13 มกรา 63 ถึง 13 เมษา 64 ปีนี้ ‘สงกรานต์ (ก็ยัง) ไม่เหมือนเดิม’

ความมันส์สุดเหวี่ยงบนถนนสีลม ในสงกรานต์ 62 ภาพที่หายไปจนถึงวันนี้

ต้นปี 2563

13 มกราคม ไทยพบผู้ป่วยรายแรก เป็นหญิงชาวจีน มาจากเมือง “อู่ฮั่น”

28 มกราคม รัฐบาลตั้ง อนุทิน ชาญวีรกูล นั่งเก้าอี้หัวหน้าทีมสู้โคโรนาในช่วงเวลาที่คำว่า “โควิด-19” ยังไม่แพร่หลาย

31 มกราคม พบรายแรกติดเชื้อโคโรนาในไทย

Advertisement

4 กุมภาพันธ์ ขน 138 คนไทยในอู่ฮั่นกลับประเทศ

นี่คือข้อมูลจาก “บันทึกประเทศไทย” พงศาวดารร่วมสมัยฉบับประชาชน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เผยแพร่ไทม์ไลน์นับแต่มีผู้ป่วยด้วยเชื้อโรคแห่งศตวรรษในไทยเป็นรายแรก

จากวันนั้นถึงวันนี้ วันที่ปฏิทินตรงกับ 13 เมษายน 2564 กว่า 1 ปีที่โลกหมุนไปพร้อมสถานการณ์ป่วนปั่น รอวันคลี่คลาย แม้มีวัคซีนออกมาให้ได้ใช้ แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังขยับไม่หยุด

Advertisement

ตัวเลขเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 เมื่อเวลา 06.00 น. เว็บไซต์ www.worldometers.info/coronavirus/ รายงานว่า ล่าสุด มีผู้ป่วยยืนยัน 124,762,036 ราย, รักษาหายกลับบ้านแล้ว 100,688,780 ราย ขณะที่ผู้ป่วยที่ยังรักษาใน รพ. มีจำนวน 21,328,388 ราย และยอดผู้เสียชีวิต 2,744,868 ราย

ในวันเดียวกันนั้นเอง เฟซบุ๊กเพจ “ไทยคู่ฟ้า” ยังระบุว่า “การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีอยู่ แต่สถานการณ์ต่างๆ มีแนวโน้มดีขึ้น”

พร้อมเผยแพร่ข้อมูลการจัดงานสงกรานต์ 2564 ที่รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 12 เมษายน 2564 เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษจึงกลายเป็นวันหยุดยาว 6 วัน ไม่ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แต่ขอให้งดรวมกลุ่มสาดน้ำ

โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ถนนคนเดิน เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวมาจับจ่าย ก่อนฝันสลายหลัง “ทองหล่อคลัสเตอร์” ท่ามกลางความเจ็บปวด โกรธเกรี้ยว ทุกข์ยากของภาคประชาชน

‘บุนปีใหม่’ หรือสงกรานต์ใน สปป.ลาว เดินทางได้ตามปกติภายใต้มาตรการสกัดโควิดเคร่งครัดหลังได้รับวัคซีน ‘ซิโนฟาร์ม’ 3 แสนโดสจากจีน เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามด้วย ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ซึ่งผลิตจากสถาบันวัคซีนในอินเดีย เมื่อ 20 มีนาคม (ภาพจาก ศูนย์ข่าวสารการแพทย์สุขศึกษาสปป.ลาว)

10 เมษายน 33 จังหวัด ประกาศให้คนเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัว ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ ลำพูน อุทัยธานี ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี ชัยนาท สระบุรี สิงห์บุรี ชุมพร ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พังงา สงขลา และสตูล

