‘มันไม่ใช่แค่พอร์ตเทรต’ Keep in the dark ใบหน้าของแสงสว่างอันท้าทายความมืดมิด (คลิป)

‘มันไม่ใช่แค่พอร์ตเทรต’ Keep in the dark ใบหน้าของแสงสว่างอันท้าทายความมืดมิด
ปรีดี พนมยงค์
พริ้ม บุญภัทรรักษา
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
ปนัดดา ‘ต๋ง’ ศิริมาศกูล
ภัสราวลี ‘มายด์’ ธนกิจวิบูลย์ผล
ภาสกร อินทุมาร
กรกนก ‘ปั๊บ’ คำตา
อินทิรา ‘ทราย’ เจริญปุระ
ณัฐพงษ์ ‘แก้วใส’ ภูแก้ว
ฯลฯ

ไม่ว่าจะคุ้นหู ในฐานะบุคคลสำคัญของชาติ หรืออาจไม่เคยได้ยินมาก่อน

ไม่ว่าจะล่วงลับ หรือมีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาร่วมสมัย

เหล่านี้คือเจ้าของใบหน้าบนผนังหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถนนหน้าพระลาน ในนิทรรศการศิลปะ Keep in the dark ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา

Advertisement

วันเดียวกับการวางลวดหนามในเกาะรัตนโกสินทร์ เนื่องด้วยตรงกับวาระรำลึก 48 ปีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ส่งผลให้มวลมหาประชาราษฎร์ผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานตัดริบบิ้นต้องฝ่าลวดหนามหีบเพลงสู่ถนนหน้าพระลาน ดื่มด่ำประสบการณ์เข้ากับธีมงานอย่างน่าอัศจรรย์ ขำขัน และขมขื่น

นี่คือ ‘งานเดี่ยว’ ครั้งใหญ่ที่เช็กอิน ‘ประเทศไทย’ ในรอบ 8 ปีของ ตะวัน วัตุยา ศิลปินผู้เดินทางไกลไปทั่วโลกด้วยผลงานสีน้ำอันมีเอกลักษณ์ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

Advertisement

ท่ามกลางนิทรรศการที่กอปรขึ้นด้วยงานศิลปะอันมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่

สถานการณ์การเมืองไทยก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น

ยาใจ ทะลุฟ้า

20 ตุลาคม ราว 1 สัปดาห์หลังเปิดนิทรรศการ ‘ยาใจ ทะลุฟ้า’ ซึ่งเพิ่งมายืนจ้องตากับภาพของตนบนผนัง ถูกควบคุมตัวเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในฐานะนักโทษชายที่มีชื่อตามบัตรประชาชนว่า นายทรงพล สนธิรักษ์

บุคคลในภาพ กลายเป็นจำนวนนับของประชากรในกรงขังเพียงเพราะความเห็นต่าง

คือเหตุการณ์คู่ขนานที่เกิดขึ้นจริง ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการอย่างน่าเศร้า

จำนวนนับในเรือนจำ

บุคคลในภาพที่ไม่เคยเงียบเสียง

สุรีรัตน์ ชิวารักษ์

“ยังคุยกับน้องๆ เลยว่า มาลองนับคนที่มีรูปตรงนี้ ว่าอยู่ข้างนอกกี่คน อยู่ในเรือนจำกี่คน แล้วเมื่อไหร่จะหยุดจับสักที เมื่อไหร่จะปล่อยเด็กออกมาสักที ….เยาวชนถูกจับเยอะขึ้นเรื่อยๆ อายุน้อยลงเรื่อยๆ อีกหน่อยเด็ก 3 ขวบคงถูกจับ”

เป็นความรู้สึกในใจของ สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ ในวันเข้าชมนิทรรศการตั้งแต่รอบสื่อมวลชน 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ในฐานะ ‘ราษมัม’ มารดาแกนนำที่ถูกจองจำครั้งแล้วครั้งเล่า อย่าง ‘เพนกวิน’ หรือ พริษฐ์ ชิวารักษ์

ตะวัน วาดภาพ ‘แม่สุ’ ที่จังหวัดสระบุรี ระหว่างกิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า’ จากโคราชเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มก้าวแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในวันที่ผมยาวสลวยดำขลับยังไม่ถูกโกนหน้าศาลอาญารัชดาภิเษก เพื่อประท้วง ทวงสิทธิประกันตัวให้ลูกชาย

ติดบนชั้น 2 ของหอศิลป์ เคียงข้างด้วยภาพผู้หญิงอีกหลายท่านที่มีชะตาชีวิตไม่ต่างกันในฐานะแม่ของนักต่อสู้

