น้ำตา ‘อัศวิน อิงคะกุล’ สูญเดือนละ 200 ล้าน แบก ‘มิราเคิล’ เดินหน้าเพื่อศักดิ์ศรี : โดย สกุณา ประยูรศุข

น้ำตา ‘อัศวิน อิงคะกุล’ สูญเดือนละ 200 ล้าน แบก ‘มิราเคิล’ เดินหน้าเพื่อศักดิ์ศรี : โดย สกุณา ประยูรศุข

เสียงขอบคุณและชื่นชมของชาวบ้านที่อยู่บริเวณชุมชนรอบๆ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ย่านหลักสี่ รวมไปถึงย่านดอนเมืองดังกระหึ่ม หลังจากเจ้าของโรงแรม อัศวิน อิงคะกุล เปิดโรงแรมจัดโครงการแบ่งปันน้ำใจแจกข้าวสาร อาหารกล่อง น้ำ หน้ากาก และเงินสด ให้แก่ประชาชนในละแวกดังกล่าวในช่วงวิกฤตโควิด-19

วันนี้มิราเคิล กรุ๊ป ของอัศวิน เหมือนเครื่องยนต์ที่กำลังอ่อนล้า ซึ่งเจ้าของจะต้องเร่งซ่อมบำรุงอย่างหนัก เพื่อทำให้เครื่องยนต์สามารถติดเครื่องอยู่และเดินต่อไปได้ เขาบอกว่าผลกระทบจากโควิดเป็นสิ่งที่เขาต้องจดจำไปจนวันตาย เพราะสำหรับเขาแล้ว “มันหนักมาก” เสียงกลั้นสะอื้นสะเทือนอารมณ์ บอกเล่าว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตเป็นต้นมามีผลกระทบสร้างความวุ่นวายไปทั่ว ทั้งยังหนักหนาสาหัสอีกด้วย

“…บอกได้เลยว่าเวลานี้รายได้ของผมหายไปเฉลี่ยแล้ววันหนึ่ง 7 ล้านบาท คิดเป็นรายเดือน ตกเดือนละ 200 ล้านบาท…หายวับไปกับตา”

สิ่งที่อัศวินบอก คือรายได้ของมิราเคิล กรุ๊ป ทั้ง 5 บริษัท ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้นเมื่อยิงคำถามแรกกับเขา “รับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร?” แม้จะเป็นคำถามซิมเปิ้ล ง่ายๆ แต่กลับแทงใจดำของอัศวินที่กำลังเผชิญวิกฤตอยู่ในขณะนี้

Advertisement

เสียงที่เอ่ยออกมาจึงสั่นเครือเต็มไปด้วยอารมณ์ที่อัดแน่นอยู่ภายใน เขาหยุดนิ่งไปพักใหญ่ก่อนบอกว่า “ถ้าพูดแล้ว…ชีวิตมันไม่เคยเจอ” เสียงเครือค่อยๆ เรียบเรียงความรู้สึกบอกว่า “…คิดไม่ถึงว่ามันจะร้ายแรง รุนแรงมาก คิดแต่ว่ามันมาสักพักหนึ่งแล้วก็จะไป เหมือนกับไข้หวัดตัวอื่นๆ แต่หลังจากที่เดือนหนึ่งผ่านไปแล้ว เรารู้ทันทีว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีมาตรการของรัฐบาลออกมา ห้ามชุมนุมกัน ห้ามจัดงานต่างๆ เหล่านี้ ทุกอย่างมีกฎระเบียบเกิดขึ้นมา

