47 วัน ‘พันธมิตรชานม’ การทูตยุคโซเชียลมีเดีย แผนแยบยลฟื้นฟูชาติ?

'เจิ้ง เหวิน-ช่าน' นายกเทศมนตรีเมืองเถาหยวนของไต้หวัน โพสต์ลงทวิตเตอร์ ภายหลังทางการไต้หวันส่งมอบแมสก์และชุด PPE แก่ไทยให้ต่อสู้กับโควิด-19 เมื่อเดือน เม.ย.63 พร้อมดื่มชานมไข่มุกและชาไทยกระชับมิตรภาพ

สภาพอากาศช่วงซัมเมอร์ที่ร้อนฉ่า อาจเทียบไม่ได้กับดราม่าร้อนแรงในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากย้อนไปในเดือนเมษายน ซึ่งเกิดศึกทวิตเตอร์ระหว่างชาวเน็ตจีน-ไทย กระทั่งก่อกำเนิด พันธมิตรชานม อันมีที่มาจากปมเล็กๆ ที่ ไบร์ท วชิรวิชญ์ นักแสดงหนุ่มจากซีรีส์วาย “เพราะเราคู่กัน” รีทวีตภาพถ่ายของช่างภาพชาวไทยที่ไปเรียกฮ่องกงว่า “ประเทศ” ก่อนทั้งคู่จะออกมาขออภัยอย่างรวดเร็ว

เรื่องราวไม่จบเท่านั้น เพราะมีอีกหลายเหตุการณ์เข้าไปเกี่ยวพัน แม้กระทั่งช่วงท้ายของสงครามออนไลน์นี้ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ 3 ภาษา เน้นย้ำหลักการจีนเดียว

ชวนให้หลายคนเกิดคำถามว่า เหตุใดทางการจีนจึงกระโจนลงมาร่วมศึกครั้งนี้ เสมือนทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่?

จากวันนั้นถึงวันนี้ มากกว่าหนึ่งเดือนแล้วที่ประเด็นดราม่าดังกล่าวกลายเป็นอดีตที่หลายคนไม่อาจลืม โดยเฉพาะเมื่อ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) จัดเสวนา พันธมิตรชานม : การทูตยุคโซเชียลมีเดีย? พร้อมชักชวนวิทยากรมากความสามารถร่วมวิเคราะห์แนวคิด “พันธมิตรชานม” จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในรูปธรรม กระทั่งกลายเป็นโมเดลการทูตแบบยุคโซเชียลมีเดียได้หรือไม่?

Advertisement

 

‘โซเชียลมีเดีย’ แนวรบสงครามไซเบอร์

ในโลกโซเชียลมีเดียที่ทุกอย่างไร้พรมแดน ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จึงออกตัวชื่นชมพลังของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความกล้าแสดงออก เนื่องจากมีพื้นที่มากขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีอันชาญฉลาดยังช่วยแปลภาษาต่างๆ ทำให้ผู้คนสื่อสารกันได้ง่าย

เขามองว่า พลังเยาวชนมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง กรณีที่เห็นชัดเจนนอกเหนือจาก “พันธมิตรชานม” คือคนรุ่นใหม่จำนวนมากเทคะแนนให้ “ไช่ อิงเหวิน” ซึ่งชูนโยบายปกป้องคุณค่าเสรีภาพของไต้หวัน ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้นำสมัยที่ 2 อีกทั้งม็อบร่มในฮ่องกงก็มีแต่คนรุ่นใหม่ โดยอาศัยการระดมพลผ่านโซเชียล

Advertisement

“หากเปรียบเทียบจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน ขนาดพลเมืองก็แตกต่างกัน ขนาดพื้นที่ต่างชัดเจน รวมถึงไซซ์เศรษฐกิจด้วย นโยบายเด่นๆ ของจีนคือ วันเบลต์ วันโรด เชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งมุ่งไปทั่วโลก ด้านไต้หวันมีนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New southbound policy) เพื่อลดการพึ่งพาจีน โดยพยายามเชื่อมต่อกับอาเซียน เอเชียใต้ ไปออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพราะเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของไต้หวัน ลมหายใจก็อยู่ที่จีนเช่นกัน

