เหรียญที่ระลึก, เหรียญพระเครื่อง กับการปฏิวัติสยาม 2475

บทความ, หนังสือ เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือ “การปฏิวัติสยาม 2475” มีให้หาอ่านได้มากมาย ในหลากหลายมิติ แต่ที่นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคม 2563 นี้นำเสนอ เป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีการกล่าวถึงนัก

นั่นคือบทความเรื่อง “เหรียญที่ระลึกและพระพุทธรูปกับการเมืองในบริบท การปฏิวัติสยาม 2475” ที่ วิศรุต บวงสรวง ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ของเขาเอง

วิศรุต บวงสรวง ได้รวบรวมเรื่องราวของเหรียญพระเครื่อง, เหรียญที่ระลึก และพระพุทธรูป จำนวนมากที่สัมพันธ์กับการเมืองในช่วงทศวรรษ 2470-80 หลายรายการด้วยกัน แต่ในที่นี้ขอนำเสนอเพียงบางส่วน

เริ่มจากเหรียญพระแก้วมรกต ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อมอบให้แก่ผู้ร่วมบริจาคเงินในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวาระครบ 150 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2472

Advertisement

งบประมาณในการบูรณะครั้งนั้นอยู่ที่ 600,000 บาทเศษ รัชกาลที่ 7 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 200,000 บาท, ใช้เงินแผ่นดินอีก 200,000 บาท ส่วนที่ยังขาดอยู่อีก 200,000 บาทเศษ โปรดเกล้าฯ ให้เรี่ยไรบอกบุญกับประชาชนทั่วไปที่ต้องการร่วมทำบุญ เพื่อให้ข่าวสารการเรี่ยไรกระจายไปทั่วถึง จึงมีการจัดทำใบปลิวออกเผยแพร่

ใบปลิว 4 หน้า จำนวน 20,000 ฉบับ ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจพิมพ์ถวาย หน้าแรกพิมพ์รูปหน้าบันพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีข้อความว่า “ประกาศ บอกบุญในการปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พ.ศ.2472” ส่วนเนื้อหาภายในเป็นการบอก วัตถุประสงค์ที่มาของการบูรณปฏิสังขรณ์, ความสำคัญของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, การเชิญชวนให้ร่วมกันบริจาคเงิน และประกาศระเบียบการรับเงินเรี่ยไร ลงวันที่ 16 กันยายน 2472

บางส่วนของใบประกาศบอกบุญเรี่ยไรปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พ.ศ. 2472 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อใบปลิวพิมพ์เสร็จ ก็มีกระทรวงมหาดไทยเป็นกลไกสำคัญในการกระจายข่าวสาร ทั้งกำชับข้าราชการของกระทรวงอย่างมากในการดำเนินการแจกจ่ายใบปลิวและเรี่ยไรเงินทำบุญดังกล่าว เช่น แต่ละหมู่บ้านต้องได้ใบปลิว 1 ฉบับ, ผู้ใหญ่บ้านและกำนันเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดแก่ลูกบ้านให้ชัดเจน ไม่ใช่แค่ติดประกาศใบปลิว, เลือกที่ปิดใบปลิว ไม่ให้โดนแดดหรือฝนเสียหาย และข้าราชการมหาดไทยในท้องที่ต้องเป็นธุระชักจูงให้ประชาชนเกิดศรัทธาในการร่วมบุญ

Advertisement

นอกจากจะเรี่ยไรเงินทำบุญด้วยการบอกข่าวผ่านใบปลิวแล้ว ยังมีการประกาศบอกบุญในหนังสือของราชการอย่างราชกิจจานุเบกษา และสร้างความจูงใจให้ด้วยการประกาศรายชื่อผู้ที่บริจาคตั้งแต่ 5 บาทขึ้นไป ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาอีกด้วย

