‘เขาสู้มาก่อนเรา’ เมื่อ‘รุ่นน้อง’ทบทวนวรรณกรรม 2475 เดือนตุลา เสื้อแดง

“กลับไปศึกษาประวัติศาสตร์มาใหม่”

คือประโยคที่ผู้ใหญ่ทั้งในโลกออนไลน์และชีวิตจริงหยิบยกมาเอื้อนเอ่ยอย่างดาษดื่นหลังเยาวชนคนหนุ่มสาวตั้งแต่นักศึกษาจนเขยิบลงไปถึงวัยขาสั้นคอซองออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ ยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน

เป็นคำกล่าวที่มีน้ำเสียงค่อนไปทางเย้ยหยันถึง “ความไม่รู้” ประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้ จนออกมาต่อสู้อย่างมิรู้ซึ่งอีโหน่อีเหน่ โดยอาจหลงลืมไปว่าตำรับตำราประวัติศาสตร์ในยุค “กระดาษ” และกระดานดำได้เคลื่อนผ่านมาสู้ห้วงเวลาของฐานข้อมูลออนไลน์ซึ่งมีอีบุ๊กมากมายให้ดาวน์โหลดย้อนอ่านทั้งหนังสือเก่าและข้อมูลใหม่

ไหนจะการถกเถียง วิเคราะห์ วิพากษ์ ทวีตข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์กที่คัดง้าง โต้แย้งกันได้แบบเรียลไทม์ ไม่ต้องรอให้ครูสังคมศึกษามาเคาะว่าใครผิดใครถูก

Advertisement

คำยกย่อง รำลึก ไปจนถึง “ขอโทษ” ปรากฏขึ้นมากมายจนอาจกล่าวได้ว่าเกิดการร่วม “ทบทวนวรรณกรรม” ครั้งใหญ่โดยเยาวชนชาติไทยที่มีต่อประวัติศาสตร์การเมืองนับย้อนไปตั้งแต่คราว
อภิวัฒน์สยาม 2475, โศกนาฏกรรมเดือนตุลา ทั้ง 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519, เหตุการณ์รัฐประหารต่างๆ, การต่อสู้และสลายชุมนุม “คนเสื้อแดง” จนถึงการ “อุ้มหาย” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ย้อนไปจนถึงรุ่น “หะยีสุหลง” และ เตียง ศิริขันธ์ ปู่ทวดของ 1 ในแกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) อย่าง จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์

“เขาสู้มาก่อนเรา” คือคำกล่าวที่เกิดขึ้นในหลากเวทีปราศรัย โดยหมายรวมถึงทุกวีรชนคนกล้าผู้ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย แม้เคยถูกเหยียดหยาม พ่ายแพ้ บาดเจ็บ ล้มตาย

นอกจาก “แฟลชม็อบจะไม่ทน” ของคนรุ่นใหม่ในพุทธศักราช 2563 จะจารึกประวัติศาสตร์ให้ตัวเองแล้ว ความรับรู้ (ใหม่) ในประวัติศาสตร์การเมืองยุคก่อนหน้า ที่ก่อเกิดจากความอึดอัดคับข้องใจในสถานการณ์การเมืองไทยยุคอดีต คสช.นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญยิ่ง

Advertisement
เป่าเค้กวันเกิด จอมพล ป. 14 ก.ค.

คณะราษฎร‘เกิดใหม่’
จากตัวร้ายสู่วีรบุรุษที่ไม่ต้อง‘ขึ้นหิ้ง’

“รัฐบาลไม่ได้เพิ่งคุกคามประชาชน แต่คุกคามมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ใช้กฎหมายพร่ำเพรื่อ จัดการกับคนเห็นต่าง… ตั้งแต่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา กลับมาคุกคามอีกโดยมีการดำเนินคดีมากมาย แต่คนไม่กลัวแล้ว”

คือตอนหนึ่งในคำกล่าวของ กรกช แสงเย็นพันธ์ จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย บนเวทีลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. เมื่อ 23 สิงหาคม ย้อนไปถึงกิจกรรมรำลึก 88 ปี อภิวัฒน์สยาม ณ ย่ำรุ่ง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีนักศึกษาสวมชุดคณะราษฎรเดินขวักไขว่ ทั้งยังปลุกคณะราษฎรคืนชีพบนจอที่ขึงด้วยผ้า อ่านประกาศคณะราษฎรย้ำหลัก 6 ประการ โดยในวันเดียวกัน นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วไทยก็พากันอ่านประกาศดังกล่าวอย่างกึกก้อง ก่อนที่ในภายหลังจะทยอยรับหมายกันอย่างเท่าเทียม

