ถกปม ‘ชายแดนใต้’ ในบริบท(พรรค)การเมือง ‘การยอมรับความหลากหลายคือเส้นทางสันติภาพที่มั่นคง’

ถือเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานรอวันสิ้นสุด แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะมากด้วยเงื่อนปมซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง

‘สันติภาพ’ กลายเป็นคำที่สะกดอย่างถูกๆ ผิดๆ

ความพยายามแก้ไขที่หลายเหตุการณ์กลับกลายเป็นสร้าง
ปัญหาเพิ่ม

Advertisement

ล่าสุด สมัชชาคนจน Assembly of the Poor จัดเสวนาเวทีสัญจร ‘พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน’ ครั้งที่ 4 ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จี้ประเด็น ‘สันติภาพชายแดนใต้’ โดยมี นักวิชาการร่วมแสดงความเห็นอย่างมากมาย พร้อมด้วยตัวแทนจากพรรคการเมืองและผู้คนในพื้นที่

บรรยากาศของเวทีเสวนาเน้นไปที่การรับฟังกันและกันระหว่างตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้มองเห็น และเผชิญกับปัญหา กับตัวแทนพรรคการเมืองซึ่งในอนาคตจะนำเอาปัญหาที่ประชาชนสะท้อนนี้ไปผลักดันเป็นนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างตรงจุด โดยเวทีได้มีการนำเสนอข้อมูล และปัญหาใน 5 หัวข้อ ประกอบด้วย 1.ทรัพยากรธรรมชาติ 2.เศรษฐกิจ การทำมาหากิน ความยากจน 3.วัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา 4.การเมือง การกระจายอำนาจ และกระบวนการสันติภาพ และ 5.กฎหมาย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน

 

Advertisement

รัฐลดทอนอำนาจคนพื้นที่

ยากจนซ้ำซ้อนแม้ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์

เริ่มต้นด้วยกลุ่มที่ทำงานด้าน ‘ทรัพยากรธรรมชาติ’ ซึ่งมาบอกเล่าปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน ที่ดิน เอกสารสิทธิ การขอสัมปทานเหมืองแร่ โรงไฟฟ้าชีวมวล และการบริหารจัดการน้ำ โดยจุดที่น่าสนใจคือ ตัวแทนกลุ่มสะท้อนว่า กฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลเป็นกฎหมายที่ลดทอนอำนาจการตัดสินใจของคนในพื้นที่ และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ไม่สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่น ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน ประชาชนอยากให้รีบช่วยปรับแก้กฎหมายที่ลดทอนสิทธิของชุมชนในเรื่องการบริหารจัดการป่า ที่ดิน ชุมชน น้ำ และทะเล โดยให้นำข้อเสนอของภาคประชาชนที่ได้ศึกษากับฝ่ายวิชาการเป็นสารัตถะหลักในการปรับแก้กฎหมาย และควรออกมติยับยั้งโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้มีการประเมิน EHIA แล้วทำ EHIA ประเมินยุทธศาสตร์ภาคใต้ทั้งหมด รวมถึงควรเพิ่มอำนาจให้ประชาชนในการตัดสินใจในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพิ่มการกระจายอำนาจในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มในหมวดสิทธิมนุษยชนในเรื่องของการติดใจของประชาชนต่อโครงการต่างๆ และการพัฒนาพื้นที่ของตนเองว่าควรมีการพัฒนาอย่างไร

ในขณะที่ตัวแทนจากกลุ่มด้าน ‘เศรษฐกิจ’ สะท้อนปัญหาความยากจนซ้ำซากและซ้ำซ้อน ทั้งที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ โดยจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลของกลุ่มพบว่า สามารถแบ่งปัญหาออกได้ 4 ประเด็น คือ 1.ปัญหาเรื่องกฎระเบียบต่างๆ พรรคการเมืองจะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมการประมงในพื้นที่ ชาวประมงอยากให้รัฐอำนวยความสะดวก มากกว่าไปเอาผิด เพราะการประมงคือสิ่งที่สามารถหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ 2.เรื่องแรงงานที่ไปทำงานที่มาเลเซีย รัฐไม่สนับสนุนซ้ำยังหาว่าพวกเขามีส่วนในการแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่เขาส่งเงินกลับประเทศมาใช้จ่ายหมุนเวียนจำนวนมาก จึงอยากให้พรรคการเมืองหาทางส่งเสริมแรงงานกลุ่มนี้ 3.ปัญหาเรื่องสินค้าเกษตร อยากให้ราคาเป็นธรรม และ 4.วิสาหกิจ รัฐทำโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ประชาชน แต่กลับไม่เคยทำตลาดให้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออยากให้รัฐเปิดโอกาสให้เขาเข้าถึงแหล่งทุนอย่างเป็นธรรม

 

