อ่าน ‘ศรีบูรพา’ 116 ปี ชาตกาล ในวันที่คนรุ่นใหม่ ‘แลไปข้างหลัง (เพื่อ)เล็งไปข้างหน้า’

จากซ้าย จรูญพร ปรปักษ์ประลัย, นิวัต พุทธประสาท, ชมัยภร แสงกระจ่าง และอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ในวงเสวนา ‘แลไปข้างหลัง เล็งไปข้างหน้า อ่านศรีบูรพา 2564’

ธรณีจักร่ำไห้           แลน้ำไหลจักรำพัน

ลมพัดจักตื้นตัน           แลดาวเดือนจักอับดวง

ดอกไม้จักโรยร้าง        แลที่ทางจักโรยร่วง

เสียงสรวลกระสันต์ทรวง    จักโศกศัลย์อนิจจา

Advertisement

อินทรีย์แห่งวรรณศิลป์     ผงาดบินต้านพาลา

ศรีเอ๋ย ศรีบูรพา…       มาจากไทยตลอดกาล

รูปกาลสลายสูญ        จักไพบูลย์บรรลือบาน

Advertisement

แต่สมองแลผลงาน       ดำรงอยู่นิรันดร

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา ถือชะลอมออกจากคุกเมื่อวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 หลังจากได้ประกันตัวและหลุดพ้นคดีกบฏสันติภาพ จากปกนิตยสาร ปิยมิตรวันจันทร์ ในชะลอมมีแมว ชื่อ ‘ไอ้เสือ’

“ผมอยากจะเริ่มต้นด้วยบทกวีของ เปลื้อง วรรณศรี ที่รำลึกถึงศรีบูรพา” เป็นคำกล่าวตอนหนึ่งของ สมปอง ดวงไสว อดีตอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานครบรอบชาตกาล 116 ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) 31 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นทุกปี ณ บ้านศรีบูรพา ในวันคล้ายวันเกิด เพื่อรำลึกถึงปูชนียบุคคลแห่งวงการวรรณกรรมไทย

นอกจากการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ทั้งศรีบูรพาและบุคคลที่เคยพำนักในบ้านหลังนี้ อาทิ ชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาคู่ชีวิต สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ วานี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ และสุรภิณ สายประดิษฐ์ ผู้ล่วงลับ ยังมีการตั้งวงเสวนา “แลไปข้างหลัง เล็งไปข้างหน้า อ่านศรีบูรพา 2564”

แลไปข้างหน้า นิยายที่ ‘เขียนไม่จบ’

บันทึกชีวิตที่ไม่ใช่อัตชีวประวัติ

ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 ในฐานะประธานกองทุนศรีบูรพา เกริ่นว่า หัวข้อเสวนาครั้งนี้ แม้มาจากชื่อหนังสือ ‘แลไปข้างหน้า’ ทว่า ไม่ได้ไม่ได้พูดถึงหนังสือเป็นหลัก แต่เป็นการมองภาพของศรีบูรพาโดยรวม

“ตลอดเวลาที่อ่านแลไปข้างหน้า ซึ่งเป็นนวนิยายที่เขียนยังไม่จบ เพราะครูศรีบูรพาต้องไปลี้ภัยที่เมืองจีน เราในฐานะนักเขียน อยากรู้มากเลยว่าครูจะเขียนต่ออย่างไร อยากจินตนาการต่อ เราคิดตลอดเวลาเลยว่าฉากสุดท้ายจะเป็นอย่างไร มันทำให้เรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ เหมือนทิ้งไว้ให้เราเขียนเอง ทั้งหมดเป็นเรื่องของการแสดงภาพชนชั้นในโรงเรียนที่มีนักเรียนบ้านนอก และนักเรียนที่เป็นคนชั้นสูง และมีฉากสำคัญที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ คือฉากในปี 2475 มันไม่เคยมีใครเขียนแบบนี้” ชมัยภรกล่าว

‘แลไปข้างหน้า’ นิยายที่เขียนไม่จบของศรีบูรพา

นิวัต พุทธประสาท เจ้าของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม เสริมว่า ‘แลไปข้างหน้า’ พูดถึงความเหลื่อมล้ำที่สูงมากโดยเฉพาะในโรงเรียนยุคนั้น พูดถึงเรื่องชนชั้นอย่างชัดเจน และยังมีเรื่องย่อยๆ อีก มีทั้งขุนนาง มีทั้งพ่อค้า มีคนอย่าง ‘จันทา โนนดินแดง’ ลูกคนจีนที่ไม่ใช่จะรวยทุกคน และยังย้อนไปถึงภาพของชนบทที่ความเจริญของประเทศไทยในเวลานั้นต่ำมาก

