2020 นักเรียนไทยเลิกทน ปีแห่งการพุ่งชน‘ไดโนเสาร์’ กับวันที่เยาวชนถูกคุกคาม

เป็นอีกปีที่ต้องถูกบันทึกในแบบเรียนสมัยใหม่ในวิชาใดวิชาหนึ่ง ว่าพุทธศักราช 2563 คือขวบปีที่นักเรียนไทยตัดสินใจว่าจะเลิกทน ลุกขึ้นมานัดหมายผ่านออนไลน์โดยเฉพาะทวิตเตอร์ เรียกร้องปฏิรูปการศึกษาไทย ยกเลิกการบังคับสวมใส่เครื่องแบบนักเรียน จี้ยุติการคุกคามในรั้วสถานศึกษาที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย นำมาซึ่งปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจยิ่ง ในขณะเดียวกัน มีการเปิดเผยตัวเลขของเยาวชนที่ออกมาต่อสู้ว่าสุดท้ายต้องเผชิญการถูกข่มขู่ คุกคาม ที่น่าถอนหายใจเฮือกใหญ่ คือ ร้อยละ 87.9 ถูก ‘ครู’ ทำร้ายจิตใจ รองลงมาคือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แวะเวียนไปกดดันคนในครอบครัวถึงบ้าน

เป็นราคาที่เยาวชนต้องควักกระเป๋าจ่ายจากการกวาดฝุ่นใต้พรมการศึกษาไทยให้ตลบฟุ้งจนผู้ใหญ่ออกอาการจามไม่หยุด

เป็นปีที่เยาวชนประกาศตัวเป็น ‘อุกกาบาต’ พุ่งชน ‘ไดโนเสาร์’ ที่ไม่ได้วัดสายพันธุ์กันที่วัยวุฒิ หรือเจเนอเรชั่น หากแต่สื่อถึงการไม่รับฟัง และเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องในวันที่สังคมต้องเปลี่ยนแปลง

ไม่มีปีไหนเหมือนปีนี้

เมื่อเยาวชนต้องคดี เพราะร้องสิทธิ

Advertisement

ปรานม สมวงศ์ องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดข้อมูลน่าสนใจอันเกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยมในประเทศไทยในปีนี้ ที่ได้ตั้งคำถามและท้าทายกับระบบอำนาจนิยมในสังคมและในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบเครื่องแต่งกายและทรงผมที่ละเมิดสิทธิของนักเรียนในโรงเรียน การข่มขู่คุกคาม และการล่วงละเมิดทางเพศ ตลอดจนนโยบายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐบาลทหารที่กำหนดเช่นค่านิยมหลัก 12 ประการ ในขณะที่เด็กและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้ลุกขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงการปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตที่ดีกว่า แต่กลับถูกข่มขู่และการคุกคามโดยรัฐรวมถึงจากครูในโรงเรียน อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

“เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีอย่างน้อย 5 คนถูกตั้งข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อหายุยงปลุกปั่น และอย่างน้อยหนึ่งคนถูกตั้งข้อหา 112 ในขณะที่การสำรวจโดยเพจลูกศิลป์ เผยว่านักศึกษาร้อยละ 87.9 ที่ได้สำรวจ ถูกครูทำร้ายจิตใจ นอกจากนี้ การล่วงละเมิดในรูปแบบอื่นๆ ยังได้แก่ การที่มี จนท.ตำรวจตาม หรือไปหาที่บ้าน การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐจากครูในโรงเรียน และการสั่งพักการเรียน ทั้งนี้ เป็นเวลา 28 ปีแล้วที่ประเทศไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาสิทธิเด็กของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เกิดคำถามว่า รัฐบาลไทย รวมถึงองค์การของสหประชาชาติอย่างยูนิเซฟ สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแค่ไหน เพื่อพิทักษ์ปกป้องสิทธิของเด็กและเยาวชน

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่มาก น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นักเรียนถูกลงโทษจากการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิที่จะแสดงออกทางการเมือง และน่าจะเป็นรัฐบาลแรกที่ใช้อำนาจในลักษณะเช่นนั้นในการคุกคามนักเรียน ปรานม กล่าวตอนหนึ่งในเวทีเสวนา “เมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ แล้วรัฐไทยปกป้องใคร” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยก่อนสิ้นปี 2563 เพียงไม่กี่วัน

Advertisement

‘ลูกคุณอยู่ไหน?’ นักเรียนในรายชื่อเฝ้าระวัง

ด้านเยาวชนตัวจริงที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวในปี 2563 อย่าง ณพร สมศักดิ์ นักเรียนหญิงจาก ‘แนวร่วมนักเรียนล้านนา’ เปิดเผยว่า ครั้งหนึ่งหลังขึ้นเวทีปราศรัยประเด็นความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน รวมทั้งสังคมชายเป็นใหญ่ และการปฏิรูปสถาบัน ก็มีตำรวจไปหาแม่ที่บ้าน ถามว่า ‘ตอนนี้ลูกคุณอยู่ไหน ทำอะไรอยู่?’

