‘เหยี่ยวดำไทย’ บินไกลไปถึงบังกลาเทศ

เหยี่ยวดำพันธุ์ไทย หรือชนิดย่อยประจำถิ่น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Milvus migrans govinda มีถิ่นผสมพันธุ์ในประเทศไทย ที่ภาคเหนือ อีสานและภาคกลาง แต่ปัจจุบันเนื่องจากกระแสเลี้ยงฝึกเหยี่ยวเป็นสัตว์เลี้ยง จึงมีมิจฉาชีพขโมยลูกเหยี่ยวดำจากรังนำมาขายในตลาดค้าสัตว์ป่า หรือบนสื่อโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก ทำให้ประชากรของเหยี่ยวดำพันธุ์ไทยลดน้อยลง มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ หรือ endangered

ในอดีต เหยี่ยวดำพันธุ์ไทยเป็นนกนักล่าที่พบได้ทั่วไปในระบบนิเวศทุ่งนาบนที่ราบภาคกลาง อาทิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครนายก ปราจีนบุรี และเพชรบุรี แต่เมื่อประชากรถูกเบียดเบียนจากการค้าสัตว์ป่าและต้นไม้ใหญ่ เช่น ประดู่ ยางนา สำหรับสร้างรังวางไข่ ลดน้อยลงเพราะถูกตัดโค่น เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในรูปแบบอื่น จากเดิมที่เป็นป่าดิบที่ราบต่ำ ยิ่งซ้ำเติมประชากรของเหยี่ยวดำใกล้สูญพันธุ์ ทั้งที่เหยี่ยวดำทำหน้าที่ควบคุมจำนวนของหนูนา ซึ่งเป็นศัตรูพืชผลของชาวนาและชาวสวน ในปัจจุบันเหยี่ยวดำจึงต้องปรับตัวมาสร้างรังบนวัตถุที่มนุษย์สร้าง เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง หรือต้นยูคาลิปตัส ซึ่งมีความสูงต่ำลงมา จึงเสี่ยงต่อการถูกปล้นรัง ขโมยลูกเหยี่ยวไปขายมากขึ้น

ผลการสำรวจเรื่องอาหารหรือเหยื่อของเหยี่ยวดำพันธุ์ไทยในภาคกลาง พบว่า หนูนาเป็นอาหารหลักของเหยี่ยวดำในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ขณะเลี้ยงลูก ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่งนาข้าวถูกพักไว้ตากฟาง เว้นจากการทำนา นอกจากนั้น อาหารของเหยี่ยวดำยังประกอบด้วย นกน้ำ งู ปลา กบ คางคกอีกด้วย จากการสัมภาษณ์ชาวนาอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ให้ข้อสังเกตว่า เหยี่ยวดำไม่ได้อยู่อาศัยที่ทุ่งนาปากพลีตลอดปี ในช่วงหลังสงกรานต์เหยี่ยวดำจะหายไปจากพื้นที่ และพบอีกครั้งในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ของเหยี่ยวในประเทศไทย ทีมวิจัยจึงเกิดคำถามว่า จริงๆ แล้ว เหยี่ยวดำไทยที่จัดเป็นนกประจำถิ่นในบ้านเรานั้น มีการโยกย้ายภูมิลำเนาไปพื้นที่อื่นหรือไม่ โดยเฉพาะหลังฤดูผสมพันธุ์

โครงการวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์การอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จึงศึกษาติดตามการเดินทางของลูกเหยี่ยวดำ 1 ตัว ชื่อ “นาก” รหัส R96 ที่มีบ้านเกิด ณ อ.ปากพลี จ.นครนายก ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม โดยติดตั้งเครื่องส่งพิกัดดาวเทียมด้วยสัญญาณโทรศัพท์ น้ำหนักเบา ไม่เกิน 4% ของน้ำหนักตัวของเหยี่ยวดำ บนแผ่นหลังของเงิน ทำงานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องจะส่งพิกัดดาวเทียมมาที่แอพพลิเคชั่นมือถือของทีมวิจัยทุกชั่วโมง ในขณะที่เจ้านากยังเป็นลูกเหยี่ยวอยู่ภายในรังและบินไม่ได้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ศกนี้ ปรากฏว่า นากหย่ารัง บินออกจากรังไปเกาะนอนบนต้นไม้รอบรัง ในวันที่ 14-16 เมษายน ซึ่งระยะนี้นับเป็นช่วงสำคัญของชีวิตเด็กน้อยนักล่า เพราะยังต้องรอให้พ่อแม่เหยี่ยวล่าเหยื่อมาป้อน ซึ่งเงินต้องเรียนรู้นอกเหนือว่าเหยื่ออะไรกินได้ ล่าได้ ฝึกบินให้คล่องแคล่ว เพื่อพร้อมเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ของชีวิตที่รอมันอยู่

