จากปม ‘เหยียดผิว’ ถึงต้าน ‘อุ้มหาย’ บทเรียน ‘สหรัฐ-ไทย’ กระจายอำนาจคือคำตอบ?

จากปม ‘เหยียดผิว’ ถึงต้าน ‘อุ้มหาย’ บทเรียน ‘สหรัฐ-ไทย’ กระจายอำนาจคือคำตอบ?
ชาวอังกฤษร่วมประท้วง Black Lives Matter ไม่สนโควิด - ภาพจาก AFP

ยังเป็นประเด็นที่โลกและสังคมไทยติดตามด้วยใจจดจ่อ ไม่ว่าจะกรณี จอร์จ ฟรอยด์ ชายผิวสี ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่สิ้นลมขณะถูกตำรวจจับกุมฐานต้องสงสัยใช้เงินปลอม 20 ดอลลาร์ จนเป็นที่มาของการเดินขบวนประท้วงในสหรัฐเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกิจการตำรวจ

นำมาสู่ปรากฏการณ์รื้อ-ทำลายอนุสาวรีย์อันข้องเกี่ยวกับประวัติค้าทาส เหยียดสีผิว ทั้งในสหรัฐและยุโรป ไม่เว้นแม้แต่ “สหราชอาณาจักร” ผู้ประท้วงชาวอังกฤษรวมตัวกันที่ท่าเรือในเมืองบริสตอล โค่น และโยนอนุสาวรีย์ “เอ็ดเวิร์ด คอลสตัน” ผู้ร่ำรวยและทรงอิทธิพลในศตวรรษที่ 17 จากการค้าทาสและใช้ประโยชน์จากทาสผิวสี ทิ้งลงแม่น้ำ เพื่อต่อต้านการเหยียดผิวและการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกรณีดังกล่าว

ตัดภาพมาฟากฝั่งไทย หลังออกมาเคลื่อนไหวในฐานะ ส.ส.ตามติดคดี “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงความปลอดภัยในชีวิตของ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล จนชาวเน็ตต้องไปแห่ติด แฮชแท็ก #saveโรม ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งชวนสังคมร่วมจับตา ในขณะที่เจ้าตัวยังคงเดินหน้าหาความยุติธรรม เร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย “ฉบับภาคประชาชน” เข้าสู่สภา หวังขจัดการกระทำอันไร้ซึ่งมนุษยธรรมนี้

จากปม ‘เหยียดผิว’ ถึงต้าน ‘อุ้มหาย’ บทเรียน ‘สหรัฐ-ไทย’ กระจายอำนาจคือคำตอบ?
จอร์จ ฟรอยด์ เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว เวลานี้กลายเป็นสัญลักษณ์ต่อสู้การเหยียดผิว และการใช้ความรุนแรง ภาพจาก AFP

ไม่ว่าจะชายผิวสีที่เกิดในสหรัฐ ไม่ว่าจะชายไทยผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่สูญหายในกัมพูชา หากขุดให้ลึกจะพบว่าปัญหาคือรากเดียวกัน เป็นเรื่องของหลักการพื้นฐานที่สุดแสนจะสำคัญอย่าง สิทธิเสรีภาพ ซึ่งทั้งสองกรณีถูกละเมิด “สิทธิในการมีชีวิตอยู่” และดูเหมือนว่า “การคุ้มครองจากรัฐ” จะสวนทางกับสิ่งที่ควรเป็น

Advertisement

เมื่อไม่นานมานี้ “สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)” ขอทำหน้าที่เป็นกระจกเงาสะท้อนแสงสว่างให้เข้าตากลไกรัฐที่รับผิดชอบงานด้านสิทธิมนุษยชน จัดเวทีเสวนา “จากจอร์จ ฟรอยด์ ถึงวันเฉลิม จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร” ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ชวน ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานผู้เคยศึกษาที่สหรัฐ ด้านสังคมประวัติศาสตร์ การเมืองมาอย่างยาวนาน ร่วมย้อนเล่าปมลึก เหยียดคนผิวสี ว่าทำไมยังเกิดในสมัยนี้

“ความจริงแล้วปัญหานี้มีทั้งรากเหง้า กิ่งก้าน และลำต้นรองรับ เหมือนต้นไม้ที่โตแล้วถูกตัด ถูกลิดรอนด้วยลม แต่แล้วก็ฟื้นกลับมา เรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิวในอเมริกาต่างจากที่อื่น ด้วยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และองค์ประกอบของประชากร ทำให้มีการดำรงอยู่ของลัทธิเหยียดเชื้อชาติตั้งแต่ครั้งตั้งอเมริกา “ปรากฏการณ์ล่าสุดเตือนให้รู้ว่าการกระทำเหล่านี้ของตำรวจฟื้นกลับขึ้นมา จากช่วงหนึ่งที่ถูกทำลายไป หลัง มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ เคลื่อนขบวนเรียกร้องสิทธิมนุษยชน พลเมืองในอเมริกา เกิดการประท้วงใหญ่ที่วอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปี ค.ศ.1964 จนกระทั่งถูกฆ่าเสียชีวิต”

