‘สสว.’ ผนึก 4 พันธมิตร พลิกสหกรณ์ไทยสู่สหกรณ์ 4.0 พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

ภาคการเกษตรจัดเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหลัก อันเป็นที่มาของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ภายใต้แนวคิด พลิกสหกรณ์ไทยสู่สหกรณ์ 4.0 แบบเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในการกำกับดูแลของ “สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” (สสว.) นำโดย นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว.

โดยปี 2563 สสว. มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ร่วมดำเนินการพัฒนาสหกรณ์ ผ่านการอบรมศึกษาดูงาน อบรมออนไลน์เพื่อปรับตัวให้ทันยุคดิจิทัล พร้อมสร้างอัตลักษณ์ และปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสอดคล้องกับปัจจุบัน โดยมีทีมที่ปรึกษาให้คำแนะนำเชิงลึก เพื่อทำแผนธุรกิจหรือโมเดลธุรกิจใหม่ที่ปฏิบัติได้จริง

ทั้งนี้ สสว. ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับ “กรมส่งเสริมสหกรณ์” ในการคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อม 100 แห่งเข้าร่วมโครงการ “สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)” หรือทีเส็บ ร่วมผลักดันแหล่งผลิตสินค้าสหกรณ์พร้อมออกสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศ และ “บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” ร่วมพัฒนาทักษะผ่านโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อต่อยอดสินค้าเกษตร และกระจายสินค้าสู่ช่องทางและเครือข่ายของบริษัทฯ

โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ที่ห้องประชุมโทรฟี่ ชั้น 1 โรงแรมไอบิส สไตล์ กรุงเทพ รัชดา โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ปณิตา ชินวัตร ที่ปรึกษา สสว. นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดร.จุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ (ทีเส็บ) นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ ผู้จัดการสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายสุรชัย เปี่ยมคล้า ผู้จัดการสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด ร่วมเปิดงาน พร้อมเสวนาหัวข้อ “พลิกสหกรณ์ไทยสู่ สหกรณ์ 4.0 แรงขับเคลื่อนสำคัญเพื่อเศรษฐกิจไทย”

Advertisement

ในวงเสวนา ดร.ปณิตา ชินวัตร ที่ปรึกษา สสว. กล่าวถึงความคาดหวังของโครงการฯ ว่า สหกรณ์ทั่วประเทศมีกว่า 6,000 แห่ง เราเลือกอบรมสหกรณ์ภาคการเกษตร 100 แห่ง เป็นสหกรณ์ต้นแบบในการพัฒนาเครือข่ายหรือวิสาหกิจฐานรากให้กระจายตัวไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือทันยุค New Normal โดยมีหน่วยงานมาร่วมให้ความรู้ ความทันสมัย อัพเดตการทำธุรกิจ หรือทำดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมธุรกิจ SME ที่มีประสิทธิภาพ

Advertisement

“ทุกหน่วยงานที่มาบูรณาการ เป็นหน่วยงานระดับพรีเมียมของประเทศ โดย สสว.เป็นตัวกลางสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกๆ มิติ ทั้งนี้ เราไม่ได้หยุดอยู่แค่ 100 สหกรณ์ต้นแบบ โดยเมื่อ 100 สหกรณ์นี้เข้มแข็งแล้ว ก็จะเป็นพี่เลี้ยงของสหกรณ์รายย่อยต่อไป ในอนาคตจะแตกเครือข่ายออกไปเป็น 1,000 สหกรณ์ที่เข้มแข็ง

“กรณีเกิดวิกฤตโรคระบาด จะเห็นว่าหลังจากเกิดโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน และภาคการเกษตรบางทีมีสินค้า แต่ไม่รู้จะไปจำหน่ายที่ไหน ก็จะเป็นปัญหา ซึ่งตอนนี้มีทั้งเรื่องโรคระบาด ปัญหาเศรษฐกิจ และโลจิสติกส์ เราต้องทำวิกฤตให้เป็นโอกาส การพัฒนาตรงนี้ต้องทำให้รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ทันยุค ทันสมัย ของดีมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่ได้รับการต่อยอดเกี่ยวกับช่องทางการจัดจำหน่าย หรือคนไม่รู้ว่าเรามีของดีเราก็ไม่สามารถขายของได้ จึงจะมีการพัฒนาให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการผลิตและจำหน่ายให้ได้มากขึ้นบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นการ ‘เพิ่มงาน เพิ่มรายได้’ ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน” ที่ปรึกษา สสว.ระบุ

