เปิดชีวิต‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ วิ่งมาราธอน 2 ปี แลนด์สไลด์ สู่เส้นชัย‘ผู้ว่าฯกทม.’

ไม่เกินความคาดหมายสำหรับชื่อของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่

คนแรกจากการ ‘เลือกตั้ง’ หลังรัฐประหารที่แช่แข็งเมืองหลวงแห่งนี้นานถึง 9 ปี

แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ การอภิมหาแลนด์สไลด์ทุบสถิติเดิมของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ไปด้วยคะแนนเสียง 1,386,769 มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกผู้ว่าฯ กทม.

ทิ้งห่างคู่ต่อสู้บนลู่วิ่งแบบไม่เห็นฝุ่นตั้งแต่เริ่มนับเพียงไม่กี่สิบนาที เสียงขาน ‘(บัตร) ดี (เบอร์) 8’ ดังขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าแบบกองเชียร์ข้างสนามไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อย

Advertisement

“ผมวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่ง 1,000 เมตร อาศัยยืนระยะ ทำต่อเนื่อง พลุไม่ได้ระยะยาว เราทำแต่ละพื้นที่ดีกว่า”

เป็นคำกล่าวของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อ ‘มติชน’ ถามถึงการเดินทางสู่เก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 8 มกราคม 2565 ครั้งเดินทางมาร่วมงานวันคล้ายวันก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
สู่ปีที่ 45

ขณะนั้นยังไม่มีการเปิดรับสมัคร ยังไม่ได้เป็นเจ้าของเบอร์ 8 ยังไม่มีวันเวลาแน่ชัดว่าจะได้เลือกตั้งกันวันไหน

Advertisement

ทว่า ชัชชาติเตรียมสตาร์ต ออกตัว และลงพื้นที่มานานนับปีก่อนผู้สมัครรายอื่นๆ ที่ทยอย ‘เปิดหน้า’ ท้าชิงตำแหน่ง

เมื่อถามถึงจุดแข็ง (อดีต) รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ตอบว่า

1.ความสม่ำเสมอ

“เราลงพื้นที่ต่อเนื่อง เห็นปัญหาชัดเจน เป็นความจริง (Realistic) คงจะตอบปัญหาจริงๆ คิดว่านี่คือจุดแข็งแรง”

2.การยืนเป็นอิสระ

“2 ปีมานี้มีคนมาช่วยจำนวนมาก ที่บางทีเขาอาจจะเบื่อการเมืองใหญ่ เบื่อความขัดแย้งระหว่างพรรค ซึ่งบางทีท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องใหญ่มาก มันคือการรับใช้ประชาชนในพื้นที่ ความขัดแย้งในการเมืองใหญ่ไม่จำเป็นต้องลงมาถึงการเมืองระดับท้องถิ่น” นักวิ่งมาราธอนนามชัชชาติกล่าวในขณะนั้น

ส่วนนโยบายคือ ‘กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’ ชู “กรุงเทพฯ 9 ดี” หรือนโยบาย 9 มิติ ได้แก่ ปลอดภัยดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี บริหารจัดการดี เรียนดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี

เช้ามืดของวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พุทธศักราช 2565 จันทร์แรกที่คนกรุงเทพฯ มีผู้ว่าฯ คนใหม่

นักวิ่งนาม ชัชชาติ ตื่นมาออกกำลังกายที่สวนลุมพินีเหมือนเช่นเคย ก่อนที่แสงแห่งความหวังในเช้าตรู่จะสาดส่องมาถึงมหานครแห่งนี้

ว่าแล้วมาย้อนประวัติ ส่องเส้นทางชีวิตก่อนจะถึงวันนี้ซึ่งมีไทม์ไลน์ที่น่าสนใจยิ่ง

ลูกคนสุดท้องของอดีต ผบช.น.

พ่อของลูกชายผู้พิการทางการได้ยิน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีชื่อเล่นว่า ‘ทริพ’ ปัจจุบันอายุ 56 ปี เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2509 เป็นลูกคน
สุดท้องของ พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กับ จิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ มีฝาแฝดชื่อ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีชื่อเล่นว่า ‘ทัวร์’ และมีพี่สาวชื่อ ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ ปิยดา อัศวฤทธิภูมิ พนักงานการบินไทย มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อ แสนปิติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้บกพร่องทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด โดยได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียม เมื่อปี พ.ศ.2545 ผู้ซึ่งโทรศัพท์มาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อแสดงความยินดีกับบทบาทหน้าที่ใหม่ของบิดาว่า “พ่อทำสำเร็จแล้ว”