“ผมคิดว่านิยายไทยในสมัยนั้นมันเล่าเรื่องได้ชัดเจนเพราะว่ามันอยู่ในเวลานั้นด้วย พอเราอ่านในยุคนี้เรามองเห็นได้ชัดเจนว่ามันจะสลายไปได้อย่างไรในยุคปัจจุบัน ซึ่งตอนที่ผมเรียนหนังสือมันก็ยังมีภาพแบบนั้นอยู่ ตอนที่ผมออกมาก็ยังมีภาพแบบนั้นอยู่ แต่ไม่รุนแรงเท่ากับยุคของศรีบูรพา”

ด้าน อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ เล่าว่า เคยอ่านเล่มนี้นานมากแล้ว เห็นครั้งแรกตอนมัธยม และคิดว่า ‘มันไม่น่าสนุกแน่ๆ’ เลยมาอ่านตอนเรียนปริญญาตรี

“ครั้งแรกที่เปิด จำได้ว่าเจอตัวละครชื่อจัน แต่พอดูตัวอักษรแล้ว ดูไม่น่าสนุก ตอนเป็นเด็กผมมีความรู้สึกแบบนั้น พอมาอ่านตอนหลังก็ยังไม่รู้สึกว่าสนุก แต่มันก็เริ่มเห็นอะไร เริ่มเดาทาง หลายอย่างในเล่มนี้เป็นเหมือนบันทึกชีวิตของครูกุหลาบ ผมว่ามันเป็นชีวิตเขา ไม่ใช่อัตชีวประวัติ แต่เป็นนวนิยาย ผมว่าอาจจะไม่ใช่ครูกุหลาบทั้งหมด แต่มีความเป็นกุหลาบอยู่ อาจจะเก็บเอาชีวิตของคนอื่นที่เขาเคยเจอมาใส่ไว้ด้วย ดูจากโรงเรียนที่เขาเรียน วิธีคิด วิธีการของเขาที่แสดงต่อสังคม ผมว่ามันมีความเป็นกุหลาบมากเลย”

บ้านศรีบูรพา ย่านพญาไท กรุงเทพฯ (ภาพจากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ)

เสียงตะโกนหน้าโรงพัก

กับข้างหลังภาพ ‘ไอ้เสือ’ ในชะลอม

อาชญาสิทธิ์ ยังเล่าเรื่องราวน่าสนใจในเกร็ดชีวิตของศรีบูรพา ดังเช่นภาพเมื่อครั้งที่ออกจากเรือนจำ

“ตอนที่ศรีบูรพาออกมาจากคุกถือชะลอมออกมาด้วย มันจะมีภาพที่เราเห็นบ่อยๆ ของศรีบูรพา ที่ถือชะลอม และมีเพื่อนมารับ ผมดูภาพนี้ตอนแรกก็ไม่ได้สังเกต เห็นแค่ว่าถือชะลอม … พอดูดีๆ เห็นเป็นตาแมวอยู่ ถ้าเราสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเป็นแมวอยู่ในชะลอม ก็น่าสนใจเพราะว่าไม่รู้ว่าตอนศรีบูรพาอยู่ในคุกก็เลี้ยงแมวด้วย เลี้ยงตอนติดคุกครั้งที่สอง จริงๆ เรื่องศรีบูรพา ผมชอบอ่านเพราะว่ามันสนุก มันน่าสนใจ อย่างเช่นตอนติดคุกครั้งหลังก็หิ้วแมวออกมา”

นักประวัติศาสตร์ท่านนี้ ยังอ้างอิงคำบันทึกของ มนัส จรรยงค์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง ซึ่งเล่าว่าตอนยังหนุ่มไปทำงานกับศรีบูรพาซึ่งเป็น ‘รุ่นใหญ่’ แล้ว อยู่มาวันหนึ่งศรีบูรพาโดนจับไปจากโรงพิมพ์ พวกเด็กโรงพิมพ์ก็ร้องห่มร้องไห้ ซื้อเงาะตามไปเยี่ยม แต่ตำรวจไม่ให้เอาเงาะเข้า เพราะไม่รู้ว่าจะซ่อนอะไรไว้ในเงาะหรือเปล่า มนัสเข้าไปเยี่ยม เห็นศรีบูรพาร้องไห้ ตัดพ้อว่า ‘นี่ดูสิขนาดเด็กช่างเรียงเอาเงาะมาเยี่ยม ยังไม่ให้เรากินเลย’

