‘ขอโทษ-สดุดี’ จิตร ภูมิศักดิ์ จาก ‘โยนบก’ ถึงโฉมหน้า ‘ผู้สู้มาก่อน’

รัฐกร ใจเย็น นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ อ่านคำแถลง 'ขอโทษ' จิตร ภูมิศักดิ์ อย่างเป้นทางการ ต่อกรณี 'โยนบก'

เป็นหนึ่งปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ เมื่อ ‘คนรุ่นใหม่’ สังคายนาประวัติศาสตร์ระยะใกล้อันเกี่ยวเนื่องกับสังคมการเมืองไทย นำมาซึ่งหลายสถานการณ์และเหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือกรณีของ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ นักคิด นักต่อสู้คนสำคัญ ซึ่งเคยถูกกระทำอย่างรุนแรงด้วยการ ‘โยนบก’ ในหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันกลายเป็นตำนานเล่าขานมาถึงปัจจุบัน

28 ตุลาคม 2496 คือ วันเกิดเหตุ

67 ปีต่อมา 28 ตุลาคม 2563

‘สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์’ ออกแถลงการณ์ ‘ขอโทษ’ ในงาน ‘90 ปีชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์’ ที่ลานประชุมกร ข้างหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

ไม่เพียงเท่านั้น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ยังประกาศ ‘ยกเลิก’ การแข่งขันวอลเลย์บอลประเพณี ระหว่างอักษร-วิศวะ จนกว่าคณะกรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จะขอโทษ จิตร อย่างเป็นทางการ เนื่องจากบุคคลที่กล่าวกันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญคือ อดีตนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ นั่นคือ พลโท สีหเดช บุนนาค ซึ่งเพิ่งถึงแก่กรรมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ประเด็นเหล่านี้ ไม่เพียงชวนให้ย้อนชำระข้อเท็จจริงจากเรื่องราวที่ถูกเล่าขาน หากแต่สิ่งที่เป็นไปในปัจจุบันเชื่อมโยงถึงสิทธิมนุษยชนที่ได้รับความสนใจอย่างเข้มข้น

ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาวและขอมฯ หนึ่งในผลงานอมตะ ของจิตร ภูมิศักดิ์

ลอยนวลพ้นผิด อภิสิทธิ์ ‘อีลีท’

สยามประเทศไทย?

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจัดพิมพ์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับจิตร ภูมิศักดิ์ หลายต่อหลายเล่ม กล่าวปาฐกถาในงานดังกล่าว โดยย้อนเล่าเหตุการณ์ ‘โยนบก’ ในตอนหนึ่งว่า เหตุเกิดเมื่อครั้ง จิตร เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ อายุเพียง 23 ปี ในฐานะสาราณียกร เขาได้ ‘ปฏิวัติ’ การจัดทำหนังสือ ‘23 ตุลาคม 2496’ ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีขึ้นใหม่ โดยปรับรูปแบบปกจากเดิม ซึ่งมีเพียงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหน้าปก และปรับเนื้อหาด้วยการพิมพ์บทความที่ถูกมองว่า ไม่เหมาะสมในการตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ อาทิ “พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติค แก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเอง และแก้ได้ด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแบบสิทธารถ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติค กับปรัชญาของสิทธารถผิดกันอย่างฉกรรจ์ตรงนี้” ซึ่งเป็นการเขียนวิจารณ์ความเสื่อมทรามของพระภิกษุสงฆ์ที่หากินภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ซึ่งจิตร เป็นผู้เขียนเองในนามปากกา ‘นาครทาส’