Advertisement

จากพิกัดดาวเทียมเราพบว่านากบินไปมาภายในอาณาเขตไม่เกิน 1-2 ตารางกิโลเมตร ใกล้รัง แต่ข่าวดีที่สร้างความประหลาดให้ทีมวิจัยคือ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม (ประมาณ 1 เดือนหลังนากหย่ารังแล้ว) เงินมุ่งหน้าไปทางตะวันตก บินผ่านจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ข้ามฟากเข้าประเทศเมียนมา! ที่รัฐตะนาวศรี ในวันที่ 18 พฤษภาคม ดูเหมือนจุดหมายปลายทางจะเป็นจังหวัดชายทะเลฝั่งอันดามันในพื้นที่เมืองทวาย แต่นากก็สร้างมหัศจรรย์อีกครั้ง ในเย็นวันที่ 18 พฤษภาคม มุ่งหน้าออกทะเล จากหาดนาปูเล เวลาบ่ายสามโมง เดินทางเหนือทะเลอันดามัน กว่า 8 ชั่วโมงในเวลากลางคืน ไปขึ้นฝั่งที่อ่าวเมาะตะมะ ใกล้เมืองย่างกุ้ง ในเวลาห้าทุ่ม…

นับเป็นข้อมูลใหม่ของเหยี่ยวดำพันธุ์ไทยครั้งแรกของโลก ที่ยืนยันได้จากการติดตามด้วยดาวเทียมว่า สามารถบินข้ามทะเลในเวลากลางคืน

Advertisement

จากวันที่ 19 พฤษภาคม นากเดินทางขึ้นเหนือจากปากแม่น้ำอิรวดีเข้าใกล้เมืองเนปยีดอ ใช้เวลาวนเวียนในพื้นที่ทุ่งนาในหุบเขา/ที่ราบสูงหลายวัน ชวนให้ทีมวิจัยคิดว่าเงินคงเลือกพื้นที่ราบภาคกลางของเมียนมา เพื่อนบ้านของเราเป็นที่อาศัยหลังการเดินทางไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร ปรากฏว่านากเดินทางไกลอีกครั้ง เงินบินขึ้นเหนือไปรัฐฉิ่น แล้วเลี้ยวไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่รัฐมณีปุระของประเทศอินเดีย อันเป็นข้อมูลใหม่อีกครั้งว่าเหยี่ยวดำ เชื้อชาติไทย โยกย้ายถิ่นระหว่างภูมิภาคจากอาเซียนไปถึงอนุทวีปอินเดีย

แต่นากยังไปไม่สุด…

จากวันที่ 8 มิถุนายน นากบินไปถึงเมืองธากา เมืองหลวงประเทศบังกลาเทศ และพิกัดแสดงว่า นากวนเวียนอาศัยอยู่ในแหล่งพักนอนกลางคืนของเหยี่ยวดำ ณ เมืองธากา ที่มีรายงานมาก่อนหน้านี้ว่าเป็นแหล่งชุมนุมของเหยี่ยวดำหลายร้อยตัว ในวันที่ 10 มิถุนายน

เป็นอันสรุปได้ว่า การเดินทางไกลของเงิน เหยี่ยวดำพันธุ์ไทย อายุ 4 เดือน หลังจากฟักเป็นตัวจากไข่ บนต้นกระถินณรงค์ ที่ทุ่งนาปากพลี มีเป้าหมายที่ประเทศบังกลาเทศ ใช้เวลาเดินทาง 24 วัน ระยะทางกว่า 3,214 กม. ทำให้เราทราบว่านกประจำถิ่นในไทยบางชนิดอาจจะไม่ได้อาศัยตลอดปี แต่สถานภาพจริงๆ เป็นอาคันตุกะสำหรับการผสมพันธุ์ หรือ breeding visitor

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการเดินทางไกลของเหยี่ยวดำไทยวัยเด็กตัวนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น 1 ตัว ที่ได้รับการสนับสนุนจาก “กองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์” คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะเป็นตัวแทนของประชากรเหยี่ยวดำไทยในบ้านเราหรือไม่ ดังนั้น การศึกษาวิจัยด้วยจำนวนสัตว์ที่เพิ่มขึ้นและเป็นตัวแทนของแต่ละกลุ่มอายุ ได้แก่ เหยี่ยววัยเด็ก และเหยี่ยวตัวเต็มวัย จะทำให้เรามีข้อมูลที่หนักแน่น นำไปสู่การสรุปองค์ความรู้ใหม่ได้ ดังนั้น โครงการจึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เพื่อศึกษานิเวศวิทยาของเหยี่ยวดำชนิดย่อยประจำถิ่น หรือเหยี่ยวดำพันธุ์ไทย ด้วยสัญญาณดาวเทียม ภายใน 2 ปีข้างหน้า จะศึกษาติดตามเหยี่ยวดำอีก 7-8 ตัว ซึ่งนับเป็นการบูรณาการความรู้ ความสามารถด้านนิเวศวิทยา จากการสำรวจในภาคสนามร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อตอบโจทย์วิจัย อันจะนำไปสู่การวางแผนการอนุรักษ์สัตว์ป่าคุ้มครองได้อย่างแม่นยำและตรงเป้า…

โปรดติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image