เปิดพิมพ์เขียว ‘โปรเจ็กต์ค้างฟ้า’ ‘หมอชิตคอมเพล็กซ์’ ว่าที่ ‘ศูนย์กลางคมนาคม’ แห่งใหม่

เปิดพิมพ์เขียว ‘โปรเจ็กต์ค้างฟ้า’ ‘หมอชิตคอมเพล็กซ์’ ว่าที่ ‘ศูนย์กลางคมนาคม’ แห่งใหม่

ในที่สุดโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส หมอชิตคอมเพล็กซ์ หรือโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต (เดิม) เนื้อที่กว่า 63 ไร่ ได้ฤกษ์เดินหน้าอย่างเป็นทางการ

หลังกรมธนารักษ์เจรจาปิดดีลกับเอกชนคู่สัญญา “บริษัท ซันเอสเตท จำกัด” ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด” หรือ BKT มี “เสี่ยน้ำ มหฐิติรัฐ” เป็นหัวเรือใหญ่ ได้เป็นผลสำเร็จ

กว่าจะเคลียร์ทุกอย่างลงตัว ลงล็อก โครงการก็ต้องตกอยู่ในสภาวะเป็น “โปรเจ็กต์ค้างฟ้า” ร่วม 25 ปี นับจากซันเอสเตทชนะประมูลและจรดปากเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2539

จากนั้นโครงการเริ่มสะดุดกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีวินิจฉัยว่าสัญญาก่อสร้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องดำเนินโครงการใหม่ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ 2535

Advertisement

ในปี 2556 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยสถานะสัญญาว่า กรมธนารักษ์ยังต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไป จึงนำมาสู่การเปิดโต๊ะเจรจาเอกชนใหม่ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 จนได้ข้อสรุปสุดท้าย ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

สัมปทาน 30 ปี ลงทุน 2.6 หมื่นล้าน

ผุด ‘มิกซ์ยูส’ ศูนย์คมนาคม คอมเพล็กซ์ยักษ์

โดยเอกชนจะได้สัมปทาน 30 ปี สามารถต่อสัญญาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี จ่ายผลตอบแทนให้กรมธนารักษ์ 550 ล้านบาท พร้อมค่าตอบแทนการใช้ที่ดินระหว่างการก่อสร้าง 509,300 บาท จ่ายค่าเช่า 5 ปีแรกอยู่ที่ 5.35 ล้านบาทต่อปี จากนั้นปรับขึ้น 15% ทุก 5 ปี ตลอดอายุสัญญา ขณะที่มูลค่าการลงทุนโครงการปรับเพิ่มขึ้นตามกาลเวลาจากเดิม 18,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 26,916 ล้านบาท

Advertisement

รูปแบบโครงการจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางคมนาคมและคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ มี 1 อาคาร ออกแบบเป็นตึกคู่ แบ่งเป็นอาคารด้านทิศเหนือสูง 36 ชั้น และอาคารด้านทิศใต้สูง 32 ชั้น มีใต้ดิน 4 ชั้น และพื้นที่ใช้สอยรวม 888,046 ตารางเมตร เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 776,046 ตารางเมตร

ภายในประกอบด้วย อาคารสำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารจอดรถ ศูนย์ประชุมและสถานีรับส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งมีข้อตกลงกันไว้ก่อน บขส.จะย้ายออกไปปักหลักจตุจักร จะกันพื้นที่ให้ 112,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับการย้ายกลับมาหลังโครงการสร้างเสร็จ

สำหรับ “สถานีขนส่งผู้โดยสาร” ออกแบบเป็น “สมาร์ท สเตชั่น” ทำหน้าที่เป็นสถานีจอดรับ-ส่งผู้โดยสารรูปแบบใหม่ เน้นการบริหารจัดการคล้ายคลึงกับสนามบิน มีกำหนดเวลาเข้า-ออกสถานีของรถโดยสารตามตารางเวลา มีการแสดงข้อมูลรถโดยสาร ชานชาลาด้วยระบบสารสนเทศ และมีระบบตู้ขายตั๋วอัตโนมัติและออนไลน์