จากปม ‘เหยียดผิว’ ถึงต้าน ‘อุ้มหาย’ บทเรียน ‘สหรัฐ-ไทย’ กระจายอำนาจคือคำตอบ?
การประท้วง ต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลุกลามไปทั่วสหรัฐ และประเทศอื่นๆ อาทิ เยอรมนี เบลเยียม ตูนิเซีย ออสเตรเลีย บัลแกเรีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ภาพจาก AFP

“ปัจจุบันเหมือนย้อนกลับไป ปี ค.ศ.1968 ซึ่งหลังจากเลิกทาส รัฐธรรมนูญเปลี่ยน คนดำมีสิทธิเสรีภาพเป็นพลเมืองใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เกือบ 10 ปีมีคนผิวสีเป็น ส.ส. ส.ว.ทั้งในระดับรัฐและชาติ ได้เข้าไปนั่งในรัฐสภากว่า 1,000 คน แต่ก็เป็นประวัติศาสตร์ช่วงสั้นๆ ในยุครีคอนสตรักชั่น (ค.ศ.1865-1877)

Advertisement

“แต่หากไปถามคนที่เรียนประวัติศาสตร์อเมริกา ทุกคนจะบอกว่าเป็นช่วงที่ไม่น่าสนใจ เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น และระบบอุปถัมภ์ เพราะภาคใต้มีนักการเมืองผิวดำที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภายหลังมาเขียนว่าเป็นยุคที่การเมืองเลวร้ายที่สุด คล้ายบ้านเราช่วงหนึ่ง และสอนมาเป็น 100 ปี แต่เร็วๆ นี้ นักประวัติศาสตร์ชาวโคลอมเบีย แย้งว่า ไม่ใช่ หลักฐานตรงกันข้าม คนดำแสดงให้เห็นความสามารถ ไม่ใช่เผ่าพันธ์ุไร้อารยธรรมตามที่เชื่อกันว่าต้องมาเป็นทาส จนสร้างความชอบธรรม ลงไปสู่การดูถูกเหยียดหยาม ถามว่าคนอเมริกันเข้าใจไหมว่า ประวัติศาสตร์ที่เขาเรียนมาผิดทั้งหมด”

ศ.ดร.ธเนศเล่าต่ออีกว่า เมื่อแพ้สงคราม คนขาวทางภาคใต้ถูกริบทรัพย์สิน ที่ดินถูกแบ่งเพื่อแจกให้คนดำซึ่งเป็นอดีตทาส เป็นครั้งแรกที่คนผิวสีได้เข้าไปนั่งในสภา แต่อยู่ได้เพียง 10 กว่าปีเท่านั้น “พรรคเดโมแครตภาคเหนือ จับมือกับพรรคเดโมแครต และบางขั้วในรีพับลิกันในภาคใต้ เปลี่ยนกฎหมาย ยกโทษให้อดีตนายทาส คืนสิทธิเลือกตั้งให้คนขาว เมื่อคนขาวกลับเข้ามาจึงเขียนกฎหมายลูก เพื่อกีดกันไม่ให้สิทธิคนดำ จนกระทั่ง ปี 1890 คนขาวยึดภาคใต้กลับไป และออกกฎหมาย ‘Jim Crow laws’ แบ่งแยกพื้นที่สาธารณะระหว่างคนดำกับคนขาว ไม่ให้ใช้ร่วมกัน จนกลายเป็นค่านิยม ความเชื่อ และอุปนิสัยที่คนดำเจอคนขาวบนรถเมล์ต้องเดินไปแถวหลังสุด ไม่กล้านั่งหน้า และเป็นสำนึกอัตโนมัติของคนอเมริกันผิวขาวว่าถ้าเจอจะฆ่าเขา ซึ่งเริ่มมาจากยุคทาส ที่ทาสต้องขบถ

“แต่ก็มีตัวอย่างคนดำฆ่านายทาสผิวขาวทั้งครอบครัว ทำให้คนผิวขาวมีจิตสำนึกความหวาดระแวง และมองว่ามีความชอบธรรมในการเหยียด ด้วยความเชื่อที่ถูกส่งผ่านทางสื่อ คนดำในหนังเป็นผู้ร้าย คนข้างถนน คนจรจัด กระทำอาชญากรรม ปลูกฝังผ่านสำนึก สื่อ โรงเรียน โบสถ์ ศาสนา ต้องไปอยู่อเมริกาจึงจะซึมซับได้”

เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่รับผู้อพยพมากที่สุดในโลก คนผิวขาวจึงรู้สึกกระทบกระเทือน อุตสาหกรรมเริ่มตก โยงเข้ากับการที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้รับชัยชนะเพราะเคยสัญญาไว้ว่าจะเอาอุตสาหกรรมเก่าขึ้นมา ซึ่งสมัยบารัค โอบามา พยายามเอาออก คนผิวขาวจึงไม่พอใจ

จากปม ‘เหยียดผิว’ ถึงต้าน ‘อุ้มหาย’ บทเรียน ‘สหรัฐ-ไทย’ กระจายอำนาจคือคำตอบ?
การประท้วงในอังกฤษ ภาพจาก AFP

“สมัยโอบามา การต่อต้านสีผิวเริ่มกลับมา แต่ไม่เป็นข่าวเพราะคนกำลังตื่นเต้นที่มีประธานาธิบดีผิวสีคนแรก จึงเชื่อว่าทุกอย่างเปลี่ยนแล้ว เหมือน 14 ตุลาฯ เราเชื่อว่าประชาชนชนะแล้ว ซึ่งโอบามาอยู่ได้ 8 ปี ก็พัง เพราะฝ่ายขวาผนึกเป็นแถว ตั้งแต่ศาล ไปจนถึงตำรวจ ทุกหน่วยงานเริ่มใช้วิธีกีดกันคนผิวดำอย่างเงียบๆ เป็นการฟื้นขึ้นมาของแรงต้าน ที่คนชั้นล่างเริ่มมีอนาคตดีในอเมริกา แต่คนผิวขาวฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังตกขอบ ดังนั้น การขึ้นมาของทรัมป์ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มาได้ด้วยการที่พวกฝ่ายขวาปูทางให้ เพราะลำพังหาเสียงไม่มีทางเอาชนะได้ ทุกฝ่ายพร้อมใจกัน ทำอย่างไรที่จะกั้นคนผิวดำไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจอีก”

ถามว่า ทำไมกิจการตำรวจถึงกลายเป็นเป้า อาจารย์ธเนศอธิบายว่า เพราะจุดแรกที่สร้างความหวาดกลัวให้คนผิวดำ คือ “สงครามกลางเมือง Ku Klux Klan” หรือ KKK มีการจุดไฟเผาบ้านคนดำตอนกลางคืน คือที่มาของการรื้อฟื้น

“นี่คือ 1890 ในปี 2000 กฎหมายแบบ 1890 ที่แบ่งแยกและเท่ากันกำลังกลับมาในอเมริกา แต่ที่ออกมาประท้วงตอนนี้มีทั้งคนดำ คนผิวขาว และผิวอื่นๆ เพราะรู้สึกว่าอำนาจรัฐอเมริกันตอนนี้ ทั้งกฎหมาย เศรษฐกิจ กำลังรวมหัวกดขี่คนจำนวนหนึ่งที่ขาดโอกาส มาจากที่อื่น เพิ่งตั้งตัวใหม่ และคนที่อยู่มาก่อนอย่างคนผิวดำ จึงเป็นเป้านิ่ง สร้างกระแสให้อีกฝ่ายดังขึ้นมาได้” ศ.ดร.ธเนศเผย

ก่อนจะให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ถ้าไม่มีเครื่องมือโซเชียลมีเดีย เล่นงานตำรวจอเมริกันยาก” เพราะการให้ใบสั่งคนผิวดำเป็นการหารายได้พิเศษ ซึ่งโอบามาสั่งให้มีการปฏิรูป และออกกฎหมายช่วย เป็นยุคที่เริ่มมีความหวัง ทุกคนเริ่มเชื่อว่าดีขึ้น แต่อีกไม่กี่ปีก็มีคนถูกยิงตายที่ภาคใต้ ตอนนี้ที่จัดการยากเพราะมีสหภาพตำรวจ เป็นอดีตตำรวจ คอยช่วยปกป้อง คนผิวดำตำรวจยอมความไม่ได้ คือ วิบากกรรมของคนผิวดำในอเมริกา ซึ่งทางฝ่ายประท้วงกำลังชูข้อเรียกร้องให้เลิกระบบตำรวจที่เป็นอยู่ตอนนี้

