อ่าน ‘อยู่ได้’! ในยุคนิวนอร์มอล หาก ‘วัฒนธรรม (ร้าน) หนังสือ’ คือความมั่นคงชาติ

“โลกยุคใหม่ของหนังสือไทย ย่อมมิใช่ออนไลน์ทั้งหมด ก็แม้รับเงิน 5,000 ยังไม่ได้”

คือคำกล่าวของ มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ผู้เป็นที่รู้จักมากกว่า จากตำแหน่งบรรณาธิการ นักเขียน และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสูงยิ่งในการก่อร่าง หลักสูตร “บรรณาธิการศึกษา” ผลักดัน “ระบบหนังสือแห่งชาติ” รวมถึงเรียกร้องรัฐบาลให้หันมาสนใจในประเด็นการจัดการ “ความรู้ประชาชาติ”

ตั้งแต่ยุคเฟื่องฟูของของ “กระดาษ” และสิ่งพิมพ์จนถึงวันที่หนังสือนับล้านเล่มมีให้อ่านผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน มกุฏ ยังไม่หยุดแอ๊กชั่น พร้อมหันมาสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียอีกช่องทาง

Advertisement

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน เคยโพสต์ข้อความที่มีน้ำเสียงห่วงใย

“ในอนาคต เราอาจจะเป็น

#ประเทศที่ไม่มีร้านหนังสือเลย”

Advertisement

เป็นการคาดการณ์ในทำนองคล้ายๆ กันของผู้คนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมองว่าความสำคัญของหนังสือเล่มที่ตีพิมพ์บนกระดาษ ออกจากแท่นพิมพ์ เย็บเล่ม วางขายในร้านหนังสือจะลดลงอย่างมากจนน่าใจหาย

วันนี้ ในต้นปี 2563 มกุฏ ยังยืนยันว่า การไม่มีร้านหนังสือให้ชาวบ้าน ไม่มีที่ขายหนังสือเพื่อคนไม่คุ้นเคยออนไลน์ ไม่มีแหล่งความรู้พื้นฐานสำหรับคนส่วนมาก ย่อมเกิดผลเสียใหญ่หลวงในการพัฒนาชาติ

ล่าสุดเกิด “โครงการ #วัฒนธรรมร้านหนังสือ” ที่ “มูลนิธิวิชาหนังสือ” ร่วมกับ “กระทรวงวัฒนธรรม” ด้วยความคาดหวังให้ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศไทย “อยู่ได้” ส่วนพิธีเปิดโครงการจะมีขึ้นเมื่อไหร่ รอติดตามกันต่อไปผ่านเพจ หนังสือเดินทางร้านหนังสือ : Book Passport

มกุฏ ยังบอกเล่าสถานการณ์ในวงการ “คนทำหนังสือ” ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองว่า คนทำงานเกี่ยวข้องกับหนังสือหลายคนเริ่มบ่นว่าอยากเลิกงานนี้แล้ว ไปทำสวนทำไร่ดีกว่า เพราะตอนนี้สำนักพิมพ์ส่วนมากหยุด ร้านเพลท โรงพิมพ์ ร้านเย็บกี่ ไสกาว ทำปก ทุกแห่งงานหดหมด บางแห่งหยุดสนิท

หลายแห่งมีรายได้ไม่พอค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ บางแห่งมีเงินเดือนจ่ายพนักงานครึ่งเดือน แต่บางแห่งไม่มีเลย วันนี้ผมจึงได้กินอาหารจากร้านทำปก ได้ดื่มน้ำส้มคั้นบริสุทธิ์บรรจุขวดจากร้านเย็บกี่

จากซ้าย มกุฏ อรฤดี, อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และ ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พูดคุยเรื่อง ‘ระบบหนังสือ’ และความร่วมมือต่างๆ