การศึกษาชายแดนใต้รั้งท้ายประเทศ

ซ้ำอัตลักษณ์ถูกคุกคาม

จากนั้น ตัวแทนจากกลุ่ม ‘การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม’ ตั้งคำถามว่าวันนี้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาผุดขึ้นจำนวนมาก แต่เหตุใดคุณภาพการศึกษาในบ้าน 3 จังหวัดชายแดนใต้กลับอยู่รั้งท้ายของประเทศ ขณะที่บางโรงเรียนถูกจ้องมองจากรัฐว่าเป็นโรงเรียนที่บ่มเพาะการแบ่งแยกดินแดน ทำให้บุคลากรถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐติดตาม ค่าตอบแทนก็น้อยมาก จึงอยากเสนอให้มีการ ‘กระจายอำนาจทางการศึกษา’ เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถออกแบบหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับท้องถิ่น

สำหรับเรื่องศาสนา และวัฒนธรรม มีการพูดคุยกันถึงเรื่องบทบาทของสตรีในชุมชน ทางกลุ่มเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่บอร์ดบริหารของมัสยิด หรือคณะกรรมการอิสลามจะมีสตรี หรือเยาวชนเข้าไปอยู่ในบอร์ดด้วย สุดท้ายเรื่องอัตลักษณ์ ซึ่งที่ผ่านมาเยาวชนนัดรวมตัวกันแต่งกายด้วยชุดมลายูเพื่อแสดงพลังและปฏิญาณตนในวันฮารีรายอที่ตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี แต่กลับมีการเรียกแกนนำไปรายงานตัวเรื่องการจัดกิจกรรม ทั้งที่วันนั้นเป็นวันรื่นเริงของชาวมุสลิม

คาดหวัง‘การเมืองดี’

ยอมรับความหลากหลาย แค่กระจายอำนาจไม่พอ

ตามมาด้วยประเด็น ‘การเมือง’ ที่เสนอความเห็นว่า พรรคการเมืองหลายพรรคหยิบเอาประเด็นนี้ไปเป็นนโยบาย แต่สิ่งที่ประชาชนอยากได้จริงๆ คือ การเมืองที่ดี ซึ่งการเมืองที่ดีคือการเมืองที่พร้อมรับประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐนั้นๆ ประชาชนตรงนี้หลายคนเป็นนักโทษการเมืองที่เกิดจากการออกไปเรียกร้อง หรือคิดเห็นแตกต่างจากวิธีคิดของรัฐ หลายคนถูกซ้อมทรมาน ความหวังของประชาชนคือการกระจายอำนาจ แต่กระจายอำนาจเท่านั้นไม่เพียงพอ ต้องกระจายเงิน ทรัพยากร และบุคลากร เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่คนจะเติบโตในสังคมนั้นๆ ได้อย่างสมศักดิ์ศรี เฉกเช่นคน กทม.ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. คนพัทยาได้เลือกตั้งผู้ว่าเมืองพัทยา ประชาชนต้องการกระจายอำนาจในแบบที่เคารพอัตลักษณ์ของคนต่างภูมิภาค

สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างสันติภาพ หลายคนคิดว่าการเจรจาสันติภาพของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไปคุยกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธคือความหวัง แต่กระบวนการสันติภาพไม่ได้หมายถึงการเจรจาเพียงอย่างเดียว การสร้างสันติภาพที่มั่นคงต้องทำให้คนพร้อมยอมรับความหลากหลายของผู้คน และมาสู้กันทางการเมืองด้วยสันติวิธี แบบนี้จึงจะทำให้สันติภาพที่นี่เกิดขึ้นได้จริง และยั่งยืน

 

จี้เลิก‘กฎหมายพิเศษ’

โจทย์ใหญ่คือการต่อสู้เชิงวิธีคิด

สุดท้าย ประเด็นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีการนำเสนอปัญหาในส่วนนี้ว่า ประกอบด้วยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษกับคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมากเกินไป การซ้อมทรมานที่ไม่มีหน่วยงานอิสระไปตรวจสอบทันที การประกันตัวคดีความมั่นคงมีเงื่อนไขที่เข้าถึงยาก ไม่มีสิทธิในการแสดงออกถึงความเป็นอัตลักษณ์ จึงเสนอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ถ้ายกเลิกไม่ได้ก็ขอให้แก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับพื้นที่ และขอให้หน่วยงานความมั่นคงเคารพสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ขอให้มีหน่วยงานตรวจสอบอิสระที่มีศักยภาพ รวมถึงอยากให้มี พ.ร.บ.ซ้อมทรมานบังคับใช้