สร้างทางลอยฟ้า 3 เส้นทาง

เชื่อมการเดินทางรอบทิศ แก้รถติด

นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้โครงการส่งผลกระทบต่อการจราจรโดยรอบ ทางเอกชนจะสร้างทางเชื่อมต่อการเดินทางรอบทิศ ด้วยทางยกระดับลอยฟ้า 3 โครงการ เชื่อมถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต

โดยโครงการแรกเป็นทางยกระดับบนถนนพหลโยธินฝั่งขาออก รองรับรถที่ออกจากโครงการมุ่งหน้าไปยังห้าแยกลาดพร้าว อำนวยความสะดวกกับผู้ที่ต้องการมุ่งไปทางทิศเหนือ สามารถบรรเทาผลกระทบด้านการจราจรของจุดกลับรถบริเวณแยกกำแพงเพชร ช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรถนนวิภาวดีรังสิต และเพื่อลดผลกระทบจราจรบริเวณห้าแยกลาดพร้าวยังมีแนวคิดจะขยายทางยกระดับไปลงบนถนนวิภาวดีรังสิตก่อนถึงด่านโทลล์เวย์ลาดพร้าว

โครงการที่ 2 ทางเชื่อมยกระดับด้านถนนพหลโยธินฝั่งมุ่งหน้าสะพานควาย เป็นทางยกระดับที่บูรณาการร่วมกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงบริเวณถนนพหลโยธินและถนนกำแพงเพชร รองรับผู้ที่เดินทางมาจากสะพานควายสามารถเลี้ยวซ้ายไปขึ้นทางยกระดับจากถนนกำแพงเพชร 2 เข้าสู่โครงการ จะช่วยบรรเทาผลกระทบการจราจรของจุดกลับรถห้าแยกลาดพร้าว และยังเชื่อมต่อโครงข่ายกับพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ

และโครงการทางเชื่อมยกระดับด้านถนนวิภาวดีรังสิตและดอนเมืองโทลล์เวย์ เป็นทางยกระดับเพื่อเชื่อมพื้นที่สถานีขนส่งในอาคารกับถนนวิภาวดีรังสิตกับโทลล์เวย์ รองรับรถโดยสารและรถยนต์ที่ใช้โทลล์เวย์เข้าออกโครงการ โดยมีทางขึ้น-ลงเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิตสำหรับรถที่ไม่ต้องการใช้ทางด่วน จะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านการจราจรที่เกิดจากรถโดยสารขนาดใหญ่ให้แยกใช้ทางยกระดับเข้า-ออกพื้นที่

แต่การเดินหน้าโครงการยังไม่ฉลุยอย่างที่คิด หลังมีเสียงค้านจากคนในพื้นที่ พลันที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินแขวงจอมพล เขตจตุจักร เพื่อเวนคืนขยายวิภาวดีซอย 5 เป็นถนน 4 ช่องจราจรและก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมโทลล์เวย์ จากข้อมูลของ กทม.จะมีที่ดินถูกเวนคืน 35 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 21 หลัง มีค่าเวนคืน 300 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 1,650 ล้านบาท

ล่าสุด “กรมธนารักษ์” ต้องออกโรงเคลียร์คัตจนได้ข้อยุติจะไม่มีเวนคืนและก่อสร้างโครงการ สอดคล้องกับ “ไทวุฒิ ขันแก้ว” ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า “ขณะนี้ กทม.ได้ชะลอโครงการออกไปก่อน”

บขส.ปรับลดขนาด ‘สถานีจตุจักร’

คืนพื้นที่รถไฟ 14 ไร่ รอย้ายกลับ ‘หมอชิตเก่า’

ขณะที่สถานีขนส่งภายในโครงการ มีการคอนเฟิร์มจาก “สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. แล้วว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจราจร จะย้ายเฉพาะการเดินรถสายสั้น วิ่งระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร เข้าไปใช้บริการ โดยเป็นรถโดยสารขนาดเล็กหรือมินิบัสและใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) และเน้นให้วิ่งบริการรับส่งอย่างเดียว

“รอรูปแบบการพัฒนาโครงการที่ชัดเจนจาก BKT อีกครั้ง ซึ่ง บขส.ได้ขอสงวนสิทธิ์การใช้พื้นที่ไปแล้ว 112,000 ตารางเมตร ตามที่มีข้อตกลงกันไว้ ทางBKTจะให้พื้นที่ บขส.ภายในอาคาร 1 ชั้นสำหรับทำเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร”