“เราเคยพูดกันเสมอว่า คนทำหนังสือเป็นผู้ผลิตเครื่องมือสติปัญญา ทำงานเพื่อการมีสติปัญญาของคนทั้งหลาย แต่ถึงเวลาเข้าจริงก็จนปัญญาแก้ปัญหาตัวเอง เพราะเหตุใดหรือ วงการหนังสือมีสมาคมต่างๆ อยู่ก็จริง เช่น สมาคมภาษาและหนังสือ สมาคมนักเขียนฯ สมาคมนักแปลและล่ามฯ สมาคมห้องสมุดฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือฯ สมาคมการพิมพ์ อาจจะมีสมาคมผู้ค้ากระดาษ และสมาคมอีกมากมายที่เกี่ยวข้อง

แท้จริงแล้วงานหนังสือเป็นงานเชื่อมโยงอาชีพ แต่น่าแปลก เมื่อถึงคราวเดือดร้อน ห่วงเชื่อมทั้งหลายกระเด็นกระจายหายสูญ ทำให้เราเห็นภาพชัดว่า ความสัมพันธ์จะมีก็แต่เมื่อได้ผลประโยชน์”

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยถึงการหารือกับ อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจว่า ระบบหนังสือนั้นสำคัญ

“ถ้าระบบหนังสืออ่อนแอ จะพัฒนาชาติได้ยาก ที่ยากยิ่งกว่านั้นคือ ประเทศเราไม่มีระบบเลย เราไม่มีโครงสร้างกลไกใดๆ เรื่องหนังสือ ทุกสิ่งที่ดำเนินอยู่และเป็นไปคือ ยถากรรม หรือจะพูดให้ฟังดูดีก็คือ กินบุญเก่า และบุญเก่านั้นเริ่มหมด หรืออาจจะหมดไปแล้ว

เมื่อทุกคนพูดคำว่า Disruption กับหนังสือ ที่ผมอยากบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องที่ว่ามานี้ก็คือ ขณะนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พยายามทำงานหนักเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ทุกวัน แต่อาจจะเห็นผลช้า ไม่เหมือนตั้งงบซื้อของแจก และเรื่องบางเรื่องจะประชาสัมพันธ์ก็ยาก ผมจึงทำตัวเหมือนกระบอกเสียงเรื่องนี้เสียเอง อย่างน้อยเพื่อให้ได้รับรู้กันว่า งานบางสิ่งบางเรื่อง มีคนทำอยู่เงียบๆ และร้องบอกใครไม่ได้”

‘วัฒนธรรมร้านหนังสือ’ รวมแผนที่เพื่อ ‘ความมั่นคง’

ย้อนกลับมาที่ “โครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือ” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่สังคมไทยอาจยังไม่ค่อยรู้จัก คุ้นเคย และเข้าใจ

ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊กอันเกี่ยวเนื่องกับโครงการอธิบายว่า “วัฒนธรรมร้านหนังสือ” คือ โครงการความพยายามเพื่อร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศอยู่ได้ อย่างมั่นคง

โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2562 กิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ดึงดูดผู้อ่านด้วยเครื่องมือ Book Passport

มีการจับสลากมอบรางวัลหนังสือทุกเดือน นักอ่านทั่วประเทศเข้าร่วมได้ที่ร้านหนังสือ และมีรางวัลใหญ่ทุก 6 เดือน ให้ครอบครัวนักอ่านเดินทางไปพักผ่อนต่างเมือง ไปค้างแรมในโรงแรมหรือที่พักดีที่สุดในเมืองนั้น มีอาหารเลี้ยง และมีเงินให้ซื้อหนังสือกลับบ้าน

นอกจากนั้น ร้านหนังสืออิสระทั้งหลายมีโอกาสจะได้เป็นร้านป้ายทอง และร้านติดป้าย ได้รับทุนสนับสนุนกิจกรรมตลอดปี และทุนสนับสนุนการดำเนินงานของแต่ละร้าน

เมื่อไหร่ที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายหรือผ่านพ้น เตรียมสังเกตการณ์และร่วมโครงการได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำได้เลยแม้ยัง Stay at Home คือการ “ปักหมุด” ร้านหนังสืออิสระใกล้บ้าน ซึ่งจะเป็นการช่วยรวบรวมแผนที่ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศไทยที่ใครๆ ก็กดเข้าไปดูได้