ไมค์ ภาณุพงศ์
อานนท์ นำภา

ส่วนภาพ ‘เพนกวิน’ ที่ติดตั้งไว้บนโถงกลางไม่ไกลกัน ถูกวาดขึ้นจากภาพข่าวเมื่อคราวถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 2 เชิดหน้าชู 3 นิ้วท่ามกลางผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ก่อนประกาศอดอาหารในเวลาต่อมา ถัดออกไปเป็นภาพ ‘อานนท์ นำภา’ ทนายความผู้ฝังใจกับ ‘สาย สีมา’ ในนวนิยายปีศาจ จึงออกอาละวาดเผด็จการในโลกความจริงจนถูกจองจำ ล่าสุด ถูกปฏิเสธการให้สิทธิประกันตัวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ว่า

‘ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’

เจ้าตัวจึงยังไม่มีโอกาสได้เห็นภาพของตนที่ตระหง่านอยู่บนท้องพระโรงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งวันนี้กลายเป็นหอศิลป์ของสถาบันการศึกษาด้านศิลปะที่เก่าแก่

ยุพิน มะณีวงศ์

เช่นเดียวกับอีกหลายคนในภาพที่ยังอยู่ในเรือนจำ หนี่งในนั้นคือ ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่ง ตะวัน วาดภาพสดของเขารวมถึงมารดาขณะเดินทะลุฟ้า

“ดีใจ ไม่คิดว่าจะได้เข้ามาเยี่ยมชม ชีวิตปกติอยู่แต่ชนบท อยู่แต่กับไร่ กับนา มาศิลปากรครั้งแรก ทุกที่ในเมืองเป็นครั้งแรกของแม่หมด ภูมิใจในตัวของทุกคนที่ร่วมกันสู้” ยุพิน มะณีวงศ์ แม่ไมค์กล่าวขณะมองภาพของตนและลูกชายด้วยแววตาที่ไม่เคยสิ้นหวัง ไม่ต่างจากทุกครั้ง

ไม่เพียงแม่ของนักต่อสู้ผู้ถูกจองจำ ‘พ่อ’ ผู้สูญเสียอย่าง พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ซึ่งไม่มีวันได้พบหน้า ‘น้องเฌอ’ อีกแล้ว หลังเหตุสลายชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 ก็เป็นอีกหนึ่งใบหน้าในผลงานศิลปะชุดนี้

พันธ์ศักดิ์ และ ตะวัน

พ่อน้องเฌอแวะเข้าชมก่อนขอตัวไป ‘ยืน หยุด ขัง’ (รอบ 2) เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้นักต่อสู้ที่หน้าศาลฎีกา ณ พื้นที่ซึ่งกลุ่ม ‘พลเมืองโต้กลับ’ สถาปนาชื่อว่า ‘ลานอากง’ ต่อเนื่องมาแล้วเกือบ 70 วัน

คนข้างในถูกโซ่ตรวนพันธนาการอิสรภาพ คนข้างนอกยังสู้ทุกวินาทีแม้ในยามหลับ ก็ยังฝันถึงพรุ่งนี้ที่ดีกว่า ดังปรากฏในคำปราศรัยนับไม่ถ้วนเวทีตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

แก๊สน้ำตา ลวดหนาม กระสุนยาง กระทั่งซี่กรงเหล็กแน่นหนา เป็นเพียงคำนามในพจนานุกรมของนักต่อสู้ที่ไม่ปรากฏคำว่า ‘ศิโรราบ’

ภาพสีน้ำ ‘คอนเทนเนอร์’ หลากสีสันตัดกับหญ้าเขียวขจีบนท้องสนามหลวง บริเวณชั้นล่าง ย่อมไม่ถูกนับเป็นอุปสรรค ในทางกลับกัน ได้กลายเป็นสัญญะบางประการที่สำคัญยิ่ง

7 ปีในความมืด เมื่อเผด็จการ ‘สับคัตเอ๊าต์’

สถานการณ์เหล่านี้ ที่แม้ไม่เจาะจงพรรณนาถึงการต่อสู้ที่เปรียบเสมือนแสงสว่างกลางความ ‘มืดมิด’ ผู้คนหากยังมีหัวใจที่ไม่ได้ใช้เป็นเพียงอวัยวะสูบฉีดโลหิตย่อมรู้สึกได้ถึงความผิดปกติที่โลกสากลไม่ยอมรับ นับแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2557

กลุ่มบุคคลบนหน้าจอโทรทัศน์ นั่งเรียงหน้าอ่านประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงวันนี้ เข้าสู่ปีที่ 8 นำพาประเทศไปในทางที่ประชาชนมากมายร่วมกันร้องเพลง ‘วัน ทู ทรี โฟ ไฟฟ์ ไอ..(เซ็นเซอร์)…’

โทนดำทะมึนของภาพสีน้ำที่มีโครงร่างแบบไม่ปรากฏใบหน้าราวกับว่าเครื่องรับโทรทัศน์ทำงานผิดพลาดครั้งใหญ่ ติดตั้งไว้เชิงบันได คล้ายสื่อถึงจุดเริ่มต้นอันนำมาซึ่งวิกฤตสังคมไทยในวันนี้

