เลิกขีดเส้นใต้ให้จำนน กะเหรี่ยงบางกลอยต้องได้กลับ‘ใจแผ่นดิน’ เสียงจากบ้านสู่เมือง

เลิกขีดเส้นใต้ให้จำนน กะเหรี่ยงบางกลอยต้องได้กลับ‘ใจแผ่นดิน’ เสียงจากบ้านสู่เมือง

ถูกจับตามากขึ้นตามลำดับ สำหรับกรณีความเดือดร้อนของชาวปกากะญอหรือที่คนไทยคุ้นเคยกับ
คำว่ากะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กระทั่งโซเชียลร่วมกันติดแฮชแท็ก #saveบางกลอย จนสังคมไทยไม่ว่าจะคนเมือง ชาวบางกอกเกี้ยน คนรุ่นใหม่ในโลกออนไลน์ให้ความสนใจมากกว่าเพียงการเคลื่อนไหวเฉพาะกลุ่มดังเช่นที่เคยเป็นมา

ช่วงสายของวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่สะพานชมัยมรุเชฐ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและภาคีเซฟบางกลอย พร้อมด้วยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี, ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือ, ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงจาก เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี ซึ่งปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ขอให้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะรองประธานคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ และ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามเอ็มโอยูแก้ปัญหาเร่งด่วนและไม่ข่มขู่คุกคามชาวบ้านจากกรณีกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย 36 ครอบครัว เดินเท้ากลับ ‘ใจแผ่นดิน’ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ปรากฏเป็นข่าวว่าถูกทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและทหารทัพพระยาเสือข่มขู่ว่าจะดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งปรากฏภาพการสนธิกำลังตั้งจุดตรวจค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์

ความกังวลของภาคประชาสังคมในเวลานี้ คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งอาจจะนำไปสู่การกระทำอันรุนแรง ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นขึ้นและเป็นการเข้าไปใช้กำลังกับชาวบางกลอยดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเหตุการณ์ยุทธการตะนาวศรี เมื่อปี 2553-2554

ทลายมายาคติ ย้ำสิทธิชาติพันธุ์
ผลักดันพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง

ย้อนไปเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ นอกเหนือจากการยื่นหนังสือให้ดำเนินการข้อเรียกร้องเร่งด่วน 3 เรื่อง แต่ถึงอย่างไร ชาวบ้านบางกลอยและกลุ่มภาคีเซฟบางกลอยยังไม่วางใจว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหา ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ภาคี saveบางกลอย จัดกิจกรรม ‘พาชาวบางกลอยกลับบ้าน’ ผลัดกันปราศรัยในประเด็นต่างๆ ภายใต้การดูแลความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

Advertisement

ไม้ไผ่และตับหญ้าคาถูกนำมาสร้างเป็นเพิงเล็กๆ จำลอง ‘บ้าน’ ของ ‘ปู่คออี้’ แห่งหมู่บ้านใจแผ่นดินผู้ล่วงลับ ติดตั้งภาพพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมที่สาบสูญบนถนนพระรามที่ 5 ข้างตึกโอ่อ่าของทำเนียบรัฐบาล พร้อมป้ายผ้าสื่อสารโลกสากลย้ำสิทธิที่จะกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของบรรพบุรุษ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมตั้งโต๊ะรณรงค์ร่วมลงชื่อ 15,000 ชื่อ ผลักดัน ‘พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ เพื่อให้สิทธิของชนเผ่าได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีโอกาสแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างสอดคล้องวิถีชีวิต โดยจะยื่นสภาพิจารณาในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้

ตัวแทนชาวมอญจังหวัดนนทบุรีรายหนึ่ง กรรมการบริหารสภาชนเผ่าแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นผ่านไมค์อย่างน่าสนใจว่า อยากให้ทำความเข้าใจร่วมกันว่า ‘คนไทยแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีจริง’ เป็นเพียงมายาคติ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ร่วมกันก่อร่างสร้างชาติ สยามประเทศประกอบด้วยคนหลากหลายร่วมกันสร้างชาติ สภาชนเผ่าเองก็มีสมาชิกมากกว่า 42 กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่เพียงเท่านั้น วงสามัญชน นำโดย ณัฐพงษ์ ชูแก้ว หรือแก้วใส โดยขับร้องและเล่นกีตาร์เพลง ‘ใจเดียวกัน’ และ ‘กลอยใจ’ ซึ่งแต่งขึ้นใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหมู่บ้านใจแผ่นดิน สื่อถึงความเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด

Advertisement

เนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า

‘เราคือผู้คน อยู่บนสายธารเดียวกัน หล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ให้ดินชุ่มเย็น ปกากะญอ ผู้คือคนในความเป็นคน เราเหมือนกัน’

ระหว่างนั้น ยังเชื้อเชิญ พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวปกากะญอจากจังหวัดเชียงใหม่ วัย 74 ปี ซึ่งต่อสู้มาตั้งแต่ยุคสมัชชาคนจน ร่วมกล่าวถ้อยคำระหว่างบรรเลงดนตรี มีเนื้อความในตอนหนึ่งว่า

‘มนุษย์มีจิตวิญญาณ…เมื่อกฎหมายแรงขึ้น วัฒนธรรมดีงามค่อยๆ หายไป’

ต่างนิยามคำว่า‘บ้าน’
เมื่อรัฐไม่เก็ตวิถีกะเหรี่ยง

“ชาวบ้านใจแผ่นดินอยู่มาก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ชาวกะเหรี่ยงไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม รัฐทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยสารเคมีมากกว่าเสียอีก เราทำไร่ข้าว เหมือนคนข้างล่างที่ทำนาข้าว ในไร่เราปลูกผักไว้กิน ในชีวิตประจำวันแทบไม่ได้ใช้เงิน บ้านปู่คออี้ที่ถูกเผาสร้างจากหญ้าคา แต่รัฐบอกว่านี่ไม่ใช่บ้าน บ้านในสายตารัฐต้องมั่นคง เป็นอาคาร แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยง นี่คือบ้าน”

เป็นคำกล่าวตอนหนึ่งของ พ่อหลวงสมชาติ รักษ์สองพลู ชาวปกากะญอ หรือกะเหรี่ยง จังหวัดลำปาง ซึ่งจับไมค์เอื้อนเอ่ยถ้อยคำหน้าบ้านจำลองของปู่คออี้ที่รัฐไทยไม่เคยมองว่าเป็นบ้าน

ส่วนเรื่องกะเหรี่ยงทำลายป่า พ่อหลวงบอกว่า วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงอยู่ในป่า ทำไร่หมุนเวียน หาของป่ายังชีพ ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ตื่นเช้ามาก็หาอาหารในป่า ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ หน่อไม้ อย่างชาวบางกลอย สร้างบ้านจากไม่ไผ่อย่างเรียบง่ายที่หมู่บ้านใจแผ่นดิน กลมกลืนกับธรรมชาติ ถ้าคิดจะทำลายป่า ปีเดียวก็หมดแล้ว แต่ปู่คออี้เลือกเคารพธรรมชาติ เก็บป่าไว้ให้คนในประเทศ เก็บแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานสืบทอด ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายที่แสดงถึงความไม่เข้าใจวิถีชีวิต มีแต่ขีดเส้นใต้ให้ยอมจำนน

“สนธิกำลังไปไล่รื้อ ใครจะสู้ได้ ปู่คออี้ไม่เคยเรียกร้องเอกสารสิทธิ ขอแค่สิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินเท่านั้น ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ระบุถึงสิทธิชุมชน แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่มี” พ่อหลวงสมชาติกล่าว

กลับ‘ใจแผ่นดิน’คือความชอบธรรม
‘กรมป่าไม้’ต้องยอมรับประวัติศาสตร์

มาถึงข้อมูลจาก ณัฐวุฒิ อุปปะ ภาคี saveบางกลอย ที่เกริ่นว่า เมื่อนึกถึงใจแผ่นดิน ก็นึกถึงการจัดการที่ดินที่ล้มเหลวของรัฐไทยซึ่งไม่เพียงกระทบต่อชาวบ้านแต่กระทบถึงทุกคนในประเทศ นึกถึงความบิดเบี้ยวในการจัดการที่ดิน ชุมชนหลายแห่งมีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 120 ปี ก่อนการสถาปนาของกรมป่าไม้ใน พ.ศ.2439 กรมป่าไม้ที่บอกว่ารักป่านักหนา ถามว่าตั้งขึ้นครั้งแรกเพราะอะไร คำตอบคือเพื่อการตัดไม้ โลโก้ยังเป็นรูปท่อนซุง เพิ่งมาอนุรักษ์ป่าในภายหลัง นี่คือประวัติศาสตร์ที่ต้องยอมรับ