ข้อมูลในแผนที่จะประกอบด้วย ชื่อร้าน เบอร์โทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย และที่อยู่ของร้าน นี่คือหนึ่งในการร่วมสร้างวัฒนธรรมร้านหนังสือในประเทศไทยทางโครงการเชิญชวน

อีกกิจกรรมที่คนรักหนังสือดูจะตื่นเต้นในการมีส่วนร่วมอย่างยิ่งคือการ “เขียนจดหมาย” ด้วย “ลายมือ” ส่งไปรษณีย์ขอรับ “สมุดบันทึก” กระดาษเนื้อดี ที่ “เลขานุการ มูลนิธิวิชาหนังสือ 261 ซอยสวัสดี แยก 2 ถนนสุขุมวิท 31แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนากรุงเทพฯ 10110″

 

หรือเมื่อซื้อหนังสือที่ร้านหนังสืออิสระ ซึ่งร่วมโครงการ #วัฒนธรรมร้านหนังสือ ด้วยคำเชื้อเชิญเรียบง่ายชวนฟัง ว่า

“ในภาวะเช่นนี้ การเขียนบันทึกเป็นประโยชน์ เรามีสมุดให้คุณ ทุกคน”

ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับนักเขียนหรือนักอยากเขียน ยังมีการกวักมือเรียกผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กให้ร่วมสร้างสรรค์งานวรรณกรรมในยุคโรคระบาดอีกด้วย

“ในชั่วชีวิตหนึ่ง เราคงไม่มีโอกาสเผชิญโรคระบาดของโลก มากกว่า 1 ครั้ง จึงขอเชิญชวนสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรม กวีนิพนธ์ นวนิยาย เรื่องสั้น ความเรียง บันทึก สารคดี และบทละคร ในโอกาสสำคัญของมนุษยชาติครั้งนี้ เพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ ฝากไว้แก่โลก

ตัวแทนลิขสิทธิ์ต่างประเทศถามมาว่า อนาคต ประเทศของคุณในด้านหนังสือ มีนโยบาย หรือแนวทางอย่างไร”

ทั้งนี้ จะมีการจัดพิมพ์เผยแพร่และจำหน่ายในระบบลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ต้นฉบับเป็นของผู้ประพันธ์ ผู้ประพันธ์ได้รับค่าตอบแทนตามอัตรามาตรฐาน ลิขสิทธิ์การพิมพ์เป็นของมูลนิธิวิชาหนังสือร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สิทธิการพิมพ์ซ้ำเป็นของผู้ประพันธ์

‘หนังสือเดินทาง’ ของนักอ่าน
เชื่อมสัมพันธ์ ขยายตลาดสู่จังหวัดเล็กๆ

มาถึงตรงนี้ มกุฎ เชื่อว่าการที่หน่วยงานรัฐบาลร่วมมือกับเอกชน พยายามจะขยายร้านหนังสืออิสระให้กระจายออกไปและให้ร้านหนังสือที่มีอยู่เข้มแข็งด้วยวิธีต่างๆ จะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านกับร้านหนังสือ อย่างการนำ “หนังสือเดินทางร้านหนังสือ” หรือพาสปอร์ตไปประทับตราตามร้านหนังสืออิสระที่ร่วมโครงการ

“เราหวังว่าจะมีคนเข้าร้านหนังสือเพิ่มมากขึ้น มีคนซื้อหนังสือจากร้านหนังสืออิสระมากขึ้น ด้วยวิธีอันน่ารัก คือตราประทับของแต่ละร้าน หนังสือทุกเล่มที่ผู้อ่านซื้อในแต่ละเดือนจะมีโอกาสได้ร่วมชิงรางวัลหนังสือในเดือนนั้นๆ และเป็นหนังสือที่เลือกได้เอง ฟรี ที่ร้านทุกแห่ง

นอกจากนั้น ทุก 6 เดือน มีรางวัลพิเศษ สมาชิก Book Passport มีสิทธิชิงรางวัลใหญ่ ตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวจังหวัดไหนก็ได้ นอนพักโรงแรม รีสอร์ต หรือที่พักใดก็ได้ มีอาหารให้รับประทานระหว่างสองวันสองคืน และมีงบประมาณให้ซื้อหนังสือในจังหวัดนั้น

