‘แด่นักสู้ผู้จากไป’ ในจุดเกิดเหตุ เข่นฆ่า อุ้มหาย แววตาบนภาพถ่ายที่ไม่ถูกลืม

พะตีปูนุ ดอกจีมู ชาติพันธุ์ปกากะญอ ผู้ร่วมต่อสู้กับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ และสมัชชาคนจน เสียชีวิตเมื่อ 5 มีนาคม 2540 จากการกระโดดช่องหน้าต่างรถไฟกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ด้วยความเครียดจากคำพูดระหว่างเวทีเจรจาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคนั้น การตายของเขามีผลให้รัฐบาลมีมติ ครม. พิสูจน์สิทธิคนอยู่กับป่า

อาจเป็นเพียงนิทรรศการที่ได้รับความสนใจในคน “เฉพาะกลุ่ม” แม้ทรงพลังอย่างยิ่ง

อาจเป็นเพียงชุดภาพถ่ายที่คน “ทั่วไป” ใช้เวลาเพียงชั่วครู่ แม้มากมายด้วยเรื่องราว

แต่ไม่ใช่กับห้วงเวลาและสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เป็นอยู่ในเวลานี้

ในเวลาที่ม็อบราษฎรพากันชูป้ายตามหาคนหายสีเหลืองโดดเด่นซึ่งริเริ่มโดยกลุ่ม “Spring Movement” ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาฯ 2563 ในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงการต่อต้านการอุ้มหายและจดจำบุคคลที่รัฐอยากให้ลืม

Advertisement

ในเวลาที่การชุมนุมทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยมีผู้ปราศรัยเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้ถูกเข่นฆ่าจากการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า

“แด่นักสู้ผู้จากไป For Those Who Died Trying” โดย “ลุค ดักเกิลบี” (Luke Duggleby) ช่างภาพสารคดีชาวอังกฤษ นิทรรศการภาพถ่ายที่อุทิศให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บนผนังโค้งสีขาวสะอาด ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในวันนี้ คลาคล่ำด้วยผู้คน ชมภาพ อ่านเรื่องราว ถกเถียง พูดคุย บันทึกภาพถ่ายจากภาพถ่ายไว้เป็นที่ระลึกและรำลึก

จำนวนมากในนั้น คือ “คนรุ่นใหม่” ผู้ซึ่งก่อนหน้าอาจไม่รู้จัก หรือให้ความสนใจต่อประเด็นผู้ถูกบังคับสูญหาย หรือสละชีพจากการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนมากเท่าเวลานี้ เวลาที่ผ่านไปแล้ว 5 เดือน แต่เรื่องราวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น แม้ล่าสุด สิตานัน พี่สาว ได้เดินทางมุ่งหน้าสู่กัมพูชา สถานที่อุ้มหายเพื่อให้ปากคำต่อทางการ แต่ก็ไม่ใช่การรับประกันถึงแสงสว่างข้างหน้าที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

Advertisement

แม้เคยถูกนำเสนอที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครมาก่อนแล้ว เมื่อต้นปี 2560 หลังการจัดแสดงที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนพฤษภาคม 2559 และในอีกหลายประเทศ

ยังไม่นับที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ ซึ่งเพิ่งจบลงในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ทว่า “แด่นักสู้ผู้จากไป” ในวันนี้ ดูจะมีนัยยะ ความหมาย และอยู่ในสปอตไลต์มากกว่าที่เคย ด้วยบรรยากาศในปลายพุทธศักราช 2563

ย้อนไปถึงที่มาของนิทรรศการซึ่งมีจุดกำเนิดจากโครงการของ Protection International (PI) และลุค ดักเกิลบี ในการนำเสนอภาพถ่ายและรายละเอียดสังเขปของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ถูกลอบสังหารหรือถูกบังคับสูญหาย โดยสนับสนุนให้มีการรำลึกถึงพวกเขาเหล่านั้นโดยนำภาพถ่ายไปไว้ในจุดที่ถูกสังหารหรือถูกบังคับสูญหาย เป็นความพยายามผลักดันการ “ไม่ถูกลืม” และไม่ละเลยความสำคัญของการต่อสู้ โดยคาดหวังว่าผู้ใช้อำนาจอย่างมิชอบจะถูกนำตัวมาลงโทษในสักวันหนึ่ง และการได้รับความเป็นธรรมจะเป็นย่างก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การยุติความรุนแรงเหล่านี้ ที่จะไม่มีใครมีโอกาส “ลอยนวลพ้นผิด”