ดร.ปณิตา ชินวัตร

ด้าน วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เน้นย้ำเรื่องมาตรฐานการผลิตสินค้า ว่า เราพัฒนาให้ผลิตสินค้าได้มาตรฐาน เมื่อผลิตได้แล้วจะให้สหกรณ์อื่นๆ เช่น สหกรณ์เครดิตยูเนียน รวบรวมผลผลิตมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรงบประมาณที่รัฐบาลให้ มาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น ห้องเย็น โรงสี แปรรูปเนื้อ ให้สหกรณ์รวบรวมผลผลิตของสมาชิกมาบริหารจัดการ

“ในส่วนของการสร้างสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการขายออนไลน์ ในเรื่องของการสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ คือส่วนที่เราจะมาต่อยอดร่วมกับพันธมิตร เราทำโครงการนี้โดยมุ่งหวังว่าสหกรณ์จะสามารถโกอินเตอร์ได้ จะสร้างรูปลักษณ์ของสินค้า สร้างความเป็นมืออาชีพของฝ่ายจัดการสหกรณ์ ที่สำคัญคือ มีปริมาณเพียงพอที่จะเข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้ รวมถึงให้ความรู้กับผู้บริหารของสหกรณ์และฝ่ายจัดการสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการ โมเดลธุรกิจสมัยใหม่ รวมถึงช่องทางการตลาด

“ภาคเกษตรจะมีสหกรณ์ชั้น 1 มีความเข้มแข็ง มีความพร้อมด้านเงินทุน บุคลากร แต่แนวคิดในการดำเนินธุรกิจส่วนหนึ่งอาจคุ้นเคยรูปแบบเดิม สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ ‘ให้เขาเปลี่ยนแนวคิดใหม่’ บางสหกรณ์ชำนาญเฉพาะเรื่องการให้สินเชื่ออย่างเดียว พอให้มาทำเรื่องค้าขาย เอาผลิตภัณฑ์มาแปรรูป ต้องคุยกันเยอะพอสมควร ตรงนี้ที่เราต้องปรับแนวคิดให้ผู้บริหารสหกรณ์เห็นความสำคัญ

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์


“นอกจากนี้ ในอนาคตจะให้สหกรณ์ต้นแบบเป็นพี่เลี้ยงต่อไป ถ้าพัฒนาได้อย่างน้อย 1 อำเภอ 1 แห่งจะเป็นเรื่องที่ดี จะเป็นองค์กรที่เข้มแข็งในระดับอำเภอ เป็นศูนย์กลางและมีกลุ่มย่อยๆ อาจเป็นการต่อยอดในเรื่องของการนำคนจากข้างนอกไปสู่ชุมชน มีการท่องเที่ยว และมีแหล่งจำหน่ายสินค้า ปัจจุบันเราพยายามทำในเรื่องของซุปเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ คือการเอาสินค้ามาขาย จะได้เชื่อมโยงกับการต่อยอด การศึกษาดูงาน ให้ครบวงจร แล้วเศรษฐกิจฐานรากจะเฟื่องฟูขึ้น เพราะเงินเข้าไปสู่ชุมชนโดยตรง โดยที่สหกรณ์เป็นแกนหลักในการพัฒนาตรงนั้น”
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ระบุ

ด้านการปรับตัวของสหกรณ์ต่อสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เราต้องเปลี่ยนรูปแบบการขาย ทำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ส่งตรงถึงผู้บริโภคและสามารถนำเข้าไมโครเวฟอุ่นกินได้เลย แต่ยังเน้นย้ำเรื่องมาตรฐานการผลิตของโรงงาน เพื่อให้มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ต่อไปจะเน้นเรื่องการแปรรูปด้วย โดยทาง สสว.กับหน่วยงานที่มาร่วมมือจะเน้นตรงนี้มากขึ้น