ด้วยวิธีเช่นนี้ เชื่อว่าตลาดหนังสือจะขยายออกไปสู่หัวเมืองและจังหวัดเล็กๆ มากขึ้น การขยายร้านหนังสืออิสระ ย่อมเป็นผลดีต่อชาติบ้านเมือง ต่อประชาชน ต่อสำนักพิมพ์ ต่อนักเขียน นักแปล และแม้แต่เจ้าของลิขสิทธิ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในระยะยาว” มกุฏอธิบาย ทั้งยังไขปมที่ยังไม่ทันต้องถามให้กระจ่างชัดถึงประโยชน์ของการมีร้านหนังสืออิสระว่า

“ผมถามผู้รู้สองสามคนว่า ถ้ามีร้านหนังสืออิสระสัก 300 ร้าน ใครจะได้ประโยชน์บ้าง สำนักพิมพ์จะได้ประโยชน์อะไร

1.ลองคิดเล่นๆ ว่า แต่ละร้านรับหนังสือไปขายได้เรื่องละ 4-5 เล่ม ก็จะช่วยสำนักพิมพ์ขายหนังสือได้เรื่องละ 1,200-1,500 เล่ม

2.อาจมีคนแย้งว่า ร้านหนังสือไม่ค่อยจ่ายเงินให้สายส่งหรือสำนักพิมพ์ ข้อนี้ต้องว่ากันเป็นรายๆ ไป เช่น ขึ้นบัญชีดำหรือร้านไหนจ่ายเงินดีก็เพิ่มส่วนลดให้

3.ร้านขายหนังสือเป็นเสมือนโชว์รูมให้สำนักพิมพ์ได้โฆษณาหนังสือ

4.ร้านขายหนังสือช่วยแบ่งเบาพื้นที่เก็บหนังสือหรือโกดังให้สำนักพิมพ์”

 

รัฐบาลได้อะไร เมื่อร้านหนังสือ เสมือนห้องสมุด

หากมองภาพรวมระดับชาติ ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ก็มีคำตอบว่ารัฐบาลได้ประโยชน์อะไร แจกแจงอย่างเข้าใจง่ายใน 6 ข้อ ได้แก่

1.ร้านหนังสือเป็นเสมือนห้องสมุดกลายๆ ทุกแห่ง แม้หนังสือจำนวนหนึ่งจะอยู่ในซองผนึก แต่ย่อมมี 1 เล่ม ให้เปิดดูได้ ข้อนี้ต้องเป็นข้อบัญญัติว่า แม้หนังสือจะผนึกซองบรรจุ ผู้อ่านมีสิทธิขอเปิดดูได้ การได้เปิดดูหนังสือที่มีสาระ ตรงตามที่ผู้อ่านต้องการ และเป็นประโยชน์ แม้เพียงหน้าเดียวก็มากเท่ากับเข้าห้องสมุด

2.ห้องสมุดกลายๆ นี้ รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณ เช่น ค่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเงินเดือนเจ้าหน้าที่ ค่าดูแลอื่นๆ

3.ตามประโยชน์ของข้อ 1 และ 2 รัฐบาลประเทศทั้งหลายจึงเห็นความจำเป็นของพนักงานร้านหนังสือ ในหลายประเทศมีหลักสูตรพนักงานร้านหนังสือ เสมือนหนึ่งวิชาบรรณารักษศาสตร์ และร้านหนังสือไม่น้อย รับผู้สำเร็จการศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์มาเป็นพนักงานขาย หรือผู้จัดการร้าน

4.ร้านหนังสือเป็นเครื่องนำทางด้านความรู้ของประชาชน เมื่อเห็นหนังสือเล่มใดอยากอ่าน อยากได้ความรู้ แม้ความบันเทิง ก็ไปยืมจากห้องสมุดได้ กรณีเช่นนี้เท่ากับร้านหนังสือเป็นสาขาของห้องสมุดในเมืองนั้นๆ