“ใจแผ่นดิน มีหลักฐานการมีอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2455 ในขณะที่เพิ่งประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อ พ.ศ.2524 นี้เอง ทำไมวันนี้บอกว่าชุมชนใจแผ่นดินบุกรุกอุทยาน การพูดความจริงคือสิ่งที่ต้องยอมรับก่อน การกลับใจแผ่นดินคือความชอบธรรม ต้องทำได้ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่นั่น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ” ณัฐวุฒิกล่าว ทั้งยังย้อนกล่าวคำ ‘ขอโทษ’ ชาวกลุ่มชาติพันธุ์เนื่องจากในอดีตเมื่อครั้งตอบข้อสอบในคำถามที่ว่า ทำไมป่าเมืองไทยลดลง ถ้าจะให้ได้คะแนนต้องตอบว่าเพราะชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย ทำลายป่า ซึ่งตอนนี้รู้แล้วว่าไม่เป็นความจริง

“รัฐต้องปรับวิธีคิด ปรับทัศนคติ การใช้โมเดลจากต่างประเทศมาใช้เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าการทำป่าให้ปลอดคน ไม่ดีเท่าการให้คนอยู่กับป่า ต้องออกจากมายาคติที่ถูกหลอก ออกมาอยู่กับข้อเท็จจริง ต้องช่วยกันเรียกร้องการจัดการป่าไม้ในสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่ใช่ใช้โมเดลเดียวในทุกพื้นที่ ต้องยอมรับความหลากหลาย ออกแบบกฎหมายให้สอดคล้อง”

อนุรักษ์ป่า‘อย่าใช้โมเดลเดียว’
ถึงเวลาทบทวนบริบทซับซ้อน

ด้าน บัญชา มุแฮ ชาวปกากะญอจากบ้านดอยช้างป่าแป๋ จังหวัดลำพูน แนะว่าถ้าไทยอยากรักษาทรัพยากรให้คงอยู่ ต้องปกป้องวิถีชีวิตชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกะเหรี่ยง

“ในวัยเด็ก เคยสะเทือนใจว่าทำไมพ่อแม่ต้องตัดต้นไม้ แต่ต่อมาได้เห็นภูเขาหัวโล้นที่นายทุนสนับสนุนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว วิถีชีวิตพังทลาย วัฒนธรรมหายวับไปกับสายน้ำ แต่จุดที่ทำไร่ซึ่งถูกเรียกว่าทำไร่เลื่อนลอย ไม่นานต้นไม้กลับมา สัตว์ป่าก็กลับมา งานหนักที่สุดของพวกตนไม่ใช่การทำไร่ทำสวน แต่คือการดับไฟป่าทั้งกลางวันกลางคืนในขณะที่เจ้าหน้าที่ที่มาช่วยดับไฟเสร็จกลับลงไปไม่ถึงชั่วโมงไฟลุกขึ้นมาใหม่ ปี 2563 ชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋ไม่เคยพัก เตรียมรับมือกับไฟป่าตลอด การแก้ไขปัญหาหมอกควัน รัฐยังแก้ปัญหาแบบเดิมๆ แก้ไม่ตก เปลืองงบประมาณอยู่อย่างนั้น คนบนดอยก็ยังเป็นจำเลยตลอด ขอให้ภาครัฐจริงใจในการแก้ปัญหา ประชาชนที่มาในวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนในเมืองที่เปิดใจเรียนรู้ การสื่อสารออกไปจะมีผลอย่างยิ่ง และขอให้พี่น้องชาติพันธุ์ยืนหยัดมุ่งมั่นในวิถีบรรพชนที่ดีงามตามวัฒนธรรมของเรา” บัญชากล่าว

อีกแง่มุมต้องฟัง คือความเห็นของ ดร.สุรินทร์ อ้นพรม นักวิชาการด้านวนศาสตร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่จะทบทวนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ให้สอดคล้องกับบริบทความซับซ้อน การจัดการทรัพยากรยังอยู่ใต้การรวมศูนย์ รัฐไม่ยอมปรับตัว ขบวนการต่อสู้จึงต้องเปิดเพดานให้สูงขึ้น

“อย่างแรก ถึงเวลาต้องทบทวนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ อย่างเช่นอุทยานแห่งชาติ รูปแบบเดียวใช้ทั่วประเทศยังเวิร์กอยู่ไหม ยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า มันสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และมีความซับซ้อน บ้านเรายังใช้รูปแบบเดียว รัฐไม่ยอมปรับตัว อย่างที่ 2 ที่อยากจะฝากคือ เราต้องตระหนักว่าการจัดการทรัพยากรยังอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจรวมศูนย์ รัฐเรายังเป็นรัฐเผด็จการก็ว่าได้ เพราะฉะนั้น การต่อสู้แค่ประเด็นการจัดการทรัพยากรก็อาจไม่ตอบโจทย์ อาจต้องไปไกลกว่านั้น คุณมองไปที่ประเด็นทรัพยากรได้ แต่ต้องขึ้นไปให้สูงกว่านั้น ต้องเปิดเพดานให้สูงขึ้น”

