ราษฎรชื่อ‘สาย สีมา’ อีกครั้งของ‘ปีศาจ’แห่งกาลเวลา พุทธศักราช 2563

‘…เป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง รูปร่างของเขาไม่มีลักษณะอะไรดีเด่นเป็นพิเศษที่อาจจะมองเห็นได้ทันทีจากกลุ่มคนธรรมดาสามัญทั้งหลายและก็ไม่มีอะไรวิปริตผิดปกติที่จะสังเกต
ได้ง่าย ส่วนสูงต่ำก็อยู่ในขนาดผู้ชายไทยสันทัดธรรมดาทั่วไป พื้นเพทางวงศ์วานว่านเครือ ก็มาจากครอบครัวของคนสามัญที่ถ้าจะพูดตามอย่างที่ครอบครัวของหล่อนเรียกก็จัดอยู่ในจำพวกคน ‘ไม่มีสกุลรุนชาติ’…’

คือข้อความพรรณนาถึง ‘ความธรรมดา’ ของตัวละครชื่อ ‘สาย สีมา’ ในวรรณกรรมอมตะอย่าง ‘ปีศาจ’ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งถูกพิมพ์ซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน

เป็นหนังสือที่คนไทยควรอ่าน ทั้งผู้ที่บอกใครๆ ว่า ‘รักชาติ’ และผู้ที่ถูกแปะป้ายว่า ‘ชังชาติ’

Advertisement

เป็นเรื่องราวที่ยังโลดแล่นอยู่ในปรากฏการณ์สังคมและการเมืองร่วมสมัย ถูกผลิตซ้ำ ดัดแปลง นำมาใช้ในศิลปะหลายแขนง กระทั่งการแสดงของ กลุ่ม B-Floor ในแฟลชม็อบกลางถนนราชดำเนินที่ถูกพ่นสีโดยราษฎรว่า ‘ราษฎร์ดำเนิน’ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2563

ในประวัติศาสตร์การตีพิมพ์วรรณกรรมอมตะเล่มนี้ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ มีการพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา จวบจนวันนี้ นับเป็นการ พิมพ์ครั้งที่ 5 ในห้วงเวลาแห่งความอลหม่านของการเมืองไทย

คำนำสำนักพิมพ์ โดย สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม วิเคราะห์ เจาะลึก พร้อมทั้งเปิด ‘บทสนทนาส่วนตัว’ กับผู้เขียน ที่ให้ความกระจ่างชัดในความเป็นมาของตัวละครเอก แม้กระทั่งการตั้งชื่อและนามสกุล

Advertisement

บรรทัดถัดจากนี้ คือส่วนหนึ่งของข้อเขียนดังกล่าว ที่ สุพจน์ ร้อยเรียงผ่านตัวอักษร 18 หน้ากระดาษ ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2563 อันเป็นวันครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตามที

…คำว่า ธรรมดา เป็นคำที่เสนีย์ เสาวพงศ์จงใจจะใช้สำหรับตัวเอกของเขา. ความจงใจเช่นไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปร่างลักษณะเท่านั้น คำว่าสามัญยังเป็นคำที่เขาจงใจใช้เมื่อพูดถึง วงศ์วานว่านเครือ – เป็นความจงใจที่แสดงออกอย่างแนบเนื่องกับชื่อและนามสกุลของผู้ชายธรรมดาคนนี้.