เป็นอีก 1 ปีที่สงกรานต์ยังคงไม่เหมือนเดิม

ย้อนไปเมื่อสงกรานต์ 2563 ปีแรกแห่งความเปลี่ยนแปลงที่แทบตั้งตัวกันไม่ทัน เมืองท่องเที่ยวหลักร้างผู้คน ไม่ว่าจะพัทยา ภูเก็ต โดยเฉพาะเชียงใหม่ ซึ่งในวันประเพณี “ปี๋ใหม่เมือง” หากสถานการณ์ปกติถือเป็นวันมหาสงกรานต์ ชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวจะออกมาเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างเนืองแน่นนับหมื่นคน บริเวณรอบคูเมือง รวมทั้งมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวล้านนา ออกมาจากวิหารวัดพระสิงห์ อ.เมืองเชียงใหม่ แห่ขบวนไปพร้อมกับพระพุทธรูปของวัดต่างๆ ไปยังรอบเมืองเชียงใหม่ ให้ทุกคนใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยรด เพื่อขอความมีสิริมงคลให้กับผู้สรงน้ำ

ปี๋ใหม่เมือง 63 เงียบเชียบอย่างไร ปี๋ใหม่เมือง 64 มีแววไม่ต่าง ซ้ำยังวุ่นกว่าปีก่อนเมื่อพบผู้ติดเชื้อโควิดสะสมทั้งสิ้นเฉียด 400 ราย ก่อนเข้าสู่วัน“สังขานต์ล่อง” เพียงไม่กี่วัน พร้อม 4 ร้านเสี่ยง

เหล่า “ลูกช้าง” นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ติดกันเพียบ

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่มีมติให้ออกคำสั่งใหม่สั่งให้ปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยกจังหวัดเป็นเวลา 14 วัน พร้อมทั้งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านอาหาร มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 10-23 เมษายน 2564

หันไปดูประเทศเพื่อนบ้าน สงกรานต์ในปีก่อน สปป.ลาว ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ มีคำสั่งห้ามจัดฉลอง บุนปีใหม่ลาว ตั้งแต่ 20 มีนาคม 63 ห้ามสาดน้ำบนถนน งดก่อพระเจดีย์ทราย ใครไปวัดเพื่อสรงน้ำพระ เจ้าหน้าที่ดูแลเข้มงวด ให้อยู่ในอารามครั้งละไม่เกิน 40 คน อีกทั้งมีการรณรงค์ให้สรงน้ำพระพุทธรูปอยู่เฮือน ซึ่งก็คือสรงน้ำพระอยู่ที่บ้าน สอดคล้องสถานการณ์ที่สั่งให้คน #stayathome แต่เปิดช่องให้ดำเนินตามฮีตคอง หรือจารีตประเพณีจำพวกบายศรีสู่ขวัญได้

ขณะที่ในปีนี้ นอกจาก สปป.ลาว จะคุมโควิดได้ดี ยังมี “วัคซีน” ฉีดไว โดยได้รับการสนับสนุนแบรนด์ “ซิโนฟาร์ม” 3 แสนโดสจากมหามิตรอย่างจีน โดยแลนดิ้งพร้อมเข็มฉีดยาที่สนามบินวัดไตสากล นครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งแต่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นับว่าลาวเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือด้านวัคซีนจากรัฐบาลจีน

ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 เมษายน จาก ศูนย์ข่าวสารการแพทย์สุขศึกษา สปป.ลาว มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 49 คน จากการตรวจ 140,510 คน กำลังรักษาตัว 2 คน รักษาหายแล้ว 47 คน

ส่วน “บุนปีใหม่” ในปีนี้ต่างจากสถานการณ์ในไทย เพราะสามารถสาดน้ำได้ ภายใต้ข้อแนะนำ “รักษาระยะห่าง 1 เมตร”

ด้าน “เมียนมา” ในปี’63 ประกาศงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวไปจนถึง 30 เมษายน รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ที่เรียกว่า “ตะจาน” อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น่าห่วงของปี’64 ในเมียนมา หาใช่โควิดที่จะมาพรากชีวิตผู้คน หากแต่เป็นความรุนแรงจากกองทัพพม่าที่ฟาดฟันผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จนพลีชีพแล้วหลายร้อย

ย้อนกลับมาที่ไทยแลนด์แดนโควิดระลอกใหม่ ซึ่งเมื่อเปิดปฏิทินย้อนหลังครั้งโรคระบาดยังไม่บุกฟาดฟันมวลมนุษยชาติ