“ไหนๆ ก็เริ่มในอเมริกาแล้ว ก็น่าคิดได้ว่า ระบบรักษาความปลอดภัยระดับท้องถิ่นควรจะจัดการด้วยภาคประชาสังคมกันเอง แนวคิดเดิมเกิดขึ้นจาก ‘รัฐชาติ’ ที่ต้องการรักษาความมั่นคงของชาติตัวเอง ซึ่งอธิบดีตำรวจก็ต้องเป็นฝ่ายของนายกฯ หัวหน้าตำรวจก็ต้องเป็นฝ่ายประธานาธิบดี คล้ายกัน ฉะนั้นการใช้อำนาจแบบผิดๆ ไม่มีทางแก้ได้ในโครงสร้างอำนาจที่ตำรวจยึดโยงกับรัฐ เป็นองค์กรปราบปราม ซึ่งความแตกต่างคือ มีความชอบธรรมในการใช้กำลัง แต่สังคมไม่มีเครื่องมือนี้

“เรามาถึงจุดที่คนเคยเชื่อว่า ‘สังคมไม่ต้องมีกำลังเพราะรัฐปกป้องให้’ แต่ 100 กว่าปีมานี้พิสูจน์แล้วว่า รัฐไม่เคยปกป้องเรา แต่ปกป้องตนเองและผู้ใช้อำนาจก่อน ถึงตอนนี้ประชาสังคมทั่วโลกต้องบอกว่า แยกกันดีกว่า ความเป็นประชาธิปไตยในอเมริกาตอนนี้เปิดช่องให้ทำได้ ใช้ตำรวจที่เลือกหรือจ้างกันเอง จัดการกันเอง แล้วดูว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าเก่าหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับไอเดียนี้ เมืองไทยก็ทำได้ ความมั่นคงปลอดภัยระดับชาวบ้านต้องอยู่ในมือประชาสังคม ดึงอำนาจจากส่วนกลางมาเป็นของประชาชนได้แล้ว กระจายอำนาจสู่ชุมชน อเมริกันเริ่มทำแล้ว เสนอให้มีการปฏิรูปตำรวจ ให้ชาวบ้านแต่ละเมืองตั้งหน่วยคุ้มครองความปลอดภัยขึ้นมา อสม.เรายังทำได้ ซึ่งก็ได้ผลดี ก็ทำตำรวจบ้าน แล้วขยายไปเป็นครูประจำหมู่บ้าน จะแก้ปัญหาทั้งหมด” ศ.ดร.ธเนศระบุ

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ไม่ว่าจะ “วันเฉลิม” กับปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย หรือการสูญหายจากกรณีการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากวันหนึ่งปัญหาเกิดกับเรา คำถามคือ จะสามารถคุ้มครองสิทธิได้อย่างไร เพราะแม้รัฐบาลไทยเข้าเป็นภาคี อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับสูญหาย แต่ก็มีเพียงการลงนามว่าเห็นด้วยต่อหลักการเท่านั้น ปัญหาคือ เมื่อยังไม่มีกฎหมายรองรับ สังคมก็ต้องหาทางออกต่อไปให้กรณีวันเฉลิมเป็นกรณีสุดท้ายในสังคมไทย

แล้วรัฐบาลไทยควรรับผิดชอบเรื่องนี้หรือไม่ ?

ไพโรจน์ พลเพชร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เผยว่า โดยปกติพลเมืองที่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในหรือนอกประเทศ หากถูกละเมิดสิทธิในต่างประเทศ รัฐบาลมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เพียงแต่กระบวนการคุ้มครองต้องผ่านรัฐเจ้าของประเทศที่คนไทยอาศัยอยู่

“กรณีวันเฉลิมที่ถูกอุ้มหายในกัมพูชา รัฐบาลกัมพูชามีหน้าที่โดยตรงในการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ ส่วนรัฐบาลไทยมีหน้าที่ติดตามเรื่องนี้ โดยกระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงยุติธรรม แม้แต่อัยการ หรือเจ้าหน้าที่ทหารที่อ้างว่าวันเฉลิมหนีไปเพราะขัดคำสั่ง ต้องติดตามเพื่อหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคดี เพราะถือว่าเป็นภัยร้ายแรง”

แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่มีกฎหมายที่ระบุว่า การอุ้มหายซ้อมทรมานเป็นความผิดทางอาญา มีเพียงการกักขังหน่วงเหนี่ยว ทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ซึ่งหลักการสำคัญ คือ “เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ” หรือ กลุ่มบุคคลที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจเท่านั้น

“การอุ้มหายเป็นสิทธิเด็ดขาด และสูงสุด หมายความว่าทำไม่ได้แม้ในภาวะสงคราม ภาวะขาดเสถียรภาพทางการเมือง หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญที่สากลให้ความสำคัญ เพราะหมายถึงการพรากชีวิตคน โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเดียวกับการซ้อมทรมาน จะอ้างว่าทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่ได้” ไพโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้คือปรากฏการณ์ที่ต้องขบคิดและร่วมหาทางออกกันอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image