24 ชั่วโมงก่อน 6 ตุลา ถึงนาทีล้อมปราบ โศกนาฏกรรม 45 ปีที่ไม่อาจลืม

อีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงข้างหน้า จะเข้าสู่วันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2564

ครบ 45 ปี การล้อมปราบนักศึกษา ประชาชน

โศกนาฏกรรมที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ แม้มีความพยายามลบความทรงจำ ทว่า สังคมไทยไม่ศิโรราบด้วยการลืม โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่เติบโตในยุคข้อมูลข่าวสาร ช่องทางออนไลน์คือโลกใบใหญ่ที่ไม่อาจปกปิดซึ่งข้อเท็จจริงได้อีกต่อไป

วีรชน 6 ตุลา ‘รุ่นพี่’ ที่สู้มาก่อน กลายเป็นส่วนหนึ่งของถ้อยคำปราศรัย มีการชูภาพถ่ายผู้สละชีพในครั้งนั้น ไม่เพียงนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่นักเรียนมัธยมยังออกมาถามหาความยุติธรรมที่สูญหายกว่า 4 ทศวรรษ

เปิดปฏิทินย้อนไปในช่วงเวลาก่อนที่เข็มนาฬิกาจะเข้าสู่วันที่ 6 ตุลาคม 2519

มีเหตุการณ์มากมายก่อนนำไปถึงห้วงเวลาแห่งความวิปโยค

โครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ฐานข้อมูลที่รวบรวม เรียบเรียง กระทั่งชำระสอบทานข้อเท็จจริงอันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ดังกล่าว เปิดเผยลำดับเรื่องราว ผ่านเว็บไซต์ชื่อเดียวกัน สะท้อนสถานการณ์ที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับ

นับแต่การแขวนคอ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย 2 ช่างไฟฟ้าที่ไปติดโปสเตอร์ต่อต้านพระถนอม กิตติขจร เมื่อ 24 กันยายน 2519 จนถึงการชุมนุมที่สนามหลวง พร้อมๆ กับญาติวีรชนซึ่งอดอาหารประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 1 ตุลาคม รุ่งขึ้น กลุ่มนวพลปฏิญาณตนปกป้องชาติ ชุมนุมที่สนามไชย ปราศรัยต้านคอมมิวนิสต์ ต่อมาในช่วงกลางดึก คนร้ายยิงปืนเอ็ม 79 เข้าไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Advertisement
‘กล่องฟ้าสาง’ นิทรรศการว่าด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนหลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึงวันสุดท้ายก่อนเกิดโศกนาฏกรรมวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ‘บันทึก 6 ตุลา’ จัดทำเพื่อหาทุนจัดงาน “5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง” จำหน่ายหมดแล้วอย่างรวดเร็ว

4 ตุลาคม 2519 มีการชุมนุมที่ลานโพธิ์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ประท้วงด้วยการไม่เข้าสอบ มีการอภิปรายและการแสดงละครเกี่ยวกับกรณีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้านครปฐม โดยชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) นำโดย สุธรรม แสงประทุม และแนวร่วมต่อต้านเผด็จการฯ นัดชุมนุมที่สนามหลวง ช่วงเย็นวันนั้น ฝนตกหนัก แต่ประชาชนยังปักหลักนับหมื่น ก่อนที่จะย้ายเข้าไปชุมนุมในธรรมศาสตร์ พร้อมประกาศว่าจะไม่สลายตัวจนกว่าพระถนอมจะออกจากประเทศไทย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีธรรมศาสตร์ โดยความเห็นชอบของ ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ นายกสภามหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์สั่งปิดมหาวิทยาลัยในเวลาราว 3 ทุ่มตรง

นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมาณ 700 คน เดินขบวนต่อต้านพระถนอม แล้วไปชุมนุมที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด ส่วนที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีนักศึกษาเปิดอภิปรายต่อต้านพระถนอม ในขณะที่จังหวัดขอนแก่น นักศึกษาเผาหุ่นพระถนอม

และบรรทัดถัดจากนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 จนถึงห้วงเวลาที่กระสุนนัดแรกถูกยิงออกจากกระบอกปืนพรากชีวิตมากมายที่ไม่อาจหวนคืน

ตำรวจล้อมปราบ สั่งคลาน ลำเลียงประชาชนขึ้นรถเมล์และสองแถวส่งฝากขังกว่า
3,000 คน

จาก‘ลานโพธิ์’ถึงสนามหลวง ประท้วงนับหมื่น

‘ดาวสยาม-ยานเกราะ’ ปลุกระดม

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ลงรูปกรณีเล่นละครของนักศึกษาที่ลานโพธิ์ มีรูป อภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษา ปี 2 คณะรัฐศาสตร์ และ วิโรจน์ ตั้งวานิชย์ นักศึกษา ปี 4 คณะศิลปศาสตร์ แสดงละครถูกแขวนคอ ซึ่งเป็นการเสียดสีกรณีช่างไฟฟ้า 2 คน ถูกฆ่าแขวนคอที่นครปฐม