ดอกเตอร์ด้าน ‘วิศวกรรมศาสตร์’

ผู้เคยอยากเป็นหมอ

ด้านการศึกษา ชัชชาติสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อมาคว้าปริญญาตรี วิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ประจำปี พ.ศ.2529 ให้ไปศึกษา
ต่อที่สหรัฐอเมริกาจนจบการศึกษาปริญญาโท วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 นายชัชชาติเคยให้สัมภาษณ์กับ ‘มติชน’ ไว้ว่า เมื่อจะเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ได้มีคำสั่งจากคุณพ่อว่า ไม่ให้เรียนเหมือนกัน โดยพี่สาวคนโตเรียนด้านสถาปัตย์ พี่ชายฝาแฝดนั้นเป็นหมอ ส่วนตัวเขาเลือกที่จะเป็นวิศวกร

“ตอนแรกก็เห่อ อยากเป็นหมอเหมือนกัน แต่พอโตขึ้นหน่อยก็ไม่ค่อยชอบเลือด ไม่ชอบวิชาชีววิทยา เลยเอาเป็นวิศวะ” ชัชชาติเล่า

เสื้อแดงปี’53

เปิดมุมมองการเมือง

หลังมีคำนำหน้าว่าดอกเตอร์ทางวิศวกรรมศาสตร์ ชัชชาติทำงานเพื่อหาประสบการณ์ด้านวิศวกรรมที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ราว 2 ปี ก่อนกลับมาตุภูมิ บรรจุเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างผลงานวิชาการจนได้รับตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์

“ผมเริ่มเป็นอาจารย์ตอนอายุประมาณ 28 ปี และต่อจากนั้นก็ได้ทำงานด้านบริหารบ้าง จนช่วงหลังได้เข้าไปเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สิน รับหน้าที่นี้อยู่ประมาณ 7 ปี งานของผมช่วงนั้นก็ดูแลพื้นที่ของจุฬาฯ เพราะจุฬาฯมีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ ดูการก่อสร้าง ดูมาบุญครอง สยามสแควร์”

ส่วนจุดที่ทำให้ชัชชาติเริ่มที่จะมีมุมมองทางด้านการเมืองเพิ่มขึ้น มาจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

“ตอนที่เสื้อแดงชุมนุมผมก็อยู่ในพื้นที่ ก็เดินไปเดินมาแถวนั้น เราก็คุยกับผู้ชุมนุมเหมือนกัน ต้องพยายามผูกไมตรี ซื้อข้าวซื้ออะไรไปให้เขา แต่ตอนที่ไฟไหม้ ตอนนั้นทหารเขากั้นพื้นที่ไว้ เราก็เอะใจแล้วว่าต้องมีอะไรแน่เลย พอขับรถขึ้นทางด่วนเท่านั้นแหละ มองลงมาเห็นควัน ก็รู้สึกเสียใจ เพราะดูแลทรัพย์สินให้จุฬาฯไม่ได้

“แต่ก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานกระทรวงคมนาคม สมัยท่านพงษ์ศักดิ์ (รักตพงศ์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม) มาช่วยส่วนของด้านวิชาการเทคนิค แต่ก็ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรนะ ส่วนสมัยท่านสันติ (พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีคมนาคม) ก็ได้เข้าไปช่วยอ่านเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ามีประเด็นใดบ้างที่ต้องกังวล และมีวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีอะไรลึกซึ้งมากไปกว่าการเข้ามาให้ความช่วยเหลือฝ่ายการเมืองในเรื่องของวิชาการและด้านเทคนิคต่างๆ ที่มุมมองของนักการเมืองจะเห็นต่างจากนักวิชาการ” ชัชชาติระบุในบทสัมภาษณ์ครั้งนั้น

สำหรับภาพรวมเส้นทางการงาน นายชัชชาติเคยทำงานเป็นวิศวกรโครงสร้าง บริษัท สคิดมอร์ โอวิ่ง แอนด์ เมอร์ริลล์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2536-2537 ต่อมาเมื่อปี 2546-2555 ได้เป็นอาจารย์ประจำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และอดีตผู้ช่วยอธิการบดี) จนกระทั่งเมื่อปี 2555-2557 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงข่ายรถไฟฟ้าใน กทม. การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต โครงการทำแนวป้องกันน้ำท่วม กทม. ภายหลังเมื่อปี 2558-2561 ได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (Q House)

จนกระทั่งปี 2562-ปัจจุบัน ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Better Bangkok รวมพลังสร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม ในช่วงโควิด-19 ร่วมทำโครงการ “บ้านใกล้เรือนเคียง” ฐานข้อมูลสำหรับส่งต่อความช่วยเหลือให้กับชุมชนใน กทม.

