วัคซีน 3 เข็ม ในเล่มต้อง ‘อ่าน’ (อีกครั้ง) กลางสมรภูมิ ‘โควิด’ ระลอกใหม่

กลับมาระลอกใหม่ให้คนไทยต้องขีดมาตรการเข้มให้ตัวเองอีกครั้ง สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขจรขจายไปทั่วโลกตลอดปี 2020 ข้ามศักราชสู่ปี 2021 ซึ่งหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชากรของตน ขณะที่เชื้อร้ายก็ขยันกลายพันธุ์ให้ติดเชื้อง่ายกว่าเก่า

ข้อมูลต่างๆ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่หลายฝ่ายเร่งประชาสัมพันธ์ แถลงข่าว ชี้แจง และเน้นย้ำให้ตื่นตัว แต่อย่าตื่นตระหนก

ในปี 2563 ที่ผ่านพ้น ‘สำนักพิมพ์มติชน’ ตีพิมพ์พ็อคเก็ตบุ๊กส์อ่านง่าย ทว่า อัดแน่นด้วยความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรคดังกล่าว ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนถึงการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายที่จะสร้างนิสัยอันนำไปสู่ร่างกายอันแข็งแกร่ง

เป็นภูมิคุ้มกันทางความรู้ เป็นวัคซีนเข็มใหญ่ที่ต้องมีไว้ติดชั้นหนังสือ

Advertisement

ครั้นก้าวสู่ปี 2564 เมื่อโควิด-19 ระลอกใหม่เข้ามาทักทายนับแต่พบผู้ติดเชื้อในวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา จากแพกุ้ง ตลาดปลา แม่ค้า แรงงานข้ามชาติ สู่การกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ

ถึงเวลาเปิดหนังสือกันอีกครั้ง เพื่อเติมพลังความรู้สู้โควิดในทุกมิติ

จากปีศาจสู่เชื้อโรค : ติดเชื้อ ป่วยตาย ‘เวรกรรม’ ในรัฐจารีต

เริ่มต้นที่เข็มแรก กับประวัติศาสตร์การแพทย์ในเล่มดังอย่าง ‘จากปีศาจสู่เชื้อโรค : ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย’ ผลงาน ดร.ชาติชาย มุกสง ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ยุคจารีต ก่อนการมาถึงของการแพทย์สมัยใหม่จากโลกตะวันตก ชาวสยามเชื่อว่าทุกครั้งที่เกิดโรคระบาดจะเกิดจาก ‘ปีศาจ’ หรือ ‘ผีทำ’ นำมาซึ่งการใช้พิธีกรรมทางศาสนาอย่างพระราชพิธีอาพาธพินาศและสวดอาฏานาติยสูตร เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้คนในการรับมือกับโรคระบาดร้ายแรง เช่น ทรพิษ อหิวาต์ กาฬโรค บ้างก็ถึงขนาดการย้ายบ้านเรือนและราษฎรออกจากพื้นที่โรคระบาด ดังปรากฏในตำนานบนหน้าประวัติศาสตร์อันคุ้นหู

Advertisement

‘เวรกรรม’ ที่เชื่อมโยงกับโลกทัศน์แบบพระพุทธศาสนา อันเป็นอุดมการณ์ของรัฐไทยสมัยโบราณ คืออีกคำอธิบายหนึ่งซึ่งถูกใช้ในยุคเก่าก่อน

การระบาดของอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ ‘ระลอกใหม่’ หรือรอบ 2 ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2424 สามัญชนชาวสยามได้เผชิญหน้ากับโรคอหิวาต์ระบาดร้ายแรงนี้ด้วยความกลัวและอธิบายว่าเกิดจากผี ชาวบ้านใช้เครื่องรางของขลังอย่างสายสิญจน์ ตะกรุด หรือลูกประคำที่ผ่านการปลุกเสกจากพระสงฆ์ ยามค่ำคืน ใช้ตะเกียงผูกปลายไม้ไผ่แล้วแขวนไว้หน้าบ้าน หวังขับไล่ความมืดที่เปรียบเหมือนดังเป็นผีร้ายที่จะทำให้เกิดโรค

