6 ปีที่ลี้ภัย 6 เดือนที่สาบสูญ ‘เราทุกคนคือวันเฉลิม’

"ปิยนุช โคตรสาร" ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อมด้วย "กลุ่มเพื่อนวันเฉลิม" เยือนสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย เพื่อทวงถามความคืบหน้า เมื่อ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา

“ครั้งแรก เขามาจับพวกคาทอลิก แต่ฉันเป็นโปรเตสแตนต์ ฉันจึงเฉย

ต่อมา เขามาจับคอมมิวนิสต์ แต่ฉันไม่ได้เป็น ฉันจึงไม่ได้ทำอะไร

จากนั้น เขามาจับคนยิว แต่ฉันไม่ได้เป็นคนยิว ฉันจึงยังนิ่งเฉยดังเดิม

และเมื่อถึงเวลาที่ เขามาจับฉัน ก็ไม่เหลือใครสักคนที่จะพูดให้ฉันแล้ว”

Advertisement

คือข้อความสุดคุ้นตา ถูกชูด้วยสองมือของเยาวชน แทบทุกครั้งของการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หวังสะท้อนความร้ายแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อย่างสิทธิในการมีชีวิตอยู่

นับเป็นเวลา 6 เดือน ที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกอุ้มหายไปกับยานพาหนะปริศนา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะซื้อลูกชิ้นหน้าที่พัก ในยามลี้ภัยทางการเมืองนับ 6 ปี ภายในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

บ่ายสอง ของวันที่ 3 ธันวาคม หน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย คือเวลาทวงถาม “คนหาย” ภายใต้ความเงียบงันอีกหน

Advertisement

ก่อนผู้กล้า จะถูกทำให้เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ตามวิถีทางของรัฐบาลเผด็จการ

อุ้มหาย-ทวงถาม สู่นาที ‘จับตาคดี’

ย้อนกลับไปมองความเคลื่อนไหวในประเด็นวันเฉลิม ก่อนจะสิ้นพุทธศักราช 2563

5 มิ.ย. นักกิจกรรมรวมตัวทวงความยุติธรรม ที่สกายวอล์กสยาม – ถูกข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไป 3 ราย

8 มิ.ย. ประชาชนยื่นหนังสือ #saveวันเฉลิม หน้าสถานทูตกัมพูชา – ถูกจับ 6 ราย

23 มิ.ย. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ขอให้ตามหาวันเฉลิม

25 มิ.ย. พี่สาวยื่นเรื่องต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

1 ก.ค. พี่สาวแจ้งทนายเพื่อแจ้งความคนหายกับทางการกัมพูชา

3 ก.ค. กระทรวงมหาดไทยกัมพูชา รับหนังสือร้องเรียน

8 ก.ค. ศาลแขวงกรุงพนมเปญ รับหนังสือร้องทุกข์ และสั่งให้สอบสวนกรณีลักพาตัววันเฉลิม

15 ก.ค. ยูเอ็นได้รับแจ้งจากรัฐบาลกัมพูชา ว่าวันเฉลิมไม่ได้ต่ออายุวีซ่าชั่วคราว และทางการไม่มีเบาะแสการหายตัวไป

27 ต.ค. ศาลแขวงกรุงพนมเปญ มีหมายเรียกพี่สาววันเฉลิมไปรับการไต่สวนที่กัมพูชา

10 พ.ย. พี่สาวพร้อมทีมทนายเข้าให้ปากคำกับทางการกัมพูชา

ล่าสุด พี่สาววันเฉลิมเตรียมเดินทางไป ไต่สวนคดีเป็นครั้งแรกในวันที่ 8 ธันวาคมนี้

นี่จึงเป็นห้วงเวลาที่ต้องจับตาอย่างยิ่ง ว่าทางการกัมพูชาจะสืบสวนแจ้งความคืบหน้าให้ครอบครัวได้รับทราบชะตากรรม และหาคำตอบ บอกมูลเหตุของการหายตัวไปได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ ก่อนนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการ

“ไม่ว่าผ่านไป 6 เดือน หรือ 1 ปี เราไม่หยุดทวงถาม ไม่หยุดรณรงค์ให้ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก เราจะทวงถามไม่ให้เกิดเรื่องนี้ต่อไป ขอบคุณทุกคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แม้จะผ่านไปแล้ว 6 เดือนก็ตาม”

คือคำยืนยันจากปากของ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ลั่นวาจาต่อหน้าสาธารณชน ว่าเราไม่สามารถยอมรับได้ กับการที่ใครสักคนที่ต้องการใช้สิทธิในการแสดงออกแล้ว “โดนปิดปาก”

