คนไร้บ้าน ‘หน้าใหม่’ ปรากฏการณ์โลก สถานการณ์ไทย ในโควิดอีกระลอก

ไม่ต้องเกริ่นให้ยืดยาวสำหรับผลกระทบอย่างฉกาจฉกรรจ์ต่อผู้คนทั่วโลก สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หนึ่งในประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง นอกเหนือจากความป่วยไข้และการเสียชีวิต คือปรากฏการณ์ก่อเกิด ‘คนไร้บ้านหน้าใหม่’ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างไม่ต้องขมวดคิ้วสงสัยไม่ว่าจะในต่างประเทศ จนถึงราชอาณาจักรไทย

แนวโน้มเพิ่มร้อยละ 30 ระลอกใหม่หนักกว่าระลอกแรก

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้าน สสส. เปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อ เล่าถึงการสำรวจกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่ามีแนวโน้มเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 หรือราว 300-400 คน จากเดิมในตัวเลข 1,500-1,600 ราย แน่นอนว่า สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพิษโควิด เมื่อกิจการจำต้องปิด หลายชีวิตถูกเลิกจ้าง คนหาเช้ากินค่ำขาดรายได้ ไร้เงินจ่ายค่าเช่าบ้านหรือแม้กระทั่งห้องหับเล็กๆ คนกลุ่มนี้เอง จึงต้องกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด

“การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบรุนแรงกว่าการระบาดระลอกแรก หลายกิจการยังไม่ทันฟื้นตัว มาเจอวิกฤตซ้ำ กิจการต่างๆ ก็มีแนวโน้มปิดตัวเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือการเลิกจ้างและมีคนตกงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนไร้บ้านส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง สวัสดิการ, การช่วยเหลือ หรือเยียวยาจากภาครัฐ เช่นหลายคนไม่มีสมาร์ทโฟน หรือคนที่มีก็ไม่มีเงินจ่ายค่าโทรศัพท์เพื่อลงทะเบียนรับสิทธิต่างๆ”

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

รายละเอียดต่างๆ ปรากฏในผลการศึกษาของ ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และ ณัฎฐ์ศุภณ ดำชื่น นักวิจัยภายใต้แผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีรายงานอย่างเป็นทางการเรื่อง “การประมาณการประชากรคนไร้บ้าน ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” นำเสนอการประมาณการจำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครหลังเกิดสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30% และปัจจัยที่ทำให้คนไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้นเกิดจากภาวะการว่างงานและการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย

Advertisement

การวิจัยดังกล่าว มีการใช้แบบจำลองเศรษฐมิติที่พัฒนามาพยากรณ์ (Estimate) ซึ่งอ้างอิงภาวะเศรษฐกิจจากการพยากรณ์เศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ในปี 2563 ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ธนาคารโลก (World Bank) และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)

“สิ่งที่ได้รับจากแบบจำลอง คือ สัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจและสังคม ที่แสดงให้เห็นในทิศทางเดียวกันว่า ภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้ เรากำลังจะมีคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้หาแนวทางในการป้องกันไม่ให้ คน ต้องกลายเป็น คนไร้บ้าน ตลอดจนเตรียมมาตรการรับมือในการช่วยเหลือเยียวยา หากเขาต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน” ผศ.ดร.พีระระบุ

ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์

มาตรการรัฐไทย ‘ให้เงินก้อน’ ไม่ใช่ ‘รับมือภาวะเสี่ยงไร้ที่อยู่’

เมื่อรู้เช่นนี้ มาตรการรัฐที่มีขึ้น สามารถช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะไร้บ้านในช่วงเวลาวิกฤตนี้ได้มากน้อยเพียงใด

Advertisement

ประเด็นนี้ บุณิกา จูจันทร์ ให้ข้อมูลน่าสนใจไว้บทความ ‘ส่องมาตรการป้องกันภาวะไร้บ้านและที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงท่ามกลางวิกฤติโควิด (1)’ เผยแพร่ในเวปไซต์ penguinhomeless.com ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. ตอนหนึ่งว่า จากนโยบาย ‘ยาแรง’ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกระหว่างพื้นที่ การประกาศใช้เคอร์ฟิว หรือการสั่งปิดตลาดและสถานประกอบการต่าง ผลกระทบที่ตามมาคือกลุ่มมวลชนที่ตกงานและตกค้างตามพื้นที่ที่ถูกปิดตาย การควบคุมโรคทำให้คนจำนวนมากถูกตัดขาดจากสิ่งจำเป็นของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสังคม แหล่งงาน และโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เมื่อไม่มีงาน ก็ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรจ่ายค่าเช่าบ้านพักหรือห้องพัก เมื่อถูกสั่งห้ามเดินทาง ก็ไม่สามารถกลับไปหาคนที่หยิบยื่นที่พักชั่วคราวให้ได้