สำหรับเพื่อนๆ ในแนวร่วมจำนวน 17 คน มีรายชื่อเฝ้าระวังจากเจ้าหน้าที่ โดย 2-3 คนในนั้น ตำรวจได้ตามไปถึงที่บ้าน และถ่ายรูปไว้ด้วย

“หลังจากที่เราเคลื่อนไหวจากการชุมนุมครั้งแรกในชื่อม็อบก้านกล้วย ก็มีเพื่อนบางคน ถูกตำรวจขอรายชื่อ ขอข้อมูลส่วนตัวจากทางโรงเรียนการคุกคามของตำรวจแบบนี้ ยอมรับว่ารู้สึกกลัวอยู่บ้าง แต่เมื่อมาคิดทบทวน ที่เราพูดที่เราแสดงความเห็นเป็นสิทธิของเราตามกฎหมาย ที่เราออกมาสู้ก็เพื่อสิทธิที่เท่าเทียม แทนที่ตำรวจจะปกป้องเรา กลับมาคุกคามเสียเอง ตอนนี้ความกลัวน้อยกว่าความโกรธแล้ว ยืนยันว่า จะสู้ต่อไปเพื่ออนาคตที่ดีของเราแนวร่วมนักเรียนล้านนาบอกเล่าประสบการณ์ในปีนี้

ขณะที่ อิศรา วงศ์ทหาร จากกลุ่มภาคีนักเรียนมหาสารคาม กล่าวว่า หลังขึ้นเวทีปราศรัยเรื่อง Sex worker ยอมรับว่าถูกคุกคามเช่นกัน แต่ไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ใหญ่ของโรงเรียน แต่เป็นชาวเน็ตที่มีการนำชื่อ นามสกุล รวมทั้ง ชื่อโรงเรียนไปเผยแพร่ หลังจากนั้นก็มีคนมาขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กจำนวนมาก จนต้องปิดเฟซบุ๊กชั่วคราว

“คนที่ด่าเราเป็นบุคคลที่บอกว่าตัวเองมีศีลธรรมมีธรรมะธัมโมในเฟซบุ๊กลงรูปทำบุญตักบาตรเข้าวัดแต่ในโลกโซเชียลกลับว่าร้ายเราด้วยถ้อยคำหยาบคายซึ่งสามารถฟ้องร้องทางกฎหมายได้ด้วยซ้ำ ดังนั้นมันเป็นข้อย้อนแย้งที่ผู้ใหญ่เช่นนั้น เขาไม่เคยย้อนกลับไปดูตัวเองเลยว่าสิ่งที่ทำถูกต้องหรือไม่ ผู้ใหญ่บางคนยังมองว่าเด็ก ต้องห้ามพูดเรื่องเซ็กซ์ห้ามพูดเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวของตัวเองทั้งๆ ที่เราสามารถสนใจได้ทุกเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษาเพียงอย่างเดียวส่วนข้อเรียกร้อง กรณีให้มีการใส่ชุดไปรเวตไปโรงเรียน ทางผู้บริหารของโรงเรียนรับฟัง เบื้องต้นจะให้ใส่ 1 วันต่อสัปดาห์ แต่กลุ่มเพื่อนในจังหวัดอื่น โดยเฉพาะที่ขอนแก่น และมหาสารคาม มีคนนอกไปคุกคามถึงที่โรงเรียน” นักเรียนหญิงเปิดใจ

นักเรียนเลว-เด็กเปรต เปิด 1,000 เคสร้องเรียน

 ด้าน ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หรือ มิน จากกลุ่มนักเรียนเลวที่ต้องเป่าเค้กวันเกิดหน้า สน.ลุมพินีมาแล้ว เปิดข้อมูลการร้องเรียน หลังการเคลื่อนไหวของนักเรียนทั่วประเทศว่ามีหลากหลาย และมากมายนับพันกรณี ตั้งแต่การดุด่าว่ากล่าว การส่งตำรวจเข้าไปคุกคาม ไปล่าตัวหาตัว บุกเข้าไปหาถึงที่บ้าน หรือการบุกเข้าไปหาผู้ปกครอง ส่วนในโรงเรียนก็ใช้ความรุนแรง เช่น การลงโทษในรูปแบบต่างๆ

“เราได้รับเรื่องร้องเรียนหลายพันเรื่อง ซึ่งเป็นอะไรที่เยอะมาก เป็นคำถามว่า ทำไมนักเรียนส่วนใหญ่ถึงส่งเรื่องร้องเรียนมาที่เราซึ่งเป็นนักเรียนเหมือนกัน นั่นหมายความว่ารัฐบาลหน่วยงานราชการไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของเด็กๆ ที่ผ่านมาแม้กลุ่มนักเรียนเลวเอง จะมีการเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐ ผ่านตัวหนังสือ แต่กลับไม่มีการตอบสนอง เราจึงเดินหน้าเรียกร้องข้อเสนอต่างๆ ด้วยตนเองจนถึงวันนี้ การชุมนุมของผมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม โดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ผมยังเป็นเยาวชน ประเทศไทยเองก็มีการเซ็นอนุสัญญาภาคีสิทธิเด็กจึงไม่เข้าใจว่า รัฐไทยดำเนินคดีได้อย่างไร ทั้งที่ชุมนุมอย่างสงบ นั่นแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยดำเนินคดีก็เพื่อกำจัดคนที่เห็นต่างเท่านั้น” มิน นักเรียนเลวกล่าว