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มเคลื่อนขบวนมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ มีการประกาศงดสอบทุกสถาบัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ที่ทำพร้อมกันทั่วประเทศ ในช่วงเย็น จำนวนผู้ร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้นนับหมื่นคน จึงย้ายการชุมนุมจากบริเวณลานโพธิ์ไปยังสนามฟุตบอล

13.30 น. นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเตรียมออกเดินทางไปสมทบที่ธรรมศาสตร์ 25 คันรถ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม กรอบบ่าย มีเพียง 4 หน้า นำรูปละครแขวนคอมาปลุกระดม

20.35 น. ชมรมวิทยุเสรี ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง โดยกล่าวถึงนักศึกษาประชาชนว่า ‘กลุ่มคนก่อความไม่สงบ’ นอกจากนี้ ยังระบุว่า

“ชมรมวิทยุเสรีคัดค้านการกระทำดังกล่าวในทุกๆ กรณี ขอให้รัฐบาลจัดการกับผู้ทรยศเหล่านี้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการนองเลือดอันอาจจะเกิดขึ้น หากให้ประชาชนชุมนุมกันแล้วอาจมีการนองเลือดขึ้นก็ได้”

21.00 น. ตำรวจสั่งให้ประธานลูกเสือชาวบ้าน แจ้งแก่บรรดา ลส.ชบ.ที่ชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณพระบรมรูปทรงม้าว่า ให้ฟังสถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีก่อนการเคลื่อนไหว

ไล่ล่าพร้อมอาวุธ รวบตัวผู้บริสุทธิ์ที่หนีตายในอาคารต่างๆของ ม. ธรรมศาสตร์

21.30 น. ประยูร อัครบวร รองเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ ศนท.ได้แถลงที่ อมธ. พร้อมกับนำ อภินันท์ บัวหภักดี และ วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ สมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแสดงความบริสุทธิ์ใจ

ประยูร รองเลขาธิการฝ่ายการเมือง ศนท.กล่าวว่า

“ทางนักศึกษาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมสถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยามจึงให้ร้ายป้ายสีบิดเบือน…”

21.40 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 แจ้งว่าตามที่ได้มีการแสดงละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมศกนี้ รัฐบาลได้สั่งให้กรมตำรวจดำเนินการสอบสวนกรณีนี้โดยด่วนแล้ว

24.00 น. กรมตำรวจประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่

เสียงปืนนัดแรก ตชด.ล้อมธรรมศาสตร์

ติดตั้งอาวุธในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

กลางดึก เมื่อเข้าสู่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลา 01.40 น. กลุ่มคนประมาณ 100 ราย ได้บุกเข้าไปเผาแผ่นโปสเตอร์หน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฝั่งสนามหลวง กลุ่มคนที่อออยู่หน้าประตูพยายามบุกปีนรั้วเข้าไป เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นและมีการยิงตอบโต้ประปรายแต่ไม่มีใครบาดเจ็บ

02.00 น. กลุ่มนวพลในนาม ศูนย์ประสานงานเยาวชน มีแถลงการณ์ความว่า “ขอให้รัฐบาลจับกุมกรรมการ ศนท. ภายใน 72 ชั่วโมง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้ นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด”

03.00 น. สถานีวิทยุยานเกราะยังคงออกรายการตลอดทั้งคืน ขณะที่ในธรรมศาสตร์ยังมีการอภิปรายและแสดงดนตรีต่อไป

ราว 04.00 น. ตำรวจตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร หัวหิน เดินทางมาถึง ยกกำลังเข้าล้อมมหาวิทยาลัยจากทางด้านสนามหลวง และนำกำลังติดอาวุธไปตั้งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ยิงเอ็ม 79 กลางสนามบอล

พรากชีวิต 4 ศพแรก

05.30 น. ระเบิดเอ็ม 79 ลูกแรก ถูกยิงมาจากฝ่ายตำรวจนอกมหาวิทยาลัย ตกกลางผู้ชุมนุมที่สนามฟุตบอล มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศว่า พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นคำขาดต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลดำเนินการตามกฎหมายต่อ ศนท. ที่หากมีรัฐมนตรีหรือนักการเมืองคนใดเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็ให้จับกุมและลงโทษตามกฎหมายทันทีฃ

สุธรรม แสงประทุม พร้อมกรรมการ ศนท. และตัวแทนชุมนุมนาฏศิลป์ เดินทางไปขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

ทั้งหญิงและชายถูกสั่งถอดเสื้อ นอนราบบนพื้นสนามฟุตบอล

รัฐระดมยิง ประชาชนหนีตาย

หลบในอาคาร ยังถูกไล่ล่า

ราว 07.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยอย่างหนัก จากด้านหน้าหอประชุมใหญ่ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้ชุมนุมนับพันคน ต้องหนีเข้าไปหลบในอาคารรอบสนามฟุตบอล มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน

07.00 น. ฝูงชนที่อออยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัยพยายามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยใช้รถบัสสองคันขับพุ่งเข้าชนประตู