“ตอนผมอ่านผมก็จะเห็นเลยว่า จริงๆ คุณกุหลาบที่ดูขึงขัง นักสู้ บางมุมท่านก็มีด้านอ่อนไหว คุณมนัสก็เลยบอกว่าไม่รู้จะช่วยอย่างไร ครูมาลัยที่เป็นเพื่อนรักของครูกุหลาบก็หายไปจากโรงพิมพ์หลายวัน คนในโรงพิมพ์ก็แซวว่าไหนบอกเป็นเพื่อนรักกันแต่อยู่ดีๆ ก็หายไป แล้วอยู่ดีๆ ครูมาลัยก็กลับมาบอกคุณมนัสว่า เดี๋ยวคุณมนัสไปบอกคุณกุหลาบนะว่า ไม่กี่วันนะแข็งใจรอสักนิดเดี๋ยวก็ได้ออกแล้ว

ต่อมาคุณมนัสก็ไปถามครูมาลัยว่าทำไมถึงกล้าไปบอกมาอย่างนั้น ปรากฏว่าครูมาลัยตอนสมัยหนุ่ม เป็นเพื่อนกับท่านผู้หญิงละเอียด สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามยังเป็นนายร้อยหนุ่ม ครูมาลัยก็ไปบอกว่าช่วยครูกุหลาบหน่อย จอมพล ป.เองก็รู้จักครูกุหลาบ แต่ตอนนั้นก็ต้องแอ๊กชั่นทางการเมืองหน่อย ที่ต้องจับครูกุหลาบก็เพราะว่า ครูกุหลาบไปเขียนวิพากษ์วิจารณ์ พอรู้อย่างนี้แล้ว ครูมนัสก็เลยไปตะโกนลั่นหน้าโรงพักว่า เดี๋ยวนะ ไม่นานนะ ได้ออกแน่ๆ ผมอ่านแล้วก็ตลก ครูมนัสเป็นคนโผงผาง ครูมาลัยก็เป็นคนนุ่มๆ ช้าๆ พูดยานๆ ส่วนครูกุหลาบจริงๆ เป็นคนขี้งอน ชอบร้องไห้ เราเคยเห็นภาพครูกุหลาบดูเข้มแข็ง แต่ท่านก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน” อาชญาสิทธิ์เล่า

ชุดถ้อยคำยุค 2490 ในแฟลชม็อบ 2563

‘มันไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้’

จากเกร็ดชีวิตอันเปี่ยมสีสัน ประเด็นสำคัญที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือสังคม การเมือง เรื่องความเปลี่ยนแปลง อาชญาสิทธิ์ ยกวาทะ ‘ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน’ ของศรีบูรพา โดยย้อนถึงต้นฉบับที่แท้จริงว่า ปรากฏในบทความ ‘มองนักศึกษา มธก.ด้วยแว่นขาว’

“ต้นฉบับเหมือนจะพูดว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะมหาวิทยาลัยของเขาสอนให้รักคนอื่นด้วย แต่ตอนหลังก็ได้มีการนำมาปรับ ผมว่าคนรุ่นหลังเขาอ่านศรีบูรพาแน่ ดูจากท่าทีการพูดของเขามันมีลีลาที่ทำให้ผมรู้เลยว่าเขาอ่านผลงานในยุคศรีบูรพาแน่ๆ แต่ไม่แน่ใจว่าเขาอ่านเล่มไหน น้องๆ มวลชนที่เขาเคลื่อนไหว ดูๆ แล้วที่เขาปราศรัย ผมว่ามันเป็นชุดถ้อยคำในยุค 2490 ผมว่าเขาได้อิทธิพลจากสิ่งนี้แน่นอน” อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

กลับมาที่เจ้าสำนัก ‘เม่นวรรณกรรม’ อีกครั้ง นิวัต ย้ำว่า อดีตที่เราศึกษามีประโยชน์มากในปัจจุบัน โดยนำเสนอคำกล่าวของศรีบูรพาที่ว่า ‘มันไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้’