แม้เผด็จการไทยจะเป็นผู้สับสวิตช์ไฟทำประเทศตกอยู่ในความมืดอย่างเป็นทางการหลังรัฐประหารปี ’57 ทว่า ก่อนหน้านั้น ใช่ว่าดินแดนนี้จะไม่มีมุมอันมืดมิด

‘ห้องลับ’ ในนิทรรศการถูกจัดไว้โดยไม่มีป้ายบอกทาง ไร้ข้อความชี้นำใดๆ เมื่อย่างกรายสู่ภายในก็ไร้ซึ่งแสงสว่าง หากส่องไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือ ภาพที่เห็นคือใบหน้าที่คล้ายมีเพียงเค้าโครง ราวกับรูปถ่ายหลุดโฟกัส นั่นคือบุคคลที่ถูก ‘อุ้มหาย’ อย่างไร้มนุษยธรรม

บ้างถูกพบร่างไร้วิญญาณกลางลำน้ำโขง บ้างยังไม่ทราบชะตากรรมที่ญาติพี่น้อง บุคคลใกล้ชิด ล้วนเจ็บปวดจนไม่อยากคาดเดา

จาก Red USA ถึง ทะลุฟ้า

15 นาทีที่ไม่ใช่แค่ ‘ภาพเหมือน’

จากผลงานข้างต้น เกือบทั้งหมดคือภาพใบหน้าบุคคล แต่แน่นอนว่า นั่นไม่ใช่แค่ ‘ภาพเหมือน’ ทว่า คืองานศิลปะที่ถ่ายทอดเรื่องราวทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง อีกทั้งความเป็นไปของสถานการณ์ ซึ่ง ตะวัน เล่าว่านิทรรศการครั้งนี้เป็นการพัฒนาโปรเจ็กต์ร่วมกันกับคิวเรเตอร์ หรือภัณฑารักษ์ของหอศิลป์ โดยเริ่มจากงานชุดที่ตนวาดภาพกลุ่ม ‘Red USA’ ที่สหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.2559 ต่อมา ได้พยายามติดต่อเข้าไป ‘วาดสด’ ภาพกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งในกิจกรรมเดินทะลุฟ้า

การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่หมู่บ้านทะลุฟ้า ซึ่งปักหลักข้างทำเนียบรัฐบาล ก่อนถูกสลายในช่วงเช้ามืดปลายเดือนมีนาคม 2564 นอกจากนี้ บางส่วนวาดขึ้นจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ และภาพที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต

“ปกติทำงานสตูดิโอ ใช้แบบจากรูปถ่าย อินเตอร์เน็ต แต่การวาดคนจริงๆ ให้ความรู้สึกพิเศษกว่า ผมไม่ได้วาดรูปให้เหมือน แต่จับช่วงเวลานั้นไว้ ถ้าสังเกตดู ผมจะให้ทุกคนที่เป็นแบบ เขียนชื่อตัวเองลงไปในภาพ เพราะเรามีเวลา 15 นาทีนั้นร่วมกัน มีการพูดคุยกับแบบด้วย มันไม่ใช่แค่พอร์ตเทรต

แก้วใสสามัญชน

บางรูปมันก็ไม่ได้เหมือน เพราะผมไม่ได้ตั้งใจวาดรูปเหมือน สถานการณ์มันก็ไม่ได้เหมือนกัน แสงเงา บางครั้งมืด บางครั้งแสงสวยงาม บางครั้งแสงนีออน บางครั้งพื้นที่มันก็คับแคบ ทำงานลำบากรูปที่ออกมาก็เป็นไปตามธรรมชาติ” ตะวันเล่า

พร้อมเปิดเผยว่า ภาพที่ตน ‘รู้สึก’ มาก คือภาพของ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ขณะถูกจับกุม

เมื่อถามเหตุผล ได้คำตอบว่า

“บอกไม่ถูก เป็นรูปง่ายๆ แต่มีพลัง มันเป็นรูปแรกที่วาด และค่อนข้างแข็งแรง”

รุ้ง ปนัสยา

ตะวัน เล่าว่า เริ่มวาด ‘คนสด’ ตั้งแต่ปี 2557-2558 เพราะเดินทางเยอะ มีนิทรรศการหลายที่ในโลก บางครั้งพอเสร็จภารกิจหลัก ก็ไปคลุกคลีกับกลุ่มคน ชอบวาดคนกลุ่มน้อย คนชายขอบ คนที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ค่อยสังเกตเห็น เคยวาดเด็กในแคมป์ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ฟุกุชิมะ คนงานก่อสร้างที่เม็กซิโก ผู้ลี้ภัยที่ซีเรีย อัฟกานิสถาน ส่วนในไทย ก็วาดเด็กกำพร้าซึ่งพ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงที่ปัตตานี วาดคนทำงานในพัฒน์พงศ์ จนมาถึงกลุ่มทะลุฟ้า