Advertisement

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้จิตรต้องชี้แจงกับนิสิตจุฬา กว่า 3,000 คนในหอประชุม ในขณะนั้น นิสิตวิศวกรรมศาสตร์ สีหเดช บุนนาค ขึ้นเวทีไปจับจิตรโยนลงจากเวทีสูง 5 ฟุตเพื่อลงโทษ เรียกต่อมาว่า ‘โยนบก’ เทียบเคียงกับ ‘โยนน้ำ’ ซึ่งเป็นการลงโทษตามธรรมเนียม แต่เพิ่มโทษให้หนักขึ้น หลังเกิดเหตุ นอกจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ถูกลงโทษ อย่างจริงจัง แต่ผู้โดนลงโทษกลับเป็นจิตรเสียเอง โดยถูกลงดาบ ‘พักการเรียน’ 1 ปี

“นี่เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน คนที่กระทำผิด คนที่ละเมิดก็ไม่เคยถูกลงโทษ นี่เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของผู้ปกครองสยามประเทศไทยของเรา หลังจากนั้นจิตรยังถูกพักการเรียน 12 เดือน เพราะเอียงซ้าย ดังนั้น ว่าไปแล้วหนังสือเล่มนั้นที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นบรรณาธิการ จึงเป็นหนังสือที่ดังที่สุดเล่มหนึ่ง ตั้งแต่เคยมีการตีพิมพ์หนังสือในบ้านเรา”

จิตร ภูมิศักดิ์ ใน ‘ป๊อป คัลเจอร์’ ภาพบนเสื้อรางวัลชนะเลิศ 90 ปีจิตร ภูมิศักดิ์ ออกแบบโดย พุธิตา ดอกพุฒ

อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์ ผู้สแกนบัตรประชาชนไม่ผ่านในงานรับปริญญา มธ. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ยังสรุปด้วยว่า ‘จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นคนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา’

“อาจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เจ้าของหนังสือ Imagined Communities (ชุมชนจินตกรรม) เคยพูดเปรยๆให้ผมฟังว่า ปัญญาและมันสมองแบบของ จิตร ภูมิศักดิ์ ใน 1 รอบ 100 ปีอาจจะมีการเกิดในสยามประเทศไทยเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น

จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิด นักเขียน นักปฏิวัติ เมื่อ 67 ปีมาแล้วเมื่อเขาอายุ 23 เป็น บก.หนังสือจุฬา เขาถูกโยนบก 4 ปีต่อมาใน พ.ศ.2499 เมื่ออายุ 27 ปีเขาเขียนบทความอมตะในหนังสือนิติศาสตร์รับศตวรรษใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บทความนั้นชื่อว่า โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน ผมคิดว่าจิตรจะต้องมีมันสมองและสติปัญญาอะไรหลายอย่าง ซึ่งเรานึกไม่ถึงว่าเขียนเมื่อปี 2499 แต่เขาบอกว่า มันเป็นปัจจุบันและยังเป็นปัจจุบันจนถึงทุกวันนี้”

ความเป็นมาของคำสยามฯ ฉบับพิพม์ครั้งแรก พ.ศ.2519 โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 5,000 เล่ม ซึ่ง ศาตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ระบุว่า ‘ถูกยึด’ ไม่ได้ขาย

ต้นฉบับในกล่องขนมปัง

‘ความเป็นมาคำสยามฯ’ 5 พันเล่มที่ ‘ถูกยึด’

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ยังเล่าถึงต้นฉบับสำคัญของจิตร ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการจนถึงทุกวันนี้

“จิตร ภูมิศักดิ์ถูกจับเข้าคุกที่ลาดยาว ระหว่างปี 2501-2507 ตอนอยู่ในคุกเขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวฯ หนังสือเล่มนั้นเขียนในคุก เมื่อคุณจิตร ภูมิศักดิ์ออกจากคุกได้ในปี 2507 เขาฝากต้นฉบับไว้กับเพื่อนคนหนึ่งชื่อ คุณสุภา ศิริมานนท์ นำใส่กล่องขนมปังแล้วบัดกรีอย่างดีฝังเอาไว้ที่บ้าน เป็นเวลานานมากๆ เพราะยุคนั้นเป็นยุคของเผด็จการพ่อขุนอุปถัมภ์ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเกิดการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 คุณสุภานำกล่องนั้นขึ้นมาแล้วเปิดกล่องเอาข้อเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เป็นข้อเขียนสุดท้ายเป็นวิชาการที่เขาเขียนเมื่ออายุ 34 ปีเท่านั้น มาให้ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ผมทำงานอยู่