“เรามองอยู่แล้วรู้เลย ทั้งที่ดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อไม่มีผู้โดยสาร ไม่มีไฟลต์บิน แน่นอนว่าก็ต้องปิด แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ปิด คือ ห้องอาหารทั้งสองแห่ง เราปิดไม่ได้…ถ้าเราปิดแล้วพนักงานเขาจะไปกินข้าวที่ไหน…(น้ำตาเริ่มไหล) เราก็ต้องเปิด…เพื่อให้เขาได้มีข้าวกิน…(ร้องไห้) เงิน 35 บาท 40 บาท ถามว่าคุ้มไหม มันไม่คุ้มหรอกครับ แต่เราก็ต้องเปิด เพราะสงสารพนักงาน แล้วต้องเปิด 24 ชั่วโมงด้วย…”

Advertisement

เสียงบอกเล่าหยุดชะงักเพื่อรวบรวมอารมณ์และสมาธิ แม้จะมีประสบการณ์งานโรงแรมมา 30 กว่าปี แต่เมื่อเป็นวิกฤต “ไม่เคยเจอ” อัศวินบอกว่า แรกๆ ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน แต่พอตั้งสติได้จึงเรียกประชุมพนักงานทั้งหมด เพื่อชี้แจงสภาพว่าเป็นอย่างไร และจะต้องทำอย่างไรต่อไป

สิ่งสำคัญที่เขาเห็นว่าจำเป็น คืออบรมและสอนให้พนักงานรู้จักประหยัด เตือนพนักงานเรื่องหนี้สินต่างๆ ให้ระมัดระวังเพื่อที่จะอยู่ให้ได้ นอกจากนั้น ยังช่วยเหลือแบ่งปันให้เงินจำนวนหนึ่งกับพนักงานทุกคนเป็นสินน้ำใจ

เขาบอกว่า อันนี้ไม่เกี่ยวกับเงินเดือน “…เป็นการให้ด้วยน้ำใจ ให้ด้วยชีวิต เรามีพนักงานทั้งหมด 1,500 คน ถ้าเราปิดโรงแรมหมดเขาจะไปอยู่กันที่ไหน ก็ต้องเปิดดำเนินการต่อไปเพื่อให้เขาได้มากินข้าว มาคุยกันและช่วยกันทำงาน พนักงานผมไม่มีการไล่ออก ปลดออก แล้วหลายร้อยคนก็ไม่เอาเงินที่เราให้ เขารู้ว่าสภาพอย่างนี้มันไม่มีรายได้ ซึ่งมันก็ไม่มีจริงๆ หลุยส์ แทเวิร์น ปิด มิราเคิลที่สุวรรณภูมิก็ปิด เปิดเฉพาะที่หลักสี่ แล้วจะเอาเงินจากไหน เราก็ไม่พูดกันถึงเรื่องรายได้ พูดแต่ว่าเราจะอยู่กันให้ได้ พยายามประทังกันไป พยายามทำให้ดีที่สุด…”

เมื่อพยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จึงเริ่มหันมาปรับปรุงโรงแรม รีโนเวตใหม่ในบางส่วน อย่างเช่นห้องพัก ห้องประชุม-สัมมนา ห้องจัดเลี้ยง มีการเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ใหม่ เปลี่ยนระบบ การจัดโต๊ะเก้าอี้ มีผ้าคลุม เมื่อเสร็จสิ้นแต่ละงานก็เปลี่ยนผ้าคลุมใหม่ทั้งหมด

“เราปรับปรุงโรงแรมให้เข้ากับระเบียบกฎเกณฑ์ของราชการทุกอย่าง การประชุมต่างๆ แบ่งชัดเจน นั่งห่างกัน 1.50 เมตร อาหารจัดเป็นเซตใครเซตมัน เน้นเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย ขณะเดียวกันกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มาตรวจสอบสถานที่ ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจกับระบบของโรงแรม ดังนั้น พอมาถึงระยะที่รัฐบาลผ่อนคลายปลดล็อกให้จัดประชุม สัมมนาได้ แต่ไม่เกิน 50 คน โรงแรมจึงพร้อมรับงานทันที และเริ่มมีงานต่างๆ ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ คนเริ่มมีความมั่นใจในการกลับมาใช้บริการ

“…ตอนนี้เราคิดอย่างเดียวว่าทำยังไงเราจะค่อยๆ ดีขึ้น กระเตื้องขึ้น แต่มันจะกลับมาประชุมเป็นพันคน ห้าร้อยคน หนึ่งร้อยคน คงหายาก..”