ในช่วงเวลาเดียวกัน โลกออนไลน์ยังปรากฏ “มีม” คณะราษฎรแบบไม่ขึ้นหิ้ง แต่เน้นความฮาด้วยบทสนทนาสมมุติระหว่าง ปรีดี พนมยงค์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ซึ่งนักศึกษาประชาชนร่วม “เป่าเค้กวันเกิด” ให้หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเช่นเดิม เมื่อ 14 กรกฎาคม นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ร่วมเล่าประวัติ
จอมพล ป. ตั้งแต่วัยเยาว์ เปิดเพลง “งามแสงเดือน” ซึ่งใช้ในการรำวงยุคจอมพล ป. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาฯ พร้อมนักศึกษาอีกหลายรายยังร่วมรำวง ก่อนปิดท้ายด้วยเพลงชาติไทย
อันเป็นมรดกคณะราษฎรเช่นกัน

ปรากฏการณ์ค้นคว้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกิดขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างกว้างขวาง แผงหนังสือเก่าฮิตมาก (ภาพถ่ายในชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 ส.ค.)

ย้อนไปในแบบเรียนไทย คณะราษฎร คือผู้ก่อการที่ “ชิงสุกก่อนห่าม” ดังเช่นที่ อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวกลางปาร์ตี้เบิร์ธเดย์ว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ แปลกๆ เหมือนชื่อจอมพลแปลก พิบูลสงคราม มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ กล่าวหาว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม นักศึกษาจัดรำลึกก็โดนคดีฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ด้านกระแสในโซเชียลก็มีการ “สอบทาน” ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์สวนกลับภาพจำเดิมๆ ดังเช่นเมื่อชาวเน็ตรายหนึ่งทวีตแซะ “เจเจ” กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม เหลนจอมพล ป. ว่าร่ำรวยเพราะจอมพล ป. ทิ้งสมบัติไว้ให้ ก่อนที่ชาวเน็ตอีกฝั่งจะโต้แย้งด้วยข้อมูลที่ว่า ในช่วงบั้นปลาย จอมพล ป. ต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ ไม่ได้มีสมบัติติดตัวมากมายกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 2507 ที่ประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่งาน “เสาหลักจะหักเผด็จการ” โดยนิสิตจุฬาฯ เมื่อ 14 สิงหาคม ใต้อาคารคณะอักษรศาสตร์ ร่ายยาวถึงคุณูปการคณะราษฎรที่ผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน 1,196 ไร่ 32 ตารางวา ให้เป็นทรัพย์สินเพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ก่อนตะโกน “ไม่เอาห้าง” ปราศรัยคัดง้างการบริหารงานที่นำพื้นที่ไปพัฒนาในแนวทางทุนนิยม

ด้านเยาวชนกรุงเก่า บ้านเกิดปรีดี พนมยงค์ เมื่อจัดปราศรัยเผด็จการ ก็ใช้ชื่องาน “เพื่อปรีดี เพื่ออยุธยา เพื่อประชาธิปไตย”

ส่วน “หมุดคณะราษฎร” ที่สูญหายก็กลายเป็นสินค้าขายดี มีให้สะสม ทั้งร่ม พวงกุญแจ ไฟแช็ก สติ๊กเกอร์ และอีกมากมาย

วงสามัญชนอ่านรายชื่อ ‘รุ่นพี่’ มหิดลผู้สละชีพในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

ลบอย่างไร (แฟลชม็อบ)

ก็ไม่ลืม‘รุ่นพี่’เดือนตุลา

อีกหนึ่งประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ถูกรื้อขึ้นมาพูดถึงกันใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า คือเรื่องราวของคนเดือนตุลา ทั้งยุค 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ซึ่งปัจจุบันมีเว็บไซต์และฐานข้อมูลออนไลน์คอยอัพเดตข้อมูลใหม่ ชำระข้อมูลเก่า โดยเฉพาะโครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ที่มากมายด้วยข้อเขียนเชิงวิชาการที่เยาวชนคน 4.0 เข้าไปหาอ่านได้อย่างง่ายดายในยุคที่ไม่ได้มีเพียงเล่มอมตะนิรันดร์กาล “6 ตุลาเราคือผู้บริสุทธิ์” อีกต่อไป

ล่าสุด ในงาน “ล่องเรือเพื่อเสรีภาพ” โดยภาคีนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ทำเอาน้ำตาท่วมเรือจากการอ่านบทกวีที่แต่งโดย “จิ้น กรรมาชน” ศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จนต้องเข้าป่าในช่วงหนึ่งของชีวิต มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้ของ นวมทอง ไพรวัลย์ แท็กซี่ที่ปลิดชีพตัวเองเพื่อยืนยันว่าตนพร้อมตายเพื่ออุดมการณ์ ตามด้วยการปราศรัยในประเด็นการต่อสู้ของ “รุ่นพี่” นักศึกษา ม.มหิดล ในอดีต

“มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นของประชาชน มีไว้เพื่อรับใช้ประชาชน เรามีเพลงชื่อว่า รักน้อง เป็นเพลงคู่มหาวิทยาลัย แต่งโดย จิ้น กรรมาชน รุ่นพี่คณะเภสัชศาสตร์ ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นี่คือเพลงที่เป็นมรดกของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และพวกเราจะสู้จนกว่าประชาธิปไตยจะเป็นของปวงชน” เพชร นักศึกษาชายกล่าวท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องของผู้ชุมนุม

ตามด้วยวงสามัญชน ซึ่งนักร้องนำคือศิษย์เก่ากายภาพบำบัด ขึ้นเวทีอ่านรายชื่อนักศึกษา ม.มหิดล ผู้สละชีพในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อาทิ วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ คณะพยาบาลศาสตร์ รามาธิบดี ถูกยิงเสียชีวิตกลางแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากเสียสละเรือให้เพื่อนที่ว่ายน้ำไม่เป็น, วีระพล โอภาสพิไล คณะเทคนิค
การแพทย์ ถูกยิงเสียชีวิตขณะวิ่งเข้าไปช่วยคนเจ็บ ที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์, สัมพันธ์ เจริญสุข คณะเทคนิคการแพทย์ ถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย

ส่วนรายชื่อวีรชนที่เข้าป่าแล้วไม่ได้กลับออกมา อาทิ ชูสิทธิ์ จรัญเวโรจน์ศิริ คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ปี 5, นายฉัตรชัย จันทร์สุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ปี 3, วินัย พัวงาม คณะสาธารณสุขศาสตร์, วัลลภ บุญภักดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ปี 5, พริ้มเพรา จันทรวิบูลย์ คณะพยาบาลศาสตร์ รามาธิบดี ปี 3 เป็นต้น

ย้อนไปก่อนหน้านั้น ในหลายแฟลชม็อบชูภาพผู้เสียชีวิตอย่างน่าเศร้า เช่น วิชิตชัย อมรกุล นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ถูกแขวนคอบนต้นไม้ก่อนถูกเก้าอี้ฟาด เน้นย้ำไม่มีวันลืม “รุ่นพี่” ที่สู้มาก่อน เช่นเดียวกับกรณีกระแสล่ารายชื่อคัดค้านอย่างหนักเมื่อคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ปลดรูป สมเด็จ วิรุฬหผล อดีตนิสิตปี 1 วีรชน 14 ตุลา ออกไปจนสุดท้ายต้องยอมติดตั้งไว้ที่เดิม

หากย้อนไปไกลกว่านั้น แฟลชม็อบช่วงต้นปี’63 ก่อนถูกเบรกด้วยโควิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดชุมนุมด้วยแฮชแท็ก #ศาลาวีรชนจะไม่ใช่ที่หลบฝนอีกต่อไป เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ รวมตัวยัง “ศาลาวีรชน” ปราศรัยรำลึกถึง สมพงษ์ พลอยเรืองรัศมี นักศึกษาคณะวิศวกรรมอุตสาหการ ผู้สละชีพจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ขณะเข้าแย่งปืนทหาร โดยถูกแทงสีข้างซ้ายเข้าทรวงอกเฉียงลงล่างด้วยดาบเป็นแผลยาว 4 นิ้ว เหตุเกิดใกล้กองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า ในเวลาประมาณ 19.15 น. ต่อมาจึงมีการสร้างศาลาวีรชนขึ้นเพื่อรำลึกถึงรุ่นพี่ร่วมสถาบัน

ยังไม่นับบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด อดีตนิสิตจุฬาฯ ที่แฟลชม็อบในวันนี้เป็นอีกครั้งที่บทกวีของเขากลับมากระหึ่ม

นับเป็นอีกการผลิตซ้ำเน้นย้ำประวัติศาสตร์ที่ไม่ว่าจะพยายามลบอย่างไรก็ไม่ลืม

นักศึกษาพระจอมเกล้าฯ ธนบุรี ในงาน ‘ศาลาวีรชนจะไม่ใช่ที่หลบในอีกต่อไป’ ปราศรัยรำลึกสมพงษ์ พลอยเรืองรัศมี รุ่นพี่วิศวะ สละชีพยุค 14 ตุลา เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

จากนักศึกษาถึง‘เสื้อแดง’

ขอบคุณที่อดทนสู้ ‘ขอโทษ’ที่เคยเหยียดหยาม

ปรากฏการณ์ที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ เพราะเปรียบเสมือนจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของการเข้าร่วมม็อบนักศึกษาอย่างเปิดเผยตัวของ “คนเสื้อแดง” นั่นคือการเอ่ยปาก “ขอโทษ” ออกไมค์ในแฟลชม็อบต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรม “เสาหลักจะหักเผด็จการ” โดยกลุ่ม “Spring Movement” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาแถวหน้าของประเทศ แหล่งรวมชนชั้นกลางจนถึงลูกท่านหลานเธอ