…สาย สีมากลายเป็นปฏิมาของคนรุ่นใหม่ เพราะเขาไม่ได้เป็น เพียงแค่ตัวละครในนวนิยายที่ทำหน้าที่ส่งสารถึงผู้อ่าน, ไม่ได้เป็น เพียงคนในวัยที่ผู้อ่านจะเทียบเคียงกับตัวเองได้, แต่เขาคือสำนึกใหม่ของประวัติศาสตร์, คือตัวแทนของลูกหลานราษฎรสามัญทั้งหลายที่มีจิตสำนึก และอยู่ในสังคมที่ความขัดแย้งทางชนชั้นยังพัฒนาไปไม่ถึง ขั้นสุดท้าย. ตัวตนของเขาปรากฏอยู่ทั่วไป; เขาจะชื่ออะไรก็ได้, อาจเป็นใครก็ได้ที่กำลังเดินอยู่บนถนน, กำลังอ่านหนังสือ, หรือกำลังปิดโปสเตอร์เรียกร้องการชุมนุม ฯลฯ แม้ต้วละครอื่นๆ อย่าง รัชนี, วัลยา, อย่าง ยง อยู่บางยาง ยังดำรงอยู่สืบมาก็ด้วยลักษณาการอันคล้ายคลึงกันนี้เอง.

…..เสนีย์ เสาวพงศ์ ไม่ได้สร้างสาย สีมาให้เป็น “พระเอก” อย่าง รูปลักษณ์ “พระเอก” ที่เราจะพบในนวนิยายทั่วๆ ไป ที่จะต้องมีศักดิ์ สถานะ, มีความงามสง่าในหลายเรื่อง หรือแม้พิกลพิการในบางเรื่อง. สาย สีมาที่เขาสร้างขึ้นนั้นไม่มีทั้งความเด่นและความด้อยอะไร

เขาปูที่มาของชื่อ “สาย” ไว้ตั้งแต่ต้น บิดาของ “สาย” ชื่อ “เที่ยง,” มีลูกเรียงลำดับคือ “เช้า”-“สาย”-“บ่าย”-“เย็น” และ “คืน” เป็นคนสุดท้อง. ชื่อเรียงตามเวลาเช่นนี้ เราอาจพบได้เสมอในสมัยที่ชาวบ้านยังคงใช้ชื่อง่ายๆ. ชื่อเรียงความหมายอย่าง “ชุ่ม”-“ชื่น”-“ชื้น”-“ฉ่ำ” หรืออื่นๆ ในทำนองนี้ก็คงพบได้บ่อยครั้ง. อย่างไรก็ตาม, ในกรณีของ “สาย สีมา” มันยังมีนัยอื่นมากไปกว่าธรรมเนียมการตั้งชื่อง่ายๆ เช่นนั้น ซึ่งเราจะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจนามสกุล “สีมา” ของเขา, และก็โดยผ่านนามสกุล “สีมา” นี้เอง ที่เสนีย์ เสาวพงศ์ต้องการจะสื่อถึงผู้อ่านของเขาว่า นายสายผู้นั้นเป็นใคร, มี “สกุลรุนชาติ” มาอย่างไร.

ในการสนทนาเป็นส่วนตัว, เสนีย์ เสาวพงศ์ อธิบายว่า, นามสกุล “สีมา” เกิดขึ้นจากการเอาคาดว่า “สี” กับ “มา” มาต่อกัน เพื่อแสดงว่าเป็นลูกหลานของ “ตาสี ตาสา ยายมา ยายมี” อันมีความหมายโดยปริยายในภาษาปากว่าเป็นชาวนาหรือชาวบ้านนอกธรรมดาที่ไม่มีความหมายอะไรกับใคร. เสนีย์ เสาวพงศ์เลือกที่จะใช้วิธีเอาชื่อบรรพบุรุษมาเป็นนามสกุลแบบเดียวกับที่พวกชนชั้นสูงใช้. ความต่างนั้นอยู่ตรงที่ว่า สกุล “สีมา” ไม่ได้อวดอ้างไปถึงความวิเศษวิโสของใคร, แต่กลับชี้ไปในทางตรงกันข้ามว่าเป็นเทือกเถาเหล่ากอที่ไมได้มี “สกุลรุนชาติ” อะไร

…ทั้งหมดนี้คือความหมายของคว่า “สีมา” ซึ่งเสนีย์ เสาวพงศ์ได้ นำมาใช้แทนตัวเขาเองในบางครั้ง, ดังเมื่อใช้นามปากกาว่า “หนาน สีมา” ในการเขียน “สาแหรกที่เก้า” นั้น.