ขณะที่หน่วยงานหลักด้านการตลาด มุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ เกี่ยวกับจัดประชุม การท่องเที่ยว การจัดนิทรรศการ อย่าง “ทีเส็บ” มีเป้าหมายดึงสหกรณ์และชุมชนเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ของกิจกรรมการประชุม โดย ดร.จุฑา ธาราไชย ผอ.สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ (ทีเส็บ) เผยว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้ทำงานร่วมกับ สสว. เราจะมาต่อยอดร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์พร้อมขาย สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายความเจริญ เป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน

“วิกฤตโควิดสร้างดีมานด์ช็อก เพราะต่างชาติเข้ามาไม่ได้เลย ธุรกิจท่องเที่ยวมีผลกระทบมาก แต่ทีเส็บมองโอกาสในวิกฤต เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือ พลังแห่งการเดินทางในประเทศ ส่วนใหญ่มาจากการศึกษาดูงาน ดังนั้น เมื่อมีสหกรณ์ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว อบรมแล้ว เราขยายผลไปที่หน่วยงานอื่น เช่น สถาบันพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ จะทำให้เรามีเครือข่ายชุมชนและสหกรณ์เพียงพอ สามารถรองรับเป็นแหล่งศึกษาดูงานได้

“นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้สหกรณ์และชุมชนเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ของกิจกรรมการประชุม เช่น เวลาจัดงาน ต้องมีเรื่องเบรกของว่าง ของที่ระลึก สินค้าเหล่านี้สหกรณ์สามารถเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ได้ทั้งหมด จากนี้จะคุยกับ บมจ.บางจาก ต่อว่าทำอย่างไรให้สินค้าเข้ามาอยู่ในมือของผู้บริโภคได้สะดวกมากขึ้น เรามองว่าโควิดเป็นโอกาสของเรา มีของดีอยู่ในมือ ทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เผยแพร่สู่คนไทยด้วยกันเอง” ดร.จุฑาเผย

ดร.จุฑา ธาราไชย

มาถึงกลไกด้านการปฏิบัติในการพัฒนาสหกรณ์ อย่าง “สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” หรือ ISMED โดย ธนนนทน์ พรายจันทร์ ผอ. ISMED เผยถึงองค์ประกอบที่จะทำให้สหกรณ์เติบโตและเข้มแข็ง 4 ด้าน ว่า

1.ต้องมีความทันสมัย มีการนำดิจิทัลมาใช้ให้รู้ทันตลาด 2.ปรับโมเดลธุรกิจ หรือวิธีการที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ตั้งแต่เข้าใจตลาดจริง นำความต้องการของตลาดเข้ามาสู่การผลิตและอยู่ในกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ 3.ต้องได้รับความร่วมมือ และมองออกไปข้างนอก และ 4.หากจะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ต้องอัพเดตความรู้อยู่เสมอ

“ถ้าเราเป็นสหกรณ์ในพื้นที่ แต่ยังไม่รู้ความต้องการของคนเมือง ปัจจุบันสามารถหาข้อมูลได้อย่างง่ายทางดิจิทัลแพลตฟอร์ม พอรู้ไอเดีย เราต้องนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น และเหมาะกับความต้องการ เข้ากับยุคสมัย นี่คือ 4.0 แรกที่สำคัญที่สุดของสหกรณ์ในวินาทีนี้ จะทำยังไงให้สินค้าไปปรากฏในมือถือ ซึ่งสหกรณ์สามารถใช้ช่องทางที่มีต้นทุนไม่สูงนักเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ ตอนนี้อยู่ที่ไทยช่วยไทย ตรงนี้จะเป็นสัญญาณที่ดีที่จะรักษาเศรษฐกิจของประเทศไทย งานนี้เราต้องร่วมมือกัน” ผอ.ISMED ระบุ

