จากห้องเรียนถึงสภา จากการศึกษาถึงสิทธิมนุษยชน ครูดี เด็กดื้อ ไม้เรียว กรรไกร ใน ‘นิยาม’ ที่ต้องทบทวน

ภาพจากเฟซบุ๊ก Zee Ew Kiat

ถึงเวลาต้องยอมรับกันเสียทีว่า วันนี้ นักเรียนไทยž ไม่เหมือนเดิม

‘เด็กดี‘ ตามพจนานุกรมของผู้ใหญ่และครูบาอาจารย์ในสังคมไทยดูคล้ายจะกลับกลายสู่นัยยะเชิงลบ หลังการต่อสู้อย่างยาวนานไม่ต่ำกว่าทศวรรษ เพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพในเรือนร่าง ความคิด และอิสระตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่โลกเลิกเถียงกันไปนานแล้ว แต่ราชอาณาจักรไทยยังคงเป็นสงครามภายในที่คุกรุ่น จนชวนงงมาก ว่าเป็นสิ่งเข้าใจยากตรงไหน

จากเสียงของแม่ชาวศรีสะเกษที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกสาวผู้ถูกกล้อนผมจนเป็นขั้นบันไดสร้างความอับอาย ซ้ำถูก ‘บูลลี่ž’ ซ้ำจนต้องย้ายโรงเรียน

จากข้อท้วงติงที่ถูกผลิตซ้ำๆ นานนับสิบปีบนหน้ากระดาษของคอลัมนิสต์อย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ และ คำ ผกา สู่สเตตัสเฟซบุ๊กของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ออกมาหนุนในฐานะอดีตครูมัธยม

Advertisement

จากความเห็นที่กลายเป็นประเด็นเผ็ดร้อนโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียน ม.ปลาย นุ่งขาสั้น สู่แฮชแท็กร้อนแรงยิ่งกว่า

จากร้านตัดผมทรงนักเรียนที่เห็นคุ้นตาสู่ช่างผมเมืองแพร่คนกล้า ผู้ขึ้นป้าย ‘ร้านนี้ไม่ตัดผมทรงนักเรียน’

จากความชอบธรรมในนามของความเรียบร้อยและหวังดี สู่การตั้งคำถามในประเด็น ‘อำนาจนิยม’

Advertisement

จากเสียงตะโกนผ่านโลกออนไลน์ของเยาวชนสู่ถ้อยแถลงโดยนักการเมืองในรัฐสภา

ยังไม่นับ ‘พานไหว้ครู’ ที่เสียดสีอย่างแซบเว่อร์ยิ่งขึ้นทุกปี

เหล่านี้คือแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่อีกระลอกที่ต้องจับตา

ระเบียบเจ้าปัญหา หรือสถานศึกษาแกล้งเมิน?

ย้อนไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศ ‘ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ’ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 มีข้อความระบุว่า ‘จะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้’ ดูเผินๆ นักเรียนไทยอาจได้ส่งเสียงเฮ ทว่า ในตอนท้ายบอกว่า ‘ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต’ จึงเป็นระเบียบใหม่ที่ถูกวิพากษ์อย่างกว้างขวางมาแล้วครั้งหนึ่ง กระทั่งถูกตอกย้ำเรื่อยมาถึงการใช้ระเบียบในเชิงปฏิบัติว่าสุดท้ายแล้วครูใหญ่และผู้อำนวยการโรงเรียนก็ยังมีสิทธิขาดในการฟันธง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เพจ องค์กรต่อต้านทรงผมนักเรียนไทย ซึ่งก่อตั้งครบ 10 ปีพอดีได้เปิดเผยถึงเรื่องราวของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งบอกชัดไม่เขินอายในงานปฐมนิเทศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่าให้นักเรียนชายไว้ทรงผมเกรียนติดหนังศีรษะ และนักเรียนหญิงไว้ผมสั้นได้เพียงติ่งหูตามกฎบังคับเดิม โดยให้เหตุผลว่า เป็น ‘มติของคณะครู’ และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาอย่างยาวนาน เมื่อศึกษาจบนักเรียนก็จะมีอิสระเอง ทั้งยังให้เหตุผลด้วยว่า ทางโรงเรียนได้เคยอนุญาตให้ไว้ผมยาวแล้วเมื่อ 6 ปีก่อน แต่พบปัญหาเยอะ โดยไม่ได้ลงรายละเอียดว่าปัญหาที่ว่านี้คืออะไร