“ในยุคนั้นการเปลี่ยนแปลงเป็นอะไรที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้ แล้วมันก็จะเปลี่ยนแปลงไป จะเป็นแบบไหนนั้น ก็เป็นเรื่องที่คนปัจจุบันจะต้องเรียนรู้กับมัน ผมว่า ‘แลไปข้างหน้า’ ที่ยังอ่านได้ในปัจจุบัน เพราะชัดเจนว่าอะไรที่ไม่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงมันก็เปลี่ยนแปลงแล้ว ส่วนความกลัวการเปลี่ยนแปลงมันเป็นไปไม่ได้เพราะทุกอย่างมันจะต้องเปลี่ยนไปแน่ๆ เพียงแต่จะเปลี่ยนแบบไหนเท่านั้นเอง”

จากซ้าย จรูญพร ปรปักษ์ประลัย, นิวัต พุทธประสาท, ชมัยภร แสงกระจ่าง และอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ใน วงเสวนา ‘แลไปข้างหลัง เล็งไปข้างหน้า อ่านศรีบูรพา 2564’ 

หนังสือ ‘การเมือง’ วันนี้ขายดี

แต่ไม่ใช่ ‘นิยายการเมือง’

อีกหนึ่งประเด็นในวงสนทนา คือการสร้างงานวรรณกรรมแบบศรีบูรพาในยุคปัจจุบัน ซึ่ง นิวัต มองว่า ยังมีการสร้างงานในลักษณะดังกล่าวอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เป็นรูปแบบศรีบูรพาเสียทีเดียว “ในยุคนี้ถ้าเขียนเป็นเรื่องของการเมืองแบบตรงๆ เลยก็อาจจะขายยากหน่อย อาจจะขายดีก็ได้ แต่ก็เสี่ยงถ้าเขียนให้มันถึงความเข้มข้นสูง อาจจะไม่ได้ขายยาก แต่จะเสี่ยงมากกว่า หนังสืออาจจะโดนเก็บ มันต้องใช้สัญลักษณ์ ในยุคนี้ถ้าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับชนชั้นยังมีอยู่ในจะไม่ใช่นวนิยาย เรามองว่าคนอ่านต้องการที่จะอ่านแบบที่ไม่ใช่นิยายการเมือง ต้องการความจริง ว่าสังคมเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้น ถ้าเรามองในยุคนี้ เด็กที่อ่านหนังสือแนวนี้ หนังสือวิชาการ เกี่ยวกับการเมืองกลับมาขายดี เราก็มองว่าคนตื่นตัวทางการเมือง แต่ในนิยายเรายังไม่สามารถเขียนตรงๆ ได้ ต้องใช้สัญลักษณ์แทน พูดง่ายๆ ก็คือมันยังไม่สะใจ

พอมองอย่างที่ศรีบูรพาเขียน ก็เขียนอย่างซื่อๆ ตรงๆ ไม่ต้องอ้อม ไม่ต้องตีความ สัญลักษณ์น้อยมาก แต่เราอยู่ในยุคใหม่เราอาจจะผ่านงานวรรณกรรมหลายแบบมา มันก็มีความซับซ้อนมากขึ้น หลายเรื่องมีประเด็นมากขึ้น เป็นไปตามสภาพสังคม ตอนนี้คนสนใจเรื่องการเมือง แต่สนใจแบบเป็น non-fiction มากกว่า คือแบบที่ไม่เป็นนิยาย แต่ถ้าเป็นนิยายการเมือง ผมคิดว่ายังต่ำอยู่ ในแง่ของนักเขียนเองก็ยังมองว่ายังมีน้อยมาก จริงๆ แล้วในประเทศไทยมีนักเขียนในแต่ละแนวน้อย ตลาดของการอ่านหดลงมา แล้วยังต้องไปสู้กับตลาดที่เป็นเรื่องแปล ทำให้มันเหลือพื้นที่น้อยลง เพราะฉะนั้นคนที่เขียนนิยายการเมือง ยิ่งมีพื้นที่น้อยมาก ผมว่าตอนนี้แค่จะเอาไปเสนอกับสำนักพิมพ์ยังยากมาก” นิวัตกล่าว ทั้งยังสนับสนุนให้คนเขียนวรรณกรรมค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารให้มากๆ แล้วจะพบว่ายังมีเรื่องที่น่าเขียนอีกมหาศาล และ ‘ความจริง’ ก็มีหลายชุด

“ข้อมูลที่เป็นความจริงในแต่ละยุคสมัย มันส่งผลต่อการยอมรับในแต่ละยุคสมัย ความจริงบางชุดในยุคสมัยหนึ่งคนรับได้ แต่บางชุดคนในยุคนั้นรับไม่ได้ แต่คนในยุคนี้รับได้ ความจริงก็เลยมีมิติ

มันมีความจริงหลายชุดมาก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image