แล้วเหรียญพระแก้วมรกตที่ว่ามีลักษณะอย่างไร

ใบปลิวบอกบุญระบุว่า “เหรียญที่ระลึกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนั้น เป็นเหรียญดุนรูปพระมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) อยู่ในเรือนแก้วด้านหนึ่ง ดุนลายยันต์มีตัวอักษรภาษามคธว่า ‘วา ละ ลุ กัง สัง วา ตัง วา’ ด้านหนึ่ง” ทำจากวัสดุหลายชนิด สำหรับสมนาคุณแก่ผู้บริจาคเงินในจำนวนที่แตกต่างกัน ดังนี้ เหรียญทองสำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป, เหรียญเงินบริจาค 20 บาทขึ้นไป, เหรียญทองขาวบริจาค 5 บาทขึ้นไป และเหรียญทองแดงบริจาค 1 บาทขึ้นไป

เหรียญพระแก้วมรกต 150 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ (ภาพจาก https://library.stou.ac.th/odi/medal-in-rama7/page_3.html)

นอกจากเหรียญที่สร้างโดยทางการแล้วก็ยังมีเหรียญที่สร้างโดยเอกชน เช่น นายมาสี สยามวาลา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างและจำหน่ายเข็มพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, นางสอาด ศิริสัมพันธ์ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างเหรียญที่ระลึกในงานฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามและฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระบรมรูป 7 รัชกาล ฯลฯ

ต่อมาในทศวรรษ 2480 การปกครองของประเทศเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และ “รัฐธรรมนูญ” นี้เอง ที่กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดใหม่ใน “ทำเนียบสิ่งศักดิ์สิทธิ์” ทั้งหลายที่มีอยู่เดิม ดังที่ผู้เขียน (วิศรุต บวงสรวง) เขียนไว้ว่า

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“ช่วงปลายทศวรรษ 2470 จนถึงปลายทศวรรษ 2480 อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญและงานฉลองรัฐธรรมนูญกลายเป็นงานเฉลิมฉลองระดับชาติแทนที่งานพระราชพิธีแบบจารีต ราษฎรสามัญทั่วไปในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญประจำจังหวัดขึ้น

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในบางจังหวัดมีการสร้างเหรียญรัฐธรรมนูญขึ้น เช่น เหรียญที่ระลึกในงานเปิดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ ด้านหน้าเป็นรูปอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ ด้านหลังมีข้อความว่า ‘ที่ระลึกในงานสมโภชน์อนุสรณ์รัฐธรรมนูญ จังหวัดสุรินทร์ 10 ธันว์ 79’ เหรียญ ส.ค.ส. พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2480 โดยทำเป็นรูปวัวแบกพานรัฐธรรมนูญ”

ขณะเดียวกันก็มีการจัดทำเหรียญที่ระลึกการปฏิวัติเช่นกัน ซึ่งมีทั้งที่คณะราษฎรเป็นผู้จัดทำ และบุคคลเสนอให้จัดทำ ซึ่งเหรียญที่ระลึกการปฏิวัติสยามเหรียญแรกของคณะราษฎรสร้างขึ้นคือ “เหรียญพระราชทานรัฐธรรมนูญ” เพื่อแจกในงานพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ และมีงานเฉลิมฉลองจัดขึ้นในกรุงเทพมหานครและทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475

เหรียญดังกล่าว มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ และจารึกอักษรความว่า “ที่ระลึกได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475” คิดราคาเหรียญละ 50 สตางค์ โดยใช้งบในการทำเหรียญที่ระลึกดังกล่าว 571.50 บาท การแจกเหรียญรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2475 ให้เป็นรางวัลสำหรับเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่มาจัดงานมหรสพในงานเป็นรายบุคคล คนละ 1 เหรียญ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,143 เหรียญ (ยกเว้นแต่คณะโขนหลวงเพราะถือเป็นการช่วยเหลือทางราชการด้วยกัน)

ส่วนเหรียญต่างๆ ข้างต้นที่กล่าวมานั้น เหรียญอื่น และพระพุทธรูปที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์โดยตรง และเป้าประสงค์แฝงประการใด ขอได้โปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image