ในเดือนเดียวกัน นักเรียนหญิงนั่งบนเก้าอี้โดยถูกมัดไว้ที่ริมถนนย่านสยามสแควร์ แขวนป้ายข้อความว่า “นักเรียนคนนี้ประพฤติผิดกฎโรงเรียน ไว้ผมยาวเกินติ่งหู และไว้ผมหน้าม้าทำลายเอกลักษณ์ของนักเรียนไทย เชิญลงโทษนักเรียนคนนี้”

 

วันที่ 27 มิถุนายน 2563 บริเวณสยามแสควร์ได้มีนักเรียนถูกมัดบนเก้าอี้ ถูกปิดปากพร้อมแขวนป้ายระบุบว่า #เลิกบังคับหรือจับตัด และยังวางกรรไกรเพื่อให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้ตัดผม โดยเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการที่เยาวชนถูกบังคับให้ตัดผมและการลงโทษที่ทำร้ายจิตใจ ย้อนไปก่อนหน้านี้ ก็เคยมีแคมเปญของ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ในชื่อว่า ‘การศึกษาฆ่าฉัน’ สร้างความฮือฮาหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

กระทั่งเกิดกรณีฮือฮาในชีวิตจริงที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งในแคมเปญใดๆ จากกรณีเด็กหญิงชาวศรีสะเกษ อันนำมาซึ่งความเคลื่อนไหวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนนักเรียนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เข้ายื่นหนังสือขอให้ยกเลิกการจำกัดทรงผมที่ลงลายมือชื่อนักเรียน 58 คนจากทั่วประเทศต่อกระทรวงศึกษาธิการ จนถึงการแถลงปมปัญหานี้โดยนักการเมืองในที่สุด สะท้อนระเบียบในหน้ากระดาษกับการปฏิบัติจริงที่ไม่สอดคล้อง ทั้งยังมีช่องโหว่ในการตีความอันนำไปสู่สถานการณ์ที่ยังอึมครึมในวงการศึกษาไทย

กล้อนผม คืออาชญากรรม
โทษทัณฑ์ของ ‘ครูดี นักเรียนเลว’

จากปัญหามากมายในระลอกใหม่หลายเดือนที่ผ่านมา ล่าสุด ก่อเกิดร่วมวงประชุมของกลุ่มที่ตั้งชื่อเสียดสีได้เจ็บแสบอย่าง ‘องค์กรนักเรียนเลว’ กับคณะกรรมาธิการการศึกษา เมื่อไม่กี่วันมานี้ ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเด็กนักเรียน เรื่องระเบียบทรงผม และการลงโทษ

ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ตัวแทนนักเรียนจากองค์กรนักเรียนเลว สะท้อนปัญหาว่า แม้ระเบียบใหม่ของกระทรวงออกมาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ โรงเรียนมากมาย ไม่ทำตาม มาตรการของกระทรวงในการคุ้มครองก็หละหลวม นอกจากนี้ ระเบียบในข้อ 7 ที่ว่า ‘ให้สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารในโรงเรียนวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดแย้งกับระเบียบนี้’ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหา เพราะสร้างทั้งความสับสน และการตีความของโรงเรียนเกินไปกว่าที่กำหนด ที่สำคัญ บางแห่งยังออกระเบียบเจาะจงหนักกว่า

ในวงถกเดียวกัน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกกรรมาธิการ ยืนยันว่าพฤติกรรมครูบางคนที่จับนักเรียนกล้อนผม ประจานเด็ก ข่มขู่ คุกคาม ไล่ไปเรียนที่อื่น ฯลฯ ล้วนมีความผิดทั้งทางกฎหมายอาญา ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

นอกจากนี้ ยังมีวาทะสำคัญที่จุดอุณหภูมิร้อนปรอทแตกในเวลาต่อมา คือการระบุว่า พฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้น ใครทำควรลาออกจากการเป็นครู และเรียกตัวเองว่า ‘อาชญากร’