โดยในตอนหนึ่ง นิสิตชายกล่าวยกย่องการต่อสู้ของกลุ่มเสื้อแดง โดยผู้ชุมนุมต่างพากันปรบมืออย่างยาวนานให้คนเสื้อแดงที่ส่วนหนึ่งยังถูกจำคุกในเรือนจำ

ที่สำคัญคือการอ่านคำปราศรัย “เสียงจากดินถึงฟ้า” ของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ที่เคยปราศรัยเมื่อปลายปี 2551

ป้ายขอโทษเสื้อแดง ในชุมนุมใหญ่ 16 ส.ค. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เสื้อแดงหลายรายที่ก่อนหน้าเคยสวมเสื้อดำสกรีนข้อความต้านเผด็จการร่วมสังเกตการณ์แฟลชม็อบอยู่เนืองๆ ก็เปลี่ยนมาสวมใส่เสื้อแดงร่วมชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยคณะประชาชนปลดแอก 16 สิงหาคม พร้อม “ตีนตบ” อย่างครึกครื้น

บนเวทีเล็ก ระหว่างติดตั้งเวทีใหญ่ นิสิตจุฬาฯยังประกาศผนึกกำลังกับเสื้อแดงที่ “ตาสว่าง” มาก่อน กระทั่งถึงเวทีใหญ่ มีการขับร้อง “บทเพลงของสามัญชน” เพื่อมอบให้ “คนเสื้อแดง” พร้อมกล่าวขอบคุณกับความอดทนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังกล่าวขอโทษคนเสื้อแดง ที่เข้าใจผิดว่าเป็นผู้ร้ายของสังคม เป็นคนที่เคยถูกเหยียดหยามทั้งที่สู้มานานถึง 1 ทศวรรษ

ด้วยเหตุนี้จึงได้เห็นภาพชัดเจนของคนเสื้อแดงที่ทยอยออกมาเปิดตัวสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักศึกษา บ้างก็เป็นสายโภชนาการ อย่างกลุ่ม “สุมหัวลาดกระบัง” ที่ขน “น้ำแข็งไส” ราดน้ำแดง 1,000 ถ้วยแจกในงาน “#ลาดกระบังชังเผด็จการ” ที่ลานข้างสนามกีฬาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 19 สิงหาคม

กลุ่มคนเสื้อแดงแสดงตัวร่วมชุมนุมกับนักศึกษาอย่างชัดเจนหลังคำกล่าว ‘ขอโทษ’ และเสียงปรบมือยกย่องการต่อสู้

โกวิทย์ ซมมิน ตัวแทนกลุ่มสุมหัวลาดกระบัง ซึ่งสวมใส่ “หมวกแดง” ติด “โบขาว” เล่าทั้งน้ำตาว่า ทำเพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจนักศึกษา แต่ไม่ใช่ท่อน้ำเลี้ยง ทำเพียงสิ่งที่พอทำได้ ลงขันคนละ 200 บาท ซึ้งใจมากที่นักศึกษาประกาศขอโทษ

“พวกเราสู้มา 10 ปีแล้ว น้องๆ นักศึกษาขอให้เป็นรุ่นสุดท้าย บอกว่าให้มันจบในรุ่นเรา ถือเป็นการมาแตะมือ” เสื้อแดงหนุ่มใหญ่กล่าว ก่อนบอกว่า ไม่รู้วันนี้นักศึกษาจะมาถึงพันคนเท่าจำนวนถ้วย
น้ำแข็งไสหรือไม่ ทว่า สุดท้าย ทะลุไปหลายเท่า เพราะลำพังยอดลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ รวบรวมได้ รวมกว่า 2,200 ราย

ล่าสุด ในงาน #เพราะทุกคนคือแกนนำ ซึ่งจัดโดยกลุ่มนักศึกษา 4 มหาวิทยาลัย ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร เสื้อแดงพร้อมตีนตบยืนเชียร์ ศรีไพร นนทรีย์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน กวาดสายตามองไปเห็นสีแดงมากมายแต่งแต้มในม็อบชุดดำผูกโบขาว

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของผลงานการทบทวนวรรณกรรม ชำระประวัติศาสตร์ ผลิตซ้ำความทรงจำแห่งการต่อสู้ทางการเมืองของไทยที่ถูกหยิบมาใช้อย่างมีนัยสำคัญในปรากฏการณ์แฟลชม็อบที่ห่างไกลจากคำว่ามุ้งมิ้งไปไกลจนลับตา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image