อัศวินบอกว่า สถานการณ์อย่างนี้นักท่องเที่ยว รวมถึงแขกต่างชาติไม่กลับมาเหมือนเดิมง่ายๆ คงต้องใช้เวลาพอสมควร แม้ว่ายาวไปถึงสิ้นปีก็อาจจะยังไม่ฟื้น ลูกค้ามิราเคิลตอนนี้ 99% จึงเป็นคนไทยทั้งหมด

“…เราอยู่ได้เพราะคนไทย เราโชคดีอย่างหนึ่งที่ดูแลคนไทยมาตั้งแต่ต้น ทุกวันนี้ก็นั่งวางแผนกันตลอดจะหาลูกค้าแบบไหน มันเป็นโจทย์ที่ยากและไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย มันเป็นทั่วโลก ฉะนั้นคนที่จะเดินทางมาจากต่างประเทศ ลืมไปได้เลย ทางด้านยุโรป อเมริกา ไม่มี ยังตายกันอยู่เลย เหลือแต่ทางเอเชียซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเอายังไงต่อ ต่างฝ่ายต่างก็กลัว..”

เมื่อกำลังซื้อของคนหายไป เพื่อจะดึงกำลังซื้อกลับมาและเป็นการช่วยเหลือพนักงานแม่บ้านของโรงแรมให้มีงานทำ อัศวินจึงได้ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ชื่อ “VOW” รับทำความสะอาดตามบ้านและคอนโดต่างๆ ซึ่งเวลานี้ได้เปิดให้บริการแล้ว นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่อเนื่องที่จะต้องทำต่อไป หยุดไม่ได้ คือการขยายพื้นที่โรงแรมในเฟส 2 เนื้อที่ 9 ไร่ ลงทุนอีก 2,000 ล้านบาท

“…นี่เราก็หยุดไม่ได้ ยังต้องเดินต่อไป ซึ่งของใหม่นี้คิดว่าต้องเปลี่ยนโฉมให้เข้ากับสถานการณ์ ต้องดูความต้องการของลูกค้า ของคนมาใช้บริการ อย่างห้องอาหารเราจะเปิดพื้นที่ชั้นล่างทั้งหมดทำเป็นห้องอาหารแบบฟายน์-ไดนิ่ง เปิดครัวโชว์วิธีทำทุกอย่าง ไม่ว่าอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น ยุโรป สามารถเดินดูแล้วสั่งได้หมด ในเฟสนี้คาดว่าจะสร้างเสร็จราวๆ ต้นปี 2564…”

“ห้องอาหารที่มิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ รายได้เป็นแสนต่อวัน เดี๋ยวนี้ 5-6 หมื่นก็ดีใจแล้ว ยิ่งที่สุวรรณภูมิวันหนึ่งรายได้ 4-5 ล้านบาท เดี๋ยวนี้เหลือแค่ 1 แสนต่อวัน บางวันก็ไม่ถึงเพราะไม่มีแขกเลย ไฟลต์ไม่มี ส่วนที่สนามบินดอนเมืองก็ไม่เหมือนเดิม หายไป 70-80% วันหนึ่งมี 10 กว่าไฟลต์ บางทีก็ยกเลิก นี่ขนาด Domestic เปิดนะ ส่วนอินเตอร์ไม่ต้องพูดถึง เราพยายามจะเก็บตกให้มากที่สุด ผมเชื่อในสิ่งที่เรานับถือ เชื่อในสิ่งที่เราบูชากราบไหว้ว่าท่านคงจะเมตตา…”