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ส.ส.วิโรจน์บอกว่า ไม่เคยมีการวิจัยออกมายืนยันได้เลยว่าการลงโทษด้วยวิธีการเหล่านี้จะสามารถสร้างพฤติกรรมของเด็กให้ดีขึ้นได้ จึงอยากให้ครูเปลี่ยนทัศนคติ ในช่วงเวลาที่ตอนนี้นักเรียนพร้อมพุ่งชน

อย่างไรก็ตาม โกวิท คูพะเนียด ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมายการศึกษา สำนักนิติการสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันว่า ไม่เคยมีนโยบายลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง โดยเบื้องต้นให้นักเรียนได้มีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจก่อน ยังไม่มีการลงโทษ แต่ถ้ามีการฝ่าฝืนและมีความจำเป็นต้องลงโทษ ก็ขอให้ยึดตามระเบียบเท่านั้น คือว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนพฤติกรรม ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์

ส่วนประเด็นการลงโทษ มีข้อมูลว่า สนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวในวันนั้น ว่าหากครูถูกร้องเรียนถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม หากเหตุเกิดขึ้นในพื้นที่การศึกษา สั่งการลงโทษตามขั้นตอนเป็นอันจบ แต่กรณีร้องเรียนถึง กมธ. สำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทาง สพฐ. ต้องรายงานภายใน 15 วัน การร้องเรียนต่างๆ เด็กทำด้วยตัวเองหรือผู้ปกครองก็ได้ และหากเป็นเรื่องรุนแรงถึงขั้นความผิดอาญา ย่อมขึ้นโรงพักแจ้งความได้ สำหรับกรณีร้ายแรง ล่วงละเมิด รองเลขาฯ สพฐ.บอกว่า ได้ดำเนินการประสานงานกับทางคุรุสภาตลอดมา ซึ่งกรณีที่มีมูลก็มีการสั่งให้พักราชการก่อน และมีการเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพไปหลายกรณีแล้ว

ข้อถกเถียงทั้งหลายทั้งปวงนี้ แท้จริงแล้ว ไม่ใช่ประเด็นใหม่ หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ นำไปสู่คำถามเดิม แต่ก็ต้องถามซ้ำ กระทั่งคำตอบก็เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ยาก หากแต่ปัญหายังคงวนลูป เขยิบไปข้างหน้าได้แค่ท่ามูนวอล์ก ชวนตั้งคำถามกันอีกรอบว่าสุดท้ายขึ้นอยู่กับทัศนคติของครูบาอาจารย์และผู้บริหารสถานศึกษาบางส่วนหรือส่วนใหญ่ของประเทศนี้หรือไม่

ไม้เรียวสร้างชาติ กรรไกรสร้างคน
‘บุญคุณ’ ท่วมท้นที่ต้องทบทวน

“พฤติการณ์ของครูคนดังกล่าว เป็นการทำผิดระเบียบราชการ ควรได้รับโทษตามวินัย แต่ทางสมาคมฯ ได้ตรวจสอบการทำงานของครูท่านนี้ พบว่า เป็นครูที่รับผิดชอบต่อหน้าที่ เสียสละ ใส่ใจนักเรียน ยอมให้นักเรียนโกรธเพื่อให้มีความรับผิดชอบและมีวินัย ไม่เข้าข่ายโรคจิตที่ทำร้ายนักเรียนหรือต้องการกลั่นแกล้งนักเรียนแต่อย่างใด”

คือส่วนหนึ่งของแถลงการณ์โดยสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กรณีครูกล้อนผมนักเรียนโดยมีข้อความถัดไปเรียกร้องให้ ส.ส.วิโรจน์ เจ้าของวาทะ ‘อาชญากร’ ออกมาถอนคำพูด

“ในกรณีที่ นายวิโรจน์ ได้กล่าวว่า ครูท่านนี้สมควรเรียกตัวเองว่า อาชญากรนั้น เป็นคำพูดที่รุนแรง เกินจริง ใช้อารมณ์วิภาควิจารณ์ ไม่เหมาะสมกับหน้าที่กรรมาธิการการศึกษา ทาง ส.บ.ม.ท. จึงขอเรียกร้องให้นายวิโรจน์ ลัคขณาอดิศร ออกมาถอนคำพูดและขอโทษต่อสังคม พร้อมพิจารณาตัวเองต่อการทำหน้าที่กรรมาธิการการศึกษา หากไม่มีการออกมาขอโทษต่อสังคม ทางสมาคมและกลุ่มพันธมิตร จะไม่ให้การสนับสนุนใดๆ ของพรรคการเมืองที่นายวิโรจน์สังกัดอยู่ทุกกรณี”