“กระบวนการวันที่ 8 ธันวาคมนี้ เป็นครั้งแรกที่จะได้มีการซักถามข้อเท็จจริง เป็นจุดเริ่มต้นในการสืบหาข้อเท็จจริง เป็นสัญญาณที่ดี แต่หวังว่าจะได้รับการอำนวยในการสืบหาความจริง ไม่ใช่เพียงการบอกว่าได้ทำแล้วนะ เพราะยังไม่แล้วเสร็จ กระบวนการที่ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างล่าช้า แม้จะได้รับความร่วมมือก็ตาม เพราะกรณีนี้ผ่านไปแล้ว 6 เดือน แต่การรวมข้อมูลยังไม่มีประสิทธิผลและทันท่วงที”

สวมเสื้อฮาวาย แต่งกายอย่างต้าร์

จี้ กัมพูชา สืบหา ‘ความจริง’

3 ธันวา เสื้อฮาวายหลากสีสันที่วันเฉลิมใส่เป็นประจำ ถูกสวมโดยเหล่าเพื่อนนักกิจกรรม มือหนึ่งถือหน้ากากรูปใบหน้าวันเฉลิม อีกมือชูโปสเตอร์ ชวนติดแฮชแท็ก #หกเดือนเราไม่ลืม #saveWanchalearm หวังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ว่า ทุกคนต่างคือ “วันเฉลิม” ที่มีสิทธิถูกกระทำอย่างไม่ได้รับการแยแสหรือไม่

เพียงไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจรุดเข้าเจรจา พร้อมแนะนำว่า จัดกิจกรรมฝั่งตรงข้ามสถานทูตจะดีกว่า “แดดมันร้อน”

ย้อนกลับไปเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางครอบครัวของนายวันเฉลิม โดยพี่สาวและ แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ได้เดินทางไปสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยแล้ว 1 ครั้ง

ทว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานกับทางสถานทูตกัมพูชา ก่อนแจ้งว่า ท่านเอกอัครราชทูตปฏิเสธการออกมาพูดคุย โดยรับข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ และจะส่งมอบเอกสารดังกล่าวกับผู้กำกับการ สน.วังทองหลางแทน จากนั้นทางตำรวจจะส่งให้กับกรมพิธีการทูต ซึ่งจะพิจารณาส่งต่อให้สถานทูตต่อไป

เมื่อใช้วิธี “อ้อมภูเขา” ทางครอบครัววันเฉลิมและแอมเนสตี้ฯ จึงตัดสินใจไม่มอบรายชื่อและข้อเรียกร้องดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกลับมาส่งใหม่ในวันนี้ (3 พ.ย.)

โดยจะขอเข้าพบ นายอูก ซอร์พวน (H.E. Mr.Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่อพูดคุยและสอบถามความคืบหน้ากรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม

พร้อมทั้งจะร่วมยื่น 14,157 รายชื่อ จากผู้สนับสนุนที่ส่งข้อเรียกร้องถึงทางการกัมพูชา ให้มีการสืบสวนเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เร่งด่วน รอบด้าน และโปร่งใส คืนความยุติธรรมให้กับครอบครัววันเฉลิม

ไม่พ้น เข้าอีหรอบเดิม เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานว่าจะรับเอกสารไว้และจะดำเนินการส่งต่อให้สถานทูตกัมพูชาต่อไป ทางแอมเนสตี้ฯ จึงตัดสินใจนำ 14,157 รายชื่อ กลับไปอีกครั้ง โดยเตรียมให้พี่สาวของนายวันเฉลิม จำนวน 1 ชุด

“เรามี 14,157 รายชื่อ แม้สถานทูตกัมพูชาจะไม่ส่งตัวแทนออกมา ไม่ว่าครั้งไหนที่มาตรงนี้ แต่เราจะไม่หยุดทวงคืนความยุติธรรม เราจะทวงความยุติธรรมให้กับทุกคนที่ไม่ยอมรับกับการใช้วิธีสามานย์อุ้มนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีกระแสสังคมเรื่องการอุ้มหายเกิดขึ้น ทำให้เกิดการตระหนักว่า กรณีเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับทุกคนได้ ทุกคนไม่โอเคให้มีเรื่องแบบนี้ต่อไป จึงต้องการสืบหาความจริง ที่ผ่านมาทางการไทยได้ตอบรับบ้าง แต่กระบวนการยังล่าช้ามาก