ส่วนมาตรการช่วยเหลือทางสังคมก่อนหน้านั้น เช่น โครงการไม่ทิ้งกันและเงินเยียวยาเกษตร

บุณิกา มองว่า เป็นเพียงเงินสนับสนุนชั่วคราว และไม่ใช่สิ่งที่เข้าถึงทุกคนได้ในทันที ผู้ลงทะเบียนจำนวนมากรายงานว่าข้อมูลที่ปรากฏในระบบไม่ถูกต้อง และถูกปฏิเสธสิทธิในการรับความช่วยเหลือในที่สุด ที่สำคัญ มาตรการดังกล่าวคือการให้เงินก้อนก้อนหนึ่ง ไม่ใช่มาตรการรับมือกับภาวะเสี่ยงไม่มีที่อยู่อาศัย

“จริงอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ได้สร้างศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน แต่ใช่ว่าคนไร้บ้านทุกคนยินดียอมรับข้อเสนอจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ” บุณิการะบุ

เปิดรายงานพิเศษ ‘สหประชาชาติ’ 5 ข้อแนะนำ ‘ระยะสั้น’

ข้อแนะนำในมาตรการ ‘ระยะสั้น’ ที่ควรทำ ตามข้อคิดของ Rajagopal Balakrishnan ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์กับการพัฒนา ภาควิชาผังเมือง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ ‘เอ็มไอที’ ที่บทความชิ้นเดียวกันอ้างอิงมาใช้จากรายงานพิเศษของสหประชาชาติ เรื่อง ‘สถานการณ์ความยากจนด้านที่อยู่อาศัยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด’ มี 5 ข้อ ได้แก่

1.เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิที่อยู่อาศัยและผู้ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย ข้อมูลประชากร (อาทิ ข้อมูลด้านชาติพันธุ์-เชื้อชาติ ด้านเพศสภาพ/เพศวิถี ด้านศาสนา ด้านความพิการ และด้านสถานะความเป็นพลเมือง เช่น เป็นผู้อพยพเข้ามา หรือเป็นผู้ลี้ภัย) สถานการณ์การเช่าที่พักอาศัย จำนวนครั้งที่การไล่คนออกจากที่อยู่อาศัยเกิดขึ้น และจำนวนคนที่ได้รับกระทบ โดยนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ควบคู่ไปกับความแออัดของบ้าน ภาวะไร้บ้าน คุณภาพของที่พัก ราคาของที่พัก และจำนวนที่พักอาศัยที่ยังว่างในตลาด ข้อมูลนี้จะช่วยให้เห็นว่าใครบ้างคือคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มนั้นๆ ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ นำไปสู่การสร้างนโยบายที่ตอบสนองต่อประชากรแต่ละกลุ่มได้

2.ประกาศห้ามไม่ให้ไล่คนออกจากที่อยู่อาศัยหรือบังคับจำนอง หากผู้เช่าไม่สามารถชำระค่าเช่าได้ โดยไม่แบ่งแยกสถานะพลเมือง รวมไปถึงการห้ามไม่ให้บุกทำลายแคมป์ของคนไร้บ้านในที่สาธารณะ (การบังคับจำนองคือการให้ชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่เอาไปจำนอง)

3.เปลี่ยนที่พักแรม เช่น โรงแรม หอพัก ให้เป็นที่พักเฉพาะกิจของคนไร้บ้าน และพัฒนาแผนที่อยู่อาศัยถาวร เตรียมซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ว่างเพื่อเปลี่ยนให้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน

4.พัฒนามาตรการเยียวยาทางสังคม ประกอบด้วย การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและการจ้างงานกับผู้มีรายได้น้อย การช่วยให้คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยแน่นอนเข้าถึงน้ำสะอาดและบริการสุขภาพ

5.ลดการจำคุกและดำเนินคดีกับประชาชน โดยเฉพาะคนไร้บ้านและคนที่ไม่ได้กระทำอาชญากรรมรุนแรง เนื่องจากเรือนจำเป็นพื้นที่แออัด ในประเทศไทย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยเป็นผลักดันประเด็นนี้กับกระทรวงยุติธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้ใครโดนขับไล่ออกจากที่พักอาศัย นโยบายห้ามฟ้องร้องไล่ที่คนออกต้องทำควบคู่ไปกับนโยบายอื่นๆ เช่น การต่อสัญญาเช่าอัตโนมัติ ในกรณีที่สัญญาของผู้เช่าใกล้สิ้นสุด, การแบ่งเบาภาระใช้จ่ายผู้เช่า เช่น ห้ามขึ้นราคาค่าเช่า ลดราคาค่าเช่า เงินอุดหนุนเพื่อชำระค่าเช่า, การพักชำระหนี้ และการประกาศพักชำระหรือลดค่าน้ำค่าไฟ