ต่อมา มีการออก “ประกาศเรื่องอหิวาตกะโรค มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเตือนสติคนทั้งปวงที่มักเชื่อง่ายมาอีกเปนครั้งที่ 3” ในหนังสือพิมพ์ “สยามไสมย” ความว่า

“อย่ากลัวผีเลยให้กลัวผู้ร้ายดีกว่า ถ้าหากว่าระงับความกลัวตายไม่ได้ก็ให้พึงปัดกวาดชำระสระสางบ้านเรือนให้หมดจดสอาด รักษาตัวให้ดีหมดจด อย่ากินอาหารที่บูดที่เสีย”

สะท้อนการเปลี่ยนแปลงการให้ความหมายอหิวาต์จากโรคที่เกิดจากผีทำมาเป็นสิ่งแวดล้อมที่สกปรก อาหาร และน้ำไม่สะอาดก่อให้เกิดโรค อย่างไรก็ตาม ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การแพทย์สมัยใหม่ ทั้งในแง่ของการให้บริการแก่ประชาชน ด้านการรักษาโรค และบริการอื่นๆ ทางการแพทย์นั้นมีอยู่อย่างจำกัด โรงพยาบาลของรัฐมีอยู่เฉพาะเมืองหลวงเท่านั้น

ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยแรก ระหว่าง พ.ศ.2481-2487 เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุขอย่างใหญ่หลวงและรอบด้าน เมื่อรัฐไทยต้องการก้าวสู่ความเป็น ‘ชาติไทย’ ที่ทันสมัย การสร้างและเผยแพร่วาทกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่จึงได้กลายเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการจัดการเพื่อสร้างพลเมืองตามอุดมคติที่รัฐต้องการ เพื่อสร้างชาติให้เป็นชาติที่มีอารยธรรมทัดเทียมนานาประเทศ

การก่อตั้งกรมสาธารณสุขก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและโครงการด้านการแพทย์ที่สำคัญคือการขยายการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชน โดยการสร้างโรงพยาบาลและสุขศาลาชั้น 2 ในส่วนภูมิภาคขึ้นให้ครบทุกจังหวัด พร้อมกับการถ่ายทอดความรู้ด้านสาธารณสุขผ่านสถาบันการศึกษา โดยอาศัยวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์แทนการยึดถือความเชื่อดั้งเดิม ที่ประชาชนมีความเชื่อถืออยู่ก่อน เช่น ไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ โรคระบาดเกิดจากอำนาจผีทำ หรือความป่วยไข้เป็นเรื่องเวรกรรมส่วนบุคคล ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เชิญชวนให้ประชาชนเลิกเชื่อถือ

บทบาทของการแพทย์สมัยใหม่จึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นตัวแทนของความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับการทำให้ชีวิตทางกายภาพของผู้คนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเชิงประจักษ์ จึงมีบทบาทเป็นด่านหน้าในการสถาปนาความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งได้ทำให้ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่สัมพันธ์อยู่กับอำนาจรัฐอย่างแน่นแฟ้น และรัฐถือเป็นภารกิจที่ต้องรับทำต่อมาของรัฐบาลทุกสมัยจวบจนปัจจุบัน

COVID-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ : ฮาวทู ‘ใส่-ถอด-กำจัด’ หน้ากากอนามัย

ขยับมาสู่โลกสมัยใหม่ ในวัคซีนเข็ม 2 กับ ‘COVID-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ’ โดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ซึ่งนอกจากนำเสนอข้อมูลในระดับลงลึกเกี่ยวกับเชื้อโรคดังกล่าวในเชิงการแพทย์ ยังมีเกร็ดความรู้ในการปฏิบัติตนของผู้คนในชีวิต ‘วิถีใหม่’ อย่างการสวมหน้ากากอนามัยอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคำถามพื้นฐานที่ว่า

‘ถ้าไม่ได้ป่วยจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ ?’