ปี’55 ยิ่งลักษณ์โทรหา

ชวนร่วมเส้นทางสายการเมือง

หลังจากนั้น ชัชชาติก็ยังคงทำงานในตำแหน่งนักวิชาการจนเมื่อต้นปี 2555 ก็เข้ามาสู่ในวังวนของการเมือง

“ก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นคนโทรมา ผมไม่รู้จักกับท่านโดยตรงหรอก แต่ก็คงมีคนบอกกับท่านว่าผมเคยช่วยงานในกระทรวงนี้มาก่อน หากถามว่ามีใครไปเรียนท่านนายกฯ
ก็คงมีหลายคนมั้ง เพราะท่านสุกำพล (สุวรรณทัต) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รู้จักกับผม และท่านพงษ์ศักดิ์ก็รู้จักกัน คงมีหลายคนเหมือนกัน และพ่อผมก็เป็นตำรวจ คนในวงการก็คงรู้จักกัน ส่วนระยะเวลาในการตัดสินใจ ผมใช้ไม่นานเลย เพราะว่าอย่างน้อยในชีวิตหนึ่งสามารถทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้ เราก็ควรที่จะต้องทำ”

ย้อนกลับไปก่อนที่ชัชชาติจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะนักวิชาการ นายชัชชาติได้ช่วยงานและให้คำปรึกษาแก่กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช โดยไม่มีตำแหน่งใดๆ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2555 ได้รับการทาบทามจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แม้ทางมารดาจะไม่เห็นด้วย แต่เจ้าตัวก็ตกลงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในเดือนมกราคม พ.ศ.2555 และจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อมา นายชัชชาติได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2555

 

ชัชชาติในฐานะรัฐมนตรีคมนาคมถือเป็นบุคคลระดับหัวกะทิของรัฐบาลในด้านการวางยุทธศาสตร์ของประเทศ ได้รับการกล่าวถึงในฐานะรัฐมนตรี “ดูโอเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลคู่กับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ “ดูโอระบบราง” คู่กับ ประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟฯ ที่นโยบายของชัชชาติให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรางเป็นพิเศษ ผลงานในช่วงที่เป็นรัฐมนตรี อาทิ การแก้แบบสถานีกลางบางซื่อให้รองรับรถไฟความเร็วสูง, การแก้แบบสายสีแดงเข้มจาก 3 ทาง เป็น 4 ทาง, การจัดซื้อจัดขบวนรถด่วนพิเศษ CNR จำนวน 8 ขบวน, การเปลี่ยนรางรถไฟในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด, ให้ข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไปนั่งรถเมล์มาทำงานแล้วรายงานปัญหา

‘ถ้าลงผู้ว่าฯ

แม่จะเลือกประชาธิปัตย์’

ความน่ารักของปชต.ในครอบครัว

สำหรับเส้นทางสู่ผู้ว่าฯ กทม. ก่อนจะถึงวันนี้ ย้อนไปก่อนหน้านั้นครั้งมีกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อลงชิงในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ชัชชาติเคยเล่าไว้ว่า “ตอนที่แม่รู้ข่าวนี้ แม่บอกว่าลงไปเถอะผู้ว่าฯ แต่แม่จะเลือกประชาธิปัตย์ (หัวเราะ) คือก็ดีนะ เป็นความน่ารักของประชาธิปไตย”

ก่อนที่สุดท้าย ชัชชาติตัดสินใจลงในนาม ‘อิสระ’ โดยเตรียมตัวมานานกว่า 2 ปี กระทั่งเข้าสู่เส้นชัยในครั้งนี้ โดยในตอนหนึ่งของค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม เมื่อผลคะแนนทิ้งห่างอย่างไม่อาจมีใครตามทัน เจ้าตัวกระโดดชูมือ พร้อมเล่าถึงเหตุการณ์ของวันเดียวกันนี้เมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นวันที่เกิดรัฐประหาร ต้องถูกมัดมือและ ‘คลุมหัว’ โดยวันนั้นเป็นหนึ่งในตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมกับบรรดาแกนนำและตัวแทนฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางออกประเทศ ซึ่งจัดขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย

กระทั่ง 27 กันยายน พ.ศ.2560 รัฐบาลทหารตั้งชัชชาติเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ชัชชาติชี้แจงว่าไม่ทราบเรื่องมาก่อน และยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2560

นี่คือส่วนหนึ่งของเส้นทางชีวิต ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ผู้คว้าชัยในวันครบรอบ 8 ปีรัฐประหาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image