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ยังบอกด้วยว่า ที่เราต้องการคือ การรายงานให้ทราบว่าสิ่งที่ได้รับเรื่องเป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา มีพันธสัญญากฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ภูมิภาคอาเซียนต้องตอบเรื่องนี้ว่า เหตุใดปล่อยให้เกิดขึ้น โดยไม่ทำอะไร

“พรึบสีลม” มวลชนชูป้าย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ครั้งร่วมชุมนุม #ม็อบตุ้งติ้ง2 จัดโดยกลุ่มเสรีเทยพลัส เมื่อ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา

“ต่อให้เป็นรัฐบาลไหนถ้าล่าช้าก็ไม่โอเค ความจริงไม่ควรเกิดการอุ้มหายตั้งแต่แรก วันเฉลิมไม่ควรลี้ภัยตั้งแต่แรก เพราะขอเรียกร้องของเขาคือการท้าทายผู้มีอำนาจ เขาจึงหายตัวไป ทางการควรแข็งขันในการสืบสวน ไม่ควรดึงเกม หรือใช้ข้ออ้าง” ปิยนุชเผย

ก่อนเพื่อนต้าร์จะเดินแจก แซนด์วิช #saveวันเฉลิม ให้กับผู้ร่วมงาน และสื่อมวลชน

“อยากให้ทุกคนรับไว้ เพื่อแสดงความเป็นมิตรภาพ เพราะวันเฉลิมเป็นเพื่อนของทุกคน สังคมยังถามเรื่องนี้ นี่คือมิตรภาพต่อการที่ทุกคนเรียกร้องว่าไม่โอเคกับการอุ้มหาย” ผอ.แอมเนสตี้บอกกล่าว ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยว่า

“ข้อจำกัดเวลาประสานงาน คือจะมีตัวละครหลายตัว สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีใครรับว่าเป็นงานของใคร เราต้องการให้ภาครัฐทั้ง 2 ประเทศ ประสานงานร่วมกัน ให้เกิดการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ซึ่งมักอ้างโรคระบาดโควิด แต่ความจริงทำได้ในขอบเขตประเทศตัวเอง หากมีความจริงจัง จริงใจในเรื่องนี้”

ด้วยความคิดถึง

6 เดือน ‘เพื่อนไม่ลืม’

“เรายังคงมีความหวังอยู่ตลอดเวลา เรายังคงตื่นเช้ามาไถทวิตเตอร์ ดูข่าว ดูความเคลื่อนไหว เผื่อว่าจะมีเบาะแส หรืออะไรที่เป็นข่าวได้บ้าง ยังคงทำอยู่เหมือนกับวันแรกที่ต้าร์เขาหายไป

เราอยู่ในชีวิตประจำวันของกันและกัน ในทุกๆ วัน 6 เดือน คือการที่คนคนหนึ่งหายไป ความรู้สึกมันก็ดาวน์ ก็แย่ แต่ถ้าถามว่าความหวังที่รอเพื่อนกลับมายังเหมือนเดิมไหม ยังเหมือนเดิม”

เสียงของ ณภัทร ปัญกาญจน์ หรือ เจี๊ยบ บรรณาธิการอิสระ เพื่อนของ ต้าร์ วันเฉลิม สะท้อนถึงความรู้สึก ที่แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาถึง 6 เดือน เพื่อนๆ ยังคงติดตามข่าว และหวังอยู่ว่าต้าร์จะกลับมา

เมื่อถามว่าตอนนี้ยังมีความหวังกับทางการกัมพูชา หรือไม่ เจี๊ยบ บอกว่า เรายังคงมีความหวังกับเขาอยู่แล้ว เพราะเป็นผู้มีอำนาจที่จะสามารถจัดการอะไรได้มากที่สุด มากกว่าภาครัฐไทย มากกว่าประชาชนที่ออกมาทำอะไรกันเอง เรายังคงหวัง อยากให้เขาลงมาช่วยจัดการอย่างเป็นจริงเป็นจัง

เจี๊ยบ เผยด้วยว่า ตั้งแต่วันแรกที่รู้ข่าวมาจนถึงวันนี้ ถ้าพูดถึงความรู้สึก มีแต่ยิ่งคิดถึงเพิ่มมากขึ้น เพราะสนิทมานานนับ 10 ปี เริ่มต้นรู้จักต้าร์จากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในประเด็นที่คลิกกัน ต้าร์เป็นคนตั้งกลุ่ม ศูนย์กิจกรรมเยาวชนเพื่อชุมชนและสังคม (Y-ACT) ขึ้นมาด้วยตัวเอง อยู่กินด้วยกันกับเพื่อน พี่ น้อง อีกหลายคนในบ้านเช่า ร่วมกันทำงานรณรงค์เรื่องเอดส์และเพศศึกษา ให้คุณค่าในเรื่องความหลากหลายทางเพศ การท้องไม่พร้อม และอื่นๆ