28,000 ล้านบาท คือตัวเลขที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการสะพัดของเม็ดเงินในสงกรานต์เมื่อปี 2562 โดยเติบโตจากปีก่อนหน้า 2.2% และเป็นการใช้จ่ายทั้งของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

กระทั่งปี 2563 ในวันที่สงกรานต์ “ไม่เหมือนเดิม” เศรษฐกิจทรุดหนัก โลกหยุดนิ่ง ไร้การเดินทางท่องเที่ยว หลายประเทศล็อกดาวน์ ไทยเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ไปเป็นช่วงปลายปี

ฉวีวรรณ ฉกาจวชิรา หรือ ‘เจ้ปู’ เจ้าของร้าน ‘น้องบีบี๋’ ทั้งที่สาขาซอยตรอกจันทร์ อำเภอเมืองนครราชสีมา และอีกสาขาที่สำเพ็งโคราช บอกว่า‘เสื้อลายดอก’ เหลือเพียบ นับแต่สงกรานต์ 63 จนถึงปีนี้ ในสต๊อก 3 หมื่นตัวขายได้ไม่ถึงครึ่ง

ส่วนในปี 2564 ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 จำนวน 1,256 ตัวอย่าง ได้บทสรุปว่า สงกรานต์ 64 เงินจะสะพัดเพียง 1.1 แสนล้านบาท เพราะคนยังกลัวโควิดไม่กล้าใช้เงิน กิจกรรมส่วนใหญ่ทำบุญ อยู่กับครอบครัว

หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ถือว่าลดลง 16.6% เมื่อเทียบกับสงกรานต์ปี 2562 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 ที่มีมูลค่าการใช้จ่าย 114,119 ล้านบาท โดยไม่นับสงกรานต์ปี 2563 เนื่องจากงดการจัดกิจกรรมสงกรานต์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของ “คนกรุงเทพฯ” ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท ยังคงหดตัวที่ 4.0% เมื่อเทียบกับสงกรานต์ปี’62 (ปี 2563 มีการเลื่อนวันหยุดสงกรานต์) โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และค่าเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน และเดินทางกลับไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ยังมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐที่เข้ามาช่วยหนุนค่าใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มได้บางส่วน แต่ผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดที่ยังไม่คลี่คลาย

ทว่า นั่นเป็นบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ออกมาตั้งแต่วันที่ 1 และ 2 เมษายนตามลำดับ ก่อนมหกรรมข่าวรัฐมนตรีเที่ยวสถานบันเทิงที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำนักย้ำหนาอย่าเรียก “ไทยคู่ฟ้าคลับ” พร้อมย้ำว่าสงกรานต์ปีนี้ควรรดน้ำคนที่บ้าน นอกจากไหว้พระแล้วต้องทำกุศลให้คนอื่นปลอดภัยด้วย

“สงกรานต์ปีนี้ขอให้เป็นสงกรานต์ปลอดภัยแบบ New Normal การไปรดน้ำพระหรือไปที่ที่มีคนจำนวนมากยังอันตรายทั้งหมด จึงขอให้รดน้ำคนที่บ้าน นอกจากไหว้พระแล้วต้องทำกุศลให้คนอื่นปลอดภัยด้วย มีจิตสำนึกรู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเป็นห่วงในช่วงรอมฎอนด้วย ขอให้ระมัดวังที่สุด เพราะสถานการณ์โควิดทั่วโลกยังไม่หยุด มีคนติดเพิ่มเป็นหมื่นๆ บางประเทศตายเป็นแสนๆ แต่ของเราไม่ได้จะว่ามากหรือน้อย เพราะชีวิตคือชีวิต” นายกรัฐมนตรีไทยกล่าว

โควิดระลอกนี้ยังดับฝัน พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีถ้อยแถลงในช่วงปลายเดือนมีนาคม ว่าเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาว รวม 6 วัน ระหว่างวันที่ 10-15 เมษายนนี้ รัฐบาลได้อนุญาตให้สามารถจัดกิจกรรมได้ จึงเชื่อว่าปีนี้สงกรานต์คึกคัก

เป็นอีกหนึ่งปีที่สงกรานต์ไทยไม่เหมือนเดิม ส่วนปีหน้าจะเป็นอย่างไร ยังไม่กล้าจะคาดเดา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image