เรื่องราวจากปากของผู้บริหารมิราเคิล กรุ๊ป ทำให้รู้ว่าธุรกิจโรงแรมนับแต่นี้ต่อไป ต้องปรับตัวรับมือในทุกด้าน ต้องรัดเข็มขัดให้แน่น ต้องลดต้นทุน ต้องบริหารหนี้ให้ดีและระมัดระวังอย่างที่สุด ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย อัศวินเองก็บอกว่า จำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป

“…ผู้ใหญ่หลายคนถามว่าทำไมไม่ปิดโรงแรม ผมบอกว่า…พี่ครับผมมีศักดิ์ศรี ลูกน้องผมเยอะ ต้องอดทน ต้องคิด อยู่นิ่งไม่ได้ ยังไงก็ต้องเดินต่อไป ต้องแบกต่อไปเพื่อศักดิ์ศรี ไม่คิดจะเลิกหรือปิด มันมาขนาดนี้แล้ว ขออย่างเดียว ขอให้รัฐบาลคงที่ไม่มีปัญหาเรื่องภายใน ขอให้รัฐบาลมีความเมตตากรุณา และสำคัญต้องแก้ไขให้ถูกจุด ต้องดูแลประชาชน เพราะประชาชนเขาลำบากมากกก..ถ้าไม่ดูแล เขาอยู่ไม่ได้…” (ร้องไห้อีก)

เสียงสั่นเครือกล่าวปิดท้ายว่า ทำงานโรงแรมมากว่า 30 ปี ไม่มีเบื่อหน่ายสักวัน จ่ายเงินให้แบงก์ตรงเวลา ซื่อสัตย์กับแบงก์ “ผมจึงแพ้ไม่ได้”



อัศวิน อิงคะกุล

ประธานบริหาร เดอะ มิราเคิล กรุ๊ป

คลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจโรงแรมตั้งแต่เป็นลูกจ้าง กระทั่งสามารถไต่เต้าขึ้นมาเป็นเจ้าของโรงแรมเสียเอง โดยเริ่มต้นการทำงานแบบลองผิดลองถูกที่โรงแรมเชาวลิตโฮเทล ถนนสุขุมวิท ซึ่งคือโรงแรมแอมบาสเดอร์ปัจจุบัน ด้วยตำแหน่ง Sale Representative หรือผู้จัดการฝ่ายขาย ทำอยู่ประมาณ 2 ปี จึงย้ายไปที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ถนนราชเทวี และเอเชีย พัทยา ในตำแหน่งเดียวกัน ทำอยู่นานถึง 14 ปี จึงได้ขึ้นเป็นผู้จัดการทั่วไป ดูแลการตลาดของทั้งสองโรงแรม หลังจากนั้นย้ายอีกครั้งไปทำที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ซึ่งขณะนั้นประสบภาวะวิกฤต แต่ก็เข้าไปบริหารจนสามารถนำพาโรงแรมรามาการ์เด้นส์ ผ่านพ้นวิกฤตมาได้

ด้วยบุคลิกเป็นคนจริงจังกับการทำงาน นิสัยโอบอ้อมอารี มีเมตตา และมีมนุษยสัมพันธ์ดีมาก ประกอบกับได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าที่เคยให้บริการ อัศวินจึงเริ่มหันมาสร้างธุรกิจโรงแรมของตนเองในปี 2536 นั่นคือ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น ในซอยวิภาวดี 64 เป็นแห่งแรก และขยายเพิ่มเติมจนปัจจุบันนี้มีทั้งหมด 5 แห่งในเครือ ได้แก่ หลุยส์ แทเวิร์น ซอยวิภาวดี 64, มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น (หลักสี่), ทรานซิท โฮเทล ในสนามบินสุวรรณภูมิ, มิราเคิล โฮเทล ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และโรงแรมแอร์โฮสเตส

มักพูดเสมอว่ามุ่งมั่นทำโรงแรมที่ได้ชื่อว่าเป็นของคนไทย และบริหารโดยคนไทย และเชื่ออย่างยิ่งว่า “ผู้รุกเสมอคือผู้ชนะ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image