สำหรับสถานีขนส่งหมอชิตปัจจุบัน “เอ็มดี บขส.” ย้ำว่า จะยังคงอยู่ที่เดิม แต่จะกระชับพื้นที่ของสถานีให้มีขนาดเล็กลง เนื่องจากต้องคืนพื้นที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประมาณ 14 ไร่ อยู่ติดถนนกำแพงเพชร ทำให้พื้นที่สถานีจากเดิม 70 กว่าไร่ เหลืออยู่ที่ 50 กว่าไร่ ในช่วงรอหมอชิตคอมเพล็กซ์แล้วเสร็จ จะเช่าที่ดิน รฟท.ต่อไป จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ ต่อไป บขส.จะมีสถานีขนส่งกรุงเทพฯ 2 แห่ง คือ ที่หมอชิตใหม่สำหรับรถโดยสารขนาดใหญ่และหมอชิตเก่าสำหรับรถเล็ก

เริ่มนับหนึ่ง EIA รอกดปุ่มก่อสร้าง

เปิดทางพันธมิตรร่วมลงทุน

ด้านความคืบหน้าของโครงการ “พจนารถ ปริญภัทร์ภากร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ที่ผ่านมาได้ออกแบบโครงสร้าง สถาปัตยกรรม งานระบบเสร็จแล้ว กำลังศึกษาผลกระทบด้านการจราจร และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ เนื่องจากมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในบางประเด็นให้ชัดเจนขึ้น

ได้แก่ พื้นที่สถานีขนส่ง บขส.ทางกรมการขนส่งทางบกยังคงสงวนพื้นที่ให้เป็นสถานีขนส่ง แต่ปรับเป็นรถมินิบัสและรถตู้เข้ามาใช้บริการแทน ยังมีเรื่องผลกระทบด้านการจราจร การรับฟังความคิดเห็น ต้องทำการมีส่วนร่วมใหม่ โดยเป็นการแก้ไข EIA เล่มเดิมของบีทีเอส เนื่องจากอาคารของโครงการต้องสร้างอยู่บนอาคารสถานีจอดรถและซ่อมบำรุงของบีทีเอสในปัจจุบัน

รวมถึงรอความชัดเจนการสร้างทางยกระดับจากถนนกำแพงเพชร 2 เชื่อมทางยกระดับเกียกกายเข้าโครงการ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กทม.และทางยกระดับออกจากโครงการฝั่งถนนพหลโยธินข้ามห้าแยกลาดพร้าวลงถนนวิภาวดีรังสิต ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมทางหลวง

“อยู่ระหว่างประสานและสรุปแนวทางการดำเนินการโครงการ ยังไม่มีหน่วยงานใดแจ้งมาอย่างเป็นทางการว่ายกเลิกโครงการ ส่วนรูปแบบการพัฒนายังเป็นมิกซ์ยูสและใช้เงินลงทุนเท่าเดิม 26,000 กว่าล้านบาท หากมีความชัดเจนว่าไม่ต้องสร้างทางยกระดับเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิต ต้องปรับรูปแบบใหม่ เช่น การจัดการจราจรภายในโครงการ”

เอ็มดี BKT ยังบอกอีกว่า รูปแบบการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ต้องปรับสัดส่วนใหม่ให้สอดรับกับตลาดปัจจุบัน และเนื่องจากโครงการมีมูลค่าการลงทุนสูง จำเป็นต้องมีพันธมิตรมาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการแต่ละส่วนอย่างแน่นอน

คงต้องจับตาการหวนกลับมาปัดฝุ่นโปรเจ็กต์หมอชิตคอมเพล็กซ์อีกครั้ง ของ “เสี่ยน้ำ” จะสำเร็จตามที่วาดแผนไว้หรือไม่ โดยเฉพาะการหาพันธมิตรร่วมลงทุน ท้ายที่สุดแล้วจะมีบิ๊กทุนค่ายไหนเข้าร่วมลงทุนบ้าง

เนื่องจากทำเลมีศักยภาพ ใกล้รถไฟฟ้า 2 สายทั้งบีทีเอส MRT ไม่ไกลจากสถานีกลางบางซื่อ และสวนจตุจักร สวนสาธารณะขนาดใหญ่ น่าจะเป็นอีกทำเลทองที่อยู่ในเป้าหมายที่ทุนใหญ่วงการค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ให้ความสนใจ