‘ไช่ อิงเหวิน’ (แฟ้มภาพ)


“หากมองไทยกับจีน หรือไทยกับไต้หวัน เพียงแค่มูลค่าการค้า ปีหนึ่งไทยกับไต้หวันค้าขายกันระดับ 4 แสนล้านบาท แต่ไทยจีนราวปีละ 2.5 ล้านล้านบาท ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย นักท่องเที่ยวไต้หวันมาไทยปีละกว่า 6-7 แสนคน ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวจีนมาไทย 11 ล้านคน ซึ่งมูลค่ารายได้จากนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มาไทยปีที่แล้วเกือบ 2 ล้านล้านบาท เป็นจีนประมาณ 5-6 แสนล้านบาท แค่ตัวเลขการท่องเที่ยวก็มากกว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไต้หวันแล้ว คิดว่ารัฐบาลไทยจะเลือกใคร?”

ส่วนความกังวลเรื่อง “สงคราม” ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันในอนาคตนั้น ชัยวัฒน์เชื่อว่าเกิดสงครามไซเบอร์แน่นอน ซึ่งอันที่จริงได้ดำเนินมาก่อน “พันธมิตรชานม” แล้ว และสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความคิดประชาชนแต่ละพื้นที่ได้

“อย่าว่าแค่จีนกับไต้หวัน เพราะอเมริกาก็ตัวพ่อ เดี๋ยวนี้ทุกชาติทำกันเรื่องนี้ แต่คงไม่ถึงขั้นเอาลูกระเบิดมาถล่มกัน เชื่อว่าวันนี้ไม่มีใครกล้าชักปืนก่อน อาจชักขู่ แต่ไม่มีใครกล้ายิง เพราะหายนะต่างๆ จะตามมาจำนวนมาก ที่เห็นชัดคือ อเมริกากับจีนขู่กันจนน้ำลายแตกฟอง ล่าสุดระบุว่ามีมิสไซล์ความเร็วเหนือเสียง แต่จริงๆ ทวิตเตอร์ไปทั่วโลกได้ไวกว่าแล้ว และพันธมิตรชานมก็เป็นหนึ่งในแนวรบด้วยเช่นกัน”

เมื่อจีนสร้าง ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ ไม่สำเร็จ?

เดิมทีดราม่าครั้งนี้เป็นเพียงการต่อสู้กันระดับประชาชนกับประชาชนเท่านั้น แต่ทันทีที่บุคลากรภาครัฐจากไต้หวันและทางการจีนกระโดดเข้ามาร่วมแจม พลันเกิดความกังวลว่าเรื่องนี้จะสะเทือนไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่?

“กระแสในทวิตเตอร์ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือท่าทีของไทยที่มีต่อจีนแน่นอน ไม่ต้องห่วง”

คือคำตอบจาก รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาและอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไต้หวัน ถึงความกังวลครั้งนี้

รศ.ดร.สิทธิพลอธิบายว่า “พันธมิตรชานม” เกิดขึ้นแบบเฉพาะกิจ ไม่ได้เกิดจากความจงใจหรือมีผู้วางแผนอยู่เบื้องหลัง แต่เป็นความบังเอิญของหลายๆ เหตุการณ์ใน 3 ประเทศและดินแดน สำหรับนโยบายรัฐโดยเฉพาะด้านการต่างประเทศนั้น โดยหลักแล้วผู้กำหนดต้องอยู่บนฐานของการเมืองตามสภาพจริง (Real politics) ซึ่งทุกคนตระหนักดีว่าจีนมีความสำคัญต่อโลกและไทยมากขนาดไหน ไม่ว่าจะมิติด้านความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงท่าทีของไทยที่มีต่อจีนแน่นอน

“เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ที่อยากให้จีนนำไปพิจารณาว่าอาจต้องทบทวนอะไรบางอย่าง ซึ่งมีข้อบ่งชี้ว่าคนรุ่นใหม่ของไทยที่มองจีนไม่ได้มองแบบที่จีนอยากให้มอง พูดอีกอย่างคือเรื่องที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนว่า จีนยังไม่สบความสำเร็จในการสร้างซอฟต์เพาเวอร์

“หลายคนบอกว่าอเมริกาเป็นประเทศที่มีซอฟต์เพาเวอร์ ต่อให้คุณไม่ได้ทุนไปเรียนที่นั่น แต่ก็อยากตะเกียกตะกายไปเพราะรู้สึกว่าอาจเป็นดินแดนแห่งโอกาสที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ซึ่งจีนพยายามสร้าง แต่ในปรากฏการณ์นี้บอกว่าความพยายามของจีนในการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ยังเป็นปัญหาอยู่มากทีเดียว ดังนั้น หากจีนอยากรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับไทย เรื่องความสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น”

ขณะที่ หทัย เตชะกฤตธีรนันท์ ผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทย หนังสือพิมพ์เดอะสเตรต์สไทมส์ ผู้ติดตามเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิดได้ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีทางการจีนนำนักแสดงชื่อดังร่วมให้กำลังใจชาวไทยฝ่าฟันโควิด-19 เสมือนทำให้เรื่องราวซอฟต์ขึ้นนั้น ทว่า ซอฟต์เพาเวอร์นี้กลับเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

ทุกการตอบโต้มีความหมาย ที่มาของ ‘การฟื้นฟูชาติ’ อย่างแยบยล

ส่วนเหตุที่จีนออกมาตอบโต้ด้วยแถลงการณ์ รศ.ดร.สิทธิพล เผยว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไป

เขาบอกว่า ต้องมองว่าผู้นำจีนดำเนินนโยบายต่างๆ ซึ่งถือว่าตนเองป็นคนขับรถนำพาประเทศวิ่งไปในเส้นทางแสนยาวไกล และขณะนี้อยู่บนถนนของ การฟื้นฟูชาติ (National rejuvenation) นั่นหมายความว่า ผู้นำมองว่าประเทศจีนก่อนปี 1949 เป็นประเทศตกต่ำ โดยปี 1949 เป็นการปลดปล่อย (Liberation) ส่วนตอนนี้เป็น On the road to national rejuvenation โดยหนทางสู่การฟื้นฟูชาติกินเวลายาวนานถึง 100 ปี ตั้งแต่ 1949-2049

แถลงการณ์ภาษาไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

“สุนทรพจน์ของสี จิ้นผิง กล่าวถึงการฟื้นฟูชาติบ่อยๆ หรือบอกว่าบรรลุความฝันของจีน ซึ่งมีนัย เพราะการฟื้นฟูชาติจะสมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าจีนไม่ได้ทวงคืนสิ่งที่จีนมองว่าตัวเองเคยเป็นเจ้าของอย่างชอบธรรม เช่น ดินแดนที่เสียไปอย่างทะเลจีนใต้ หรือฮ่องกงที่แม้ได้คืนมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ความภักดี ส่วนไต้หวันไม่ต้องพูดถึง เพราะสองฝั่งช่องแคบต่างมีรัฐบาลเป็นของตนเอง

“ฮ่องกงและไต้หวันเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำจีนให้พันธสัญญากับชาวจีนไว้แล้วว่านี่คือ ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ ขนาดเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจีนส่วนอารัมภบทว่าไต้หวันเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประชาชนจีนทั้งปวงมีหน้าที่ต้องร่วมแรงร่วมใจดึงไต้หวันคืนสู่ปิตุภูมิ”

เหล่านี้จึงเป็นคำตอบของคำถามว่า เหตุใดทางการจีนจึงร่วมแจมในสมรภูมินี้อย่างรวดเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image