ธนนนทน์ พรายจันทร์

ในส่วนของความร่วมมือด้านช่องทางกระจายสินค้า โดย บมจ.บางจาก รวมถึงการแบ่งปันองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ ผจก.สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บมจ.บางจาก เผยว่า ปัจจุบันสมาชิกที่มาเติมน้ำมันในปั๊มบางจากมีจำนวน 5 ล้านราย ในแง่สถานีบริการเรามีกว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เกินกว่า 600 สาขาเป็นปั๊มสหกรณ์การเกษตร หมายความว่า บางจากครึ่งหนึ่งเรามีปฏิสัมพันธ์กับสหกรณ์มาอย่างยาวนานและใกล้ชิด แต่รูปแบบที่ผ่านมาเป็นแบบ Inside Out เป็นรูปแบบของสหกรณ์ที่อยู่ในปั๊ม แต่ในปีนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะมองแบบ Outside In มากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ทางบางจากจะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น

“เราจะมาแบ่งปันองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ล้อกับวิถีชีวิตตอนนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราคงมองเรื่องความต้องการของลูกค้าก่อนจะไปผลิตอะไร หรือจะแปรรูปอะไร แนวทางต่อยอดสหกรณ์ให้มีศักยภาพผ่านเครือข่ายบางจาก เรามีการคัดสรร พัฒนาควบคู่กับสหกรณ์มายาวนาน สิ่งที่เป็นออนท็อปในปีนี้ เรามีโมเดลสถานีบริการในเส้นทางหลัก เรามีสินค้าของสหกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมา มีการปรับปรุงแพคเกจจิ้ง
มีการปรับปรุงเรื่องของฉลากเข้าไปสู่หน้าร้านในเส้นทางหลัก

ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์


“ส่วนโมเดลการท่องเที่ยวเมืองรอง ในชุมชน ทำอย่างไรให้สหกรณ์ในชุมชนมีศักยภาพให้เขาดึงจากเส้นทางหลักมาเส้นทางรอง และสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างร่วมกับการท่องเที่ยว เป็นโมเดลใหม่ที่ทางบางจากเล็งเห็นว่า น่าจะต่อยอดในวิถีของเศรษฐกิจฐานรากได้ดี

“นอกจากนี้เรายังมองในเรื่องการขยายฐานไปต่างประเทศ อย่างร้านกาแฟ Inthanin ของเรา มีฐานไปเปิดสาขาในต่างประเทศมากขึ้น เราสามารถคัดสรรสหกรณ์ที่มีสินค้าสำหรับการส่งออกเข้าทางชาแนลตรงนั้นได้ ผมว่าของดีมีคนต้องการอยู่แล้ว บางจากยินดี ถ้ามีของเราก็พร้อมขาย” ดร.ก่อศักดิ์เผย

มาถึงผู้แทนสหกรณ์โดยตรง สุรชัย เปี่ยมคล้า ผจก.สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด เผยว่า ในส่วนของสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน ขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ศักยภาพของสมาชิกอาจสร้างไม่ทันกับตลาดที่รวดเร็ว เราได้ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์มาเป็นพี่เลี้ยงส่วนหนึ่งในการพัฒนาบุคลากร

“เรามีกรมส่งเสริมสหกรณ์ มี สสว. ช่วยพัฒนามาตรฐานสินค้า ทำให้เราโตขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง วันนี้โจทย์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมมองว่าซื้อเนื้อไปปรุงอาหาร วันนี้ถามหาสินค้าแปรรูป ทำอย่างไรที่สหกรณ์จะตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้ ตรงนี้สหกรณ์ต้องการพี่เลี้ยงที่จะทำให้ธุรกิจของสหกรณ์สำเร็จลุล่วง

“สหกรณ์ส่วนใหญ่เก่งในการเป็นผู้ผลิต ทำมาตรฐานได้ แต่เราไม่เก่งงานขาย การปั้นสินค้าสหกรณ์ให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับค่อนข้างใช้เวลา ต้องเป็นแบรนด์รอยัลตี้จริงๆ สำหรับคนไทย จะทำยังไงให้สินค้าของสหกรณ์ติดตลาด สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่า รับประทานแล้วปลอดภัย มีมาตรฐานการผลิต สุดท้ายจะทำอย่างไรให้สินค้าสหกรณ์เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม ซึ่งสหกรณ์กำแพงแสน พร้อมปรับตัวเข้ากับยุค New Normal” ผจก.สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน ระบุ

สุรชัย เปี่ยมคล้า
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image