สแกนโลก เยียวยาคน ประคองชีวิต

ปิดท้ายด้วยรายงานสถานการณ์ดังกล่าวจากทั่วโลก ทั้งฟากตะวันตก และดินแดนตะวันออก ซึ่งแต่ละประเทศ มีแนวทางช่วยเหลือหลากหลาย อาทิ ยืดระยะเวลาพักชำระหนี้ในช่วงฤดูหนาว ให้สิ้นสุดในช่วงฤดูร้อน โดยการคุ้มครองผู้เช่าไม่ให้โดนไล่ออกเนื่องจากค้างชำระค่าเช่า สำหรับคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย รัฐบาลฝรั่งเศสได้เช่าห้องพักในโรงแรมให้ และมอบคูปองส่วนลดสำหรับซื้อสิ่งของที่เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพ นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับเงินสนับสนุนโดยไม่มีเงื่อนไข

ส่วน ญี่ปุ่น มีการตั้งกองทุนแบ่งเบาภาระค่าเช่าเพื่อความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย โดยเงินจากกองทุนดังกล่าวจะถูกนำไปชำระค่าเช่าเป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน หลังจากนั้น หากผู้ลงทะเบียนยังเข้าข่ายคนที่อยู่ในสถานะที่เปราะบาง เงินสนับสนุนจะถูกปันส่วนให้ทุกๆ 3-9 เดือน และเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของประชาชน รัฐบาลได้ประกาศให้หน่วยงานการไฟฟ้า ประปา และก๊าซหุงต้ม พักชำระค่าบริการต่างๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ในเขตเทศบาลเมืองโตเกียว มีการเปิดที่พักชั่วคราวให้กับคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย โดยทางเทศบาลได้เช่าโรงแรมและเปิดบ้านที่เทศบาลเป็นเจ้าของให้คนเข้ามาอยู่แทน เป็นต้น

รัฐบาลกลางแคนาดา อัดฉีดงบประมาณให้กับแผนงานบรรเทาภาวะไร้บ้าน “Reaching Home Program” เป็นสองเท่า งบประมาณดังกล่าวถูกปันส่วนออกมาเป็นเงินช่วยเหลือในระยะสั้น เช่น เงินค่าเช่าที่พักอาศัยและเงินชำระค่าสาธารณูปโภค เงินอุดหนุนการบริการด้านสุขภาวะ เงินสำหรับซื้อของอุปโภคบริโภค และเงินทุนสำหรับบริหารจัดการปัญหาที่อยู่อาศัยและความเป็นอยู่ดีในชุมชน นอกจากนี้ ยังประกาศโครงการ จัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยจะมีการก่อสร้างแบบโมดูลาร์ คือการนำชิ้นส่วนต่างๆ ของอาคารไปประกอบเป็นบ้านสำเร็จรูป การซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่อเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย

ในระดับจังหวัด มีการให้ทุนสนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลกลุ่มคนชายขอบ ส่วนในระดับเทศบาล เมืองโตรอนโตได้สร้าง “isolation centre” หรือศูนย์รองรับคนไร้บ้านที่รอผลตรวจเชื้อ และเช่าโรงแรมให้กับคนที่จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน แทนการส่งตัวไปบ้านพักชั่วคราว ในขณะเทศบาลเมืองมอนทรีอัลได้จัดทำแผนช่วยเหลือคนไร้บ้านโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยการปรับปรุงคุณภาพของบ้านพักชั่วคราว การจัดเตรียมสินค้าอนามัย การจัดเตรียมส้วมเคมี หรือส้วมที่ทำลายเชื้อโรคในสิ่งปฏิกกูลด้วยสารเคมี การจัดเตรียมอาหาร การให้ความดูแลคนในช่วงหน้าหนาว และการเพิ่มจำนวนบ้านพักชั่วคราว