เมื่อเราเข้าใจที่มาของนามสกุล “สีมา,” เราก็จะเข้าใจได้ว่า ชื่อ “สาย” ที่เขาใช้ฝีมือการประพันธ์วางไว้อย่างแนบเนียนนั้น ไม่ใช่ “ยาม สาย” แต่คือ “เชื้อสาย”: “สาย สีมา” ก็คือลูกหลานเชื้อสายของราษฎรสามัญคนหนึ่ง

….นักอ่านที่ชอบอ่านปีศาจนิยายจะต้องผิดหวังเมื่อเขาพลิกอ่าน “ปีศาจ” ไปจนจบเล่ม และไม่พบเรื่องราวของภูตผีที่น่าสะพรึงกลัวอย่างที่เขาปรารถนาจะอ่าน. “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ไม่ใช่นวนิยายประเภทนั้น, และตัว “ปีศาจ” ที่เขาชี้ให้เห็นก็ไม่ใช่วิญญาณร้ายที่คอยหลอกหลอนผู้คนตามบ้านร้างหรือทางเปลี่ยว. จินตภาพของคำว่า “ผี” หรือ “ปีศาจ” หรือแม้คำอื่นๆ ในประเภทเดียวกันนี้ ตามภาษาที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันไม่ได้ช่วยทำให้เราเข้าใจสารที่ผู้เขียนสื่อมาในนวนิยายเรื่องนี้เท่าใดนัก

คราวหนึ่ง เสนีย์ เสาวพงศ์เคยชี้ว่าคำว่า “ปีศาจ” ที่เขาใช้ในนวนิยายเรื่องนี้ ตรงกับคำว่า spectre ในภาษาอังกฤษ, ไม่ใช่ ghost อย่างที่มักจะเข้าใจกัน. เรื่องทำนองนี้เคยมีมาก่อน-ไม่ใช่ในนวนิยาย, หากในเอกสารการเมืองที่สำคัญที่สุดของศตวรรษ เมื่อหนังสือ Manifesto of the Communist Party (คำประกาศของชาวคณะคอมมิวนิสต์) ของคาร์ล มาร์กซ์ และเฟรเดอริค เองเกลส์ ถูกแปลออกเป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1850 นั้น, ในประโยคขึ้นต้น ซึ่งต่อมาจะมีการแปลใหม่และเป็นที่คุ้นเคยกันว่า “A spectre is haunting Europe, (ปีศาจตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป) นั้น, Helen Macfarlane แปลว่า “A frightful hobgoblin stalks through Europe,” ซึ่งอาจแปลเป็นไทยอย่างง่ายๆ ว่า “วิญญาณร้ายตนหนึ่งกำลังเพ่นพ่านอาละวาดไปทั่วยุโรป,” เพราะ hobgoblin มีความหมายว่า
“ผี” หรือ “วิญญาณร้าย” อย่างที่เราคุ้นกันในปีศาจนิยายของไทยหรือของฝรั่งนั่นเอง