เมื่อถามว่า “วันเฉลิม” เป็นคนอย่างไรในสายตา เจี๊ยบ เล่าว่า ต้าร์เป็นคนรักเพื่อน ต้าร์เป็นคนให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคนรอบข้างทุกคน เป็นคนชอบช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นใครมาขอความช่วยเหลือกับต้าร์ ไม่มีใครไม่ได้รับ จะหาทางช่วย และต้องช่วยได้บ้างไม่ว่ามากหรือน้อย ทุกคนรักต้าร์กันหมด เพราะต้าร์เป็นคนที่ดีกับทุกคน

“ส่วนตัวแล้ว ต้าร์ช่วยเราทุกเรื่อง ต้าร์เป็นเพื่อนคนเดียวที่ถามว่า ‘เจี๊ยบ เงินพอใช้ไหม’ ‘ธุรกิจเป็นยังไงบ้าง เอาเงินเพิ่มไหม’ ต้าร์เป็นเพื่อนคนเดียวที่ถามอย่างนี้จริงๆ ส่วนใหญ่เพื่อจะไม่ถามกันเรื่องเงิน แต่ต้าร์จะเป็นคนที่ถ้าเห็นเราลำบาก แม้จะอยู่ไกลกันก็จะช่วย เรามีเฟซบุ๊กที่ส่งผ่านถึงกันได้ เวลาเราบ่น เราเครียด ต้าร์ก็จะมาแล้ว ‘มึงเป็นอะไร ?’ จะส่งคลิปเต้นแร้งเต้นกา บ้าๆ บอๆ มาให้เราหัวเราะ ตอนเช้าจะส่งเสียงมาละ ‘ตื่นหรือยัง’ ทำอะไรอยู่ นี่คือความเป็นต้าร์

ตอนเจอต้าร์อยู่ในวัยทำงานแล้ว อาจจะไม่ได้คลุกคลีกันมาตั้งแต่เด็ก หรือเรียนหนังสือด้วยกันมา แต่เราก็ผจญอะไรกันมาเยอะ เราทำงาน เราออกค่าย เราอยู่ร่วมกันในบ้านหลังหนึ่ง เราไปมาหากันทุกวัน เรามีอะไร เราอกหัก ก็ต้าร์ ไม่มีตังค์ ก็ต้าร์ มันก็เลยกลายเป็นความสัมพันธ์ที่แบบมหัศจรรย์ มันวิเศษมากเลยนะ สำหรับคำว่าเพื่อนตรงนี้

นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

วันแรกที่รู้ข่าวการหายตัวไปของต้าร์ เหมือนกับหัวใจแตก เราน้ำตาคลอ เพราะอยู่ด้วยกันก่อนหน้าที่ต้าร์จะลี้ภัย แต่พอลี้ภัยไป เราจะติดต่อกันทางเฟซบุ๊ก ทางไลน์ทุกวัน บางที่ต้าร์ก็อัดเสียง อัดคลิปส่งมา

ทุกวันนี้ยังส่งอินบ็อกซ์หาต้าร์อยู่ในเรื่องที่เราไม่สบายใจ แม้จะไม่มีการกดอ่าน อย่าง 2-3 วันก่อนก็มีปัญหาชีวิต เราส่งข้อความไปว่า ‘ถ้าวันนี้มึงอยู่ กูก็คงจะแก้อะไรได้’ นี่คือเรื่องจริงที่ต้าร์ช่วยเราแก้ไขปัญหาได้” เจี๊ยบเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ก่อนน้ำตาจะรื้น

“ถ้าบังเอิญต้าร์ได้กลับมา จะกอดมันก่อนเลยเนอะ แล้วค่อยคุยอย่างอื่น ว่าอะไร เป็นยังไงบ้าง คิดถึง คิดถึงมากกก

เป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือเหตุผลที่คนไทยจะต้องร่วมผลักดัน “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย” ให้เกิดขึ้น ก่อนเรื่องราวเหล่านี้จะเกิดกับคนในครอบครัวของตัวเอง

“โมเดลศพ” ถูกพาดไว้บน “อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” จ.ขอนแก่น โดย เครือข่ายประชาชนอีสานเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ว่า ยุคจอมพลสฤษดิ์มีผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกยัดข้อหา ถูกทำให้ตาย และอุ้มหาย ซึ่งยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image