ส่วน ธนัดดา แก้วสุขศรี จากกลุ่ม ‘เด็กเปรต’ เล่าว่า จากการแสดงความเห็นในปี 2563 นี้ ส่งผลให้ตำรวจแวะไปถามพ่อแม่ถึงบ้านว่า ตนทำอะไรที่ไหนอย่างไร

“ตรงนี้ถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำการคุกคาม อย่างชัดเจน รู้สึกโกรธมาก ที่มีการกดดันผ่านครอบครัว ส่วนเรื่องประเด็นสิทธิ การแสดงความเห็นในพื้นที่ภาคใต้ จะมีปัญหาอย่างมาก ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เนื่องจากมีการคงกฎอัยการศึกมากว่า 15 ปี การที่เยาวชนจะออกมาแสดงความเห็นถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ก็จะมีตำรวจทหารมาประกบทุกครั้ง” ตัวแทนกลุ่มเด็กเปรตระบุ

‘โบขาว’แฟชั่นแห่งปีที่ถูกลงทัณฑ์

ปิดท้ายที่ประเด็นการต่อสู้ผ่านสัญลักษณ์อย่าง ‘โบขาว’ ซึ่งฮิตหนักในโรงเรียนและการชุมนุมของกลุ่ม ‘ราษฎร’ โดยก่อนหน้าการขยับมาอยู่บนเครื่องแต่งกาย รุ้ง ปนัสยา และเพนกวิน พริษฐ์ 2 แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เคยโดนจับปรับใน พ.ร.บ.ความสะอาดมาก่อนแล้วจากการนำโบใหญ่เบิ้มสีขาวไปผูกบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต้นไม้ และรั้วสถานที่สำคัญ เมื่อช่วงกลางปี 2563

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครูจุ๊ย ตัวแทนจากคณะก้าวหน้า มองว่า การผูกโบขาวที่เกิดขึ้นในปีนี้ รวมถึงการชูกระดาษขาว เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การชุมนุมโดยสงบและเข้าร่วมการชุมนุมไม่ใช่การประพฤติผิดระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษา ตามกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2562 ซึ่งออกตามอำนาจพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

“นักเรียนที่ผูกโบขาวไปโรงเรียนพบว่ามีการลงโทษนักเรียนในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเข้าห้องปกครองการตัดคะแนนการไม่ให้สอบซึ่งสิ่งเหล่านี้ผิดระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียนทั้งสิ้นเพราะไม่ได้อยู่ในระเบียบการลงโทษนักเรียนที่มีทั้งหมด 4 สถานไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ ว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจา เรื่องของการทำทัณฑ์บน เรื่องของการตัดคะแนนความประพฤติ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการไม่ให้เด็กนักเรียนไปสอบ หรือการเรียกเด็กนักเรียนเข้าห้องฝ่ายปกครอง”

ดังนั้นจึง ครูจุ๊ยจึงย้ำว่า อยากให้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอย่างเคร่งครัด เนื่องจากบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่รับรองสิทธิเด็กในการแสดงออกอย่างชัดเจน สำหรับการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ออกจดหมายเวียนมา 1 ฉบับว่าเด็กนักเรียนสามารถแสดงความเห็นของตนเองได้ แต่ไม่มีมาตรการอะไรไปมากกว่านั้น

“ถ้าเราได้ฟังจากนักเรียนทุกคนที่นั่งอยู่บนโต๊ะนี้เขาเจอการคุกคามหลากหลายรูปแบบในโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นจากบุคลากรในโรงเรียนหรือการคุกคามจากบุคลากรนอกโรงเรียนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเยาวชนเหล่านี้กับนักเรียนเหล่านี้ในตอนนี้ถือว่ากระทรวงศึกษาฯยังไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเพียงพอ มาตรการที่ใช้มีเพียงหนังสือเวียนชัดเจนแล้วว่าไม่เพียงพอที่จะปกป้องสิทธิของนักเรียนในสังกัดของตนเองได้” ครูจุ๊ย กุลธิดาสรุป

นี่คือขวบปีสำคัญที่เด็กและเยาวชนแสดงออกถึงการ ‘ไม่ทน’ ที่ไม่ใช่ ‘ไม่อดทน’ หากแต่มีมิติที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น แม้ต้องแลกมาด้วยการถูกคุกคาม คดีความ และคืนวันที่ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image