ย้อนไปก่อนหน้านั้นคือกลุ่ม Red USA อันเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนามาเป็นนิทรรศการชุดนี้

“เมื่อปี 2559 ผมมีนิทรรศการที่นิวยอร์ก แล้วไปหาเพื่อนที่แอลเอ เขากำลังจะไปประชุมกับกลุ่ม Red USA ผมถามเล่นๆ ว่าไปด้วยได้ไหม อาจจะขอไปวาดรูปคนที่มาประชุมกัน เขาบอกน่าจะได้มั้ง เลยไปซื้อกระดาษ ซื้อสีติดไป ในกลุ่มนั้นมีผู้ลี้ภัยคุยเรื่องประชาธิปไตย คุยเรื่องประเทศไทย

คนเหล่านี้เป็นคนรุ่นที่ไปอยู่อเมริกาตั้งแต่ประมาณยุค 60-70 จนปัจจุบัน และยังห่วงใยประเทศไทย ยังคุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศบางคนก็ยังเดินทางไปๆ มาๆ แต่บางคนไม่ได้กลับมาแล้ว ที่สังเกตคือไม่มีคนรุ่นผมแล้ว เหมือนว่ารุ่นลูกจะเป็นอเมริกันไปแล้ว อาจจะไม่ได้สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้เท่าไหร่”

กฤษฎา ดุษฎีวนิช

ตะวันเล่า พร้อมชวนให้ค่อยๆ เดินชมภาพดังกล่าวที่มีทั้งชายและหญิง ติดตั้งบริเวณปีกหลังของหอศิลป์ ซึ่ง กฤษฎา ดุษฎีวนิช ภัณฑารักษ์ เปิดเผยว่า จงใจเลือกพื้นที่ดังกล่าวในการจัดแสดง เพื่อสื่อถึงการเป็น ‘คนชายขอบ’ ที่ถูกผลักออกไป ในขณะที่ภาพรวมของนิทรรศการพูดถึงความมืดที่คงอยู่ในสังคมกับรอยแตกของสถานการณ์บ้านเมืองอันปรากฏขึ้นมาพร้อมกับแสงสว่างแห่งความจริง

ปรากฏการณ์ต้องยืนยัน

ในนิทรรศการที่ ‘เข้าขั้นท้าทาย’

พริ้ม บุญภัทรรักษา

“นับว่าเป็นนิทรรศการที่เข้าขั้นท้าทายเลยก็ว่าได้ แต่เรายืนยันว่าสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ

คือปรากฏการณ์สังคมซึ่งพื้นที่ทางศิลปะต้องเขยิบเพดานเสรีภาพ เราพยายามดึงความเห็นต่างให้คุยกันได้อย่างสันติ”

เป็นคำตอบของ กฤษฎา ต่อคำถามถึงแรงปะทะเสียดทาน ในวันที่ไม่ถามไม่ได้ เมื่อใบหน้า ‘ม็อบสามนิ้ว’ ของคนรุ่นใหม่รุกคืบสู่หอศิลป์ประจำสถาบันศิลปะเก่าแก่ที่ความงามแบบ ‘อนุรักษนิยม’ คือภาพจำของรั้วสีเขียวเวอริเดียน ไหนจะประเด็นที่คณาจารย์หลากหลายคณะวิชาร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุน ‘ม็อบนกหวีด’ ของกลุ่ม กปปส. ซึ่งไม่อาจมีเหตุผลใดมาปฏิเสธได้ว่าย่อมมีส่วนผลักดันให้เกิดรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการย้ำว่า ความเห็นต่างต้องอยู่ร่วมกันได้ นี่คือการเปิดพื้นที่เสรี ซึ่งควรมีมากขึ้นเรื่อยๆ

โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม แกนนำอภิวัฒน์สยาม ผู้ปรากฏภาพประจันหน้าอยู่บนผนังฝั่งตรงข้ามกับ ปรีดี พนมยงค์ ยิ่งสร้างบรรยากาศทรงพลัง

ภาสกร อินทุมาร

ท่ามกลางดวงตาแห่งความหวังจากภาพใบหน้านักต่อสู้ในศักราชใหม่ที่จ้องมองสู่ความมืดมิดอย่างไม่หวาดเกรง


 

ชมนิทรรศการ Keep In The Dark ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 27 พฤศจิกายน 2564
ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพฯ
วันจันทร์ถึงเสาร์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)
สอบถามรายละเอียด 0-2849-7522

“มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
“แรปเตอร์” สิรภพ
“ต้นอ้อ” เฟมินิสต์ปลดแอก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image