07.50 น. ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และตำรวจท้องที่ ล้อมอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย โดยมี พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ และพล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท มาถึงที่เกิดเหตุและเข้าร่วมบัญชาการ

08.10 น. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวนชายแดน อาวุธครบมือเตรียมบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียงปืนดังรุนแรงตลอดเวลา ตำรวจประกาศให้นักศึกษายอมจำนน นักศึกษาหลายคนพยายามวิ่งออกมาข้างนอก ถูกประชาชนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์

08.18 น. ตชด.เข้าประจำการแทนตำรวจท้องที่ และมีกำลังใหม่เข้ามาเสริมอีก 2 คันรถ

08.25 น. ตชด.บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ และได้พยายามเข้าจับกุมฝ่ายผู้ชุมนุมที่หลบตามอาคารรอบสนามฟุตบอล

ตำรวจล้อมปราบ สั่งคลาน ลำเลียงขึ้นรถเมล์และสองแถว ส่งฝากขังกว่า 3,000 คน

ยึดธรรมศาสตร์สำเร็จ

สั่งหญิง-ชายถอดเสื้อ นอนคว่ำ ส่งขังนับพัน

10.30 น. หลังจากตำรวจบุกยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว นักศึกษาประชาชนถูกสั่งให้นอนคว่ำ แล้วควบคุมตัวไว้ทยอยลำเลียงขึ้นรถเมล์และรถสองแถวมากกว่า 3,000 คน ส่งไปขังตามสถานีตำรวจต่างๆ โดยมี 3 แหล่งหลัก ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี และ รร.ตำรวจนครบาลบางเขน นักศึกษาชายและหญิงถูกบังคับให้ถอดเสื้อ นักศึกษาหญิงเหลือแต่เสื้อชั้นใน เอามือกุมหัว นอนคว่ำคลานไปตามพื้น ถูกเตะถีบ ด่าทออย่างหยาบคาย

11.50 น. สำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล

12.00 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์สรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์การปะทะกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว และรัฐบาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด

12.30 น. กลุ่มลูกเสือชาวบ้านและประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนชุมนุมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

นิสิตจุฬาฯ ประมาณ 3,000 คน ชุมนุมกันภายในบริเวณมหาวิทยาลัย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ชี้แจงถึงเหตุการณ์จลาจลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 1.เรียกร้องให้ชี้แจงประชาชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2.เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด 3.ยืนยันว่าหากเกิดรัฐประหาร พวกตนจะต่อสู้ถึงที่สุด 4.ยืนหยัดในการขับพระถนอมออกนอกประเทศ

บ่ายวันนั้นมีการประชุม ครม.นัดพิเศษ พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ และพล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ เข้าชี้แจงเหตุการณ์ต่อที่ประชุม ครม.

14.20 น. ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าส่วนหนึ่ง ประมาณ 4,000 คน เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล และส่งตัวแทน 5 คน เข้าพบนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ปรับปรุง ครม. และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะพิจารณาดำเนินการ

17.00 น. ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่สลายตัว

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจ

18.00 น. พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจ ความว่า “ขณะนี้ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม เป็นต้นไป และสถานการณ์ทั้งหลายตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน…” นิสิตนักศึกษาบางกลุ่ม เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเข้าจับกุมก็ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธร้ายแรงที่ใช้ในราชการสงคราม โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนาม

ทั้งนี้ โครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ได้สรุปความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ตามตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บ 145 คน ในจำนวนนี้เป็นตำรวจเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 23 คน นักศึกษาประชาชนถูกจับกุม 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน หญิง 662 คน

ขณะที่แหล่งข่าวอ้างอิงจากการเก็บศพของเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ประมาณว่ามีนักศึกษาประชาชนเสียชีวิต 530 คน ส่วนทรัพย์สินจากการสำรวจของคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีครุภัณฑ์และวัสดุของคณะต่างๆ เสียหายเป็นมูลค่า 50 กว่าล้านบาท

สั่งฟ้อง นิรโทษกรรม รับขวัญ ‘ผู้บริสุทธิ์’

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวราว 1 ปี อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ พิจารณาสำนวนสอบสวนแล้ว มีคำสั่งฟ้องนักศึกษาและประชาชนเป็นผู้ต้องหาจำนวน 18 คน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2520 ต่อมา ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ทั้ง 18 คน ได้รับการนิรโทษกรรม พร้อมกับผู้ต้องหาในศาลอาญาอีก 1 คน คือนายบุญชาติ เสถียรธรรมมณี ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2521 อีก 2 วันต่อมา สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สมธ.) ร่วมกับสโมสรนักศึกษา 8 แห่งจัดงานรับขวัญ “ผู้บริสุทธิ์ 6 ตุลา” ที่ลานโพธิ์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2521

เป็นความทรงจำที่มีทั้งประจักษ์พยาน หลักฐานลายลักษณ์ และบาดแผลที่ยังทิ้งร่องรอยไม่เลือนหาย ส่งแรงกระเพื่อมต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image