อาจารย์เสน่ห์ให้ผมดูแลจัดพิมพ์ เราพิมพ์ครั้งนั้นเมื่อปี 2519 จำนวน 5,000 เล่มถูกยึดไปหมด ไม่ได้ขาย ตอนหลังมีคนเอามาพิมพ์แล้วพิมพ์อีก ระหว่างอายุเพียง 30 กว่าๆ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ผลิตงานซึ่งกลายเป็นงานคลาสสิกของหมุดหมายทางปัญญาของสังคมไทยไว้ถึง 3 ชิ้น” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ปิดท้าย

ตอบแทนด้วย ‘ลงทัณฑ์’

67 ปีแห่งความอยุติธรรม

รัฐกร ใจเย็น

มาถึงช่วงเวลาสำคัญ นั่นคือการอ่านคำแถลง ‘ขอโทษ’ จิตร ภูมิศักดิ์ ต่อกรณีโยนบก โดย รัฐกร ใจเย็น นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ

ความว่า

‘เนื่องในครบรอบ 67 ปีของเหตุการณ์โยนบกและ 54 ปีที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิต สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความประสงค์จะแสดงจุดยืนต่อกรณีโยนบกของ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ อดีตนิสิตคณะอักษรศาสตร์ผู้เป็นกวี และนักคิดทางการเมืองคนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย และชีวิตอันแสนสั้นของคุณจิตรได้อุทิศเพื่อรับใช้ประชาชนตามเกียรติภูมิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกประการ

ประจักษ์พยานที่เด่นชัดที่สุดคือ ผลงานหนังสือ บทเพลง และ บทกวีต่างๆ ของจิตรที่ตีแผ่ความเหลื่อมล้ำและเป็นปากเสียงให้กับผู้ทุกข์ยากในสังคม ผลงานเหล่านี้เป็นเสมือนดวงประทีปอันรุ่งโรจน์คอยจุดแรงบันดาลใจให้แก่ประชาราษฎร์ผู้แสวงหาเสรีภาพและความเสมอภาพมานานแสนนานหลายทศวรรษ

จิตร ภูมิศักดิ์นั้นเป็นผู้มาก่อนกาล เปี่ยมด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบจารีตประเพณี ซึ่งเป็นดุจโซ่ตรวนพันธนาการสังคมไทยมาเนิ่นนาน

น่าเศร้าใจที่สุดที่ยุคสมัยของจิตรเอง กลับตอบแทนเจตนาดีและความคิดสร้างสรรค์ของเขาด้วยการลงทัณฑ์ กล่าวคือ จิตรถูกนิสิตหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งโยนบกลงจากเวทีหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.2496 ทั้งยังถูกคณาจารย์ลงโทษพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี เพียงเพราะจิตรกล้านำเสนอหนังสือประจำปีของมหาวิทยาลัยในรูปแบบใหม่ทั้งการออกแบบปกและเนื้อหาในเล่ม การกระทำนี้เป็นรอยอัปยศที่มิอาจลบเลือนในประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จริงอยู่ที่ไม่มีผู้ใดย้อนกาลเวลาไปแก้ไขความอยุติธรรมในอดีตได้ ความเคลื่อนไหวความเป็นไปของกาลเวลานั้น เป็นสัจธรรมของโลก แต่กาลเวลานี้เองก็ค่อยๆ ทำให้คนตื่นรู้และตระหนักถึงความอยุติธรรมได้มากขึ้นเช่นกัน บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ควรจะได้รับความยุติธรรม และคำขอโทษจากเราอันเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้รับจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในสังคมไทย

ดังนั้นสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และขออภัยในทุกความผิดบาป ทุกโทษอันเป็นการทำร้าย จิตร ภูมิศักดิ์ ทางร่างกาย จิตใจ และชื่อเสียงเกียรติยศ

ไม่ว่าดวงวิญญาณของคุณจิตรจะอยู่ที่ไหน ขอให้เขาจงรับรู้ และโปรดอภัยต่อผองเราที่เพิกเฉยต่อความไม่เป็นธรรมเหล่านี้มาเนิ่นนาน

สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรารถนาให้เหตุการณ์ที่เกิดแก่จิตร ภูมิศักดิ์เป็นเครื่องเตือนใจแก่ผู้บริหารและนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งประชาชนไทยทุกคน เคารพและรับฟังผู้เห็นต่างทางความคิดไม่ลุแก่อำนาจ ใช้กำลังประทุษร้ายข่มเหงต่อผู้มีความเห็นต่าง

ขอให้เหตุอันเป็นอุทาหรณ์นี้ จงแนบแน่นอยู่ในมโนสํานึก เพื่อเป็นพลังให้เราทุกผู้ ร่วมใจกันป้องกันขัดขวางไม่ให้เกิดความอัปยศเช่นนี้อีก

และเป็นแรงขับเคลื่อนความเป็นมนุษย์ไว้ให้คนยังยืนเด่นโดยท้าท้ายสืบไปชั่วกัลปาวสาน

โฉมหน้าของผู้ ‘สู้มาก่อน’

บนธุลีดินที่เท้าเราเหยียบ

ในงาน 90 ปีชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์ ยังมีการอ่านบทกวีนิพนธ์ที่ชนะเลิศการประกวดจากหัวข้อ ‘โฉมหน้า…..?’

ซึ่งผู้คว้ารางวัล คือ จิรายุทธ สุวรรณสังข์ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เอกวิชาภาษาไทย จากบทกวี

‘โฉมหน้าของผู้สู้มาก่อน’

ความว่า

ธุลีดินที่เท้าเราเหยียบอยู่ กลบใบหน้าของผู้สู้มาก่อน

หน้าที่ผ่านเหยียบหนาวและผ่าวร้อน ต่างทับซ้อนจนเป็นหน้านิรนาม

ทว่า ธุลีกาลโหมผ่านพ้น หน้าเปื้อนหม่นเลือดกรังยังน่าขาม

แม้นแววตาดับแล้วสิ้นแวววาม เหลือแววงามแจ่มชัดดาวศรัทธา

ดาวที่จุดแสงทองด้วยสองมือ มือที่ถืออุดมการณ์อันหาญกล้า

90 ปีฤๅดาวดับกับเวลา เถิดมองฟ้าดาวยังพรายในค่ำคืน

เพื่อส่องทางแก่คนผู้ทนทุกข์ เพื่อปลอบปลุกผู้จมในขมขื่น

เพื่อป่าวร้องตอกย้ำความกล้ำกลืน เพื่อหยัดยืนชีวิตสิทธิเสรี

เขาคือดาวอมตะประทับฟ้า อยู่ทายท้าทรหดการกดขี่

ไม่หวาดเกรงร่วงหายในธาตรี จึงวันนี้ดาวระยับเกินนับดวง

คารวะแด่จิตร ภูมิศักดิ์ ด้วยแน่นหนักในศักดิ์ศรีที่แหนหวง

แหงนหน้าเย้ยอธรรมใดทั้งปวง ประจันทวงความจริงสิ่งไม่ตาย

คารวะแด่ผู้ไม่ยอมสยบ ตราบธุลีฝังกลบลบเลือนหาย

เราจะยังยืนเด่นโดยท้าทาย เชื่อสุดท้ายรุ่งรางไม่ห่างไกล

ขอโฉมหน้าของผู้สู้มาก่อน ทาบสะท้อนบนหน้าผู้ลุกสู้ใหม่

จิตวิญญาณทระนงส่งต่อไป ดั่งดาวพรายสุกใสอยู่ในเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image