โดยคำตอบมีอยู่ว่า ในสภาวะปกติ การสวมใส่หน้ากากอนามัยนั้นจำเป็นก็ต่อเมื่อป่วยหรือมีอาการป่วยแล้ว เช่น มีอาการไอ

แต่สำหรับสถานการณ์ที่ โควิด-19 (COVID-19) ยังแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกนั้น การสวมหน้ากากอนามัยจึงถือเป็นมาตรการเบื้องต้นที่ควรปฏิบัติ เนื่องจากผู้ติดเชื้อจากโรคโควิด-19 จำนวนมากไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อยมาก จนแทบสังเกตไม่ได้เลยว่าป่วยอยู่ จึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อจากผู้ที่ไม่มีอาการได้ ทำให้บางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สนับสนุนให้ประชาชนที่ไม่ป่วยใส่หน้ากากอนามัยด้วยเช่นกัน และบางประเทศ เช่น เช็ก และสโลวาเกีย ออกมาตรการบังคับให้พลเมืองสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้านเรือนทุกครั้ง

อีกกรณีหนึ่งที่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย คือ ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ใกล้กับผู้ป่วย และควรใช้แบบเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง

นอกจากนี้ ยังระบุชัดถึง 4 วิธีปฏิบัติสำหรับการ ใส่-ถอด-กำจัด หน้ากากอนามัยอย่างเหมาะสม ได้แก่

1.ก่อนใส่หน้ากากอนามัยควรล้างมือให้สะอาด ตรวจดูว่าหน้ากากไม่มีรูหรือรอยขาด สังเกตด้านที่จะใส่ให้ถูกต้อง อาจดูจากตำแหน่งยางรัดที่มักจะอยู่ด้านใน หรือชื่อยี่ห้อที่มักจะอ่านได้จากด้านนอก หรือหากทำสีเป็นเครื่องหมายไว้ เช่น สีเขียว จะเป็นด้านนอก เป็นต้น

2.ขณะใส่ ให้บีบส่วนที่เป็นโลหะและขอบของหน้ากากให้แนบไปรูปหน้าและคลุมปิดจมูก ดึงส่วนปลายด้านล่างให้คลุมส่วนปากลงมาถึงคาง

3.หลังใช้เสร็จ ให้ถอดหน้ากากโดยดึงยางยืดที่รัดหูจากด้านหลัง และป้องกันหน้ากากให้ห่างจากใบหน้าและเสื้อผ้า พยายามไม่สัมผัสส่วนที่อยู่ด้านหน้าของหน้ากากอนามัย เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส รัดให้หน้ากากส่วนด้านนอกกลับไปอยู่ด้านในให้หมด ใส่ซองหรือถุงพลาสติกใส ก่อนทิ้งแยกให้เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นขยะที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค

4.ล้างมือทันทีด้วยน้ำสบู่

มากกว่า 42.195 : ระยะทางในใจ 21 วันสร้างนิสัย 37 วันเปลี่ยนชีวิต

มาถึงเข็มสุดท้าย ด้วยอีก 1 เล่มที่แม้ไม่ได้เกี่ยวกับโรคโควิดโดยตรง ทว่า เป็นเล่มสำคัญที่มอบพลังงงานชีวิต และพลังใจในด้านบวกเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย

‘มากกว่า 42.195’ ปลายปากกา อิทธิพล สมุทรทอง ที่อ่านแล้วต้องรีบวางเพื่อเปิดประตูสู่ลู่วิ่ง โดยเริ่มต้นด้วยทฤษฎี 21 วันสร้างนิสัย หรือ The 21-day habit theory ซึ่งแม้ยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าการทำอะไรซ้ำๆ ไป 21 วัน สิ่งนั้นจะกลายเป็นนิสัยติดตัวเราขึ้นมาจริงๆ แต่ต่อให้ไม่ได้นิสัยกลับมาก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อย สิ่งที่เราจะได้กลับมาทันทีก็คือ “ความเคารพตนเอง” อย่างเช่น ผู้ที่มีเป้าหมายว่าตนจะออกวิ่ง อย่างแรกเลยขอแค่ตั้งระยะทางไว้ในใจ ว่าเป้าหมายที่ตนจะวิ่งในตลอด 21 วันนี้ จะวิ่งวันละกี่กิโลเมตร และลองลงมือทำดู

หนังสือเล่มนี้ สื่อสารว่า เมื่อได้สัญญากับตนเองว่าจะทำอะไรให้สำเร็จสักอย่างหนึ่ง จะมีวินัยมากพอที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้หรือไม่ โดยไม่มีใครมาบังคับ เมื่อใดก็ตามที่คำสัญญาที่ถูกสร้างขึ้นมา คุณจะกลายเป็น ‘นาย’ ของคำสัญญาที่ไม่มีใครรู้นอกจากตัวคุณเองที่รู้ดีว่า คุณได้พันธนาการคำสัญญานั้นไว้แล้วโลกนี้ สิ่งที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือความต่อเนื่องและวินัย แต่ถ้าสร้างสิ่งนั้นให้เกิดกับตนเองได้ จะรู้สึกถึงความหมายที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนให้ตัวเอง เป็นแรงกระตุ้นที่มีผลต่อการกระทำเสมอ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะมีวินัยมากพอหรือไม่เท่านั้นเอง

อิทธิพล หรือป๊อก ยังเล่าประสบการณ์วิ่งหลากหลายรูปแบบของเขา ตั้งแต่มาราธอนบนถนน วิ่งเทรลในป่าเขา ไปไกลจนถึงวิ่งบนน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ จากรายการสำคัญมากมาย เช่น UTMB, TNF100 AUSTRALIA, SAROMA100, HONG KONG 100, BOSTON MARATHON, NEW YORK CITY MARATHON, TOKYO MARATHON เป็นต้น

นี่คือ 3 เล่มชวนอ่านในวันที่จุดสีแดงเกิดขึ้นมากมายในแผนที่ประเทศไทย ในวันที่ต้องร่วมสู้ไปด้วยกัน ในวันที่ความรู้ยังเป็นวัคซีนที่มีความหมายในโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร


วันเกิด เบิร์ธเดย์ เซลล์ ‘มติชน’ สู่ปีที่ 44

มติชนฉลองก้าวสู่ปีที่ 44 กับโปรโมชั่นสุดพิเศษสำหรับเพื่อนนักอ่านของสำนักพิมพ์มติชน!

มติชนเตรียมต้อนรับทุกท่านด้วยโปรโมชั่นพิเศษ แทน ‘ของขวัญ’ จากใจและ ‘คำขอบคุณ’

สำหรับความรักและกำลังใจที่มีให้กันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

รวมไปถึงการสนับสนุนมติชนให้เดินหน้า ก้าวเข้าสู่ปีต่อไปอย่างมั่นคง

โปรโมชั่นสุดพิเศษนี้ เพียง 3 วันเท่านั้น!

เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2564 เวลา 09.00 น. – วันที่ 10 มกราคม 2564 เวลา 23.59 น.

ทั้งในเว็บไซต์สำนักพิมพ์ : www.matichonbook.com

และร้าน Matichon Book Club สาขาอาคารมติชน ประชานิเวศน์ 1 และสาขามติชนอคาเดมี

ติดตามข้อมูลและรายละเอียดโปรโมชั่น Matichon’s Birthday Sale ได้ที่เฟซบุ๊ก ‘Matichon book-สำนักพิมพ์มติชน’

โทร 0-2589-0020

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image