ด้าน สหรัฐอเมริกา มีการออกกฎหมาย “Coronavirus Aid, Relief and Economic Security Act” เพื่อคุ้มครองผู้เช่าไม่ให้โดนขับไล่จากที่พักอาศัย กฎหมายข้อนี้จะถูกนำไปใช้ประกอบกับมาตรการระงับการไล่คนและมาตรการห้ามขึ้นราคาค่าเช่าของรัฐบาลท้องถิ่นต่อไป นอกจากนี้ ยังให้เงินช่วยเหลือคนที่โดนเลิกจ้าง ซึ่งทำให้คนมีเงินสำหรับจ่ายค่าเช่าต่อไปได้ในระยะหนึ่ง ในรัฐต่างๆ เช่น คอนเน็คติกัต และเวอร์จิเนีย เปิดที่พักชั่วคราวให้คนไร้บ้าน ในเมืองซานโฮเซ แคลิฟอร์เนีย มีคำสั่งห้ามไม่ให้บุกทำลายแคมป์คนไร้บ้าน มีการประสานให้ศูนย์พักพิงขององค์กรศาสนายืดระยะเวลาทำการ การแยกคนไร้บ้านที่อายุมากกว่า 50 ปี และมีปัญหาสุขภาพรุนแรงออกมาพักรักษา และการพัฒนามาตรการส่งตัวคนไร้บ้านไปสถานพยาบาล ในกรณีที่จำเป็นต้องแยกตัวออกมา

มาตรการเหล่านี้ บุณิกา วิเคราะห์ว่า จุดแข็งที่แต่ละประเทศมีร่วมกัน คือการให้อำนาจบริหารจัดการกับหน่วยงานท้องถิ่น องค์กรระดับเทศบาลสามารถออกมาตรการรับมือกับภาวะไร้บ้านและที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงได้โดยตรง ด้วยความใกล้ชิดกับชุมชน หน่วยงานเทศบาลสามารถดีไซน์แผนงานที่เหมาะสมกับบริบทสังคม ตรงกับความต้องการของคนในท้องที่นั้นๆ และเปิดโอกาสให้หน่วยงานและกลุ่มคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมได้ง่าย สำหรับจุดอ่อน สิ่งที่ปรากฏอยู่ในทุกประเทศคือประสิทธิภาพและระยะเวลาของการให้ความช่วยเหลือ

ทั้งหมดนี้ คือสถานการณ์ในไทย และกรณีศึกษาในมุมต่างๆ ของโลก ในภาวะวิกฤต อย่าให้การพ้นผ่านสถานการณ์เลวร้ายไปด้วยกัน ‘โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เป็นแค่วาทกรรมไพเราะ แต่ต้องร่วมกันทำทุกทางอย่างจริงใจและจริงจัง


ล้างมือ 40 วิ ถึง #อย่าเพิ่งจับอย่าเพิ่งทัช

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่กลับมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยสิ่งที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ คือ การเพิ่มความระมัดระวัง ใส่ใจดูแลสุขภาพ และป้องกันตัวเองให้มากขึ้น รวมถึงการติดตามข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะในเรื่องของวิธีการป้องกันและดูแลตัวเอง

ย้อนไปเมื่อปี 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เคยร่วมกับ TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น แบ่งปันข้อมูล ความรู้ที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ รวมถึงวิธีการดูแลสุขภาพในยุคโควิดมาแล้วในแคมเปญ #ล้างมือ 40 วิ ผลตอบรับมาพร้อมยอดวิว 5.4 พันล้าน

ตัดฉากมาในปี 2564 กับโควิดระลอกใหม่ มีการปล่อยตัวแคมเปญใหม่ #อย่าเพิ่งจับอย่าเพิ่งทัช เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา โดยได้รับกระแสตอบรับอย่างดี สร้างยอดวิว 12.8 ล้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564) แนวคิดหลักคือการชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแนะนำไอเดียการดูแลตัวเอง การรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงสัมผัสจุดเสี่ยง COVID-19 อาทิ วิธีล้างมือสุดครีเอตอย่างถูกวิธี, เช็ดหน้าจอโทรศัพท์มือถือจุดเสี่ยงสัมผัสโรค, ทำความสะอาดลูกบิดประตูพร้อมโชว์สเต็ปแดนซ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีแผนเตรียมส่งแคมเปญต่างๆ เพิ่มเติม ได้แก่ #จัดบ้านจัดใจ รณรงค์การจัดบ้านและสำรวจจิตใจตัวเองให้รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง และ #เก้าอี้เสกร่าง รณรงค์การออกกำลังกายที่บ้านต้านโควิด ฟิตแอนด์เฟิร์มห่างไกลออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น โดยเชิญชวนให้ผู้คนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันข้อมูลการดูแลตัวเองในยุคแห่งโรคระบาด

สามารถเข้าร่วมแคมเปญได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image