ทั้งหมดไม่ใช่เพียงภาพถ่ายในฐานะวัตถุธรรมดาสามัญ หากแต่เปี่ยมคุณค่าด้วยเรื่องราวข้างหลังภาพอีกทั้งกระบวนการ “รักษาความทรงจำ” โดยช่างภาพได้พยายามสืบสาว หาครอบครัว เพื่อนฝูงของวีรชนเหล่านั้นจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ขอภาพถ่ายของพวกเขา แล้วนำไปตั้งยัง “จุดเกิดเหตุ” จากนั้นจึงถ่ายภาพ

ตามข้อมูลจากงานวิจัยของ PI มีผู้ตกเป็นเหยื่อการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายและการบังคับบุคคลสูญหายกว่า 70 รายตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

ไม่เพียงผู้จากไปต้องไม่ถูกลืมเลือน หากแต่ผู้ที่ยังมีลมหายใจซึ่งยังต่อสู้เพื่อสิทธิ คือสิ่งที่ต้องตระหนัก

ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องสู้ไปด้วยกัน สู้ต่ออำนาจไม่ชอบธรรม

สู้ต่อความพยายามลบให้ลืม

คำปัน สุกใส ผู้ใหญ่บ้านที่คัดค้านการรุกป่าในเขตป่าชุมชน ถูกยิงเสียชีวิตบนถนนใหญ่ที่หมู่บ้านผางาม จ.เชียงใหม่ 20 ธันวาคม 2546
พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ได้รับผลกระทบจากการเผาและไล่รื้อบ้านเรือน หายตัวไปที่ด่านตรวจเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อ 17 เมษายน 2557
หลังถูกคุมตัวเพราะครอบครองน้ำผึ้งป่า
นรินทร์ โพธิ์แดง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเขาชะอางกลางทุ่ง จ.ระยอง ผู้คัดค้านโรงโม่หิน ถูกยิงเสียชีวิตในปั๊มน้ำมันของตัวเองเมื่อ 1 พฤษภาคม 2544
ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม เมื่อ 17 มีนาคม 2560 ที่ด่านบ้านรินหลวง จ.เชียงใหม่ ท่ามกลางข้อกังขาในพฤติการณ์ (ภาพถ่ายในบ้านพักเซฟเฮาส์ที่ผู้ปกครองของชัยภูมิต้องย้ายเข้าพักชั่วคราว เนื่องจากกังวลเรื่องการถูกคุกคาม)
ดาบตรีชิต ทองชิต อดีตตำรวจผู้เปิดโปงการทุจริตในวงการ รวมถึงฟ้องเอาผิดผู้มีอิทธิพลในพื้นที่และนักการเมืองระดับชาติ ถูกยิงในที่ดินของตัวเองเมื่อ 15 มกราคม 2552 ก่อนเสียชีวิตในอีก 4 วันต่อมา
สิทธิโชค ธรรมเดชะ สมาชิก อบจ.สุราษฎร์ธานี ผู้ต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุง และการทำสัมปทานในป่าไม้ ค้านขุดคลอง สร้างถนนอย่างทุจริต จนถูกยิงเสียชีวิตที่บ้าน เมื่อ 6 พฤษภาคม 2540
จา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่บ้านดง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2518 หลังร่วมเคลื่อนไหวยับยั้ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา พ.ศ.2517 และกำลังเตรียมข้อมูลซักฟอกสภาตำบลที่มีการรั่วไหลของงบประมาณจากนโยบายเงินผัน
ประจบ เนาวโอภาส แกนนำต่อต้านการลักลอบนำกากสารเคมีทิ้งในแหล่งน้ำ ต.หนองแหน ถูกยิง 4 ครั้ง จนเสียชีวิตเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image