ตรงกันข้าม, คำว่า spectre ไม่ได้มีนัยเช่นนั้น. จริงอยู่ มันมีนัยเรื่อง “หลอกหลอน,” แต่ก็เป็นการหลอนอันเนื่องมาจากความหวาดกลัวของผู้ถูกหลอนนั่นเอง, เพราะขณะเดียวกัน คำคำนี้ก็ยังมีนัยประหวัดไปถึงการหวาดผวาต่อภัยพิบัติหรือปัญหาที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้. ท่านเจ้าคุณเกลียดและกลัวสาย สีมา ก็ด้วยนัยนี้-ไม่ใช่เพราะ สาย สีมาคือ “ผี” ที่ไปปรากฏกายให้เห็นกลางวันแสกๆ, แต่สาย สีมา คือคนรุ่นใหม่ที่มิได้สยบนบนอบต่อค่านิยมเก่า, คือคนรุ่นใหม่ที่ท่านเจ้าคุณแม้จะเกลียดจะกลัวสักเท่าใดก็กำจัดไม่ได้เขาไม่ได้เป็น “ไอ้พวกไม่เจียมตัว” อย่างที่ท่านเจ้าคุณปรามาส, แต่เป็นมากกว่านั้น. เมื่อท่านเจ้าคุณหยามหยันสาย สีมาหมายจะให้เขาได้อาย, นั่นก็เป็นเพียงการกระทำเพื่อปลอบใจตัวเองว่า ตัวเอง หรือชนชั้นของตนเองยังทรงพลานุภาพอยู่-เท่านั้นเอง

ในนวนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนได้ใช้คำว่า “ปีศาจ” ในหลายแห่ง, เช่น “ปีศาจเนรคุณ” และ “ปีศาจขโมย” แต่ทั้งสอง “ปีศาจ” นั้นก็เป็นเพียงคำธรรมดา, ทำนองเดียวกับที่เราใช้ในคำว่า “ผีพนัน,” หรือ “ปีศาจสุรา” ในนิยายกำลังภายใน. แต่ความหมายที่สำคัญที่สุด จนทำให้ท่านเจ้าคุณต้องปรารภว่า “ไอ้ปีศาจตัวนี้มันทำให้ฉันนอนไม่หลับ” ก็คือ “ปีศาจ” ในความหมายที่สาย สีมากล่าวว่า :

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว”

บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ยังจบคำนำด้วยข้อความ 3 บรรทัดว่า

‘วันเวลาอาจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว, สภาพการณ์หลายอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป, แต่ตราบใดที่กาลเวลายังสร้างปีศาจขึ้นมาใหม่ไม่ขาดสาย, เนื้อหาสำคัญของสารนั้นก็ยังมิได้เลือนหาย’

 

นวนิยายที่เกือบหาผู้จัดพิมพ์ไม่ได้

ในทศวรรษ 2490 สู่วรรณกรรมอมตะ

บางช่วงบางตอนจาก ‘คำนำเสนอ’ ในการพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยสำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2563

‘ปีศาจของกาลเวลา’

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘ราวปี 2513 ท่ามกลางบรรยากาศของสังคมไทยยุค แห่งการพัฒนา อเมริกันในไทย และ เผด็จการคณาธิปไตย แม้จะไม่ใช่ปีที่สลักสำคัญจนถูกบันทึกหรือได้รับการจดจำเป็นพิเศษในหน้าปฏิทินประวัติศาสตร์ไทย แต่เป็นปีที่มีความหมายพิเศษบางอย่างในทางภูมิปัญญาและการเมืองวัฒนธรรม เมื่อพบว่ามีหนังสือเล่มหนึ่งเผยโฉมสู่ท้องตลาด รูปเล่มหนังสือได้รับการออกแบบอย่างประณีตสวยงาม แสดงถึงความเอาใจใส่ของผู้พิมพ์ จัดทำเป็นฉบับปกแข็งและพิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์อย่างดี หน้าปกสีแดงเป็นรูปภูตผีกำลังแหวกว่าย ดูน่ากลัว ทั้งนี้ หนังสือเล่มนี้ปลาสนาการจากสายตาสาธารณชนหลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกแล้วเกินกว่า 1 ทศวรรษ การปรากฏตัวครั้งใหม่นี้ ทำให้คนหนุ่มสาวยุคนั้นได้รู้จักวรรณกรรมเนื้อหาแปลกใหม่ 1 เรื่อง กับชื่อผู้เขียนไม่คุ้นหู 1 ราย หนังสือเล่มนั้นชื่อ ปีศาจ ส่วนนามของผู้เขียนคือ เสนีย์ เสาวพงศ์

…หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปีศาจ กลายเป็นวรรณกรรมยอดนิยมของคนหนุ่มสาวผู้ตื่นตัวและเร่าร้อนอยากเปลี่ยนแปลงสังคม จากวรรณกรรมที่เกือบหาผู้จัดพิมพ์ไม่ได้ในทศวรรษ 2490 กลับกลายเป็นงานที่ขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก (ระหว่าง 14 ตุลาฯ- 6 ตุลาฯ ปีศาจ ถูกตีพิมพ์อย่างน้อย 4 ครั้งเป็นอย่างต่ำ) กระทั่ง ฉบับพิมพ์ของมิตรนราที่แม้บางเล่มจะอยู่ในสภาพเก่าๆ ขาดๆ ก็ยังมีผู้ขอซื้อจนเกลี้ยงโรงพิมพ์

น่าแปลกที่นิยายบางเล่มก็สำแดงพลังของมัน มิใช่ในทันทีที่มันคลอดออกมาครั้งแรก หากต้องรออีกนานพอสมควร นิยายของเสนีย์ นับว่าอยู่ในข่ายนี้

เหตุที่หนังสือเล่มนี้ทรงพลังและได้ร้บความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน น่าจะเป็นเพราะมันสื่อสารประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในลักษณะข้ามยุคสมัย นั่นคือ การปะทะกันระหว่าง “โลกเก่า” กับ “โลกใหม่”

ในขณะที่สาย สีมาและเพื่อนของเขาคือภาพตัวแทนของโลกใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความฝันที่จะเห็นสังคมก้าวไปข้างหน้าอย่างเสมอภาคและทุกคนมีศักดิ์ศรีอันเท่าเทียม พ่อของรัชนีก็คือภาพตัวแทนของโลกเก่าที่มองความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ว่าเป็นสิ่งที่น่าตระหนกตกใจ เพราะมองว่าคนชั้นล่างที่ไม่มี “หัวนอนปลายเท้า” ที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้น มีฐานะดีขึ้นกำลังลุกขึ้นมาตีตนเสมอ “ผู้ดี” คนชั้นสูงอย่างตน นอกจากนั้น เด็กรุ่นใหม่ที่ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมหาญกล้าลุกขึ้นทายท้าอำนาจของ “ผู้ใหญ่” จนพานให้เกิดความรู้สึกว่าโลกที่ตนเคยมีอภิสิทธิ์ควบคุมและครอบงำได้ทุกอย่างกำลังพังทลายลง

หนังสือเล่มนี้คือหนังสือที่มาก่อนกาล เพราะมันพูดถึงพลังของหนุ่มสาวในการเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคที่ขบวนการของคนหนุ่มสาวยังไม่ปรากฏและความตื่นตัวของจิตสำนึกยังซบเซา มันจึงเป็นหนังสือที่ผู้เขียนเขียนขึ้นมาจากความหวัง ความเชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการฝันไปข้างหน้าว่าสักวัน “โลกใบใหม่” จะก่อตัวขึ้นที่เส้นขอบฟ้า…ไม่ว่าจะต้องอาศัยเวลายาวนานเท่าใดก็ตาม กล่าวถึงที่สุด หนังสือเรื่อง ปีศาจ คือหนังสือที่ศรัทธาในพลังของกาลเวลา และกาลเวลานั่นเองที่ทำหน้าที่เป็นคำไขปริศนาทั้งหมด ดังที่สาย สีมา กล่าวไว้ในตอนจบว่า:

“ความคิดผิดแผกแตกต่างกันในสมัยและเวลาทำให้คนเรามีความคิดผิดแผกแตกต่างกันด้วย ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอ หวาดกลัวและไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา

ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป”

ในแง่นี้งานประพันธ์ของเสนีย์ เสาวพงศ์ มิใช่อะไรอื่น หาก คือปีศาจของกาลเวลานั่นเอง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image