สำหรับคำถามที่ว่า ไร่หมุนเวียนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ นักวิชาการท่านนี้เล่าโดยสังเขปว่า จริงๆ แล้วมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระบบ ไปดูว่าในพื้นที่ซึ่งมีการทำไร่หมุนเวียน พื้นที่ป่าลดลงไหม ดินพังทลาย หรือสูญเสียหน้าดินมากน้อยแค่ไหน ธาตุอาหารในดินเปลี่ยนแปลงอย่างไร จนมีการตีพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษออกมาชื่อเพราะมาก Farmers in the forest ถ้าแปลเป็นภาษาไทยคือ ‘เกษตรกรในเขตป่า’ เขียนโดยนักวิชาการจากออสเตรเลียที่เข้ามาศึกษาร่วมกับนักวิชาการไทย หลังจากนั้น 20 ปีมีการทดลองอีกครั้ง คือปี 2547 นำโดยเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ พบว่าหลังจากเผา ธาตุอาหารเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลที่ได้ชัดเจนมากคือ ธาตุฟอสฟอรัส เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนความหลากหลายของพืชในไร่หมุนเวียน มีการเข้าไปสำรวจ ซึ่งได้เห็นการทดแทนของพืชชนิดต่างๆ ทั้งชนิดที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย บางชนิดเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่า

อย่างไรก็ตาม ดร.สุรินทร์ มองว่า ไม่ควรไปโรแมนติกมาก แน่นอนว่า ความเชื่อ รวมถึงวัฒนธรรมเป็นเรื่องสวยงามและโรแมนติกมาก แต่ก็ต้องมองถึงสิ่งที่เข้าไปกดทับด้วย

“ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา เราไม่ควรไปโรแมนติกมากในเรื่องไร่หมุนเวียน เพราะเจอแรงกดดันเยอะ เจอ 3 เด้ง เด้งแรกคือแรงกดดันจากนโยบายป่าไม้ที่ไปจำกัดพื้นที่การใช้ไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน การจำกัดขนาดการใช้พื้นที่จะมีผลต่อการไปลดรอบ ซึ่งมีผลต่อโรคพืชที่จะเกิดขึ้น รวมถึงธาตุอาหารที่การฟื้นฟูยังไม่สมบูรณ์ เด้งที่ 2 คือการเจอกระแสสิ่งแวดล้อมเข้าไปกดทับ เด้งที่ 3 คือ เรื่องเศรษฐกิจ เพราะการทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่ง่าย”

ไม่ต้องการท้าทายอำนาจรัฐ
แค่อยาก‘กลับบ้าน’หวั่นวัฒนธรรมสูญ

ปิดท้ายกับถ้อยคำของ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวปกากะญอบ้านบางกลอยตัวจริงที่ยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการท้าทายอำนาจรัฐ แต่มาเพื่อปากท้อง หากเจ็บป่วยก็อยากตายที่บ้าน ยืนยันว่าจะอยู่ที่ใจแผ่นดิน จะไม่ไปไหน อยากให้เข้าใจวิถีของเรามากกว่านี้ ลำพังพวกเราเองไม่สามารถทำอะไรได้มาก ที่ผ่านมาเราเสียมาเยอะแล้ว ครั้งนี้อยากให้พี่น้องในเมืองช่วยส่งเสียงว่าใจแผ่นดินมีอยู่จริง

“ที่เราต้องกลับไปใจแผ่นดิน เพราะเราสามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เป็นวิถีชีวิตของเรา เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน กลายเป็นเราต้องอยู่ในกรอบ พึ่งธรรมชาติไม่ได้ วัฒนธรรมกะเหรี่ยงก็อาจสูญไป การอยู่ที่ใจแผ่นดิน ชีวิตดีกว่านี้ ไม่ใช่ต้องไปรับจ้างทุกวัน ไม่ทำงานก็ไม่มีกิน แต่ถ้าเราทำไร่ ได้ข้าวก็พอกินแล้ว ปัจจุบันต้องซื้อข้าวกิน เดิมไม่เคยขายของให้กัน ตอนนี้ต้องซื้อของกิน” พงษ์ศักดิ์กล่าว ทั้งยังบอกว่าจากเดิมที่ลำบากอยู่แล้ว โควิดมาซ้ำเติมอีก ปัญหาเรื่องบ้านบางกลอยมีมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แก้ไม่ตรงจุด แม้พยายามสื่อสาร กระทั่งออกสื่อต่างๆ

แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image