ความน่าสนใจของแถลงการณ์นี้ ไม่ได้อยู่ที่การจี้ให้ ส.ส.พรรคก้าวไกล ถอนคำพูด และเอ่ยขอโทษ แต่อยู่ในข้อความก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนทัศนคติที่มองตัวเองและพวกพ้องเป็น ‘ผู้เสียสละ’ เป็นตัวแทนแห่งความดีงามที่จะมาปราบปรามความไร้ระเบียบของอนาคตชาติ นี่คือแนวคิดจากครูยุคเก่าบนโลกใหม่ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ่ายทอดสู่ครูยุคใหม่ในกลุ่มฝักใฝ่อนุรักษนิยม เคยชินกับการใช้อำนาจที่เชื่อว่าผลิตคนดีในนิยามของตนสู่สายพานประเทศไทยมาแล้วมากมาย ซึ่ง กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เห็นว่า แถลงการณ์ดังกล่าวที่เอนเอียงและมีจุดมุ่งหมายในการปกป้องครูด้วยกัน ไม่ได้มองเห็นถึงนักเรียนผู้ถูกกระทำ แต่อย่างใด

เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่คำว่า ‘บุญคุณ’ ถูกใส่เครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ๆ จากนักเรียนและสังคมไทยในยุคนี้

เรือนร่าง เพศวิถี
การศึกษาและสิทธิแห่งความเท่าเทียม

ท่ามกลางบรรยกาศการศึกษาไทยที่ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อว่าในศักราชนี้ยังมีครูบอกว่า ‘ผมยาวทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง ทำลายคลื่นสมอง’ ทว่า ยังมีเครือข่ายครูรุ่นใหม่ทั้งอายุและแนวคิด อย่าง ครูขอสอน ซึ่งก่อตั้งโดย ครูทิว ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ สุวรรณปาล และ ครูพล อรรถพล ประภาสโนบล ล่าสุดออกแถลงการณ์ในตามเครือข่าย เรื่อง ขอแสดงเจตนารมณ์ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามหลักการของสิทธิมนุษยชน เนื้อหาหลัก 4 ประการ เชื่อมโยงสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่ใช่แค่ทรงผม หากรวมถึงปม LGBT ที่มีเอกสารหลุดจากโรงเรียนแห่งหนึ่งระบุว่า ‘ห้ามเขียนคิ้วทาปาก เพื่อบ่งบอกว่าเป็นเพศที่สาม’ ซึ่งอาจพอเข้าใจได้ ถ้าใช้เฉพาะในโรงเรียน หากแต่ข้อความระบุชัดว่าเป็นระเบียบปฏิบัติไปถึงชีวิต ‘นอกโรงเรียน’ ด้วย

เครือข่ายครูขอสอน ระบุว่า ต้องการแสดงเจตนารมณ์ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามหลักการของสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยใช้วิธีการที่ธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนี้

1.ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แฟ้มภาพ

2.ปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัว บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัยหรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศ และชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการแทรกแซงสิทธิหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น

3.คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกรวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน

4.การจัดการศึกษาควรมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพ เสริมสร้างความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพขั้นพื้นฐาน และเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล

ทั้งนี้ สิทธิมนุษยชนนั้นจะถูกพรากไปไม่ได้ ไม่มีบทบัญญัติใดที่อาจตีความได้ว่ารัฐ กลุ่มคน หรือบุคคลใดมีสิทธิในการดำเนินกิจกรรมใด หรือการกระทำใด อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและเสรีภาพ เพราะการศึกษาและสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคนโดยเสมอภาค และเท่าเทียมกัน

ในวินาทีที่นาฬิกาดิจิทัลเคลื่อนไปข้างหน้า ในยุค 4.0 ในโลก (หลัง) โควิด ในชีวิตเรียนออนไลน์ หากทัศนคติแวดวงการศึกษาไทยยังกักขังตัวเองอยู่ในสมุดข่อยและกระดานชนวน สมรภูมินี้คงจบยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image