เมื่อตัวแทนประชาชนเสนอปัญหาครบถ้วนแล้ว ตัวแทนพรรคการเมืองทยอยแสดงวิสัยทัศน์ โดยเริ่มจาก ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งระบุว่า สำคัญที่สุดคือเสียงของทุกท่านถูกได้ยิน ซึ่งปัญหาของพี่น้องจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่ปัญหาของพี่น้องที่นี่เท่านั้น แต่เป็นปัญหาร่วมกันของคนทั้งประเทศที่มีหัวใจรักความยุติธรรม รวมไปถึงเป็นปัญหาของพลเมืองโลก แม้จะพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ขณะนี้กติกาที่ไม่เป็นธรรมจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมก็จำเป็นที่จะต้องต่อสู้อยู่ ดังนั้น ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วเขียนกติกาฉบับใหม่ โดยประชาชนมีส่วนร่วม และต้องมีหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรมขั้นพื้นฐาน

“โจทย์ใหญ่อีกประการคือการต่อสู้ในเชิงวิธีคิด ต้องถามว่า วันนี้เรายอมรับตรงกันหรือไม่ว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นของพี่น้องมลายู หรือมุสลิม ยอมรับกันหรือไม่ว่าคนที่เกิดบนแผ่นดินนี้ไม่ได้เป็นไทยแท้ 100% โดยไม่มีอย่างอื่นเจือปน นี่คือเรื่องของการเคารพต่อความหลากหลาย และพหุวัฒนธรรม ต้องเคารพว่าคนในพื้นที่เรียกร้องสิ่งใด เชื่อมั่นว่าการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกระจายอำนาจ ปลดล็อกท้องถิ่น” ส.ส.ก้าวไกลกล่าว

 

เหลื่อมล้ำทำชีวิตติดกรอบ

สันติภาพงอกจากมือเผด็จการไม่ได้

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

ด้าน วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุว่า ทางพรรคฟังความเห็นจากภาคประชาชนเพื่อรวบรวมสำหรับนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี’60 เป็นรัฐธรรมนูญที่แย่ที่สุด ไม่เอื้อต่อการกระจายอำนาจ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เกิดจากประชาชน แต่เกิดจากอำนาจของคณะปฏิวัติที่ต้องการรักษาอำนาจให้ยาวต่อไปได้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกันขจัดอำนาจที่มาจากการยึดอำนาจ แล้วเอาอำนาจของประชาชนเข้ามาแทนที่

“วันนี้คนจน ไม่ได้จนเพราะขี้เกียจ แต่จนเพราะขาดทรัพยากร ขาดที่ดินทำกิน มีความเหลื่อมล้ำสูงในประเทศ การที่ประชาชนยากจน ต้องโทษรัฐบาล เพราะถ้าได้รัฐบาลที่ดีเราจะรวยได้ ซึ่งประเทศที่เป็นเผด็จการไม่มีทางที่ประชาชนจะร่ำรวยได้ เราจะจนซ้ำซากและซ้ำซ้อน พรรคประชาชาติเคยเสนอค่าแรงขั้นต่ำ 500 บาท เพราะเรารู้ว่า 300 บาทอยู่ไม่ได้ ถ้าให้ 300 บาท ยิ่งทำงาน ยิ่งจน นอกจากนี้ การศึกษามีความสำคัญ แต่ระบบการศึกษาเรากลับรั้งท้ายในอาเซียน เพราะคุณไปจำกัดกรอบ และสิทธิในการศึกษาว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งจำกัดคนให้อยู่ในกรอบ ยิ่งทำให้คนโง่ยิ่งขึ้น ส่วนตัวไม่เชื่อว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้จากมือของเผด็จการ สุดท้าย พรรคประชาชาติเราเคยเสนอกฎหมายห้ามซ้อมทรมานแล้ว ตอนนี้อยู่ที่วุฒิสภา แต่ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเผด็จการจะเห็นด้วยกับกฎหมายนี้หรือไม่” หัวหน้าพรรคประชาชาติกล่าว

ต้อง‘จริงใจ’ในการแก้

ยึด‘ประชาชน’เป็นศูนย์กลาง

ศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา

จากนั้น อาหมัดบูรฮัน ติพอง ตัวแทนจากพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย เสนอความเห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ คือ ความจริงใจ วันนี้ปัญหาหลายเรื่องต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ ขณะที่การแก้ปัญหาปากท้องคือหัวใจหลักของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเพื่อไทยเสนอตัวเองเป็นพรรคแห่งความหวังมาตลอด และเห็นว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ต้องมี 2 สิ่ง คือปากท้อง และความสงบ นอกจากนี้ ตัวแทนจากเพื่อไทยยังได้พูดถึงประเด็นการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนใต้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ในอดีต พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ อินโดฯ มาเลย์ และบรูไนมาเรียนที่บ้านเรา คำว่าปอเนาะ ที่อินโดนีเซียใช้คำว่า Border School เพื่อยกเป็นโรงเรียนนานาชาติ เรามีหลายภาษาในโรงเรียนปอเนาะอยู่ แค่ส่งเสริมและสร้างมาตรฐานให้ดีขึ้นเพื่อยกระดับ