5.ในทางกลับกัน หนังสือในห้องสมุดอาจมีคิวยืมยาวเกินไป หรือเมื่ออ่านหนังสือยืมแล้วอยากมีไว้เป็นเจ้าของ ก็กลับไปซื้อที่ร้านหนังสือ

6.ร้านหนังสือทำหน้าที่เหมือนห้องสมุด คือ กระจายโอกาสเข้าถึงความรู้ให้ประชาชนทุกระดับทุกคน

ยังไม่พูดถึงว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร ชุมชน จังหวัด สังคมจะได้ประโยชน์อะไรตามมา และคิดดูให้ดี หากขยายร้านหนังสือออกไป แม้เพียงหลักร้อย ไม่ถึงหลักพันเช่นประเทศอื่น เราก็จะเพิ่มอาชีพได้มหาศาล

อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือแต่ละเล่ม ประกอบด้วยคนจำนวนนับสิบ จนถึงหลายสิบ เงินตราที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการขายหนังสือ ย่อมต่างไปสิ้นเชิงกับการขายอาหารเครื่องดื่ม เพราะคนที่อ่านหนังสืออาชีพใดก็ตาม ย่อมก่อประโยชน์ได้หลายเท่าของราคาหนังสือ

อ่าน ‘ห่างๆ’ อย่างไม่เหงา ในวันอยู่ยาก แต่ยังอยู่ได้

หันมาเปิดประตูดูร้านหนังสืออิสระในห้วงเวลาโรคระบาดกันบ้าง แวะร้านเล็กย่านผ่านฟ้า มหานครกรุงเทพฯ อย่าง ร้านหนังสือเดินทาง ที่ตอนนี้เปิดเป็นปกติ

เพียงแต่เลื่อนเวลาเป็นเปิด 11 โมง ปิด 6 โมง (และปิดทุกวันจันทร์) แต่ไม่มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งกลางร้านดังเก่า ส่วนเครื่องดื่มรสดี ยังสั่งได้แต่ต้องหิ้วกลับเท่านั้น

เข้าร้านเมื่อใด “หนุ่ม หนังสือเดินทาง” เจ้าของร้านย้ำอย่าลืมสวมหน้ากากอนามัย เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิต

เขยิบออกไป “ร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง” แห่งเมืองอุทัยธานี ผุดกิจกรรม “อ่านต้านโควิด” #หยุดเชื้อไม่หยุดอ่าน ร่วมกับ “มูลนิธิกระจกเงา” ส่งต่อหนังสือดีมีคุณภาพทั้งส่งทางไปรษณีย์และไปรับที่หน้าร้าน

“ไม่บ่อยครั้งนักที่ร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่งจะได้มีโอกาสเข้าร่วมในกิจกรรมแจกหนังสือให้แก่บุคคลทั่วไป เพราะเราเป็นร้านจำหน่ายหนังสือ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ เราก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อหนังสือที่ดี มีคุณค่า ให้แก่ผู้ต้องการและเห็นคุณค่าของการอ่าน” วฐิศานต์ จันทร์วิบูลย์ ระบุในปีที่ 10 ของการเปิดร้านซึ่งเจ้าตัวเคยยอมรับว่าร้านหนังสืออิสระ “อยู่ยาก” แต่ “อยู่ได้”

 

 

ด้าน “A book with no name” ย่านสามเสน ที่ขึ้นชื่อด้านเปิดเพลงเพราะมาก เบเกอรี่ดีเลิศ ซ้ำมีพนักงานต้อนรับเป็นน้องเหมียวจ้ำม่ำ วันนี้ เปิดให้นั่งในร้านได้แล้ว โดยยึดหลักโต๊ะละ 1 ที่ เพื่อรักษาระยะห่างทางกายภาพ

เช่นเดียวกับ “ร้านสวนเงินมีมา” ย่านพระนคร ก็เปิดให้นั่งอย่าง “สันโดษ” ในยุคโรคระบาด

คือส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในแวดวงหนังสือก่อนยุค “หลังโควิด” จะมาถึงอย่างสมบูรณ์ ก่อน “นิว นอร์มอล” หรือ “ฐานชีวิตวิถีใหม่” จะกลายเป็นวิถีปัจจุบันในวันพรุ่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image