุณท่านที่ชอบและเห็นความสำคัญและคุณค่าเมนูอาหารพื้นบ้านอีสานไทเลย เป็นเมนูที่หลายๆท่านสามารถที่จะทดลองทำรับประทานได้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงได้ประชาสัมพันธ์ ให้ทุกท่านได้นำไปใช้ต่อ พร้อมบทกลอน

“ขอบคุณ ด้วยจริงใจ

ที่มอบให้ ด้วยใจจริง

ปลูกผัก ได้รักยิ่ง

สุขเยี่ยงนี้ ที่ พช.”

อีกโพสต์สั้นๆ ตรงใจ มาจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า ‘นภพล นครนายก’ ที่อวดรูปผักสวนครัวหลากหลายในกระถางเล็กๆ ที่พากันชูช่อชวนรับประทาน พร้อมคำอธิบายภาพว่า “จะปิดเมืองนานแค่ไหน ที่บ้านผมก็มีอาหารเลี้ยงชีพได้'” สอดคล้องบริบทสถานการณ์ต้านไวรัสร้ายที่สุดท้าย ‘ความมั่นคงทางอาหาร‘ จากการ ‘พึ่งพาตนเอง’ คือสิ่งสำคัญยิ่ง

นอกจากนี้ ยังมีโพสต์น่าสนใจอีกมากมาย บางท่านตัดสินใจร่วมปฏิบัติการโดยออกตัวว่าไม่ค่อยเชี่ยวชาญ จึงขอคำแนะนำจากเพื่อนสมาชิกถึงขั้นตอนต่างๆ และอุปสรรคที่พบเจอ ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น บ้างก็มาเป็นคลิปการลงสวน เด็ดผักจากริมรั้วบ้าน พัฒนาการแปลงผักของตัวเองตั้งแต่เริ่มปลูก จนกลายเป็นพุ่มใหญ่ ไปจนถึงภาพการ ‘แบ่งปัน’ อย่างโพสต์ของคุณ Rungtip FH ซึ่งนำผักสดที่ปลูกเองไปมอบให้ข้าราชการในอำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง ร่วมลิ้มรสความหวานกรอบของพืชพันธุ์ปลอดสารพิษ

เหลือจากบริโภคในครัวเรือน คือการ “แบ่งปัน” คุณ Viphada Kraikitrath มอบผักสดไร้สารพิษแด่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ณ สถานีตำรวจบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย

อีกมุมน่าสนใจอย่างยิ่ง คือการมีส่วนร่วมของคนไทยในต่างแดน กว่า 60 ราย จาก 25 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เพื่อนบ้านในเอเชียอย่าง ลาว, กัมพูชา, เมียนมา, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และจีน ไปจนถึงแดนไกลอย่าง ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น กล่าวได้ว่า แม้ปัจจุบันไม่ได้พำนักอยู่บนผืนแผ่นดินไทย แต่ก็ร่วมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านหน้าจอที่พร้อมให้จดเทคนิค ดื่มด่ำภาพแห่งความอุดมสมบูรณ์ และซึมซับแรงบันดาลใจในแนวคิดการกินอยู่แบบ ‘พอเพียง’ ตามวิถีไทยในอดีต

ยังไม่นับสวนครัวบ้าน ‘สุทธิพงษ์ จุลเจริญ’ อธิบดี พช.ที่ในวันนี้พืชผักกว่า 50 เข่งจากการชักชวนครอบครัวร่วมกันปลูกค่อยๆ งอกงาม เติบโตไปพร้อมๆ กับสวนผักริมรั้วของคนไทยทั่วประเทศ

พื้นที่น้อยก็ปลูกได้ คุณ Fai Sanicha โชว์ผักบุ้งอายุ 10 วันที่ขยันเติบโตชวนรับประทาน

สำหรับกลยุทธ์ต่อไประหว่างเดือนพฤษภาคมนี้กรมการพัฒนาชุมชน เดินหน้าส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบ “เข้าถึงทุกครัวเรือน” ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือการหมั่นเยี่ยมบ้านโดยทีมปฏิบัติการหมู่บ้านซึ่งเคาะประตูทักทายพร้อมให้คำแนะนำและกระตุ้นปฏิบัติการ เน้นย้ำประเด็น ‘พึ่งพาตนเอง’ ในขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ก่อเกิดการร่วมแรงร่วมใจในลักษณะการรวมกลุ่มย่อยขนาดเล็กๆ

ครัวเรือนใดยังอยู่ระหว่างตัดสินใจ ทีมปฏิบัติการจะแวะพูดคุยกระตุ้นการเรียนรู้จากตัวอย่างทั้งในชุมชน เช่น บ้านผู้นำ รวมถึงชุมชนภายนอกที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จ ส่วนบ้านไหนลงมือทำอย่างแข็งขัน เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ติดตามให้กำลังใจ แวะเวียนเคาะประตูบ้านชื่นชมสวนครัวอันงอกงามพร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติม

สวนครัวบ้านไหน สำเร็จงดงาม จะถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างแรงบันดาลใจสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นหยิบเมล็ดพันธุ์แรกลงสวน หย่อนกล้าต้นแรกสู่ผืนดินของตัวเอง

สมาชิกในชุมชนแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ผักในวิกฤตโควิด-19 โพสต์โดยคุณ สมพาน นรดี

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครือข่าย ขยายผลโดยเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยน แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ และต้นกล้า ในรูปแบบ “โครงการทอดผ้าป่าต้นไม้” สร้างการเรียนรู้ในลักษณะ “ชุมชนนักปฏิบัติ” ที่มีดัชนีชี้วัดเป็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมที่มองเห็น และจับต้องได้

ผักสวนครัวที่ชาวบ้านปลูกขึ้นตามปฏิบัติการนี้ ไม่เพียงถูกปรุงเป็นเมนูจานสดใหม่ไร้สารพิษให้คนในครอบครัวได้กินอย่างอิ่มหนำ หากแต่ กรมการพัฒนาชุมชน มีนโยบายการรวมกลุ่มนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคและทำบุญ ทำทานและแบ่งปันไป ‘แปรรูป’ อีกทั้ง ‘จำหน่าย’ ตามเป้าหมายของปฏิบัติการที่คาดหวังช่วยครัวเรือนลดรายจ่าย และยังเพิ่มรายได้อีกด้วย

แม่ค้าตลาดนัดชุมชนจากสระบุรี เก็บผักสวนครัวขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว โพสต์โดย “คุณนายเหลือ ที่บ้านเรียกนางฟ้ากระปุก”

ปฏิบัติการนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยมีการคัดเลือก “บุคคลต้นแบบ” และเชิดชูเกียรติ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ไม่เพียงเท่านั้น จะมีการติดตามความก้าวหน้าต่อไป แม้จบ 90 วันของปฏิบัติการ

นับเป็นโครงการดีๆ ในวันวิกฤตที่เปิดประตูแห่งโอกาสในการสร้างความมั่นคงทางอาหารทั้งต่อครอบครัว ชุมชนและประเทศอย่างแท้จริง

ความสวยที่กินได้ สมาชิกกลุ่มนามว่า “Sunisa Buntham” แลกเปลี่ยนเรื่องราวการทำ “นาบัว” พร้อมติดแฮชแท็ก #พอเพียงอยู่ที่ใจเราเพียงพอ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image