ตามไทม์ไลน์โครงการ แม้ BKT ยังไม่กำหนดชัดเจนจะเริ่มตอกเข็มต้นแรกปีไหน แต่ก่อนหน้านี้เคยตั้งเป้า จะเร่งรัด EIA ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 หลังจากนั้นจะเซ็นสัญญากับกรมธนารักษ์ใหม่ และเริ่มก่อสร้างในปี 2566 จะใช้เวลาสร้าง 5 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571

หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้า เท่ากับปิดตำนานมหากาพย์ของโครงการได้อย่างแท้จริง ซึ่งประเด็นนี้ “ประภาศ คงเอียด” อธิบดีกรมธนารักษ์คนใหม่ ที่มารับไม้ต่อ ประกาศชัด

“ผมจะมาปิดตำนานโครงการนี้ให้ได้ หลังได้ยินชื่อโครงการมานานนับ 10 ปี”

ปิดตำนาน ‘ลานจอดรถ’ ฟรี

เลาะดูสภาพปัจจุบันที่ดินแปลงนี้ พื้นที่บางส่วนถูกนำมาสร้างเป็นโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอสและเป็นลานจอดแล้วจรให้ประชาชนจอดฟรี

โดยเมื่อปี 2535 หรือเมื่อ 29 ปีที่แล้ว กทม. ได้ทำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC มีเงื่อนไขให้ กทม.จัดหาที่ดินบริเวณสวนลุมพินีให้ BTSC นำมาใช้เป็นอู่จอดสถานี ศูนย์ควบคุม แต่ กทม.จัดหาพื้นที่ให้ไม่ได้ เพราะพื้นที่เดิมมีปัญหามวลชน

จึงศึกษาหาพื้นที่อื่นทดแทน โดยผลศึกษาระบุพื้นที่บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความครอบครองของกรมการขนส่งทางบก ในขณะนั้นใช้ประโยชน์เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร เป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุด กทม.จึงได้ขอใช้ประโยชน์ที่ดินจากกรมธนารักษ์

จึงนำไปสู่การหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก บขส. กทม. และการทำบันทึกข้อตกลงหลักการใช้ที่ราชพัสดุเพื่อสร้างศูนย์ขนส่งระบบรถไฟฟ้าและรถโดยสารกรุงเทพฯตอนบน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2536

และผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 มิถุนายน 2537 ให้นำที่ดินแปลงนี้ พัฒนาในลักษณะการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยอาคารเป็นที่ตั้งโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าของ กทม. และสถานีขนส่งร่วมกัน

โดยให้กรมการขนส่งทางบกส่งคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์มาบริหารจัดการ ภายใต้เงื่อนไขต้องสร้างสถานีขนส่งชั่วคราวบริเวณถนนกำแพงเพชร 2 (จตุจักร) และสถานีขนส่งถาวรในบริเวณเดิมให้ บขส.

จากนั้นกรมธนารักษ์จึงนำที่ดินเปิดประมูลพัฒนา มี “ซันเอสเตท” เป็นผู้ชนะประมูล และเซ็นสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2539 และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วน “ลานจอดรถ” ถูกเนรมิตขึ้นในปี 2547 ยุครัฐบาลทักษิณต้องการส่งเสริมคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แก้ปัญหารถติดในเมือง โดยใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปรับพื้นที่ 23 ไร่ให้จอดรถได้ 2,000 คัน จากวันนั้นผ่านมา 17 ปี มีประชาชนมาใช้บริการแน่นทุกวัน แม้ว่าปัจจุบันสภาพพื้นที่จะทรุดโทรม เพราะขาดการดูและซ่อมแซมไปบ้างก็ตาม

เป็นสตอรี่ “ที่ดินหมอชิตเก่า” มีตำนานมากว่า 2 ทศวรรษ เมื่อโปรเจ็กต์ใหม่เริ่มตอกเข็ม นอกจากจะปิดฉากโปรเจ็กต์ค้างฟ้าแล้ว ยังเป็นการปิดฉากลานจอดรถฟรีกลางกรุงขนาดใหญ่ ที่ยังเหลืออยู่แห่งเดียวไปอย่างน่าเสียดายเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image