ด้าน ศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย มองว่าต้องแบ่งปัญหาเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือรัฐธรรมนูญ ที่มีปัญหาเรื่องการลิดรอนสิทธิ การรวมศูนย์อำนาจ และการก่อให้เกิดปัญหาภายใต้กระบวนการยุติธรรม จุดยืนของพรรคไทยสร้างไทยคือต้องแก้รัฐธรรมนูญ โดยต้องมี ส.ส.ร.ซึ่งเป็นตัวแทน

ของประชาชนเข้าไปแก้ อีกส่วนคือ ความยากจน โดยประชาชนถูกทำให้จนทั้งที่ประชาชนมีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก แต่การกดทับโดยรัฐราชการทำให้เดินหน้าไปไม่ได้ พรรคไทยสร้างไทยจึงมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเพิ่มพลังให้ประชาชน และต้องปลดปล่อยประชาชนจากอำนาจรัฐราชการ

 

รัฐธรรมนูญ‘ฉบับประชาชน’

ในบริบท‘ชายแดนใต้’

ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์

ปิดท้ายเวทีด้วยมุมมองของ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ไว้อย่างครอบคลุม

“รัฐไทยมีความแยบยลในการจัดการพื้นที่ชายแดนใต้ และพี่น้องชาวมลายูมุสลิม เริ่มจากการกลืนกลายเชิงบังคับทั้งภาษา วัฒนธรรม และการศึกษา เพื่อให้มุสลิมที่รัฐไทยมองว่าเป็นอื่นกลายเป็นไทย หลังๆ มามีความพยายามส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า สังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสงบสุข ขณะที่ในด้านความมั่นคงจากที่เน้นปฏิบัติการทางทหารอย่างเดียว มาสู่การยอมรับ การเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่าง แต่แม้ว่ารัฐไทยจะมีพัฒนาการในการจัดการพื้นที่ให้ดูดีขึ้น แต่ชาวบ้านยังคงประสบกับปัญหามากมาย มีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ ยากจนติดอันดับต้นๆ ผลการศึกษาก็รั้งท้าย สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐไทยในการบริหาร และถูกใช้เป็นข้ออ้างความชอบธรรมที่จะเข้ามาจัดการพื้นที่และผู้คนที่นี่ให้ซับซ้อนขึ้น”

ผศ.ดร.ชลิตา กล่าวต่อไปว่า สิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดถึง นั่นคือการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญอย่างแนบแน่น เพราะการจะแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่ทุกกลุ่มนำเสนอมาจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดี โดยรัฐธรรมนูญต้องเพิ่มในเรื่องของสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนในประเด็นต่างๆ ขณะที่มุมมองของรัฐธรรมนูญ 60 มี 2 แบบ

แนวทางแรก มองว่ารัฐธรรมนูญปี’60 มีปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีส่วนที่ดีหรือมีการเปิดช่องให้สามารถดึงสิ่งดีๆ ในนั้นออกมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ซึ่งพรรคฝั่งรัฐบาลมักมองแบบนี้

แนวทางที่สอง มองว่ารัฐธรรมนูญปี’60 แย่มากๆ และไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลยตั้งแต่ที่มา กระบวนการได้มา เนื้อหาก็แย่ ซึ่งความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญปี’60 นี้ จะไม่สามารถแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง และเราต้องเร่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาใหม่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปนอกจากการระดมเนื้อหาแล้ว คือกระบวนการผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดขึ้นได้จริง และให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งเข้าไปร่าง

อย่างไรก็ตาม การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในบริบทชายแดนใต้ มีข้อที่ควรคำนึงคือ 1.ความหลากหลายของผู้คน ซึ่งมีเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่ต่างกัน คนแต่ละกลุ่มมีความคิด ทรรศนะ มุมมอง และจุดยืนต่อการแก้ปัญหาที่ต่างกัน ดังนั้น ต้องรวบรวมความเห็นจากกลุ่มคนที่หลากหลายให้มีน้ำหนัก
เท่ากัน 2.กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในบริบทชายแดนใต้ต้องให้พื้นที่เปิดกว้าง สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการที่ผู้คนจะสามารถพูดถึงความใฝ่ฝันและความปรารถนาของตนเองในการร่างรัฐธรรมนูญได้โดยไม่มีข้อห้าม

ต้องพูดได้ แลกเปลี่ยนได้ แต่จะยอมรับในเรื่องที่เสนอหรือไม่นั้น ให้ตัดสินกันด้วยกระบวนการประชาธิปไตยผ่านทางการโหวต การลงประชามติ หรือผ่านช่องทางต่างๆ ในรัฐสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image